บอร์ดอีวีเคาะมาตรการลดภาษีหนุน HEV – MHEV พร้อมเปิดให้ยกยอดผลิตชดเชยตาม EV3 ไป EV3.5 Share this
EV Trends
โหมดการอ่าน

บอร์ดอีวีเคาะมาตรการลดภาษีหนุน HEV – MHEV พร้อมเปิดให้ยกยอดผลิตชดเชยตาม EV3 ไป EV3.5

Wongsupat
โดย Wongsupat
โพสต์เมื่อ 04 December 2567

นายกรัฐมนตรีนั่งหัวโต๊ะประชุมบอร์ดอีวี เคาะมาตรการลดภาษีสรรพสามิตกลุ่ม HEV – MHEV เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ยานยนต์ไฟฟ้า ตอกย้ำไทยศูนย์กลางการผลิตและส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าระดับโลกในทุกเซกเมนต์ พร้อมขยายเวลาการผลิตชดเชยรถยนต์ไฟฟ้านำเข้าตามมาตรการ EV3 ให้ยกยอดไป EV3.5 แต่ไม่ให้ได้รับเงินอุดหนุน จนกว่าจะผลิตชดเชยตามมาตรการเดิมครบถ้วน ป้องกันภาวะรถยนต์ล้นตลาด และพยุงสถานการณ์อุตสาหกรรมรถยนต์ภายในประเทศ


บอร์ดอีวีเคาะมาตรการลดภาษีหนุน HEV – MHEV พร้อมเปิดให้ยกยอดผลิตชดเชยตาม EV3 ไป EV3.5

นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ดอีวี ซึ่งมี แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบมาตรการ 2 เรื่องสำคัญ คือ

  1. มาตรการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับผลิตรถยนต์ Hybrid (HEV) และ Mild Hybrid (MHEV) 
  2. การขยายเวลาการผลิตชดเชยตามมาตรการ EV3 โดยให้สามารถโอนไปผลิตชดเชยตามเงื่อนไขมาตรการ EV3.5 และระงับการให้เงินอุดหนุน จนกว่าจะผลิตชดเชยได้ครบถ้วน โดยทั้งสองมาตรการนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาสมดุลการแข่งขัน และสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนทั้งระบบ ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็น “ศูนย์กลางการผลิตและส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าระดับโลกในทุกประเภท” ในระยะยาว

บีโอไอหนุน HEV-MHEV 2024-2025สำหรับ “มาตรการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า” บอร์ดอีวี ได้เห็นชอบการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารขนาดที่นั่งไม่เกิน 10 คน แบบ HEV และ MHEV ซึ่งผลิตในประเทศ 

1. มาตรการสนับสนุนรถยนต์ HEV  กำหนดภาษีสรรพสามิตในอัตราคงที่ ตั้งแต่เริ่มใช้โครงสร้างภาษีใหม่ เป็นเวลา 7 ปี (พ.ศ. 2569 – 2575) ตามมติบอร์ดอีวีเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2567 โดยมีอัตราและเงื่อนไขการลงทุน ดังนี้
1.1 ต้องมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) สูงสุดไม่เกิน 120 g/km  

  • การปล่อย CO2 ไม่เกิน 100 g/km กำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตร้อยละ 6 
  • การปล่อย CO2 ตั้งแต่ 101 – 120 g/km กำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตร้อยละ 9 

1.2 ต้องมีการลงทุนในไทยเพิ่มเติม โดยผู้ผลิตรถยนต์และบริษัทในเครือไม่น้อยกว่า 3,000 
ล้านบาท ระหว่างปี 2567 – 2570 

1.3 ต้องใช้ชิ้นส่วนสำคัญที่ผลิตหรือประกอบในประเทศ โดยต้องใช้แบตเตอรี่ที่ผลิตในประเทศตั้งแต่ปี 2569 และต้องใช้ชิ้นส่วนสำคัญอื่น ๆ ตั้งแต่ปี 2571 โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กรณีลงทุนเพิ่มเติม 3,000 ล้านบาทขึ้นไป แต่ไม่ถึง 5,000 ล้านบาท จะต้องใช้ชิ้นส่วนสำคัญที่มีมูลค่าสูงทั้ง 3 ชิ้นเท่านั้น ได้แก่ Traction Motor, Reduction Gear, Inverter แต่หากลงทุนเพิ่มเติมตั้งแต่ 5,000 ล้านบาทขึ้นไป สามารถเลือกใช้ชิ้นส่วนสำคัญที่มีมูลค่าสูง ร่วมกับกลุ่มมูลค่าปานกลางได้ เช่น BMS, DCU, Regenerative Braking System เป็นต้น

1.4 ต้องมีการติดตั้งระบบความปลอดภัยอัจฉริยะ (ADAS) อย่างน้อย 4 จาก 6 ระบบ ดังนี้ ระบบเบรกฉุกเฉินขั้นสูง, ระบบเตือนการชนด้านหน้า, ระบบดูแลภายในช่องจราจร, ระบบเตือนการออกหรือเปลี่ยนช่องจราจร, ระบบตรวจจับจุดบอด และระบบควบคุมความเร็ว

บอร์ดอีวีเคาะมาตรการลดภาษีหนุน HEV – MHEV พร้อมเปิดให้ยกยอดผลิตชดเชยตาม EV3 ไป EV3.5

2. มาตรการสนับสนุนรถยนต์ MHEV ซึ่งเป็นรถยนต์แบบผสมที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงและไฟฟ้า โดยมีแรงดันไฟฟ้าในการขับเคลื่อนต่ำกว่า 60 โวลต์ และอาศัยเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเซกเมนต์ที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการผลิตในระดับโลก บอร์ดอีวี ได้กำหนดภาษีสรรพสามิตในอัตราคงที่ ตั้งแต่เริ่มใช้โครงสร้างภาษีใหม่ เป็นเวลา 7 ปี (พ.ศ. 2569 – 2575) โดยมีอัตราและเงื่อนไขการลงทุน ดังนี้

2.1 ต้องมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) สูงสุดไม่เกิน 120 g/km  

  • การปล่อย CO2 ไม่เกิน 100 g/km กำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตร้อยละ 10 
  • การปล่อย CO2 ตั้งแต่ 101 – 120 g/km กำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตร้อยละ 12 

2.2 ต้องมีการลงทุนในไทยเพิ่มเติม โดยผู้ผลิตรถยนต์และบริษัทในเครือ ไม่น้อยกว่า 1,000 
ล้านบาท ระหว่างปี 2567 – 2569 และไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท ระหว่างปี 2567 – 2571 

2.3 ต้องใช้ชิ้นส่วนสำคัญที่ผลิตหรือประกอบในประเทศ โดยต้องใช้แบตเตอรี่ที่ผลิตในประเทศตั้งแต่ปี 2569 และต้องใช้ชิ้นส่วนสำคัญ ได้แก่ Traction Motor หรือชิ้นส่วนที่มีลักษณะการทำงานเพื่อเสริมแรงขับเคลื่อน ตั้งแต่ปี 2571 เป็นต้นไป

2.4 ต้องมีการติดตั้งระบบความปลอดภัยอัจฉริยะ (ADAS) อย่างน้อย 4 จาก 6 ระบบ เช่นเดียวกับเงื่อนไขของ HEV 

ev car 2024-2025

สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) บอร์ดอีวี ได้พิจารณาเรื่อง “การขยายเวลาการผลิตชดเชยตามมาตรการ EV3” ซึ่งเป็นข้อเสนอจากกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ให้พิจารณาขยายเวลาเงื่อนไขการผลิตชดเชยสำหรับผู้ผลิตที่ได้รับเงินสนับสนุนตามมาตรการ EV3 ซึ่งเดิมกำหนดว่าต้องผลิตให้ครบถ้วนตามสัญญาภายในปี 2567-2568 เนื่องจากยอดขายของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศอยู่ในภาวะหดตัว จากปัญหาความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน และปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค 

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้หารือข้อเสนอดังกล่าว โดยพิจารณาสถานการณ์ตลาดรถยนต์ของไทยในปัจจุบันที่อาจมีความเสี่ยงจากภาวะอุปทานล้นตลาด (Oversupply) ซึ่งอาจนำไปสู่สงครามราคาที่รุนแรงมากขึ้น และส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ บอร์ดอีวี จึงมีมติให้ปรับปรุงเงื่อนไขมาตรการ EV3 ที่เดิมกำหนดให้ต้องผลิตรถยนต์เพื่อชดเชยการนำเข้าในอัตราส่วน 1 : 1 เท่า (นำเข้า 1 คัน ผลิตชดเชย 1 คัน) ภายในปี 2567 หรือ 1 : 1.5 เท่า ภายในปี 2568  

โดยให้ผู้ประกอบการสามารถขยายเวลาผลิตชดเชยตามมาตรการ EV3 ไปผลิตชดเชยภายใต้เงื่อนไขของมาตรการ EV3.5 ได้ (ผลิตชดเชย 2 เท่า ภายในปี 2569 หรือ 3 เท่า ภายในปี 2570)  โดยรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับการขยายเวลาข้างต้นจะไม่ได้รับเงินอุดหนุน รวมถึงรถยนต์ไฟฟ้าในส่วนที่นำเข้าหรือผลิตภายใต้มาตรการ EV3.5 ก็จะไม่ได้รับเงินอุดหนุนเช่นเดียวกัน จนกว่าจะผลิตชดเชยได้ครบตามจำนวนที่ได้รับสิทธิขยายเวลา และอนุญาตให้นำรถยนต์สำเร็จรูป (CBU) ที่นำเข้าภายใต้ EV3 ที่นำเข้ามาสำเร็จ ส่งออกไปต่างประเทศโดยไม่นับเป็นยอดที่ผลิตชดเชย

ev car 2024-2025 02

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณาข้อเสนอการขอขยายเวลาการผ่อนผันให้ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในเขตปลอดอากรหรือเขตประกอบการเสรี ซึ่งต้องใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศมากกว่าร้อยละ 40 สามารถนับมูลค่าเซลล์แบตเตอรี่ที่นำเข้าจากต่างประเทศเป็นมูลค่าของชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศได้ไม่เกินร้อยละ 15 จากเดิมที่จะสิ้นสุดในปี 2568 เป็นสิ้นสุดในปี 2570 โดยบอร์ดอีวี มีมติไม่อนุมัติให้ขยายเวลามาตรการดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการเร่งให้เกิดการผลิตและใช้ชิ้นส่วนในประเทศ และนโยบายเร่งดึงดูดให้เกิดการลงทุนผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ในประเทศไทย 

ล่าสุดบีโอไอ ได้อนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนโครงการในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งการผลิตรถยนต์ BEV แบตเตอรี่และชิ้นส่วนสำคัญ รวมทั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า รวมเงินลงทุนกว่า 81,000 ล้านบาท ในส่วนของมาตรการ EV3 และ EV3.5 โดยกรมสรรพสามิต มีผู้เข้าร่วมมาตรการจำนวน 26 บริษัท คิดเป็นจำนวนยานยนต์ทุกประเภทรวมกันกว่า 133,000 คัน สำหรับยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV ในช่วง 10 เดือน (มกราคม - ตุลาคม 2567) มีจำนวน 59,746 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า จดทะเบียน 21,657 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 21 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

บทความที่น่าสนใจ

อัปเดตข่าวรถล่าสุด ดูรีวิวรถยนต์ รีวิวรถมอเตอร์ไซค์ ทุกยี่ห้อ โดยทีมงานมืออาชีพ เช็คราคา ตารางผ่อน พร้อมเกาะติดข่าวสารรถยนต์ไฟฟ้า EV ได้ที่ Autospinn.com

ซื้อขายรถมือสองออนไลน์ ต้องที่ ตลาดรถมือสอง One2car ซื้อรถง่าย ขายรถไว ทั้งรถเก๋งมือสอง รถตู้มือสอง รถกระบะมือสอง ราคาดี ฟรีดาวน์ ผ่อนถูก คุณภาพพร้อมใช้งาน


ความคิดเห็น


เรียกดูข่าวตามประเภทยานพาหนะ

ค้นหาข่าวโดยยี่ห้อ