สงครามราคารถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ประทุขึ้นอย่างหนักอีกขั้น กับการประกาศลดราคาอย่างต่อเนื่องของแบรนด์ BYD ในประเทศไทย โดยมีการปรับลดราคาสูงสุดถึง 340,000 บาท ทำให้ตลาดรถยนต์ในประเทศไทยทั้งหมดได้รับผลกระทบทั้งรถใหม่, รถมือสอง ไปจนถึงผู้ที่ซื้อรถมาแล้ว
สงครามราคา EV ในไทย
สงครามราคารถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยในช่วงกลางปี 2024 นี้ถือว่าดุเดือดเป็นอย่างยิ่ง โดยการเริ่มต้นของ BYD ผู้นำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าด้านยอดขายอันดับ 1 ในประเทศไทย ด้วยยอดขายในปี 2566 ที่ผ่านมาทะลุ 30,000 คัน จากยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าตลอดทั้งปีที่ 76,000 คัน คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาดในไทยถึง 40% ซึ่งหมายความว่ามีผู้ใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าของ BYD ในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก
ต่อเนื่องมาสู่ปี 2567 นี้ มียอดจดทะเบียนรวมทั้ง 3 รุ่นไปแล้วกว่า 12,000 คัน ซึ่งยังคงตำแหน่งยอดขายอันดับ 1 ในประเทศไทยได้อย่างต่อเนื่องจากการทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้า 3 รุ่น ได้แก่ BYD Dolphin, BYD ATTO 3 และ BYD Seal หมายความว่า "ผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า BYD ส่วนใหญ่ ซื้อรถก่อนการลดราคาครั้งใหญ่ช่วงเดือนมิถุนายน - กรกฎาคม 2567
โดยในวันที่ 11 มิถุนายน 2567 ทาง BYD เริ่มต้นเปรยเรื่อง "การลดราคา" ผ่านการ "ลดราคาแบตเตอรี่ใหม่" สูงสุดถึง 40% โดยก่อนหน้านี้หลายคนทราบกันดีว่าราคาแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้านั้นมีราคาสูงเป็นสัดส่วนราว 50% ของมูลค่ารถยนต์ทั้งคัน
ต่อมาในวันที่ 19 มิถุนายน 2567 ทาง BYD ได้ทำการประกาศลดราคาจำหน่าย BYD Dolphin ต่อ ด้วยส่วนลดสูงสุดถึง 160,099 บาท
ถัดมาอีกสัปดาห์ในวันที่ 28 มิถุนายน 2567 ทาง NETA จึงได้ประกาศลดราคา NETA V-II ด้วยเช่นกัน จากเดิม NETA V-II Lite ราคา 549,000 เหลือ 499,000 และ NETA V-II Smart จาก 569,000 เหลือ 549,000 ซึ่งเป็นการปรับราคาหลบการลดราคาของ BYD Dolphin รุ่น Standard Range นั่นเอง
และในวันที่ 1 กรกฎาคม 2567 ก็ตามมาด้วยการประกาศลดราคาของ BYD ATTO 3 สูงสุดถึง 340,000 บาท ซึ่งเดือนนี้จะเป็นเดือนที่มีการเปิดตัวของ NETA X อันเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่มีกลุ่มตลาดเดียวกับผู้ใช้งาน BYD ATTO 3 ทุกประการ จึงมีความเห็นเป็นไปได้สูงมากว่าทาง BYD ทำราคานี้เพื่อรอรับการเปิดตัวของ NETA X ในเดือนนี้
มันคือสงครามราคาจริงๆ?
หลายๆ คนเห็นว่า นี่แหละคือสงครามราคาอย่างชัดเจนชัดๆ เพราะการลดราคารถยนต์ใหม่มาขนาดนี้ เป็นการทำให้ตลาดรถยนต์มีความปั่นป่วน จริงหรือ?
ต้องบอกว่า อย่างที่เราไล่ Timeline สิ่งที่เกิดขึ้นให้ทุกท่านเห็นตั้งแต่การลดราคาแบตเตอรี่ อันเป็นชิ้นส่วนสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้าลง นั่นหมายถึง "ต้นทุนการผลิต" ของค่ายรถยนต์นั้นลดลงแล้ว หากแบรนด์ยังเลือกคงราคาจำหน่ายด้วยราคาเดิม นั่นหมายความว่า "แบรนด์รถได้กำไรมากขึ้น"
ซึ่งการที่ค่ายรถสามารถทำกำไรได้มากขึ้น มองในมุมแบรนด์นี่คือสิ่งที่แบรนด์ต้องการ เพราะว่าเขาสามารถทำกำไรได้เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม จากการจำหน่ายรถยนต์ใหม่
แต่แบรนด์กลับเลือก "ลดราคารถยนต์ใหม่ลงทั้งหมด" เพื่อทำให้ผู้ที่กำลังสนใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้า สามารถตัดสินใจซื้อได้ง่ายมากยิ่งขึ้น อย่างที่เกิดขึ้นกับ BYD Dolphin ที่มีการลดราคากว่า 160,000 บาท ส่งผลทำให้สามารถขายรถได้หมดสต็อกภายใน 1 สัปดาห์
ข้อดีของการลดราคา
ข้อดีของการลดราคารถยนต์ ทำให้ผู้กำลังตัดสินใจซื้อรถยนต์ใหม่ สามารถตัดสินใจได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ด้วยราคาที่ต่ำลง หากเป็นการผ่อนชำระนั่นหมายความว่าค่างวดที่คุณต้องจ่ายนั้นจะน้อยลงกว่าตอนราคาปกติไปมาก ซึ่งเป็นข้อดีสำหรับผู้ที่กำลังจะตัดสินใจซื้อใหม่
แต่สำหรับผู้ที่ซื้อไปก่อนหน้านี้ อาจจะมีความรู้สึก "เสียดายเงินส่วนต่าง" ซึ่งไม่แปลกนัก เนื่องจากเงินส่วนต่างที่เกิดขึ้นอยู่ในระดับหลักแสนบาทกันเลยทีเดียว หากเป็นผู้ที่ออกรถไปก่อนหน้าสักปีกว่าๆ อาจจะไม่ได้รู้สึกอะไรมาก เพราะรถผ่านการใช้งานมาระดับหนึ่งแล้ว
แต่ถ้าเป็นกลุ่มคนที่เพิ่งออกรถมาไม่กี่วันก่อนการประกาศลดราคา ย่อมมีความรู้สึก "เสียดาย" กันเป็นอย่างยิ่ง โดยอาจถึงขั้น "เครียด" ได้ เนื่องจากมูลค่าหลักแสนบาทที่ลดลงนั่น หากคิดเป็นสัดส่วนคือมากถึง 15 - 30% กันเลยทีเดียว โดยส่วนต่างที่เกิดขึ้นนั้น สำหรับคนที่ซื้อรถแบบจัดไฟแนนซ์นั้น หลายๆ คนยังผ่อนค่างวดรถไม่เท่าส่วนลดที่เกิดขึ้นซะด้วยซ้ำไป จึงไม่แปลกที่เกิดวลี "ซื้อทีหลัง ประหยัดกว่า"
รู้สึกเสียดาย ไม่ใช่เรื่องผิด แต่อย่าลืมวันที่ตัดสินใจ
การที่เรารู้สึกเสียดายเมื่อของที่เราซื้อมีการลดราคาลงอย่างหนักแล้วเรารู้สึกเสียดายเงินนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ผิด มันเป็นเรื่องอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้ของมนุษย์ แต่เราต้องอย่าลืมว่าวันที่เราตัดสินใจเลือกซื้อรถยนต์นั้น การตัดสินใจทั้งหมดเกิดจาก "ตัวคุณเองล้วนๆ" ที่ตัดสินใจเลือกมัน
คุณจะต้องผ่านขั้นตอนของการคิด วิเคราะห์ มาอย่างถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจซื้อมาก่อนหน้านี้แล้ว และถ้าคุณตัดสินใจซื้อในวันนั้น นั่นหมายความว่า "คุณโอเคกับทุกสิ่งทุกอย่างของมัน" ทั้งเรื่องรูปร่างหน้าตา ออปชั่น ความสามารถต่างๆ ของรถ รวมไปถึงราคาจำหน่าย และบริการหลังการขายอีกด้วย ทำให้คุณตัดสินใจซื้อมันในวันนั้น
การที่แบรนด์ตัดสินใจออกโปรโมชั่นใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นการขาย มีการให้ของแถมเพิ่มเติมภายหลัง กระทั่งการลดราคาจำหน่ายลงภายหลังจากการที่คุณออกรถมาแล้ว มันเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย แต่ไม่ใช่เรื่องที่ควรนำไปคิดมาก เพราะคุณตัดสินใจเป็นอย่างดีแล้วตั้งแต่วันนั้น
และไม่ใช่เรื่องที่ควรไปเรียกร้องถึงสิทธิประโยชน์ที่คุณอยากจะได้บ้างแบบคนที่ซื้อหลังจากคุณ อาทิเช่นการขอคืนเงินส่วนต่างที่เกิดขึ้น อีกทั้งการลดราคารถยนต์นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด
การลดราคา ไม่ใช่เรื่องดีทั้งหมด
การลดราคารถยนต์บ่อยๆ ไม่ใช่เรื่องที่ดีนักในแง่ของการสร้างแบรนด์ แม้ว่าข้อดีคือช่วยทำให้ขายรถยนต์จากสต็อกออกไปได้อย่างรวดเร็ว แต่ข้อเสียคือในวันที่มีการเปิดตัวสินค้าใหม่ออกมา ผู้ซื้อจะรู้แล้วว่าอีกสักพักก็ต้องมีการลดราคาที่ไม่ใช่การลดน้อยๆ แต่เป็นการลดระดับหลักแสนถึงหลายแสนบาทกันเลยทีเดียว ซึ่งมันจะมีส่วนโดยตรงต่อยอดขายรถยนต์รุ่นนั้นๆ ในช่วงที่เปิดตัวใหม่อย่างแน่นอน เพราะโดยปกติแล้วรถยนต์มักจะทำยอดขายได้สูงมากๆ ในช่วงแรก และจะเริ่มลดน้อยลงไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีโปรโมชั่นกระตุ้นความต้องการซื้ออีกครั้ง จึงจะสามารถเรียกยอดขายสูงๆ ได้อีกรอบ
การลดราคารถยนต์ ไม่ใช่เรื่องใหม่
การลดราคารถยนต์นั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานานมากหลายสิบปีเคียงคู่กับประเทศไทยมาอย่างยาวนานแล้ว เพียงแต่รูปแบบการลดราคารถยนต์นั้นมันมี "วิธีการนำเสนอ" ที่แตกต่างกันออกไป โดยหลักแล้วการลดราคารถยนต์นั่นมีหลายแบบ อาทิเช่น
- การประกาศลดราคาพร้อมกันทั่วประเทศ และจำหน่ายด้วยราคามาตรฐานเดียวกันแบบ One price policy
- การประกาศลดราคาผ่านการใช้คำว่า "ส่วนลดพิเศษ หรือช่วยดาวน์ หรือช่วยผ่อน" เป็นมาตรฐานกลาง
- การลดราคาผ่าน "การคุยกับที่ปรึกษาการขายหรือเซลล์"
โดยรูปแบบการลดราคาที่เราพบเจอบ่อยมากในยุคก่อนการใช้ One Price policy แบบยุคสมัยนี้คือการให้ "โปรลับ" อันเกิดจากที่ปรึกษาการขายในแต่ละคน ยกตัวอย่างเช่นรถยนต์รุ่น A ราคาจำหน่ายเปิดตัวอยู่ที่ 1,000,000 บาท แถมฟรีประกันภัยชั้น 1, ฟรีจดทะเบียน, พรบ., ฟิล์มกรองแสง, พรม ซึ่งประกาศออกมาเป็นโปรโมชั่นกลาง
แต่ถ้าคุณไปคุยกับที่ปรึกษาการขายแต่ละคน คุณจะพบว่ามันมีของแถมเพิ่มเติมขึ้นมาอีกนอกเหนือจากโปรโมชั่นกลางที่ค่ายรถประกาศออกมา ยกตัวอย่างเช่น
- เซลล์ A ให้ส่วนลดพิเศษอีก 20,000 บาท แถมคิ้วกันสาด, ชุดแต่งรอบคัน, เปลี่ยนล้อแต่งให้
- เซลล์ B ไม่ให้ของแถมใดๆ แต่ให้ส่วนลดพิเศษ 100,000 บาท
- เซลล์ C ให้ส่วนลด 50,000 พร้อมล้อแต่ง
- เซลล์ D ยึดตามโปรโมชั่นกลาง
- เซลล์ E ให้ผ่อน 0% 5 ปี
เห็นได้ว่า รูปแบบการขายแบบเดิมนั้นจะไม่มีมาตรฐานกลางซะทีเดียว แต่ยืนยันได้เลยว่า "ส่วนลดพิเศษนั้นมีมานานแล้ว" โดยเรามักจะพบเห็นได้จากการโพสเปรียบเทียบส่วนลดกันตามกลุ่มรถยนต์ต่างๆ ในช่องทางสังคมออนไลน์ทั้งหลาย
โดยเราก็จะเห็นเรื่องของคนที่โพสว่าฉันออกรถมาแล้ว ได้ส่วนลดแบบเซลล์ D ที่คิดว่าคุ้มมากๆ แล้ว ปรากฎว่ามีอีกคอมเม้นซื้อรถกับเซลล์ B ที่ได้ส่วนลดแบบจุกๆ ทำให้เกิดเหตุการรู้สึก "เสียดาย" แบบเดียวกับที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้
เพราะฉะนั้นแล้ว การเลือกซื้อรถยนต์ เมื่อคุณตัดสินใจรับมันมาแล้ว คุณควรรู้สึกภูมิใจที่คุณได้สิ่งที่คุณต้องการที่ครบกับทุกเงื่อนไขในการตัดสินใจซื้อของคุณในวันนั้นไปแล้ว
การเปรียบเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นภายหลัง เปรียบเทียบกับคนอื่นๆ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ แต่ไม่ใช่เรื่องที่ควรนำมาเสียใจ เพราะชีวิตคนเรา มีเรื่องราวให้คิดอีกเยอะมากนอกเหนือจาการซื้อรถยนต์สักคัน
ขอให้ขับขี่อย่างปลอดภัยทุกท่านครับ
อัปเดตข่าวรถล่าสุด ดูรีวิวรถยนต์ รีวิวรถมอเตอร์ไซค์ ทุกยี่ห้อ โดยทีมงานมืออาชีพ เช็คราคา ตารางผ่อน พร้อมเกาะติดข่าวสารรถยนต์ไฟฟ้า EV ได้ที่ Autospinn.com
ซื้อขายรถมือสองออนไลน์ ต้องที่ ตลาดรถมือสอง One2car ซื้อรถง่าย ขายรถไว ทั้งรถเก๋งมือสอง รถตู้มือสอง รถกระบะมือสอง ราคาดี ฟรีดาวน์ ผ่อนถูก คุณภาพพร้อมใช้งาน
ความคิดเห็น