ประวัติศาสตร์แบตเตอรี่ EV จากยุค 1800 สู่ปัจจุบัน Share this
EV Highlights
โหมดการอ่าน

ประวัติศาสตร์แบตเตอรี่ EV จากยุค 1800 สู่ปัจจุบัน

Paknam536
โดย Paknam536
โพสต์เมื่อ 26 April 2566

แบตเตอรี่ หัวใจสำคัญสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า เพราะมันคือแหล่งกักเก็บพลังงานไฟฟ้า อันเป็นขุมพลังสำคัญในการขับเคลื่อน “รถยนต์ไฟฟ้า” ไม่ใช่ของใหม่ แต่เป็นสิ่งที่ถูกคิดค้นขึ้นมามากกว่า 100 ปีแล้ว และ “แบตเตอรี่” ก็ถูกคิดค้นมามากกว่า 200 ปีแล้ว เพราะอะไรมันถึงพึ่งได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในยุคนี้ บทความนี้มีคำตอบครับ


แบตเตอรี่

แบตเตอรี่ (Battery) หัวใจสำคัญสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า และยังเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันสำหรับมนุษย์จำนวนมาก เพราะอุปกรณ์ไฟฟ้าที่พกพาได้ทุกชนิดบนโลก ล้วนพึ่งพาพลังงานไฟฟ้าจากการกักเก็บในแบตเตอรี่ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ, คอมพิวเตอร์, กล้อง, รีโมท, เครื่องมือต่างๆ กระทั่งรถยนต์ จำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าทั้งสิ้น ซึ่งสิ่งที่ทำหน้าที่กักเก็บพลังงานไฟฟ้าไว้นั่นคือ “แบตเตอรี่”

ยิ่งในยุคปัจจุบัน มีการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้ากันอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น ก็ยิ่งเพิ่มความสำคัญกับเจ้าแบตเตอรี่ให้มากกว่าเดิมไปอีกขั้น

แบตเตอรี่ก้อนแรกของโลก

แบตเตอรี่ ถูกคิดค้นขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 1800 โดย อาเลสซานโดร โวลตา นักฟิสิกส์ชาวอิตาลี ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ที่คิดค้นแบตเตอรี่เป็นคนแรกของโลก โดยแบตเตอรี่ที่ผลิตได้ มีชื่อว่า Voltaic pile (โวลตาอิ พาย) ได้รับการยกย่องเป็นเซลล์ไฟฟ้าเคมีเซลล์แรก ประกอบด้วยขั้วไฟฟ้า 2 ขั้ว ฝั่งหนึ่งทำจากสังกะสี อีกฝั่งหนึ่งทำจากทองแดง นำไปผสมในน้ำเกลือจากทะเล และนำมาซ้อนกัน ทำให้เกิดปฎิกิริยาทางไฟฟ้า ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากสำหรับการทดลองเพื่อพัฒนาต่อ แต่ยังไม่ได้ถูกนำไปใช้งานอย่างแพร่หลาย

โดยนามสกุลของเขา ได้รับเกียรติให้ใช้เป็นส่วนหนึ่งของคำศัพท์ทางไฟฟ้า นั่นคือแรงดันไฟฟ้า หรือ Volt นั่นเอง

 

Voltaic Pile แบตเตอรี่เซลล์แรกของโลกถูกคิดค้นขึ้นในช่วงปี 1800

Voltaic Pile แบตเตอรี่เซลล์แรกของโลกถูกคิดค้นขึ้นในช่วงปี 1800
ภาพจาก : Wikipedia

แบตเตอรี่ ถูกพัฒนาต่อเนื่องมานับจากนั้น และถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่

  • แบตเตอรี่ใช้แล้วทิ้ง เป็นแบตเตอรี่ที่ใช้ได้ครั้งเดียว ไม่สามารถชาร์จไฟฟ้ากลับเข้าไปใหม่ได้ เนื่องจากการปลดปล่อยไฟฟ้าออกจากตัวแบตเตอรี่ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีภายในตัว เมื่อสารเคมีภายในแบตเตอรี่ถูกเปลี่ยนแปลงหมดแล้ว ไฟฟ้าก็จะหมดไป ปัจจุบันคือถ่านไฟฉายแบบใช้แล้วทิ้ง

  • แบตเตอรี่ที่สามารถชาร์จได้ สามารถประจุไฟฟ้ากลับเข้าไปใหม่ได้หลังจากไฟฟ้าหมดแล้ว เนื่องจากสารเคมีที่ใช้ทำแบตเตอรี่ชนิดนี้สามารถเปลี่ยนกลับไปสภาพเดิมได้ด้วยการชาร์จไฟฟ้ากลับเข้าไปใหม่ด้วยอุปกรณ์อัดประจุไฟฟ้า ปัจจุบันคือ ถ่านไฟฉายแบบชาร์จซ้ำได้, แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า, แบตเตอรี่มือถือ ฯลฯ

 

แบตเตอรี่แบบชาร์จไฟได้

แบตเตอรี่ ถูกนำมาใช้งานในรถยนต์เพื่อเป็นแหล่งพลังงานในการขับเคลื่อนครั้งแรก เมื่อเกิดการคิดค้นแบตเตอรี่ตะกั่วกรดได้ในช่วงปี ค.ศ. 1859 โดยแบตเตอรี่ชนิดนี้ สามารถอัดประจุไฟฟ้ากลับเข้าไปใหม่ได้ ในยุคแรกมักถูกใช้เป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าให้กับระบบแสงสว่างภายในรถไฟ

แบตเตอรี่ตะกั่วกรด ถูกพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มความจุพลังงานให้มัน และให้มันสามารถผลิตในระดับอุตสาหกรรมได้ โดยในปี ค.ศ. 1881 เมื่อมีรถยนต์ไฟฟ้าที่สามารถนั่งได้คันแรกเกิดขึ้น นักประดิษฐ์ชาวฝรั่งเศสได้ทำการทดสอบแบตเตอรี่ในรถยนต์ดังกล่าว โดยนำมอเตอร์ไฟฟ้า ต่อเข้ากับแบตเตอรี่แบบตะกั่วกรด และติดตั้งบนรถ 3 ล้อไฟฟ้า ทำทดสอบขับบนถนนในปารีสจนได้ชื่อว่า นี่คือรถยนต์ไฟฟ้าคันแรกของโลกอย่างเป็นทางการ เพราะมันมีแหล่งพลังงานเป็นของตัวเอง และสามารถชาร์จไฟฟ้ากลับเข้าไปได้

ต่อมา ยังมีนักวิจัยอีกมากมายที่พยายามพัฒนาแบตเตอรี่ให้ใช้งานกับรถยนต์ไฟฟ้าได้ ทั้งนักวิจัยในประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน และสหรัฐอเมริกา ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่สร้างรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่มาเพื่อเป็นยานพาหนะที่ไม่ปล่อยมลพิษ เนื่องจากในยุคนั้น ยานพาหนะที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างยิ่งคือ “รถม้า”

 

Lead Acid Battery in EV 1900

แบตเตอรี่ตะกั่วกรด ในรถยนต์ไฟฟ้ายุคแรก
ภาพจาก :
Real Historical Photo
 

ยุคทองของรถยนต์ไฟฟ้าครั้งแรก

ยุคทองของรถยนต์ไฟฟ้าครั้งแรก เกิดขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 1900 รถม้า เป็นยานพาหนะที่ได้รับความนิยมสูง เนื่องจากสามารถเดินทางไปไหนได้สะดวก ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นตามมานั่นคือ “ขี้ม้า” ซึ่งมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ตามปริมาณรถม้า เราลองจินตนาการดูว่า ถ้ารถยนต์บนถนนทุกคัน เป็นรถม้า และของเสียก็คือ “ขี้ม้า” จากการขับถ่ายในแต่ละครั้งที่มีปริมาณค่อนข้างมาก ประกอบกับจำนวนม้าที่เยอะขึ้นตามสมัยนิยม จึงส่งผลให้กลิ่นของเสียเหล่านี้กระจายไปทั่ว และเป็นภาพที่ไม่น่าดู

ด้านรถยนต์ไอน้ำ เป็นพาหนะที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ทว่ามีข้อเสียหลักคือสตาร์ทยาก ใช้เวลาติดเครื่องนาน และต้องคอยเติมน้ำ ประกอบกับมีอันตรายจากแรงดันของน้ำร้อน 

ส่วนรถยนต์สันดาปเครื่องเบนซินในยุคนั้น ยังต้องใช้ความรู้ค่อนข้างเยอะ แม้ว่าการสตาร์ทจะง่ายกว่ารถยนต์ไอน้ำ แต่วิธีการเปลี่ยนเกียร์ก็ทำได้ยากกว่า ซึ่งรูปแบบการใช้งานไม่เหมือนกับในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีแรงสั่นสะเทือน กลิ่นไอเสีย และเสียงที่ดัง
 

การจราจรในนครนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา ช่วงปี ค.ศ. 1900 ส่วนใหญ่นิยมใช้รถม้า
ภาพจาก : geo

 

แตกต่างจากรถยนต์ไฟฟ้า ยานพาหนะทางเลือกใหม่ที่กลบข้อเสียของยานพาหนะรูปแบบอื่นๆ เพราะมันติดเครื่องง่ายกว่า ขับขี่ได้นุ่มนวลมากกว่า ไม่มีเสียง ไม่มีไอเสีย และไม่ร้อน ส่งผลให้มันได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว เป็นรถยนต์ที่นิยมใช้ในเมือง เพราะได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามันมีข้อเสียน้อยกว่ามาก ทว่าข้อเสียหลักของรถยนต์ไฟฟ้าในยุคนั้นคือ ระยะทางขับขี่ต่อการประจุไฟหนึ่งครั้ง ไปได้ไม่ไกลนัก และใช้เวลาในการประจุไฟฟ้านาน

และด้วยการใช้งานที่ง่ายนี่เอง ทำให้มันเป็นที่นิยมสำหรับชนชั้นสูง โดยเฉพาะผู้หญิงมากๆ รถยนต์ไฟฟ้าในยุคนั้นจึงมักถูกตกแต่งด้วยวัสดุที่หรูหรา และมีราคาแพง เพื่อเอาใจชนชั้นสูงโดยเฉพาะ โดยสัดส่วนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศสหรัฐอเมริกา ณ ขณะนั้นถือว่าสูงมาก แบ่งเป็นรถยนต์ไอน้ำ 40%, รถยนต์ไฟฟ้า 38% และรถยนต์สันดาป 22% มีการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด 33,842 คัน และสหรัฐอเมริกา เป็นประเทศที่ยอมรับรถยนต์ไฟฟ้ามากที่สุด
 

1900 EV Charging

สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในช่วงปี ค.ศ. 1900
ภาพจาก : Real Historical Photo

 

จุดสิ้นสุดยุคทองรถยนต์ไฟฟ้ายุคแรก

จุดสิ้นสุดของรถยนต์ไฟฟ้ายุคแรก เกิดขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 1920 จากการพัฒนาถนนสำหรับการเดินทางไกลระหว่างรัฐ ซึ่งข้อเสียหลักของรถยนต์ไฟฟ้านั่นคือวิ่งได้ไม่ไกล ทำความเร็วได้ไม่สูง และชาร์จนาน 

ประกอบกับ Ford ได้ผลิตรถยนต์สันดาปรุ่น Model T ซึ่งปฎิวัติรูปแบบการผลิตรถยนต์ด้วยวิธีการผลิตแบบสายพานการผลิต ส่งผลให้รถ Ford Model T ได้รับความนิยมทันที เพราะมันขับได้ไกลกว่า เพียงแค่เติมน้ำมันไม่นานก็ไปต่อได้เลย อีกทั้งได้พัฒนาระบบติดเครื่องยนต์มาแล้ว

นอกจากนี้ เทคโนโลยีเครื่องยนต์สันดาป ยังถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการทำความเร็วที่ทำได้มากกว่ารถยนต์ไฟฟ้า ประกอบกับราคาที่ถูกกว่ามาก ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าเริ่มไม่ได้รับความนิยม และหายไปในที่สุด

และจากที่เราเห็นกัน สาเหตุหลักประการหนึ่งที่ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าหมดความนิยมเกิดจาก “ระยะทางขับขี่ที่ทำได้สั้น และใช้เวลาชาร์จนาน” ซึ่งเป็นข้อด้อยหลักของเทคโนโลยีแบตเตอรี่ที่ใช้กักเก็บไฟฟ้าในยุคนั้นนั่นเอง

 

Ford Model T

รถยนต์สันดาป Ford Model T ผู้ปฎิวัติวงการยานยนต์
ที่มา : Ford

 

การกลับมาของรถยนต์ไฟฟ้า

ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมากว่า 80 ปี การพัฒนาแบตเตอรี่ยังคงทำกันอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีรถยนต์ไฟฟ้าออกวางจำหน่ายอยู่บ้างประปราย แต่ก็ไม่ได้รับความนิยมเฉกเช่นในอดีต จนกระทั่งราคาน้ำมันโลกเริ่มปรับตัวสูงขึ้น หลายๆ ประเทศมีนโยบายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม มุ่งลดการปล่อยมลพิษ ส่งผลให้เทคโนโลยีเครื่องยนต์สันดาปเริ่มเข้าใกล้ถึงขีดสูงสุดของมัน

ด้วยเหตุนี้เอง จึงมีการผลักดันการพัฒนารถยนต์พลังงานทางเลือก รวมถึงพลังงานผสมหรือ Hybrid เพิ่มมากขึ้น ซึ่งแบตเตอรี่และมอเตอร์ไฟฟ้าก็ถูกหยิบยกมาพัฒนากันต่ออีกครั้ง เพราะมันช่วยลดภาระการทำงานของเครื่องยนต์ได้ ทำให้ประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงมากยิ่งขึ้น และยังช่วยลดการปล่อยไอเสียจากรถยนต์

ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 ถือเป็นยุคแห่งการกลับมาอีกครั้งของรถยนต์ไฟฟ้า พลังงานทางเลือกที่เคยถูกใช้งานในอดีตอย่างไฟฟ้า จึงเริ่มถูกหยิบมาปัดฝุ่นจริงจังอีกครั้ง เห็นได้จากความพยายามนำเอาพลังงานไฟฟ้าและมอเตอร์ไฟฟ้ามาช่วยเครื่องยนต์สันดาปในการขับเคลื่อนรถยนต์ โดยมีจุดประสงค์หลากหลายรูปแบบ ทั้งเรื่องของการลดการใช้น้ำมัน และการเพิ่มกำลังให้รถยนต์

จุดที่ทำให้ทุกคนหันมามองรถยนต์ไฟฟ้าอย่างจริงจัง เริ่มต้นเมื่อ Tesla Motor ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติสหรัฐอเมริกา เผยว่ากำลังพัฒนารถยนต์สปอร์ตไฟฟ้า Tesla Roadster เมื่อปี ค.ศ. 2004 โดยใช้แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน เป็นแหล่งกักเก็บพลังงาน และเริ่มส่งมอบเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 2008 ทว่าจำนวนที่จัดจำหน่ายออกมานั้นน้อยมากๆ

ในปี 2009 เป็นต้นมา ถือเป็นช่วงที่รถยนต์ไฟฟ้าได้กลับมาใหม่อีกครั้งอย่างเป็นทางการ จากผู้ผลิตรถยนต์กลุ่มตลาดใหญ่ อาทิ ญี่ปุ่น นำโดยแบรนด์ Mitsubishi และรถยนต์ที่หลายคนรู้จัก Nissan Leaf ออกสู่ตลาดโลกในช่วงปีนี้ โดยจุดเด่นของมันคือ เป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่ราคาจับต้องง่าย มีความอเนกประสงค์ ชาร์จแบตเตอรี่ได้เร็ว และขับขี่ได้ระยะทางที่ไกล

 

PTT EV Ecosystem นิเวศยานยนต์ไฟฟ้ากลุ่ม ปตท.

PTT EV Ecosystem นิเวศยานยนต์ไฟฟ้ากลุ่ม ปตท.

 

สำหรับประเทศไทยนั้น มีความพยายามที่จะสร้างและผลักดันให้เกิดการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลายในประเทศเพื่อตอบสนองต่อแนวทาง Net Zero และแนวทางการส่งเสริม EV ตามนโยบาย 30@30 ซึ่ง ปตท. โดยกลุ่มอรุณ พลัส ได้ร่วมสร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร ตั้งแต่ธุรกิจต้นน้ำยันปลายน้ำ โดยเฉพาะแบตเตอรี่ซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้าผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำระดับโลก เพื่อนำพาประเทศไทย มุ่งสู่การเป็นผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าชั้นนำของอาเซียน

 

แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน

เซลล์แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนในรถยนต์ไฟฟ้ายุคปัจจุบัน

เซลล์แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนในรถยนต์ไฟฟ้ายุคปัจจุบัน
 

แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ถูกคิดค้นขึ้นในปี ค.ศ.1985 ซึ่งในขณะนั้นเทคโนโลยีแบตเตอรี่รถยนต์มีหลากหลายรูปแบบ ทว่าเมื่อเทียบกันแล้ว แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนนั้นมีข้อดีเหนือกว่าแบตเตอรี่รูปแบบอื่นๆ ในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการชาร์จได้เร็วกว่า, การใช้งานได้ยาวนาน และที่สำคัญคือมีความหนาแน่นของพลังงานที่สูงกว่า ส่งผลให้มีระยะเวลาใช้งานที่ยาวนานขึ้น ทั้งยังมีน้ำหนักเบา ทำให้แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ถูกใช้งานอยู่ในอุปกรณ์ต่างๆ มากมายรอบตัวเรา โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือ

ด้วยคุณสมบัติของแร่ลิเธียม ซึ่งเป็นแร่โลหะที่เบาที่สุดในบรรดาแร่โลหะทั้งหมด และมีความหนาแน่นเพียงครึ่งหนึ่งของน้ำ ประกอบกับความสามารถในการเก็บไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้มันเป็นแร่ที่เหมาะสำหรับการนำมาสร้างเป็นแหล่งกักเก็บพลังงานให้กับรถยนต์ไฟฟ้า

เมื่อโจทย์การทำรถยนต์สัก 1 คัน คือต้องประหยัดพลังงาน และขับได้ไกล แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจของผู้ผลิตรถยนต์และถูกนำมาใช้ผลิตแบตเตอรี่จนถึงปัจจุบัน

 

 

จีน จุดเปลี่ยนวงการแบตเตอรี่

ประเทศจีน เป็นม้ามืดแห่งเทคโนโลยีแบตเตอรี่ระดับโลก ในปี 2009 รัฐบาลจีน ต้องการผลักดันให้จีนขึ้นมาเป็นผู้นำในด้านการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า รัฐบาลจึงได้มีการออกนโยบาย พร้อมทั้งให้เงินอุดหนุนในด้านต่างๆ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศแบบครบวงจร  อาทิเช่น นโยบายสนับสนุนให้มีการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า, ผลักดันด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิต และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อส่งเสริมการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า

โดยการผลักดันการสร้างห่วงโซ่อุปทานของรถยนต์ไฟฟ้านี้ มีชิ้นส่วนที่สำคัญที่สุดของรถยนต์ไฟฟ้าคือ แบตเตอรี่ เป็นหนึ่งในโครงการนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งจุดด้อยของแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนในยุคนั้นคือ มีราคาแพง และผลิตได้ช้า

 

ภาพรวมของธุรกิจ CATL

ภาพรวมของธุรกิจ CATL

 

CATL ผงาดเบอร์ 1 แบตเตอรี่ EV

“ใครแก้ปัญหาได้ คนนั้นได้เปรียบ” เป็นปรัชญาที่ใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย ในเมื่อปัญหาของแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคือผลิตได้ช้า และมีราคาแพง ใครแก้ปัญหานี้ได้ คนนั้นครองตลาดทันที

CATL เป็นบริษัทวิจัย และผลิตแบตเตอรี่จากประเทศจีน ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 2011 มีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า, ระบบกักเก็บพลังงาน และระบบจัดการพลังงาน

โดย CATL สามารถพัฒนาให้ตนเอง ผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนปริมาณมากๆ ได้โดยใช้เวลาน้อยลง และที่สำคัญคือการพัฒนาแบตเตอรี่ให้มีความหนาแน่นของพลังงานต่อน้ำหนักที่สูง ประกอบกับฝั่งยุโรปและสหรัฐอเมริกา มีการสนับสนุนการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าด้วย ซึ่งส่งผลให้มีความต้องการใช้แบตเตอรี่เป็นจำนวนมาก เพื่อนำมาผลิตรถยนต์ไฟฟ้า
 

CATL ผู้นำด้านเทคโนโลยีแบตเตอรี่ลิเธียมไออนเบอร์ 1 ของโลก

 

เทคโนโลยีแบตเตอรี่ในอนาคต

เทคโนโลยีแบตเตอรี่ในอนาคตอันใกล้ที่เราจะได้เห็นกันนี้ เป็นอันชัดเจนแล้วว่าการเลือกใช้ลิเธียมมาเป็นธาตุหลักในการผลิต มีต้นทุนที่สูง แม้ว่าข้อดีของมันคือ มีความหนาแน่นพลังงานต่อน้ำหนักสูงมาก ซึ่งปัจจุบันสามารถพัฒนาไปได้ถึง 500Wh/Kg แล้ว ทว่าราคาของมันก็จะสูงตามไปด้วย โดยถ้าเราต้องการเพิ่มความหนาแน่นของพลังงานต่อน้ำหนัก จำเป็นต้องเปลี่ยนรูปแบบการแพ็กแบตเตอรี่ จากเดิมที่เป็นโมดูล ก็แพ็กเป็นชิ้นเดียว และเริ่มใช้งานให้แบตเตอรี่เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างตัวถังกันแล้ว ทั้งนี้เพื่อเพิ่มความจุไฟฟ้า และลดต้นทุนการผลิต 

ทว่าราคาแร่ลิเธียมถือว่าค่อนข้างสูง เมื่อประเมินจากปริมาณที่ต้องใช้เพื่อทำให้รถยนต์อีกจำนวนมากบนโลก เปลี่ยนมาใช้เป็นรถยนต์ไฟฟ้า ทำให้มีการพัฒนาแบตเตอรี่ที่ใช้ธาตุอื่นๆ อย่าง “โซเดียม” ซึ่งมีราคาถูกกว่ามาก และหาได้ง่ายจาก “น้ำทะเล” ซึ่งไม่มีวันหมดไปจากโลกของเราอย่างแน่นอน เพื่อทำให้แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้ามีต้นทุนที่ถูกลง ส่งผลให้ทำให้รถยนต์ไฟฟ้ามีราคาถูกลงได้ และจะทำให้แบตเตอรี่ถูกใช้งานได้แพร่หลายมากยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม

 

อัปเดตข่าวรถยนต์ ดูรีวิวรถยนต์ รีวิวรถมอเตอร์ไซค์ ทุกยี่ห้อ โดยทีมงานมืออาชีพ เช็คราคา ตารางผ่อน พร้อมเกาะติดข่าวสารรถยนต์ไฟฟ้า EV ไปกับ Autospinn.com

ซื้อขายรถมือสอง ทุกรุ่น ทุกแบบ ทั้งรถเก๋งมือสอง รถตู้มือสอง รถกระบะมือสอง ราคาดี ฟรีดาวน์ ผ่อนถูก คุณภาพพร้อมใช้งาน ดูรายละเอียด และราคารถมือสองได้ที่ ตลาดรถ One2car


ความคิดเห็น


เรียกดูข่าวตามประเภทยานพาหนะ

ค้นหาข่าวโดยยี่ห้อ