สำหรับช่วง MT-School ในสัปดาห์นี้ เราขอเสนอบทเรียนเกี่ยวกับ "การตั้งศูนย์ถ่วงล้อ" ที่ผู้ใช้รถเกือบทุกคนคงจะเคยผ่านมันมาบ้างแล้ว ซึ่งแน่นอนว่ายังมีอีกหลายท่านที่สงสัยว่าทำไมเราต้อง "ตั้งศูนย์ถ่วงล้อ" มันทำแล้วได้อะไร แล้วจะรู้ได้ยังไงว่าเราควร "ตั้งศูนย์ถ่วงล้อ" ตอนไหนบ้าง..และวันนี้ MT-School ของเรามีคำตอบมาฝากกัน
ก่อนอื่นต้องแยกออกเป็น 2 ขั้นตอน โดยเริ่มจาก "การตั้งศูนย์ล้อ" กันก่อน การตั้งศูนย์นั้นคือการทำให้ส่วนประกอบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบบังคับเลี้ยว ระบบช่วงล่างล้อ และยาง ให้ทำงานสัมพันธ์กันอย่างถูกต้อง โดยมีจุดประสงค์หลักคือจะทำให้รถวิ่งได้ตรง ไม่ดึงไปทางซ้ายหรือขวา
ซึ่งโดยปกติแล้วระบบช่วงล่าง และระบบบังคับเลี้ยวของรถนั้น จะมีชิ้นส่วนต่างๆ มากมาย ที่มีการเคลื่อนไหวขณะรถวิ่ง และย่อมจะมีการสึกหรอเกิดขึ้น ซึ่งมีผลทำให้ศูนย์ล้อผิดเพี้ยนไปจากสเป็คที่ถูกต้อง นอกจากนี้ศูนย์ล้อยังขึ้นอยู่กับความสูงของตัวรถกับพื้นถนน และการกระจายน้ำหนักลงบนล้อรถด้วย รวมถึงอายุการใช้งานของรถที่ทำให้ คอยส์สปริง บุช หรือ ลูกยางต่างๆก็เริ่มหมดอายุ
และเมื่อใดก็ตามที่ศูนย์ล้อไม่ถูกต้องตามสเป็ค ล้อรถกับตัวถัง หรือล้อข้างซ้ายกับล้อข้างขวาก็จะไม่เคลื่อนที่ไปในทิศทางเดียวกัน อันจะเป็นผลให้รถวิ่งไม่ตรง หรือเกิดอาการแฉลบ ซึ่งสังเกตุได้จากพวงมาลัยที่จะดึงไปข้างใดข้างหนึ่ง จนทำให้ยางทั้ง 2 ข้างสึกไม่เท่ากันอีกทั้งยังส่งผลเสียต่อชิ้นส่วนของช่วงล่างที่เกี่ยวข้องให้มีอายุการใช้งานสั้นลงด้วยเช่นกัน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการปรับตั้งศูนย์ล้อเพื่อให้ได้ค่าตามที่กำหนดไว้ในสเป็คของรถ
ซึ่งการตั้งศูนย์นั้นจะช่วยให้รถกลับมาวิ่งตรงได้ จากการปรับตั้งมุมต่างๆของล้อให้มีค่าใกล้เคียงกับ "ศูนย์" มากที่สุด ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า "ตั้งศูนย์" โดยมุมที่จัต้องตั้งนั้นหลักๆแล้วจะมีอยู่ 3 มุม ซึ่งช่างจะปรับตั้งค่าต่างๆตามที่เครื่องตั้งศูนย์บอกค่าของมุมต่างๆออกมา
เริ่มจากมุมแรกที่เรียกว่า "มุมแคมเบอร์" ซึ่งเป็นมุมที่เรามองจากด้านหน้ารถหรือหลังรถแล้วมองดูว่าล้อแบะเข้าหรือแบะออก อธิบายชัดๆเข้าไปอีกก็คือถ้าล้อด้านบนที่ไม่ติดพื้นเอียงเข้ามาหากันและล้อส่วนที่ติดพื้นนั้นเอียงตัวออกจากกันเราจะเรียกว่ามุมแคมเบอร์เป็นลบจะเห็นมากในรถโหลดและรถแข่งที่จะตั้งมุมล้อทั้งสี่ล้อที่ลบมากๆเป็นพิเศษเพื่อบังคับรถได้ง่ายเพื่อให้มีการเกาะถนนที่ดีและการเข้าโค้งที่ดี การตั้งมุมล้อแบบนี้ยางจะกินด้านในเพียงอย่างเดียว โดยมากรถใช้งานทั่วๆไปจะตั้งค่าเป็น0หรืออย่างมากก็ไม่เกิน-2
ส่วนจุดที่ 2 ที่ต้องปรับคือมุมโทอิน (Toe-in) และมุมโทเอ้าท์ (Toe-out) ก็คือถ้าเรามองจากด้านบนหลังคารถลงไปหรือTop View แล้วล้อที่อยู่ทางด้านหน้าสุดของทั้งสองข้างทำมุมเข้าหากันเราจะเรียกว่าโทอิน (Toe-in) แต่ถ้าด้านหน้าสุดของล้อกางออกจากกันแล้วด้านหลังสุดของล้อเข้าหากันเราเรียกว่าโทเอ้าท์ (Toe-out) โดยมากรถใช้งานทั่วไปจะตั้งเป็นกลางหรือเป็น 0 หรือบวกลบไม่เกิน1-2 จะมีที่ตั้งกันแบบที่ล้อหน้าตั้งให้เป็นโทอินลบมากๆ และตั้งให้ล้อหลังนั้นบวกมากๆ วิธีนี้เป็นวิธีการปรับมุมโทที่ผิดมากๆ เพราะท้ายรถจะไม่เกาะถนนและท้ายรถจะไวมากๆ ซึ่งนั่นก็เหมาะกับรถดริ๊ฟซึ่งต้องการให้ท้ายนั่นปัดได้ง่ายที่สุด
และสุดท้ายก็คือมุมแคสเตอร์ มุมแคสเตอร์ (Caster angle) คือมุมการวางตำแหน่งล้อ เมื่อมองจากด้านข้างตัวรถ เข้าไปหาตัวรถ มุมแคสเตอร์ จะเป็นมุมของแกนหมุนเลี้ยว ที่เอียงจากแนวดิ่งไปตามแนวยาวของรถ เมื่อแกนหมุนเลี้ยวส่วนบน เอียงไปทางด้านหลังรถ มุมแคสเตอร์ จะมีค่าเป็นบวก (Positive) ในทางตรงข้าม ถ้าแกนหมุนเลี้ยวส่วนบนเอียงไปทางด้านหน้ารถ มุม แคสเตอร์จะมีค่าเป็นลบ (Negative)
จากบทเรียนที่เพิ่งจบไปเกี่ยวกับการตั้งศูนย์ว่าทำอย่างไรและมีประโยชน์อะไรบ้างแล้วนั้น คำถามต่อมาคือ "แล้วเมื่อไหร่ต้องตั้งศูนย์" อันนี้ง่ายมากและคุณสามารถสังเกตุและรู้สึกได้ด้วยตัวเอง ในขณะขับขี่รถพวงมาลัยนั้นจะมีแรงดึงด้านใดด้านหนึ่งผิดปกติ ยิ่งงถ้าลองปล่อยมือดูจะเห็นชัดเจนว่ารถวิ่งไม่ตรงในขณะที่ขับขี่ในทางตรง ซึ่งถ้ารถคุณคุณมีอาการแบบนี้ก็แสดงว่าคุณควรที่จะเช็คและตั้งศูนย์ได้เลย ซึ่งถ้าปล่อยไว้อาจมีค่าใช้ในการซ่อมอย่างอ่ืนเพิ่มได้
จากนั้นมาต่อกันในขั้นตอนที่ 2 นั่นคือ "การถ่วงล้อ" ซึ่งการถ่วงล้อนั้นคือการเพิ่มน้ำหนักให้กับล้อแต่ละล้อให้เกิดความสมดุลมากที่สุด ซึ่งล้อที่ไม่สมดุลนั้นจะส่งผลให้พวงมาลัยมีอาการสั่นสะท้านขณะขับ และยังส่งผลเสียต่ออายุการใช้งานของยาง และสมรรถนะในการเกาะถนนระบบช่วงล่างของรถและโช้กอัพ รวมถึงความนุ่มนวลในการขับขี่ ดังนั้นการถ่วงล้อจะช่วยให้เกิดการกระจายน้ำหนักอย่างถูกต้องของยางและกระทะล้อ และจะทำให้ยางเกิดการสึกอย่างสม่ำเสมอและส่งผลต่อสมรรถนะการขับขี่ที่ดีมากยิ่งขึ้นด้วย
ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องมีการถ่วงสมดุล โดยเฉพาะล้อคู่หน้า เพราะการไม่ได้สมดุลในล้อหน้า จะแสดงผลชัดเจนจากอาการพวงมาลัยสั่นในบางช่วงความเร็ว แต่ถ้าให้ดีควรถ่วงทั้ง 4 ล้อ เพราะความไม่สมดุลในทุกๆล้อนั้นจะส่งผลต่ออายุการใช้งานของระบบช่วงล่าง โดยเฉพาะลูกปืนล้อ
คำถามต่อมาคือแล้วเมื่อไหร่ที่เราควรทำการถ่วงล้อ คำตอบคือคุณสามารถทำได้เมื่อรู้สึกว่าเวลาวิ่งบนทางเรียบแล้วพวงมาลัยมีอาการสั่น หรือในการถอดเปลี่ยนยางแต่ละครั้งก็ควรตรวจเช็คความสมดุลของล้อ หรือถ้าให้ดีก็ควรเช็คล้อและยางเมื่อผ่านการใช้งานไปสักพักประมาณ 40%-50% ก็ได้ เพราะการสึกหรอของยางอาจไม่สม่ำเสมอกันและส่งผลต่อการขับขี่ได้เช่นกัน
ซึ่งวิธีการถ่วงล้อนั้นจะมีอยู่ 2 แบบ คือ การถอดกระทะล้อออกมาถ่วงสมดุลทั่วๆไป กับถ่วงแบบจี้ คือ ไม่ต้องถอดล้อออกจากรถยนต์ เป็นการถ่วงสมดุลกระทะล้อ ยาง, จานดิสก์เบรก, เพลาขับ (ถ้าล้อนั้นมี), ลูกปืนล้อ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมักจะทำสำหรับรถที่ถ่วงล้อแบบปกติแล้วอาการสั่นยังไม่หาย แต่โดยทั่วไปการถอดล้อออกมาถ่วงภายนอกเพียงพอแล้ว
เป็นยังไงกันบ้าง..คราวนี้รู้แล้วใช่มั้ยว่า การตั้งศูนย์ถ่วงล้อจำเป็นอย่างไรบ้าง ทีนี้ก็ลองสังเกตุรถคุณดูว่ามีอาการผิดปกติตามบทเรียนของ MT-School ในวันนี้รึป่าว..ก็เท่านั้น
เรื่อง : อาณัติ สุทธิบุตร
ความคิดเห็น