ถ้าพูดถึงรถซีดานตัวแรง ในตำนาน อย่างตระกูล Lancer Evolution แล้ว ถือเป็นรถในฝันที่ครองใจสาวก three diamond (Mitsubishi) มายาวนาน (รวมถึงผู้เขียน) และรถที่ใช้ตัวถัง เคียงคู่กันกับ Evolution มาตลอด นั้นก็ คือ รถยนต์บ้านในตระกูล Mitsubishi Lancer ทั้งหลาย ที่ได้ถ่ายทอดจิตวิญญาณแห่งการแข่งขันในสนามลงมาสู่ท้องถนน Spirit of competition
และล่าสุดนี้ กับ รถยนต์ Lancer EX ซึ่งถูกแนะนำเข้าสู่ตลาดในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2009 ก่อนที่จะมีการปรับโฉม ในปี 2011 กับ Concept Be Fascinated และถูกปรับโฉมอีกครั้งในช่วง สค. 2013 ทีผ่านมา Refined Sport Soul ซึ่งในตัวปรับโฉมครั้งนี้ จะถือเป็นการปรับเปลี่ยนครั้งสุดท้าย หรือไม่ เนื่องจาก อนาคตของสายพันธุ์ตัวแรง Evolution ก็ยังไม่มี ทิศทางที่ยืนยันชี้ชัดว่าจะไปทางไหน และนั่นเอง อาจจะเป็นไปได้ที่ Lancer Evolution X และ Lancer EX อาจจะกลายเป็นตำนานสุดท้ายของ รถสปอร์ตซีดาน สายพันธุ์ Lancer นี้ เพราะ Mitsubishi ได้มุ่งหน้าพัฒนา SUV และ รถปลั๊กอินไฮบริด มากกว่าการมุ่งหน้าพัฒนาเก๋งซีดาน ซึ่งอนาคตจะเป็นอย่างไรคงต้องติดตามกันต่อ แต่สำหรับวันนี้ เราได้มีโอกาส รีวิวรถ Mitsubishi Lancer EX 2.0 GT กัน ซึ่งมันจะต้องอยู่กับเราอีกอย่างน้อย 2-3 ปีเลยล่ะ ลองมาดูกันว่า ในโฉมใหม่ตัวว่าสุดนี้ จะมีการปรับเปลี่ยนอะไรเพิ่มเติมกันบ้าง
รูปลักษณ์ภายนอก Mitsubishi Lancer EX 2.0 GT ได้ปรับมาใช้กันชนหน้า Ralliart ตัวนอก ตั้งแต่รุ่นปรับโฉมปี 2011 ที่ด้านกันชนหลังมี ครีบดิฟฟิวเซอร์ด้านล่างชายสเกิร์ตจาก Ralliart แปะมาให้ ไฟหน้าใช้แบบโปรเจ็คเตอร์ พร้อมระบบ AFS (ลำแสงจะหันตามรัศมีการเลี้ยว) ซึ่งในปี 2013 นี้ จะใส่ให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน สำหรับ 1.8 GLS ด้วย ในรุ่น 2.0 GT จะมีสปอยเลอร์หลังติดตั้งมาให้ และใช้ ล้ออัลลอยขนาดใหญ่ 18” สี Dark Gray หุ้มยาง Yokohama Advan A10 215/45/18 ในรุ่น 2.0 GT และ 1.8 GLS จะมีระบบกุญแจอัจฉริยะ KOS ซึ่งจะมีปุ่มสีดำ อยู่ที่มือเปิดประตูคู่หน้า และฝากระโปรงท้าย
Lancer EX มากับ 6 สีให้เลือก ได้แก่ แดงเมทาลิก (Red Metallic), บรอนซ์เงิน (Cool Silver), ขาวมุก (White Pearl), เทาดำ (Eisen Gray Mica), ดำ (Pyreness Black) และน้ำตาล (Quartz Brown)
ห้องโดยสารภายใน เมื่อเปิดประตูเข้ามาด้วยระบบ KOS จะพบห้องโดยสารที่ตกแต่งด้วยสีดำล้วน Gloss Black และมี Trim ตกแต่ง เป็นสีดำล้วนเช่นกัน (โดยส่วนตัวคิดว่า สีดำลาย เมทัลลิกในตัวเดิมนั้นดูสวยงามกว่า) แต่ไม่มีปุ่ม Push Start ให้ จะเป็นระบบบิดรูกุญแตโดยที่ไม่ต้องใช้กุญแจ เช่นเดิม และยังไม่มีระบบ Auto Lock (ล๊อกประตูอัตโนมัติ) แต่จุดที่เพิ่มเติม มาเป็นฟีเจอร์ คือ มีการบุหนัง ที่เท้าแขน ตรงแผงประตู คู่หน้า เท่านั้น นอกจากนั้นก็เหมือนเดิมเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น Infotainment Mitsubishi G9 หน้าจอ 7” พร้อมระบบนำทางจาก Speednavi พวงมาลัยหนัง 3 ก้าน มาพร้อมปุ่มควบคุมเครื่องเสียง และระบบ Cruise Control กับ ก้าน Paddle Shift สำหรับเปลี่ยนเกียร์ ปุ่มปรับระดับไฟหน้า ระบบปรับอากาศอัตโนมัติ เบาะหลังพับลงได้ แบบ 60:40 แต่พื้นที่สัมภาระท้ายกับ ห้องโดยสารตอนหลังอาจจะ เปิดทะลุกันได้ไม่หมด เนื่องจาก ติดโครงสร้างตัวถังรถ
นอกจากนั้น ที่เห็นจะมีเปลี่ยนไป อีกก็คือ บริเวณคอนโซลกลาง ตรงตำแหน่งคันเกียร์ลงมา จากที่มีปุ่ม AFS ฝังอยู่ ได้หายไปเป็นช่องวางของ และด้ามจับเบรกมือ จากในตัว 2011 ที่เป็นหุ้มหนัง กลายเป็นแบบ polyurethane
และ อีกการทดสอบ ที่จะพลาดไม่ได้ ซึ่งถือเป็นจุดขายของปี Lancer EX ปี 2013 เลย ก็คือ การทดสอบความดังของเสียงภายในห้องโดยสาร จาก Mobile Application Sound Meter ซึ่งเราได้รับเกียรติจาก คุณ บอย ซึ่งเป็นผู้ใช้รถ
Lancer EX 2.0 ปี 2012 และเป็นแฟนเพจของเรา ซึ่งรถคุณบอยมีสภาพเดิมทั้งคัน จึงได้มาร่วมทดสอบกับเราในครั้งนี้ด้วย โดยวิ่งบนเส้นทางเดียวกัน วัดหาค่าที่นิ่งที่สุดในช่วงความเร็ว 3 ค่า ได้ดังนี้
80 กม./ชม. = 86db (รถคุณบอย), 83db (รถทดสอบ)
100 กม./ชม. =89db (รถคุณบอย), 88db (รถทดสอบ)
120 กม./ชม. =90db (รถคุณบอย), 89db (รถทดสอบ)
จากการวัดค่าหาความเงียบในครั้งนี้ ต้องเรียนตามจริงว่า ถ้าไม่ได้มีเครื่องมือที่ใช้วัดเป็นตัวเลขออกมา อาจไม่สามารถสัมผัสได้ว่ามันเงียบขึ้นจริง หรือไม่
ขุมพลังเครื่องยนต์ ในรุ่น 2.0 GT จะเป็นบล๊อก 4B11 ขนาด 1,998cc Mivec II 4 สูบ กำลัง 154 แรงม้า @6,000rpm และ แรงบิด 198Nm @4,250rpm แรงได้ดั่งใจ รองรับน้ำมัน E20 (ในขณะที่ตัว 1.8 ถือว่าเป็นรถรุ่นแรก ที่รองรับน้ำมัน E85)
ในรุ่น 2.0 GT นี้ หากเปรียบเทียบกำลัง กับรุ่น 1.8 นั้น พบว่า แรงต่างกันอย่างสิ้นเชิง ในช่วงออกตัวอาจพบว่า แรงพอสมควร แต่อยู่ในระดับที่ไม่หวือหวา อะไรมากมายจนเกินไป หรือ เรียกได้ว่า แรงในระดับรถ 2.0 Compact ที่ควรจะเป็น ที่ไม่หวือหวาในช่วงต้น อาจเป็นเพราะ จากน้ำหนักตัวที่มีมากกว่าชาวบ้าน และการส่งถ่ายกำลังของเกียร์ CVT ก็เป็นไปได้ แต่ถ้าลองเร่งแซง กลับพบว่าทำได้ดีน่าประทับใจ แซงขาดหายห่วง มีแรง G Force ให้สัมผัสกันแบบดึงหลังติดเบาะอยู่เหมือนกัน โดยรวมแล้วในช่วงการเร่งแซง ที่ความเร็วปานกลางขึ้นไป ถือว่า ทำได้ดั่งใจ (ตามเท้าสั่ง) ที่จริงแล้ว ในการมุดการจราจรในตัวเมืองที่พอมีช่องว่างอยู่ ก็ถือว่า เร่งแซงได้ อย่างดี ไม่ถือว่าแซงแบบคับขัน แต่อย่างใด กำลังมีให้เค้นอย่างเหลือเฟือ
ลองทดสอบตัวเลขสมรรถนะ จาก OBD Bluetooth ดูได้ค่าดังนี้
0-100 กม./ชม. = 10.788 วินาที ¼ mile = 17.982 วินาที @136 กม./ชม. (โหมด D)
0-100 กม./ชม. = 10.726 วินาที ¼ mile = 18.251 วินาที @129 กม./ชม. (โหมด S สับเปลี่ยนเกียร์ที่ 6,000rpm)
สำหรับความเร็วปลายที่เราสามารถทำได้ คือ 203 กม./ชม. บนหน้าปัด
จากตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ในช่วง 3 เกียร์แรก อาจใช้โหมด S ในการสับเกียร์เพื่อให้ได้อัตราเร่งที่ดีกว่าโหมด D เล็กน้อย และ หลังจากเกียร์ 4 เป็นต้นไป อาจผลักเข้าตำแหน่ง D เพื่อให้เกียร์ CVT ช่วยไหลรอบไต่ความเร็วขึ้น น่าจะทำอัตราเร่งในช่วงความเร็วกลางขึ้นไปได้ดียิ่งขึ้น
ในด้านของอัตราสิ้นเปลือง โดยดูจากค่าเฉลี่ยนบนมาตรวัด การวิ่ง เดินทางไกลที่ความเร็ว 100-110กม./ชม. ทำได้ราว 11-12 กม./ลิตร ในเมืองอยู่ที่ราว 8 กม./ลิตร (น้ำมัน Gasohol 91)
ระบบส่งกำลัง ใช้เกียร์ CVT 6 Speed Invecs III มีอัตราทดเกียร์ 2.349-0.394 ที่มาพร้อมกับโหมด Sport โดยการผลักคันเกียร์จากตำแหน่ง D มาที่ด้านขวา ซึ่งสามารถ เปลี่ยนเกียร์ได้เอง ไม่ว่าจะสะดวกโยกตรงคันเกียร์ หรือ กดแป้น Paddle Shift ที่มีขนาดเรียวยาว และยึดติดกับแผงคอ ซึ่ง ช่วยให้เปลี่ยนเกียร์ได้ไม่สับสนในขณะเลี้ยวโค้ง
ในโหมด D คุณสามารถ กดที่แป้น Paddle เพื่อเปลี่ยนเกียร์ได้ด้วยตนเอง ซึ่งจะให้ฟีลลิ่งแบบเดียวกับการดันคันเกียร์มาที่ตำแหน่ง S และเมื่อคุณต้องการกลับสู่โหมด D ก็ทำได้ด้วยการแตะ แป้น + ค้างไว้ 2 วินาที เท่านั้น
หากคุณขับในโหมด S และลากรอบไปจุดสุด Redline รอบจะตื้อไม่ตัดขึ้นเกียร์ให้ ซึ่งคุณจะต้องกด Shift เกียร์เอาด้วยตัวเอง ซึ่งขอแนะว่าไม่ควรลากรอบไปเกินกว่า 6,000rpm เนื่องจากหากลากไปเกินกว่านี้ จนชนติด Redline แล้วล่ะก็ รถจะ ตื้อ เสียจังหวะ นอกจากนั้นจะทำให้เกียร์เสียหายอีกด้วย
การขับขี่ในโหมด D การตอบสนองนั้น ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ ถ้าหาก ขับขี่ในจังหวะเร่งแซง และยกคันเร่ง รอ เพื่อจะเร่งแซงต่อ ในบางครั้ง จะพบว่าเกียร์จะมีการสะดุด หมายความว่า เกียร์ไม่ Hold รอบให้ตามที่ต้องการ แต่ถ้าหากใช้โหมด S เพื่อเร่งแซงแล้วล่ะก็ คุณต้องเล่นเกียร์ ลากเกียร์ให้เป็น เพราะถ้าคุณ กด Shift เกียร์ลงเพียงแค่ 1 เกียร์และกระแทกคันเร่งเลย รถ มันอาจจะไม่พุ่งทะยานให้คุณ เพราะ ณ ตอนนั้น เกียร์ อาจจะอยู่ที่ตำแหน่งสูงเกินไป และไม่ควรลากรอบสูงเกินไปด้วย เพราะอาจพ้นช่วง Powerband ของเครื่องยนต์ไปแล้ว ซึ่งจะไม่มีประโยชน์นัก แถมรอบจะตื้อเกินไปอีกด้วย ดังนั้น การเล่นโหมด S นี้ อาจจะต้องใช้ทักษะ พอสมควรแบบการขับ Manual เพราะเกียร์จะไม่ขึ้นให้อัตโนมัติ
ดังนั้นหากต้องการ แซงในจังหวะเดียว แนะนำว่ากระแทกคันเร่งมิดในโหมด D จะง่ายกว่า
ลองวัดความสัมพันธ์ ความเร็วต่อรอบเครื่องยนต์ 3 ค่าได้ดังนี้
80 กม./ชม. = 1,600rpm 100 กม./ชม. =2,000rpm 120 กม./ชม. =2,400rpm
ระบบบังคับเลี้ยว พวงมาลัยแร็คแอนด์พีเนียน พร้อมพาวเวอร์ผ่อนแรง ที่มีรัศมีวงเลี้ยวอยู่ที่ 5.0 ม. ถือว่าวงเลี้ยวแคบใช้ได้เมื่อเทียบกับ ความเป็นรถ C-Segment ที่มีขนาดตัวไม่เล็ก ส่งผลให้การกลับรถ ตีวงได้ไม่ต้องกว้างมากนัก ด้วยความที่เป็นพวงมาลัยผ่อนแรงพาวเวอร์ธรรมดา ไม่ใช่ไฟฟ้า บวกกับ ล้อขอบ 18” ทำให้มันมีน้ำหนักตึงมือเอาเรื่อง (หนักว่า EX 1.8 อย่างมาก) ในการสาวออกตัว จึงทำให้มันขาดความกระฉับกระเฉงในการขับใช้งานในตัวเมือง แต่การขับขี่ที่ความเร็วสูง มากกว่า 180 กม./ชม. หรือ การประคองพวงมาลัยในโค้ง ยังให้ความมั่นใจได้อย่างเต็มเปี่ยม ในการหักเลี้ยว มีความคมแม่นยำดี แม้จะไม่ว่องไวเท่ารุ่น 1.8 หรือ พวงมาลัยคันอื่นก็ตาม และที่สำคัญ มันให้ฟีลลิ่งที่เป็นธรรมชาติ ซึ่งแตกต่างจากพวงมาลัยสมัยใหม่ที่ผ่อนแรงไฟฟ้า โดยในรุ่น 2.0 GT นี้ จะพบว่า ระยะฟรีพวงมาลัย ที่ความเร็วสูง จะน้อยกว่าในรุ่น 1.8 อยู่พอสมควร ซึ่งทำให้ดูมั่นคงกว่า และ แม้จะวิ่งด้วยความเร็วบนพื้นผิวที่ไม่ราบเรียบก็ พบว่ามันมีอาการสะดีดสะดิ้นออกมาน้อยจริงๆ ชนิดที่ถ้าเป็นรถยนต์ Compact คันอื่น หลายคันอาจต้องเกร็งข้อมือให้พร้อมรับ แต่ไม่ใช่กับ Lancer EX 2.0 คันนี้
ระบบกันสะเทือน ด้านหน้าแบบแม็คเฟอร์สันสตรัท คอยล์สปริง พร้อมเหล็กกันโคลง ด้านหลังแบบอิสระมัลติลิงค์ คอยล์สปริง พร้อมเหล็กกันโคลงเช่นกัน และในรุ่น 2.0 GT ถือเป็นรถยนต์ พิกัด 2.0 ในบ้านเราเพียงคันเดียว ที่ติดค้ำโช้คหน้า มาให้ด้วย จะเห็นเมื่อเปิดฝากระโปรงหน้าขึ้นมา และสวมยาง Yokohama Advan A10 ขนาด 215/45/18
ส่งผลให้ด้านหน้าของตัวรถจิกเกาะถนนดี ในจังหวะที่หักวงเลี้ยวแบบรวดเร็ว หรือ หักแบบ Slalom และเมื่อลองเข้าโค้งหนักๆ ที่ความเร็วประมาณ 100 กม./ชม. หากเป็นรุ่น 1.8 จะพบได้ว่า ท้าย จะมีอาการโยนตัวออกจากจุดศูนย์กลาง แบบรู้สึกได้ และหากมากกว่านี้อีกเล็กน้อย อาจจะมีแรงโยนตัวออกมากจน ทำให้เกิดเสียงยางกรีดร้องขึ้นอย่างแน่นอน แต่กลับรุ่น 2.0 GT นี้ยังไม่พบอาการบั้นท้ายจะหลุดออก แต่อย่างใดที่ความเร็วเท่านี้
ซึ่งมันให้การยึดเกาะที่ยอดเยี่ยม แต่ในด้านความ นุ่มนวล ก็ต้องแลกกันเป็นปกติ เพราะหากเจอหลุมบ่อ หรือลูกระนาด มันจะมีอาการเด้งรับ สู้อย่างสนุกสนานจริงๆ ซึ่งต้องขอบอกว่าแตกต่างกับรุ่น 1.8 อย่างชัดเจน ที่เน้นความ Soft นุ่มนวล นั่งได้สบายผ่อนคลาย
เอาเป็นว่า ช่วงล่างของ Lancer EX 2.0 GT นี้หนึบแน่น มั่นใจได้ดี น้องๆ รถยุโรปเลยล่ะ มันเกาะถนนเป็นลำดับต้นๆ ติด Top 3 ของรถในกลุ่มเดียวกันนี้ อย่างแน่นอน
ระบบเบรก แบบดิสก์ 4 ล้อ โดยมีช่องระบายความร้อนสำหรับคู่หน้า ซึ่งในจานคู่หน้านี้ รุ่น 2.0 GT จะมีขนาดจานที่ใหญ่กว่า รุ่น 1.8 มาพร้อมระบบ ABS, EBD, BA โดยในปี 2013 จะมีระบบ ESS (ไฟฉุกเฉินติด เมื่อกระทืบเบรกกระทันหัน) เพิ่มเข้ามา การตอบสนองของแป้นเบรก อยู่ในเกณฑ์ดี ไม่ตื้น ไม่ลึกเกินไป สามารถเบรกได้อย่างนุ่มนวล ซึ่งทำได้ไม่ยาก แต่ถ้าเบรกด้วยน้ำหนักปกติ ก็ ยังสามารถหยุดได้ดีเยี่ยม ไม่ต้องเพิ่มแรกกด เพื่อให้รถจอดจนหยุดนิ่ง มั่นใจและไว้วางใจได้ในเรื่องของความปลอดภัย
สรุป 2013 Mitsubishi Lancer EX 2.0 GT คาดอาจเป็น Lancer โฉมสุดท้าย และมันจะได้อยู่กับพวกเราไปอีกอย่างน้อย 2 ปีแน่นอน ในปี 2013 นี้มีลูกเล่นที่เพิ่มเข้ามาจากปี 2011 ได้แก่ ภายในที่เพิ่มเรื่องวัสดุซับเสียงที่ช่วยให้เบาลงเพียงเล็กน้อย และที่เท้าแขนจะนุ่มศอกกว่าเดิมเพียงเล็กน้อย กับระบบไฟ ESS (ไฟฉุูกเฉินติดขณะกระทืบเบรกกระทันหัน) นอกจากนั้น ในด้านสมรรถนะการขับขี่ก็ยังคงดีไว้ใจได้เหมือนเดิม
Mitsubishi Lancer EX 2.0 เคยได้ชื่อว่าเป็นรถที่มีสมรรถนะที่ดีที่สุด ในรถยนต์ 2.0 Compact คันหนึ่ง ทั้งในเรื่องของพละกำลังเครื่องยนต์ และ ระบบช่วงล่าง การเบรก กับการควบคุม ที่ทำได้อย่างยอดเยี่ยม แต่กินน้ำมันกว่าชาวบ้าน ค่อนข้างชัด และอย่างว่า ณ ตอนนี้ Lancer EX มีอายุอานาม ที่ค่อนข้างมากกว่าชาวบ้านเขาพอสมควร เมื่อเจอกับรถที่มีเทคโนโลยีใหม่กว่า ราคาที่น่าดึงดูดมากกว่า อย่างเช่นคู่แข่งที่น่ากลัวที่สุด Mazda 3 ที่เพิ่งออกมาใหม่ ในราคา เริ่มต้นที่ 8.3 แสนบาท เครื่องยนต์ 2.0 ลิตร เติม E85 ได้ หรือว่า Ford Focus ที่ได้ขึ้นชื่อว่า เป็นรถที่มากับเทคโนโลยี อัจฉริยะ ในราคาที่สามารถจับต้องได้ หรือ แม้กระทั้ง Honda Civic ที่เครื่องยนต์ สามารถเติม E85 ได้เช่นเดียวกัน ทั้งในรุ่น 1.8 และ 2.0
เราคงต้อง มารอลุ้น เอาใจช่วยกันต่อไปว่า Mitsubishi Motors บริษัทแม่ จะหารถตัวตายตัวแทน ตระกูล Lancer ออกมาใหม่ได้อย่างไร และเมื่อใด ถ้ายาวนานเกินไป Mitsubishi Motors ประเทศไทย คงต้องเตรียมแผนในการรับมือกับ คู่แข่งอื่นในกลุ่มรถ Compact Sedan ด้วยกัน ซึ่งถือเป็นโจทย์ยากที่ว่าจะมีการปรับปรุง Lancer EX ได้เก๋าพอ ในการต่อสู้กับคู่แข่ง ที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ ได้อย่างไร
ขอขอบคุณ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (MMTH) สำหรับรถทดสอบ Mitsubishi Lancer EX 2.0 GT สีแดง Red Metallic ในครั้งนี้ และ คุณ Boy Nuttawut Rangnam สำหรับผู้ช่วยเราทำการทดสอบ ในครั้งนี้
ภณ เพียรทนงกิจ Test Driver
ชมภาพเพิ่มเติมคลิ๊ก
Mitsubishi Lancer EX 2.0 GT ราคา 1.054 ล้านบาท
ใช้เครื่องยนต์ Mivec II 2.0 ลิตร มีกำลัง 154 แรงม้า และแรงบิด 198Nm
ส่งกำลังด้วยเกียร์ CVT 6 Speed Invecs III
ระบบบังคับเลี้ยวแบบแร็คแอนด์พีเนียน พาวเวอร์ผ่อนแรง
ระบบกันสะเทือน ด้านหน้า แม็กเฟอร์สันสตรัท และ ด้านหลังมัลติลิงค์
ระบบเบรก ดิสก์ 4 ล้อ พร้อม ABS, EBD และ BA
พบรถ Mitsubishi และ Mitsubishi Lancer EX มือ 2 ได้ที่ Thaicar.com
ความคิดเห็น