แม้จะประกาศทุ่มงบประมาณกว่า 3 พันล้านบาทในการผลิตและเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ อีก 12 รุ่นภายใน 3 ปีจากนี้ แต่ที่ดูจะขัดใจสาวกยามาฮ่าเสียหน่อยก็คือการที่ยามาฮ่าประกาศว่าจะไม่มีการขึ้นไลน์เพื่อผลิตหรือประกอบรถบิ๊กไบค์ในประเทศไทยอย่างแน่นอน
แม้ว่ายามาฮ่าจะเล็งเป้าหมายการเติบโตของธุรกิจบิ๊กไบค์ไว้ค่อนข้างสูง กล่าวคือ จากยอดจำหน่าย 311 คันจากตลาดรวม 1.3 หมื่นคันในปี 2556 เพิ่มขึ้นเป็น 2,000 คันจากตลาดรวม 3 หมื่นคันในปี 2559 ก็ตาม แต่ผู้บริหารของยามาฮ่าก็ประกาศว่ารถที่นำมาทำตลาดจะยังเป็นรถนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นทั้งหมด
ประพันธ์ พลธนะวสิทธิ์ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด กล่าวว่าด้วยนโยบายของบริษัทแม่ที่จะคงการผลิตรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ (เครื่องยนต์มากกว่า 500 ซีซี.) ไว้ที่ประเทศญี่ปุ่น ทำให้่ไม่สามารถเปิดไลน์ผลิตในประเทศไทยได้ เว้นแต่จะมีการเปลี่ยนแปลงของนโยบายตรงนี้
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มองว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาของการทำตลาดบิ๊กไบค์ในประเทศไทยแต่อย่างใด เพราะการนำเข้ารถจักรยานยนต์ภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (เจเทปป้า) นั้น อัตราภาษีนำเข้าจะลดลงไปเรื่อย ๆ จนเหลือ 0% ในปี 2559
"ถ้ามองในมุมของการผลิตแล้วผมคิดว่าเราได้เปรียบ เพราะต่อไปยามาฮ่าจะเป็นรถบิ๊กไบค์ที่ผลิตที่ประเทศญี่ปุ่น และเรามองไม่เห็นว่าจะต้องย้ายฐานการผลิตมาที่ประเทศไทยทำไม เมื่อสามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายอื่นได้"
ประพันธ์ยกตัวอย่างรถบิ๊กไบค์ที่เปิดตัวรุ่นล่าสุดอย่างโบลท์ อาร์ ซึ่งเป็นรถจักรยานยนต์ 950 ซีซี. วางราคาจำหน่ายในปัจจุบันที่ 4.65 แสนบาท ซึ่งเป็นราคาที่นำเข้าและเสียภาษีนำเข้าในปัจจุบัน หากมาตรการเจเทปป้าเกิดขึ้นราคาจำหน่ายจะลดลงไปเหลือราว 4 แสนบาท ซึ่งสามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้อย่างไม่มีปัญหา
นอกเหนือไปจากโบลท์ อาร์ ที่เปิดตัวและรับจองไปในฃ่วงปลายปี 2556 และมียอดจองไปแล้วกว่า 70 คัน ส่งมอบไปแล้ว 40 คันนั้น ในปีนี้ ยามาฮ่าจะเปิดรับจองบิ๊กไบค์อีก 1 รุ่น ได้แก่ เอฟซี-09 ซึ่งวางราคาจำหน่ายใกล้เคียงกับโบลท์ อาร์ ทำให้ยามาฮ่ามีรถบิ๊กไบค์ที่ทำตลาดในประเทศไทย 7 รุ่นในปีนี้
สำหรับการขยายเครือข่ายตัวแทนจำหน่ายเพื่อรองรับการดูแลลูกค้าทั้งด้านการขายและบริการนั้น ในปัจจุบัน ยามาอ่ามีตัวแทนจำหน่ายบิ๊กไบค์อยู่ 4 ราย และเตรียมแผนที่จะเพิ่มให้ครบ 10 รายภายใน 3 ปี
ความคิดเห็น