ไม่คุ้ม? 5 ฟีเจอร์ในรถยนต์ที่อาจ “ก่อปัญหา” มากกว่า “ให้ประโยชน์” Share this

ไม่คุ้ม? 5 ฟีเจอร์ในรถยนต์ที่อาจ “ก่อปัญหา” มากกว่า “ให้ประโยชน์”

Satapana
โดย Satapana
โพสต์เมื่อ 16 November 2556

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้ซื้อรถยนต์ส่วนใหญ่ย่อมต้องการอุปกรณ์อำนวยความสะดวกมากที่สุดด้วยราคาค่าตัวที่ต่ำที่สุดเพื่อความคุ้มค่าต่อเงินทุกบาททุกสตางค์ที่เสียไป เราต้องการแอร์แยกส่วน ช่วงล่างอิเลกทรอนิก เบาะปรับไฟฟ้าหลายทิศทาง ซันรูฟและอีกหลายฟังก์ชั่นที่ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายในการใช้งานในชีวิตประจำวัน

แต่หารู้ไม่ว่า อ็อปชั่นบางชิ้นอาจดูดีแค่เพียงบนหน้ากระดาษโบรชัวร์หรือให้ความประทับใจเมื่อได้ทดลองขับขี่ระยะสั้น แต่อาจ “ไม่คุ้ม” เมื่อใช้งานจริงในระยะยาว เราขอนำเสนอ 5 ฟีเจอร์ที่อาจ “ก่อปัญหา” มากกว่า “ให้ประโยชน์” มาฝากกัน

https://img.icarcdn.com/autospinn/body/trouble-features-5-adjustable-suspension.jpg

#5 – ช่วงล่างปรับได้ด้วยระบบอิเลกทรอนิก

พบได้ใน: รถสปอร์ตหรือรถระดับพรีเมียม

ช่วงล่างแบบปรับได้ด้วยระบบอิเลกทรอนิกถูกออกแบบมาเพื่อตอบสนองการขับขี่ทุกรูปแบบ เพียงแค่กดสวิทช์บนคอนโซลก็สามารถปรับให้ช่วงล่างแข็งแน่นเพื่อเกาะถนนเหนียวแน่นหนึบหรือให้ความนุ่มนวลเพื่อการขับขี่ทางไกลอย่างสะดวกสบาย

การกดสวิทช์เพื่อปรับการทำงานของช่วงล่างเป็นสิ่งที่นักเลงรถหลายคนชื่นชอบและอาจสร้างความตื่นเต้นในการใช้งานช่วงแรก แต่เชื่อว่าในระยะยาว หลายคนมักใช้ช่วงล่างแบบเดียวตลอดการเดินทาง สวิทช์ปรับช่วงล่างดังกล่าวจึงมักถูกทิ้งอย่างไร้ประโยชน์ กลายเป็นอ็อปชั่นที่ใช้งานอย่างไม่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับค่าบำรุงรักษาที่แพงระยับกว่าระบบช่วงล่างแบบธรรมดา

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนชี้ว่าระบบปรับช่วงล่างด้วยอิเลกทรอนิกเป็นเพียงกิมมิคทางการตลาดมากกว่าอ็อปชั่นที่จะให้ประโยชน์ได้จริงๆ

https://img.icarcdn.com/autospinn/body/trouble-features-4-big-rims-thin-tyres.jpg

4 – ล้อใหญ่และยางแก้มเตี้ย

พบได้ใน: รถยนต์หรูหรารุ่นใหม่

ล้ออัลลอยขนาดใหญ่และยางแก้มเตี้ยไม่เพียงทำให้ตัวรถดูสปอร์ตเท่านั้น แต่ยังให้การขับขี่ที่ตอบสนองได้อย่างเร้าใจยิ่งขึ้นอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพในการควบคุมตัวรถที่สูงขึ้นย่อมหมายถึงความแข็งกระด้างมากกว่าปกติ ขณะเดียวกัน การขับตกหลุมแต่ละครั้งอาจทำเอาผู้ขับขี่สะดุ้งได้เพราะล้ออัลลอยวงใหญ่มักสุ่มเสี่ยงต่อการแตกหักมากกว่าล้อวงเล็กพร้อมยางที่มีแก้มหนา

ล้อขนาดใหญ่ยังมีข้อเสียตรงที่มีน้ำหนักค่อนข้างมากและกินน้ำมันมากกว่าล้อขนาดเล็ก รวมถึงการเปลี่ยนยางแต่ละครั้งมักทำเจ้าของเหงื่อตกเพราะยางขอบใหญ่มีราคาแพงกว่า

สำหรับคนที่ไม่พอใจล้อที่ติดรถมาจากโรงงานและต้องการเปลี่ยนให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ควรเพิ่มขนาดให้ใหญ่ขึ้นเพียง 1 นิ้วจากรุ่นสแตนดาร์ด เพราะจะไม่ส่งผลกระทบต่อสมรรถนะมากนัก

https://img.icarcdn.com/autospinn/body/trouble-features-3-four-wheel-drive.jpg

#3 – ระบบขับเคลือนสี่ล้อ

พบได้ใน: Honda CR-V, Mazda CX-5 AWD, Chevrolet Captiva, Subaru XV

หลายคนเชื่อว่า การใช้ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อจะช่วยถ่ายเทแรงม้าและแรงบิดได้ดีกว่าระบบขับสองล้อ พร้อมกับให้เสถียรภาพ การเกาะถนนและความปลอดภัยที่เหนือกว่า ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดอย่างใด

อย่างไรก็ตาม ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อของรถเอสยูวีในเมืองอย่าง Honda CR-V, Mazda CX-5 AWD และ Chevrolet Captiva แทบจะไม่มีประโยชน์ในการใช้งานโดยเฉพาะในประเทศที่ไม่มีหิมะอย่างเมืองไทยหรือชาติอาเซียน แค่ระบบอิเลกทรอนิกเพื่อความปลอดภัยต่างๆ ก็ถือว่าเพียงพอต่อการใช้งานตามปกติแล้ว

ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อจึงกลายเป็นฟีเจอร์ที่ไม่จำเป็น เพิ่มน้ำหนักส่วนเกินและยังทำให้รถกินน้ำมันเพิ่มขึ้นด้วย ที่สำคัญคือรุ่นขับเคลื่อนสี่ล้อมักมีค่าตัวแพงกว่ารุ่นขับสองล้อ

คนที่ควรเลือกรถขับเคลื่อนสี่ล้อคือคนที่มีไลฟ์สไตล์ต้องลุยป่าเขาอยู่เป็นประจำหรือคนที่ทำงานอยู่ในป่าที่ต้องขับฝ่าดินโคลน นอกจากนี้รถที่มีเครื่องยนต์มากกว่า 200 แรงม้าขึ้นไปก็ควรที่จะใช้ระบบตะกุยสี่ล้อเพื่อการเกาะถนนอย่างปลอดภัย

https://img.icarcdn.com/autospinn/body/trouble-features-2-fixed-panoramic-glass-roof.jpg

#2 – หลังคาแก้วพาโนรามิก

พบได้ใน: รถหรูหราหลายรุ่น

หลังคาแก้วพาโนรามิก (panoramic glass roof) ไม่เพียงช่วยเพิ่มความรู้สึกกว้างขวางในห้องโดยสารเท่านั้น แต่ยังยกระดับบรรยากาศอันหรูหราและสุนทรียภาพสไตล์รถยุโรป แต่ก็มาพร้อมกับข้อเสียในการใช้งานบนถนนในประเทศที่มีอากาศร้อนระอุอย่างในบ้านเรา

หลังคาแก้วพาโนรามิกมักมีผ้าใบบางๆ ปิดทับอีกชั้นซึ่งไม่สามารถป้องกันแสงแดดที่แผดเผาอย่างรุนแรงได้เท่ากับหลังคาปกติอย่างแน่นอน

นักออกแบบรถยนต์ดีไซน์หลังคาแก้วมาเพื่อการใช้งานในประเทศที่มีอากาศหนาวเย็น อย่างในตะวันตกซึ่งมีแสงแดดช่วยสร้างความอบอุ่น ไม่ใช่แดดที่รุนแรงเหมือนกับจะหลอมละลายทุกอย่างที่ขวางหน้าเหมือนในบ้านเรา บางครั้งการใช้หลังคาแก้วท่ามกลางการจราจรที่ติดขัดในเมืองไทยจึงไม่ต่างจากการนั่งอยู่ในเตาอบเลยทีเดียว

หลังคาแก้วต่างจากพาโนรามิกซันรูฟเพราะไม่สามารถเปิดออกระบายความร้อนได้ การใช้หลังคาแก้วในช่วงเวลากลางวันทำให้ต้องเร่งแอร์เพิ่มขึ้นนั่นหมายถึงการใช้พลังงานของรถมากขึ้นและเผาผลาญน้ำมันมากกว่าปกติ

หากคุณกำลังมองหาอ็อปชั่นหลังคาแก้วที่ดูหรูหราแบบยุโรป เราเชื่อว่า พาโนรามิกซันรูฟเป็นทางออกที่ดีกว่า

https://img.icarcdn.com/autospinn/body/trouble-features-1-dual-clutch.jpg

#1 – ระบบเกียร์ดูอัลคลัตช์

พบได้ใน: รถ Volkswagen, Audi, Ford Fiesta, Ford Focus และรุ่นอื่นๆ

ระบบเกียร์ดูอัลคลัตช์ ถือเป็นเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยที่สุดในปัจจุบัน มาพร้อมคุณสมบัติอันโดดเด่นทั้งการตอบสนองที่รวดเร็วและความนุ่มนวลสะดวกสบาย เทคโนโลยี “คลัตช์แห้ง” ช่วยให้การเปลี่ยนเกียร์มีความเฉียบคมและช่วยประหยัดเชื้อเพลิงอีกระดับ

แต่เกียร์ดูอัลคลัตช์ก็มาพร้อมกับข้อเสียคือการกินคลัตช์มากกว่าเกียร์แบบปกติและปัญหาความขัดข้องของกลไกการทำงานที่มักเกิดขึ้นกับรถบ้านทั่วไป

หลายค่ายรถตระหนักดีถึงปัญหานี้และมองหาโซลูชั่นส์ในการแก้ไข บางแบรนด์หันไปเร่งพัฒนาระบบเกียร์ทอร์กคอนเวอร์เตอร์แบบดั้งเดิมให้มีประสิทธิภาพทัดเทียมกับเกียร์ดูอัลคลัตช์ แต่มีราคาถูกกว่า น้ำหนักเบากว่าและง่ายต่อการบำรุงรักษามากกว่า

แม้กระทั่ง Volkswagen ซึ่งเป็นเจ้าพ่อแห่งการพัฒนาเกียร์ดูอัลคลัตช์ยังเปิดเผยว่า รถ Polo เจนเนอเรชั่นใหม่จะเปลี่ยนมาใช้เกียร์ทอร์กคอนเวอร์เตอร์แบบดั้งเดิม บ่งบอกได้เป็นอย่างดีว่า เทคโนโลยีเกียร์ดูอัลคลัตช์ในปัจจุบันอาจเหมาะสำหรับรถสปอร์ตและซูเปอร์คาร์ แต่ยังไม่เหมาะสำหรับการใช้ในรถบ้านทั่วไป

ขอขอบคุณเวบไซต์พันธมิตร Livelifedrive ที่เอื้อเฟื้อภาพและข้อมูล


ความคิดเห็น


เรียกดูข่าวตามประเภทยานพาหนะ

ค้นหาข่าวโดยยี่ห้อ