สภาผู้บริโภค เร่งรัฐบาลกำหนดหลักเกณฑ์ค่าการตลาดน้ำมัน ให้เหมาะสม  Share this

สภาผู้บริโภค เร่งรัฐบาลกำหนดหลักเกณฑ์ค่าการตลาดน้ำมัน ให้เหมาะสม 

Wongsupat
โดย Wongsupat
โพสต์เมื่อ 31 May 2566

“ค่าการตลาดน้ำมันพุ่ง” เกินกำหนด สภาผู้บริโภคเรียกร้องรัฐ ออกเกณฑ์บังคับ เปิดเผยต้นทุน และสร้างระบบตลาดเสรี


สภาผู้บริโภค เร่งรัฐบาลกำหนดหลักเกณฑ์ค่าการตลาดน้ำมัน ให้เหมาะสม

จากกรณีที่ผู้บริโภคประสบความเดือดร้อนจากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในสาเหตุคือราคาค่าการตลาดของน้ำมันที่รวมอยู่ในต้นทุนการผลิตน้ำมัน ซึ่งในระยะต้นปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการค้าปลีกน้ำมันได้มีการปรับอัตราขึ้นสูงกว่าที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) กำหนดไว้และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ทำให้ผู้บริโภคต้องแบกรับภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้น

เร่งรัฐบาลกำหนดหลักเกณฑ์ค่าการตลาดน้ำมัน

สภาผู้บริโภคจึงได้ออกแถลงการณ์ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 เรียกร้องให้รัฐบาลรักษาการ ต่อเนื่องถึงรัฐบาลใหม่ ขอให้เร่งดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์ให้ค่าการตลาดที่เหมาะสมที่กำหนดโดย กบง. เป็นมาตรการบังคับ ขอให้รัฐตรวจสอบและเปิดเผยต่อสาธารณะถึงต้นทุนการประกอบกิจการน้ำมัน

และต้นทุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่โรงกลั่นขายให้บริษัทผู้ค้าปลีกน้ำมัน และ ขอให้รัฐบาลทบทวนนโยบายส่งเสริมการลอยตัวราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อทำให้เกิดการแข่งขันแบบตลาดเสรีและเปิดโอกาสให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจน้ำมันรายย่อย ทั้งนี้ เพื่อเป็นมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนของผู้บริโภค และส่งเสริมกลไกตลาดเสรีในระยะยาว

ค่าการตลาดน้ำมันพุ่งสะสมขึ้นไปถึง 3 บาทต่อลิตร

ในหนังสือแถลงการณ์สภาผู้บริโภคได้ชี้แจงว่า สภาผู้บริโภคพบว่าผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่มีการปรับราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปเป็นไปอย่างล่าช้าและมีการลดราคาขายปลีกหน้าปั๊มน้อยกว่าที่ควรเป็น ไม่เป็นไปตามกลไกราคาน้ำมันในตลาด ซึ่งเป็นผลทำให้ค่าการตลาดน้ำมันพุ่งสะสมขึ้นไปถึง 3 บาทต่อลิตร สูงกว่าเกณฑ์ค่าการตลาดที่เหมาะสมที่ 2 บาทต่อลิตรซึ่ง กบง. ได้ประกาศไว้ล่าสุด ณ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 ส่งผลให้ผู้ใช้น้ำมันต้องเสียเงินกับค่าการตลาดที่รวมอยู่ในค่าขายปลีกน้ำมันที่สูงเกินควรร่วม 300 ล้านบาทในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 

ทั้งนี้ ในการสำรวจราคาค่าการตลาดน้ำมันระหว่างเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม 2566 พบว่ามีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.02, 2.12, 2.26 2.39 และ 2.66 บาทต่อลิตรตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ค่าการตลาดน้ำมันที่ กบง. ประกาศไว้ที่ 2.00 บาทต่อลิตรและมีทิศทางที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และหากพิจารณาแยกเป็นรายกลุ่มพบว่า ในช่วงเวลาที่มีการขอความร่วมมือผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงให้คงค่าการตลาดน้ำมันดีเซลไว้ที่ 1.40 บาทต่อลิตรนั้น ค่าการตลาดน้ำมันดีเซลเฉลี่ยในเดือนมกราคมถึงมีนาคม 2566 นั้นสูงกว่าที่ กบง. กำหนดไว้ที่ 1.47, 1.66 และ 1.86 บาทต่อลิตรตามลำดับ 

ค่าการตลาดกลุ่มเบนซินเฉลี่ยปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง

ส่วนค่าการตลาดกลุ่มเบนซินเฉลี่ยพบว่าปรับสูงขึ้นต่อเนื่องและสูงกว่าสูงกว่าเกณฑ์ค่าการตลาดที่เหมาะสมที่ กบง.ประกาศไว้ โดยไตรมาส 4 ปี 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ 2.66 บาทต่อลิตร ในไตรมาส 1 ถึงไตรมาส 4 ของปี 2565 มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 2.81, 2.47 , 3.17 และ 3.22 บาทต่อลิตร ตามลำดับ และเมื่อพิจารณาค่าการตลาดของแก๊สโซฮอล์ 95 ซึ่งเป็นน้ำมันกลุ่มเบนซินที่มียอดขายต่อวันสูงสุด

พบว่าในเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม 2566 มีค่าการตลาดเฉลี่ยอยู่ที่ 3.18, 3.06, 3.33 และ 3.81 บาทต่อลิตรตามลำดับโดยผู้ค้าน้ำมันได้ให้เหตุผลต่อภาครัฐว่า ต้นทุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ซื้อจากโรงกลั่นอยู่ในระดับสูงกว่าราคาอ้างอิงของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ส่งผลให้ไม่สามารถปรับลดค่าการตลาดน้ำมันกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอลล์ตามที่ภาครัฐขอความร่วมมือได้

ในประเด็นดังกล่าว สภาผู้บริโภคมีความเห็นว่า การที่ผู้ค้าน้ำมันโดยเฉพาะผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ไม่ยอมปรับลดค่าการตลาดน้ำมันตามที่ภาครัฐขอความร่วมมือ ส่งผลให้ไม่มีการปรับลดราคาหรือปรับลดราคาน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เป็นการสะท้อนถึงความล้มเหลวในนโยบายการปล่อยลอยตัวราคาน้ำมันเชื้อเพลิงของรัฐบาลโดยเฉพาะในกลุ่มเบนซิน

โดยรัฐขาดประสิทธิภาพในการติดตามกำกับดูแลการปรับเปลี่ยนราคาน้ำมันสำเร็จรูปของผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ในประเทศที่ไม่สอดคล้องกับทิศทางของกลไกราคาน้ำมันตลาดโลกที่มีแนวโน้มลดลงตามลำดับ จนเกิดการเอารัดเอาเปรียบกับผู้ใช้น้ำมัน สภาผู้บริโภคประมาณการว่า เฉพาะในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 ผู้ใช้น้ำมันทั้งกลุ่มเบนซินและดีเซลต้องแสียค่าใช้จ่ายให้กับค่าการตลาดน้ำมันที่ไม่เป็นธรรมเป็นจำนวนเงินไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท

สภาผู้บริโภคจึงเรียกร้องต่อรัฐบาลรักษาการณ์และรัฐบาลใหม่ที่จะจัดตั้งในอนาคตอันใกล้ ได้ให้ความเป็นธรรมต่อผู้ใช้น้ำมัน โดยเร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลรักษาการณ์และรัฐบาลใหม่ ดังนี้

  1. เกณฑ์กว่าค่าการตลาดที่เหมาะสมที่ภาครัฐประกาศ รัฐบาลต้องกำหนดเป็นมาตรการบังคับ
  2. ให้รัฐตรวจสอบและเปิดเผยให้สาธารณชนทราบถึงต้นทุนการประกอบการและต้นทุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่โรงกลั่นขายให้ผู้ค้าน้ำมันที่มีส่วนแบ่งการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศมากที่สุดสองลำดับแรกคือ บริษัทในกลุ่ม ปตท. และบางจากว่าอยู่ในระดับสูงกว่าราคาอ้างอิงของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ตามที่ผู้ค้าน้ำมันกล่าวอ้างหรือไม่
  3. ให้รัฐบาลทบทวนนโยบายการปล่อยลอยตัวราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ไร้การควบคุม ว่าก่อให้เกิดการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรมต่อผู้ประกอบธุรกิจน้ำมันรายเล็กจริงหรือไม่

    

สำหรับกรณีที่กระทรวงการคลังจะไม่ต่อมาตรการลดภาษีสรรสามิตน้ำมันดีเซล 5 บาทต่อลิตร โดยจะสิ้นสุดในวันที่ 21 กรกฎาคม 2566 ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซลปรับสูงขึ้นนั้น สภาผู้บริโภคมีความเห็น ดังนี้

  1. ไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นภาษีน้ำมันดีเซลจากที่เก็บอยู่ 1.34 บาทต่อลิตรในขณะนี้ เพราะผู้ใช้น้ำมันดีเซลยังต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมันในอัตรา 5.43 บาทต่อลิตร (ข้อมูล ณ วันที่ 30 พฤษภาคาคม 2566) เพื่อลดภาระหนี้สินของกองทุนน้ำมันที่ติดลบอยู่ 69,427 ล้านบาท การขึ้นภาษีจะเป็นการสร้างภาระแก่ประชาชนเกินสมควร
  2. การเก็บภาษีน้ำมัน รัฐบาลควรคำนึงว่า น้ำมันดีเซลคือเชื้อเพลิงหลักของภาคขนส่งในขณะที่ระบบการขนส่งทางรางของประเทศยังไม่สมบูรณ์ หากเก็บภาษีสูงเกินไปจะทำให้ราคาดีเซลสูงขึ้นอาจทำให้ความสามารถการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศด้อยลงได้ อีกทั้งการผสมไบโอดีเซล การเก็บภาษีและการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันในปัจจุบันที่รวมแล้วเกือบ 7 บาทต่อลิตรในปัจจุบัน ทำให้ราคาดีเซลของไทยที่ 32 บาทต่อลิตรในขณะนี้เป็นราคาที่สูงกว่าประเทศมาเลเซีย เมียนมา เวียดนาม และแม้กระทั่งประเทศกัมพูชาที่นำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงจากประเทศไทยเสียด้วยซ้ำ ดังนั้น ในช่วงที่ราคาดีเซลในตลาดโลกปรับลดลง รัฐบาลจึงควรหาแนวทางเพื่อลดราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลให้กลับไปอยู่ที่ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตรจึงจะเหมาะสมกว่า

อัปเดตข่าวรถล่าสุด ดูรีวิวรถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ ทุกยี่ห้อ โดยทีมงานมืออาชีพ ตรวจสอบราคา ตารางผ่อน พร้อมเกาะติดข่าวสารรถยนต์ไฟฟ้า EV ไปกับ Autospinn 

ค้นหารถมือสองทุกรุ่น ทุกแบบ ทั้งรถเก๋งมือสอง รถตู้มือสอง รถกระบะมือสอง ราคาดี ฟรีดาวน์ ผ่อนถูก คุณภาพพร้อมใช้งาน ดูรายละเอียด และราคารถมือสองได้ที่ ตลาดรถ One2car​​​


ความคิดเห็น


เรียกดูข่าวตามประเภทยานพาหนะ

ค้นหาข่าวโดยยี่ห้อ