ข่าวคราวการพัฒนารถขับขี่อัตโนมัติหรือเทคโนโลยีไร้คนขับปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่อง แต่หลายคนอาจสงสัยว่าแท้จริงแล้วเทคโนโลยีนี้จะเกิดขึ้นในโลกยานยนต์ได้จริงหรือไม่และกลุ่มเป้าหมายของรถประเภทนี้คือใครกันแน่
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า รถขับขี่อัตโนมัติจะตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าสูงอายุเป็นอันดับแรก ซึ่งคนสูงอายุเป็นกลุ่มประชากรที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นรวดเร็วที่สุดในโลก เหนือกว่าคนทุกช่วงอายุทั้งเด็ก วัยรุ่นและวัยกลางคน
ผู้บริหารระดับสูงของค่ายรถยักษ์ใหญ่สองสัญชาติ General Motors และ Toyota บอกตรงกันว่า ตัวเลขผู้สูงอายุที่เสียชีวิตหรือบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ทั้งในสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น โดยสำนักงานตำรวจแดนปลาดิบระบุว่าเมื่อปีที่แล้วมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน 4,411 ราย ในจำนวนนี้ 2,264 รายมีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปซึ่งมีสัดส่วนมากกว่าครึ่งเลยทีเดียว
ดังนั้นการใช้รถขับขี่อัตโนมัติจะช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนนลงได้โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุและช่วยให้พวกเขา “สามารถเดินทางได้อย่างเป็นอิสระ” Anthony Levandowski หัวหน้าทีมผู้พัฒนาโครงการรถขับขี่อัตโนมัติของ Google กล่าว
กลุ่มคนสูงอายุจะครองตลาดโลก สวนทางกับลูกค้าวัยรุ่น
การวางเป้าหมายรถขับขี่อัตโนมัติซึ่งเป็นนวัตกรรมแห่งอนาคตไปที่คนสูงอายุ ถือเป็นกลยุทธ์ที่สอดคล้องกับตัวเลขผลสำรวจอันน่าจับตามองที่ว่า คนรุ่นใหม่มีความสนใจในการซื้อรถน้อยลง โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ อย่างสหรัฐอเมริกา ยุโรปและญี่ปุ่น นอกจากนี้ คนรุ่นใหม่ที่มีใบขับขี่ยังมีจำนวนลดน้อยลงด้วย
บลูมเบิร์กชี้ด้วยว่า ถึงแม้หลายค่ายรถจะมุ่งเน้นการผลิตและทำการตลาดรถเพื่อตอบสนองคนรุ่นใหม่ แต่สุดท้ายแล้วรถดังกล่าวกลับได้รับความสนใจจากคนที่มีอายุมากแทน
มีหลากหลายเหตุผลบ่งชี้ว่าทำไมเทรนด์การซื้อรถยนต์ถึงเป็นเช่นนี้ในประเทศเศรษฐกิจใหญ่ หนึ่งในนั้นคือระบบขนส่งมวลชนที่ครอบคลุมที่ให้ความสะดวกมากกว่ารถส่วนตัวและแรงกดดันทางเศรษฐกิจซึ่งทำให้เกิดข้อจำกัดในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่จะหารายได้มาจับจองรถยนต์
ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า มากกว่า 1 ใน 3 ของคนที่มีอายุน้อยบอกว่าพวกเขาทำงานยุ่งจนไม่มีเวลาไปสอบใบขับขี่ ขณะที่ 1 ใน 5 บอกว่าพวกเขาไม่คิดที่จะเรียนหัดขับรถด้วยซ้ำไป
ขณะที่การศึกษาด้านการตลาดชี้ว่า คนที่เกิดในช่วงปี 1981 – 2000 หรือที่เรียกว่าเจนเนอเรชั่นวาย (Gen Y) ไม่มีแบรนด์รถยนต์อยู่ในความคิดเลยหากให้จัดอันดับแบรนด์ที่ชื่นชอบ โดยพวกเขามักพูดถึงแบรนด์ไลฟ์สไตล์และไอทีอย่าง Google และ Nike แทน
ความท้าทายของระบบขับขี่อัตโนมัติ
สำหรับบริษัทที่กำลังพัฒนารถขับขี่อัตโนมัติมีเพียงไม่กี่แบรนด์ ส่วนใหญ่เอกอุในด้านการพัฒนานวัตกรรม อย่าง General Motors, Toyota, Nissan, Mercedes-Benz, Continental AG, BMW, Volvo, และ Google
Continental AG ระบุว่า รถที่ใช้ระบบขับขี่กึ่งอัตโนมัติจะเริ่มเปิดตัวออกสู่ตลาดภายในปี 2016 ขณะที่ระบบขับขี่อัตโนมัติเต็มรูปแบบจะพร้อมให้ใช้งานในปี 2020 หรือ 2025
ขณะที่ Toyota เพิ่งประกาศแนะนำระบบการสื่อสารระหว่างรถกับรถเพื่อหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุ ส่วน Nissan ได้รับอนุญาตจากทางการญี่ปุ่นให้ทดสอบรถขับขี่อัตโนมัติบนถนนสาธารณะ เตรียมพร้อมสู่การเปิดตัวรถไร้คนขับรุ่นแรกในปี 2020
แต่คำถามคือรถขับขี่อัตโนมัติจะใช้ได้บนถนนจริงหรือ หากพิจารณาจากความสับสนวุ่นวายบนท้องถนนที่ดูแล้วยากยิ่งที่จะพึ่งพาเทคโนโลยีอย่าง 100%
เวบไซต์ Automotive News รายงานว่าหนึ่งในความท้าทายของค่ายรถยนต์ไม่ได้อยู่ที่การพัฒนาตัวรถอย่างเดียว แต่อยู่ที่โครงสร้างพื้นฐานที่จะเอื้อให้เกิดระบบการสื่อสารระหว่างรถกับรถ (vehicle-to-vehicle communication system) ซึ่งเป็นระบบที่มีความสำคัญอย่างมากในการป้องกันไม่ให้เกิดการชนกันระหว่างรถขับขี่อัตโนมัติสองคันหรือหลายคัน
เทคโนโลยีนี้จำเป็นต้องพึ่งพาข้อมูลอันมหาศาลทั้งจากเซ็นเซอร์ในรถและเซ็นเซอร์ที่ติดอยู่บนท้องถนนที่สามารถแลกเปลี่ยนและตรวจจับซึ่งกันและกันได้ผ่านเครือข่ายการสื่อสารไร้สายที่เรียกว่า Dedicated Short-Range Communication
Christoph Hagedorn ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Continental Japan เชื่อว่า การเปลี่ยนถ่ายข้อมูลจะต้องมีขนาดสูงถึง 1GB ต่อหนึ่งนาทีเลยทีเดียว ซึ่งถือว่าสูงมากกว่าระบบในปัจจุบันจะรองรับได้ถึงแม้จะใช้เครือข่ายความเร็วสูงสุด 4G LTE ก็ตาม
นอกจากนี้ยังต้องเผชิญกับอุปสรรคอีกมากมาย ทั้งมาตรฐานอุตสาหกรรมที่ไม่เท่ากันในแต่ละประเทศ ต้นทุนการดูแลรักษาเครือข่ายและเซ็นเซอร์บนท้องถนน รวมถึงปัญหาการฟ้องร้องเป็นคดีความหากรถขับขี่อัตโนมัติเกิดใช้การไม่ได้ขึ้นมา
อย่างไรก็ตาม ด้วยความมุ่งมั่นของบรรดาวิศวกรชั้นหัวกะทิทั่วโลก ดูแล้วปี 2020 เป็นต้นไปหรืออย่างช้า 2025 เราคงได้ชมรถขับขี่อัตโนมัติวิ่งพล่านไปทั่วกรุงโตเกียวและอีกหลายเมืองใหญ่ทั่วโลก แต่เมืองไทยคงต้องเฝ้ารอเทคโนโลยีสุดล้ำนี้ไปอีกนานแสนนาน
ขอขอบคุณเวบไซต์ Livelifedrive เอื้อเฟื้อภาพและข้อมูล
ความคิดเห็น