ตรอ. คืออะไร Share this

ตรอ. คืออะไร

Champ Autospinn
โพสต์เมื่อ 4 ชั่วโมงที่ผ่านมา

การตรวจเช็กสภาพรถให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่แค่เครื่องยืนยันความปลอดภัยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการต่อภาษีรถของคุณก็ยังต้องผ่านการรับรองจากสถานตรวจสภาพรถหรือที่เรียกกันว่า ตรอ.


ตรอ. คืออะไร

ตรอ. หรือเรียกเต็มๆ ว่า สถานตรวจสภาพรถยนต์เอกชนที่เปิดให้บริการในการตรวจสภาพรถยนต์และรถมอเตอร์ไซค์ เหมาะสำหรับคนที่ไม่มีเวลานำรถไปตรวจสภาพที่กรมการขนส่งทางบก ซึ่งสังเกตได้ง่ายๆ ว่าหากสถานที่ตรวจสภาพรถยนต์มีสัญลักษณ์ ตรอ. จะถือว่าได้รับการอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบกอย่างถูกต้องตามกฎหมา

รถยนต์ต้องมีอายุกี่ปี ถึงจะต้องตรวจสภาพ

สำหรับรถยนต์ที่จะนำเข้ามาตรวจสภาพที่ ตรอ.จะต้องมีความสมบูรณ์ ใช้งานได้ปกติ รวมถึงรถที่มีอายุการใช้งานครบตามกฎกระทรวงก็จำเป็นต้องนำรถไปตรวจสภาพที่ ตรอ. ทุกปีด้วย ดังนี้

  • รถยนต์ส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 7  ปีขึ้นไป
  • รถยนต์ส่วนบุคคลเกิน 7 ที่นั่ง ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 7 ปีขึ้นไป
  • รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ที่มีอายุใช้งานตั้งแต่ 7 ปีขึ้นไป
  • รถจักรยานยนต์ ที่มีอายุใช้งานตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป

โดยการนับอายุของยานพาหนะที่ขับขี่ว่าตรงตามเกณฑ์เข้าตรวจที่ ตรอ. หรือไม่นั้น สามารถนับอายุได้จากวันที่เริ่มจดทะเบียนครั้งแรกจนถึงวันที่สิ้นสุดภาษีประจำปีนั่นเอง

เอกสารที่ต้องเตรียม เมื่อไปตรวจสภาพรถยนต์ที่ ตรอ.

การตรวจสภาพรถยนต์ที่ ตรอ. ใช้แค่เล่มทะเบียนรถเท่านั้น ซึ่งหลังจากนำรถเข้าไปตรวจสภาพแล้วหากผ่านการตรวจ ตรอตามเงื่อนไขที่กรมการขนส่งทางบกกำหนดก็จะได้รับใบรับรองและนำไปยื่นต่อภาษีรถยนต์ได้

ขั้นตอนการตรวจสภาพรถยนต์ที่ ตรอ. มีอะไรบ้าง

เมื่อนำรถเข้ามาตรวจที่ ตรอ. นอกจากเรื่องเอกสารแล้วจะมีการตรวจสภาพรถยนต์หลายรายการ เพื่อเช็กให้แน่ใจว่า รถยนต์หรือรถมอเตอร์ไซค์มีความพร้อมใช้งานอยู่ตลอด มีจุดไหนที่ต้องตรวจเช็กบ้างมาดูกัน

ตรวจข้อมูลรถ : อันดับแรก ตรอ. จะตรวจเช็กรถว่าตรงกับข้อมูลในเล่มทะเบียนรถหรือไม่ เช่น แผ่นป้ายทะเบียนรถ, แบบรถ, สีรถ, หมายเลขตัวรถ, ชนิดเครื่องยนต์, เลขเครื่องยนต์ เป็นต้น

ตรวจภายนอกและภายในรถ : อันดับต่อมาคือการตรวจสภาพภายนอกและภายในของตัวรถ ไม่ว่าจะเป็นสภาพตัวถัง, ระบบไฟ, เข็ดขัดนิรภัย, พวงมาลัย เป็นต้น 

ตรวจใต้ท้องรถ : ในส่วนของการตรวจใต้ท้องรถจะเป็นการตรวจเช็กระบบความปลอดภัย เช่น ระบบเบรก, ระบบเลี้ยว, ระบบไอเสียและเชื้อเพลิง รวมถึงเครื่องยนต์ เป็นต้น

ตรวจเช็กประสิทธิภาพของระบบเบรก ด้วยการทดสอบกับลูกกลิ้ง : โดยจะทำการตรวจเช็กแรงห้ามล้อ เมื่อดึงเบรกมือขณะที่รถจอดอยู่กับที่ ซึ่งแรงห้ามล้อทุกล้อรวมกันจะต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของน้ำหนักรถและแรงห้ามล้อหลักทุกล้อ เมื่อเหยียบเบรกเท้าแล้วจะต้องรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของน้ำหนักรถ โดยผลต่างของแรงห้ามล้อหลักทั้ง 2 ด้าน จะต้องไม่เกินร้อยละ 25 ของแรงห้ามล้อสูงสุดของเพลานั้นๆ 

ตรวจวัดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) และไฮโดรคาร์บอน (HC) : เป็นการตรวจวัดขณะเครื่องยนต์เดินเบาเมื่อเข้าเกียร์ว่างและปิดระบบปรับอากาศ โดย ตรอ. จะตรวจวัดปริมาณคาร์บอนมอนอกไซด์และค่าไฮโดรคาร์บอนจากปลายท่อไอเสีย 2 ครั้ง เพื่อนำมาหาค่าเฉลี่ยตามเกณฑ์ ดังนี้

  • รถยนต์ส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง ลักษณะเก๋ง หากจดทะเบียนก่อน 1 พ.ย. 2536 จะต้องมีค่า CO ไม่เกินร้อยละ 4.5 และค่า HC ไม่เกิน 600 ส่วนในล้านส่วน
  • จดทะเบียนวันที่ 1 พ.ย. 2536 - 31 ธ.ค. 2549 จะต้องมีค่า CO ไม่เกินร้อยละ 1.5 ส่วนค่า HC ต้องไม่เกิน 200 ส่วนในล้านส่วน
  • รถยนต์ประเภทอื่น หากจดทะเบียนก่อนวันที่ 1 ม.ค. 2550 จะต้องมีค่า CO ไม่เกินร้อยละ 4.5 และค่า HC ไม่เกิน 600 ส่วนในล้านส่วน ส่วนรถที่จดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2550 เป็นต้นไป จะต้องมีค่า CO ไม่เกินร้อยละ 0.5 และค่า HC ไม่เกิน 100 ส่วนในล้านส่วน

ตรวจเช็กควันดำ : การตรวจวัดค่าควันดำ จะทำการตรวจวัดขณะเร่งเครื่องด้วยความเร็วสูงขณะเข้าเกียร์ว่างและปิดระบบปรับอากาศ ซึ่งการเก็บวัดค่าควันดำจะใช้การเก็บ 2 ครั้ง ด้วยเครื่องมือวัดระบบกระดาษกรอง (Filter) โดยค่าควันดำที่ได้จะต้องไม่เกิน 50% และค่าความทึบของแสง (Opacity) จะต้องไม่เกิน 45% ถึงจะตรงตามข้อกำหนด 

ตรวจเช็กระดับเสียงของท่อไอเสีย : การวัดระดับเสียงของท่อไอเสีย จะทำการวัดตอนที่เร่งเครื่องยนต์จนสุดคันเร่งในกรณีที่เป็นรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซล ส่วนเครื่องยนต์เบนซินจะทำการวัดตอนเร่งเครื่องยนต์ให้มีความเร็ว 3 ใน 4 ของรอบเครื่องยนต์ โดยค่าระดับเสียงจะต้องมีค่าไม่เกิน 100 เดซิเบล

ตรวจเช็กระบบไฟ : ในส่วนของระบบไฟที่ต้องทำการตรวจเช็กก็คือระบบไฟหน้า โดยจะวัดจากทิศทางเบี่ยงเบนและค่าความเข้มข้นของแสง ดังนี้

  • ระบบไฟต่ำ มุมกดของไฟต่ำจะต้องกดลงไปในแนวราบร้อยละ 0.5 (0.29) องศา ถึงร้อยละ 4.0 (2.29 องศา) โดยความสว่างของไฟต่ำทั้งสองข้างจะต้องไม่น้อยกว่า 6,400 แคนเดลลา และทิศทางของไฟจะต้องไม่เบี่ยงไปทางทิศขวา
  • ระบบไฟสูง ความสว่างของไฟสูงทั้งสองข้างจะต้องไม่น้อยกว่า 12,000 แคนเดลลา และรวมกันต้องไม่เกิน 430,000 แคนเดลลา และทิศทางการเบี่ยงเบนของดวงไฟจะต้องไม่ไปในด้านขวาและไม่สูงเกินกว่าเส้นแนวราบ เป็นต้น

อัตราค่าบริการในการตรวจเช็กสภาพรถยนต์ที่ ตรอ.

เมื่อนำรถเข้าไปตรวจสภาพที่ ตรอ. จะมีค่าบริการที่ถูกกำหนดจากกรมขนส่งทางบก โดยสามารถแบ่งได้ตามประเภท ดังนี้

  • รถจักรยานยนต์คันละ 60 บาท
  • รถยนต์ที่มีน้ำหนักรถไม่เกิน 2,000 กิโลกรัม คันละ 200 บาท
  • รถยนต์ที่มีน้ำหนักรถเกิน 2,000 กิโลกรัม คันละ 300 บาท

ทั้งหมดนี้คือขั้นตอนการตรวจสภาพรถยนต์ที่ ตรอ. หรือสถานตรวจสภาพรถยนต์เอกชน ที่ผู้ใช้รถยนต์และรถมอเตอร์ไซค์หลายๆ คนเลือกนำรถไปตรวจสภาพประจำปีก่อนต่อภาษี ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับคนที่ไม่มีเวลา หรือไม่สะดวกที่จะเข้าไปที่กรมการขนส่งทางบก

ที่มา : วิริยะประกันภัย

อัปเดตข่าวรถล่าสุด ดูรีวิวรถยนต์ รีวิวรถมอเตอร์ไซค์ ทุกยี่ห้อ โดยทีมงานมืออาชีพ เช็คราคา ตารางผ่อน พร้อมเกาะติดข่าวสารรถยนต์ไฟฟ้า EV ได้ที่ Autospinn.com

ซื้อขายรถมือสองออนไลน์ ต้องที่ ตลาดรถมือสอง One2car ซื้อรถง่าย ขายรถไว ทั้งรถเก๋งมือสอง รถตู้มือสอง รถกระบะมือสอง ราคาดี ฟรีดาวน์ ผ่อนถูก คุณภาพพร้อมใช้งาน


ความคิดเห็น


เรียกดูข่าวตามประเภทยานพาหนะ

ค้นหาข่าวโดยยี่ห้อ