ตัวเลขขายกระบะดิ่ง ไฮบริดพุ่ง เดือนพฤษภาคม 2567 Share this

ตัวเลขขายกระบะดิ่ง ไฮบริดพุ่ง เดือนพฤษภาคม 2567

Wongsupat
โดย Wongsupat
โพสต์เมื่อ 25 June 2567

ส.อ.ท. รายงานตัวเลขเดือนพฤษภาคม 2567 ผลิตรถยนต์ 126,161 คัน ลดลงร้อยละ 16.19 ขาย 49,871 คัน ลดลงร้อยละ 23.38 ส่งออก 89,284 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.39 สำหรับตัวเลขยอดขายกระบะยังลดลงต่อเนื่อง ตัวเลขขายกระบะติดลบ 19.05% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ชี้หากแยกเฉพาะเซกเมนต์รถไฮบริด พบตัวเลขพุ่งสูงขึ้นทั้งหมด


ตัวเลขขายกระบะดิ่ง ไฮบริดพุ่ง เดือนพฤษภาคม 2567

สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์  ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จากความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ได้รับผลกระทบอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มรถกระบะ ที่มียอดขายลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับที่สูงกว่า 90% และเศรษฐกิจที่ชะลอตัวไม่ฟื้นตัวตามที่มีการคาดการณ์ ทำให้ยอดขายรถกะบะล่าสุดอยู่ที่ 78,319 คัน เดือนพฤษภาคม 2567 ติดลบ 19.05% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกัน

"ต้มยำกุ้งปี 2539 ยอดขายรวม 589,126 คัน ปิกอัพช่วง 5 เดือนปี 2566 อยู่ที่ 127,456 คัน ขณะที่ปีนี้ ขายได้ 75,000 คัน ลดลงเยอะขนาดนี้เพราะเศรษฐกิจซึมยาว คาดครึ่งปียังไม่ฟื้นตัว เทียบกับต้มยำกุ้งหรือโควิดที่ยังกระทบระยะสั้น ดังนั้นช่วงนี้ ถือว่าอยู่ในสถานการณ์ที่แย่ยิ่งกว่าต้มยำกุ้ง ส่วนปีนี้คาดว่ายอดขายกระบะน่าจะไม่ถึง 200,000 คัน โดยอาจจะอยู่ที่ประมาณ 150,000 คัน หากมีมาตรการรัฐออกมากระตุ้นเศรษฐกิจก็อาจจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย และอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งระบบ ที่รวมถึงทั้ง supply chains ซึ่งต้องรอลุ้นว่า งบประมาณรัฐที่อนุมัติออกมาแล้วจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากน้อยแค่ไหน”

กระบะดิ่ง ไฮบริดพุ่ง เดือนพฤษภาคม 2567ส่วนกรณีที่บริษัทรถยนต์บางแห่งมีการยกเลิกการผลิตรถยนต์ในบางรุ่นก็เป็นผลมาจากการปรับแผนการทำธุรกิจ หากฐานการผลิตประเทศไหนยอดขายไม่ดี ผลิตภัณฑ์ไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดก็ต้องหยุดการผลิตลง และใช้วิธีนำเข้าแทน ซึ่งก็จะกระทบกลุ่มบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนบางส่วนที่ผลิตให้กับรถยนต์บริษัทนั้นๆ อีกทั้งการเข้ามาของ EV ก็มีส่วนทำให้หลายบริษัทต้องปรับแผนและหยุดการผลิตรถยนต์สันดาปบางรุ่น

“เดือนหน้าจะมีการปรับเป้าหมายการผลิตรถยนต์ของไทยอีกครั้ง อาจจะต้องปรับเป้าลดลงทั้งหมด  เพราะยอดขายปรับลดลงต่อเนื่อง”

ตัวเลขการผลิตรถยนต์นั่งไฮบริดเพิ่มขึ้น 50.71%

จำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนพฤษภาคม 2567 มีทั้งสิ้น 126,161 คัน ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2566 ร้อยละ 16.19 ลดลงจากการผลิตรถกระบะขายในประเทศลดลงร้อยละ 54.66 และผลิตรถยนต์นั่งขายในประเทศลดลงร้อยละ 14.35 ตามยอดขายในประเทศที่ลดลงจากเศรษฐกิจในประเทศที่เติบโตในอัตราต่ำและการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ายังไม่พร้อมเต็มที่ แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2567 ร้อยละ 20.54 

จำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในเดือนมกราคม - พฤษภาคม 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 644,951 คัน ลดลงจากเดือนมกราคม - พฤษภาคม 2566 ร้อยละ 16.88
รถยนต์นั่ง เดือนพฤษภาคม 2567 ผลิตได้ 46,951 คัน ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2566 ร้อยละ 7.74 โดยแบ่งเป็น

  • รถยนต์นั่ง Internal Combustion Engine มีจำนวน 29,935 คัน ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2566 ร้อยละ 24.70
  • รถยนต์นั่ง Battery Electric Vehicle มีจำนวน 865 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2566 ร้อยละ 7,763.64
  • รถยนต์นั่ง Plug-in Hybrid Electric Vehicle มีจำนวน 797 คัน ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2566 ร้อยละ 15.12
  • รถยนต์นั่ง Hybrid Electric Vehicle มีจำนวน 15,354 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2566 ร้อยละ 50.71

ยอดผลิตของรถยนต์นั่ง ตั้งแต่เดือนมกราคม - พฤษภาคม 2567 มีจำนวน 240,190 คัน เท่ากับร้อยละ 37.24 ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากเดือนมกราคม - พฤษภาคม 2566 ร้อยละ 11.29 ซึ่งในส่วนนี้ รถยนต์ไฮบริดมีจำนวน 86,017 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม - พฤษภาคม 2566 ร้อยละ 66.17

ตัวเลขการผลิตรถยนต์นั่งไฮบริดเพิ่มขึ้น 50.71%

ตัวเลขยอดขายรถกระบะเดือนห้าลดลง 33.87%

ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนพฤษภาคม 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 49,871 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2567 ร้อยละ 6.70 แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้วร้อยละ 23.38 เพราะสถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง รวมทั้งเศรษฐกิจในประเทศขยายตัวในอัตราต่ำจากการล่าช้าของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ทำให้การลงทุนของภาครัฐลดลง ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงติดต่อกันมากกว่าสิบเดือน โรงงานหลายแห่งลดเวลาทำงานลงและมีการเลิกจ้างพนักงานหลายหมื่นคน ทำให้ขาดรายได้ ประชาชนจึงระมัดระวังการใช้จ่ายเพราะความไม่แน่นอนในเรื่องรายได้รวมทั้งค่าอาหาร ค่าเดินทางและพลังงานมีราคาสูงขึ้น 

คาดว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังปีนี้จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 และปี 2568 ที่่กำลังพิจารณาในสภาฯ แต่เศรษฐกิจจะขยายตัวถึงร้อยละ 3 หรือไม่ ยังน่ากังวลถ้ายอดผลิตรถยนต์และขายรถยนต์ และขายอสังหาริมทรัพย์ยังติดลบ เพราะทั้งสองอุตสาหกรรมมีอุตสาหกรรมต่อเนื่องและแรงงานมากซึ่งจะส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศมาก

  • รถยนต์นั่งและรถยนต์นั่งตรวจการณ์ไฟฟ้าผสม (HEV) จำนวน 10,997 คัน เท่ากับร้อยละ 22.05 ของยอดขายทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 96.34 
  • ส่วนรถกระบะมีจำนวน 14,832 คัน ลดลงจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้วร้อยละ 33.87 
  • รถ PPV มีจำนวน 2,819 คัน ลดลงจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้วร้อยละ 42.42 
  • รถบรรทุก 5 – 10 ตัน มีจำนวน 1,280 คัน ลดลงจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้วร้อยละ 35.90 
  • รถประเภทอื่นๆ มีจำนวน 1,261 คัน ลดลงจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว 8.09

ตัวเลขยอดขายรถกระบะเดือนห้าลดลง 33.87%

ส่งออกสวนทาง สัดส่วนเพิ่มขึ้น 3.39%

รถยนต์สำเร็จรูป เดือนพฤษภาคม 2567 ส่งออกได้  89,284 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้วร้อยละ 27.26 และเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2566 ร้อยละ 3.39 เพิ่มขึ้นทั้งที่ผลิตเพื่อส่งออกลดลง เพราะมีรถยนต์ที่ยังไม่ได้ส่งออกเดือนที่แล้วมาส่งออกเดือนนี้ จึงส่งออกเพิ่มขึ้นในตลาดเอเชีย ตลาดออสเตรเลีย ตลาดตะวันออกกลาง ตลาดอเมริกาเหนือ ตลาดอเมริกากลางและอเมริกาใต้ แบ่งเป็น

  • รถกระบะ 50,159 คัน มีสัดส่วนร้อยละ 56.18 ของการส่งออกทั้งหมด ลดลงจากปี 2566 ร้อยละ 6.13 
  • รถยนต์นั่ง ICE 22,400 คัน มีสัดส่วนร้อยละ 25.09 ของการส่งออกทั้งหมด ลดลงจากปี 2566 ร้อยละ 0.89
  • รถยนต์นั่ง HEV 4,404 คัน มีสัดส่วนร้อยละ 4.93 ของการส่งออกทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ร้อยละ 373.04
  • รถ PPV 12,321 คัน มีสัดส่วนร้อยละ 13.80 ของการส่งออกทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ร้อยละ 31.24 

ส่งออกสวนทาง สัดส่วนเพิ่มขึ้น 3.39%

บทความที่น่าสนใจ

อัปเดตข่าวรถล่าสุด ดูรีวิวรถยนต์ รีวิวรถมอเตอร์ไซค์ ทุกยี่ห้อ โดยทีมงานมืออาชีพ เช็คราคา ตารางผ่อน พร้อมเกาะติดข่าวสารรถยนต์ไฟฟ้า EV ได้ที่ Autospinn.com

ซื้อขายรถมือสองออนไลน์ ต้องที่ ตลาดรถมือสอง One2car ซื้อรถง่าย ขายรถไว ทั้งรถเก๋งมือสอง รถตู้มือสอง รถกระบะมือสอง ราคาดี ฟรีดาวน์ ผ่อนถูก คุณภาพพร้อมใช้งาน


ความคิดเห็น


เรียกดูข่าวตามประเภทยานพาหนะ

ค้นหาข่าวโดยยี่ห้อ