พูดถึงรถยนต์อเนกประสงค์อย่าง SUV ในขนาดกลาง นั้นถือว่ามีมากมายหลากหลายรุ่นให้เลือกในตลาดบ้านเรา แต่ทว่าจะมีสักกี่คันกันที่จะเป็นรถแบบ 7 ที่นั่ง (ไม่นับรถ PPV พื้นฐานตัวถังมาจากรถ Pick Up) และแน่นอนว่า 1 ในรถที่ยอดนิยมขายดีมากที่สุดรุ่นหนึ่งนั่น ก็คือ Chevrolet Captiva ซึ่ง นับเป็นรถเรือธง Flagship ของค่ายโบว์ไทด์ เลยก็ว่าได้ เพราะตั้งแต่เปิดตัวมาในประเทศไทย มันมียอดจำหน่ายไปสูงเกินกว่า 35,000 คันแล้ว และกับรุ่นใหม่ล่าสุด MY 2014 คันนี้ที่เราได้มีโอกาสนำมาให้ทดสอบให้ดูกันเป็นตัวเครื่องยนต์ดีเซล ขับเคลื่อน 4 ล้อ LTZ รุ่นท๊อป ลองมาชมกันเลย
ปรับเล็ก Facelift ภายนอก Chevrolet Captiva 2014 ใหม่นี้ ได้มีการปรับปรุงโฉมเล็กน้อย ให้ดูมีรูปลักษณ์ที่แตกต่างจากโฉมก่อนหน้า ด้วยโคมไฟหน้าโปรเจ็คเตอร์ใหม่ที่มาพร้อมระบบเปิดปิดไฟหน้าอัตโนมัติ และระบบไฟ Automatic Parking Lamp ที่ไฟจะติดอยู่ 30 วินาทีหลังดับรถ, ไฟท้ายใหม่แบบเรียง 2 แถวสวยงามยิ่งขึ้น พร้อมติดตั้งกาบข้างบันไดเพื่อเพิ่มความสะดวกในการขึ้น-ลง กรอบไฟตัดหมอกครอบโครเมียม ท่อไอเสียออกคู่ทรงเหลี่ยม
ไฟเลี้ยวที่กระจกมองข้างนอกจากนั้นยังคงจุดเด่นด้วย Roofrail รวมไปถึงระบบ Rain Sensor ที่ติดตั้งบนแผงกระจกหน้า สำหรับในรุ่นดีเซล LTZ คันนี้จะมี Logo AWD และ VDCi บ่งบอกขุมพลังดีเซล อยู่ที่ฝาประตูบานหลัง นอกจากนั้นให้ล้อขนาดใหญ่ถึง 19” สวมยางขนาด 235/50/19 จาก Hankook Optimo
Chevrolet Captiva มีสีตัวถังให้เลือก 5 สี ได้แก่ ขาว Summit White, ดำ Black Sapphire, เงิน Switchblade Silver, น้ำตาล Auburn Brown, เทา Royal Gray
จัดเต็มออปชั่นห้องโดยสารภายใน เมื่อเปิดประตูด้วยระบบ Keyless (เพิ่มเติมมาให้ในรุ่น MY2014 คันนี้) เข้ามาจะพบการตกแต่งด้วยวัสดุหนังสี Light Gray ในรุ่น LTZ คันนี้ เพียบพร้อมด้วยออปชั่นสิ่งอำนวยความสะดวกแบบครบครัน ทั้ง ระบบปรับอากาศแยกโซน Dual หน้าจอแสดงผล 7” Touchscreen พร้อมระบบนำทาง และเชื่อมต่อกล้องมองหลัง แถมชมภาพยนตร์ได้ด้วย ซึ่งหน้าจอนี้ ทำงานแยกจาก เครื่องเล่นวิทยุ และ CD เพลง MP3 รองรับการเชื่อมต่อ AUX, USB มาพร้อมกับระบบลำโพงเครื่องเสียง 3D ให้โสตประสาทการรับฟังที่ดีเยี่ยม และยังมีระบบเชื่อมต่อกับโทรศัพท์ผ่าน Bluetooth อีกด้วย
สำหรับเบาะคนขับปรับไฟฟ้า โดยมีตัวปรับดันหลังอยู่ด้านข้างซึ่งอาจปรับลำบากเนื่องจากมืออาจจะติดกับแผงประตู
มาที่บริเวณตำแหน่งเกียร์ จะพบปุ่ม Eco อยู่ทางซ้ายซึ่งดูจะลำบากต่อการใช้งานไปหน่อย ซึ่งที่จริงควรจะอยู่ด้านขวาของคันเกียร์ และมีปุ่มเบรกมือที่ใช้เป็นเบรกมือไฟฟ้า ช่วยประหยัดพื้นที่ ต่อมาที่พวงมาลัยรูปทรงเก่าไปนิด จะพบสวิทช์ไฟทางฝั่งซ้ายที่ใช้ควบคุมเครื่องเสียง และหน้าจอแสดงผล ขณะที่ฝั่งขวาใช้ควบคุม Cruise Control และระบบปรับอากาศ ซึ่งสวิทช์บนพวงมาลัยนี้จะมีไฟเรืองแสงให้เราได้สังเกตุเห็นได้ชัดในเวลากลางคืน ทางด้านหลังพวงมาลัยจะพบสวิทช์ไว้บิดสตาร์ทเครื่องยนต์โดยที่ไม่ต้องเสียบกุญแจ
ใน Captiva นี้ จะยังใช้ก้านไฟเลี้ยวและเปิดไฟหน้าอยู่ทางด้านซ้ายเช่นเดิม ไม่เหมือนกับรถ Chevrolet รุ่นใหม่ๆ ทั้งหลาย อย่างเช่น Trailblazer ในขณะก้านด้านขวามีระบบปัดน้ำฝนอัตโนมัติ ปุ่มสวิทช์ HDC, TCS และ เปิดแอร์ตอนหลัง จะอยู่เรียงกันตรงบริเวณคอนโซลกลางที่แสดงนาฬิกา แต่ปุ่มสวิทช์ไฟฉุกเฉินกลับอยู่ซ้ายสุด ซึ่งดูไกลเกินเอื้อมต่อการใช้งาน
นอกจากนั้น Captiva ยังเอาใจผู้โดยสารทุกตอนนั่งในยุคเด็กติด Smartphone เช่นนี้ ให้มีช่องจ่ายไฟ ทั้งแถวที่ 2 และ แถวที่ 3 แต่ช่องแอร์ตอน 2 นั้นกลับไม่มีให้ จะไปอยู่ที่ แถวที่ 3 ทางฝั่งซ้าย
ด้วยตัวรถที่มีจุดเด่นสามารถนั่งได้ถึง 5+2 ที่นั่ง แล้วยังเลือกพับเบาะได้อย่างหลากหลาย โดยสารสามารถขยายความจุสัมภาระได้ถึง 930 ลิตร
สมรรถนะขุมพลังดีเซล 2.0 ลิตร 4 สูบ DOHC พร้อมเทอร์โบแปรผัน มอบกำลัง 163 แรงม้า@3,800rpm และให้แรงบิดสูงสุด 400Nm@2,000rpm ซึ่งมันก็คือเครื่องยนต์บล๊อกเดิม แต่โดดเด่นที่ ระบบส่งกำลัง เพราะใช้เกียร์อัตโนมัติ 6 Speed GF6 ซึ่งถือเป็นเกียร์เจนเนอเรชั่นที่ 2 พร้อม Shift Control ที่สามารถเลือกเปลี่ยนเกียร์ได้ด้วยตนเอง ลงสู่ระบบขับเคลื่อน 4 ล้ออัตโนมัติ
การตอบสนองในด้านอัตราเร่งที่รอบต้นนั้นถือว่าทำได้พอใช้ เมื่อต้องออกตัวไฟเขียว การใช้งานขับขี่เร่งกำลังในช่วงความเร็วไม่เกิน 80 กม./ชม. รถยังทำหน้าที่ได้ดี เนื่องจากมี Torque ให้ใช้ที่รอบต่ำ พอสมควร แต่เมื่อรอบเครื่องยนต์พุ่งเลยกำลังย่านกลางขึ้นไป อาจพบว่าตัวรถดูไร้พละกำลังลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งการเร่งแซง ที่จริงอาจไม่จำเป็นต้องลากรอบเครื่องกันสูงมาก สักประมาณ 3,000rpm+ นิดๆ ก็ควรที่จะยกคันเร่งเพื่อตัดขึ้นเกียร์ได้แล้ว
สำหรับการเร่งแซง ที่ความเร็วเดินทางในระดับ 120 กม./ชม. ขึ้นไป นั้นยังต้องกะระยะเผื่อกันอยู่อีกหน่อย ซึ่งที่จริงแล้วก็ถือเป็นปกติของรถที่มีบอดี้ใหญ่หนักขนาดนี้ จะว่าไปแล้ว โดยรวมๆ ฟีลลิ่งการขับขี่ก็ไม่ได้ดูโดดเด่น หรือต่างไปจากเดิมมากนัก แต่ การเปลี่ยนเกียร์ ที่ตอบสนองได้ดีขึ้นกว่าเดิมอีกหน่อย เช่นในจังหวะ Kickdown ที่เกียร์อาจจะไม่ต้องคิดนาน ที่จะตัดสินใจลดเกียร์ลงเพื่อดึงกำลังรอบเครื่องให้ขึ้นสูงสำหรับเร่งแซง หรือจังหวะที่เลี้ยงคลอคันเร่ง แล้วยกเพียงเล็กน้อย เกียร์ก็จะตัดขึ้นเองได้ไว แลดูฉลาดขึ้นกว่าเดิม
ในด้านของการ Shift เกียร์ด้วยตนเองนั้น สามารถที่จะขับขี่ลากรอบกันได้อย่างเต็มที่ แต่ถ้าหากขับที่รอบต่ำจนเกินไป และกด + เกียร์จะยังไม่ตัดขึ้นให้ ถ้ายังไม่ถึงรอบเครื่องที่เหมาะสม และยังพอจับจังหวะในช่วงที่เปลี่ยนเกียร์ได้ว่ามีกระตุกอยู่เล็กน้อยตามสไตล์ของเกียร์อัตโนมัติ Torque Converter ทั่วไป แต่โดยรวมก็ต้องถือว่ามันทำได้ไหลลื่นกว่าเกียร์เจนเนอเรชั่นแรก
ส่วนตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองนั้น มีค่าเฉลี่ยที่ทำได้ประมาณ 12-13 กม./ลิตร จากทริปการเดินทางไกลที่ใช้ความเร็วในเฉลี่ย 120 กม./ชม. สำหรับการเก็บเสียงนั้นแม้วิ่งที่ระดับความเร็ว 140 กม./ชม. ก็ยังถือว่าทำได้ดี สำหรับรถในระดับนี้ ยังสามารถพูดคุยกันได้อย่างไม่อื้ออึงจากเสียงรบกวนภายนอก
ระบบบังคับเลี้ยว การควบคุม Handing พวงมาลัยผ่อนแรงแบบไฮโดรลิก พบว่าดูหนักเอาการเมื่อต้องสาวเคลื่อนตัวและเคลื่อนที่ในเมือง แน่นอนว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากล้อขนาดใหญ่ 19” แต่โดยรวมถือว่าให้การตอบสนองได้ในระดับที่ดี ดูมีชีวิตชีวา เมื่อขับเลี้ยวโค้ง ให้ความรู้สึกแม่นยำได้ในระดับหนึ่งที่มักดูดีกว่าพวงมาลัยแบบผ่อนแรงด้วยไฟฟ้า จะเสียก็ตรงที่การออกตัวที่จะต้องกินแรงผู้ขับมากหน่อย กับวงเลี้ยวของพวงมาลัยที่จะต้องสาวกันมาก อีกทั้งรัศมีวงเลี้ยวที่กว้างไปหน่อยตามขนาดตัว
ระบบช่วงล่างอิสระ 4 ล้อ ด้านหน้าแบบ Mcpherson Strut และด้านหลังแบบ Multi-Link 4 จุด มาพร้อมระบบ Self-Levelizer ช่วงล่างยกสูงอัตโนมัติเมื่อมีการบรรทุกทางด้านหลัง
ให้สัมผัสที่ค่อนข้างแข็ง สำหรับการโดยสาร ไม่ค่อยมีช่วง Rebound ให้ยืดตัวสัมผัสนัก ซึ่งส่วนหนึ่งของอาการช่วงล่างที่ดูแข็งนี้ เป็นผลมาจากการใช้ล้อขนาด 19” แต่ก็ถือว่าแลกกับการที่ช่วยให้ตัวถังรถนั้น ดูแน่นเฟิร์มเกาะถนนได้ดี แม้ขับขี่ด้วยความเร็วระดับ 160 กม./ชม. รวมถึงการเข้าโค้งที่ช่วยให้ตัวถังรถไม่ดูโยนตัวมากนัก แม้รถจะมีขนาดตัวถังที่สูงใหญ่ก็ตาม และมันยังพอที่จะสามารถขับลุยทางขรุขระลูกรังเล็กๆได้ บ้าง! (ไม่ใช่เส้นทางโหด หรือธุระกันดารเกินไป เพราะถ้าเช่นนั้น ควรเลือก Trailblazer น่าจะเหมาะสมมากกว่า)
ระบบห้ามล้อ เป็นแบบดิสก์เบรก 4 ล้อ พร้อมครีบระบายความร้อนเฉพาะในคู่หน้า แม้จะไม่ใข่ครีบระบายความร้อนทั้ง 4 ล้อ แบบ Trailblazer แต่โดยรวมต่อการใช้งาน มันก็ทำหน้าที่ได้อย่างดี เพียงพอที่จะหยุดพละกำลังของแรงบิดเครื่องยนต์ระดับ 400Nm ได้อย่างเหมาะสม ฟีลลิ่งของแป้นเบรกดูหนักแน่น ตำแหน่งแป้นเบรกไม่ตื้น เซ็ตออกค่อนข้างลึก ให้เหมาะสมกับรถสไตล์ SUV ที่ไม่เน้นการตอบสนองของแป้นเบรกที่จิก และรวดเร็วจนเกินไป คงความนิ่มนวลในการเบรกได้แบบไม่หัวทิ่มหัวตำ เมื่อลงน้ำหนักเบรกอย่างเหมาะสมมันก็หยุดสามารถหยุดรถได้อย่างตามเท้าสั่ง
ด้านระบบความปลอดภัยจัดเต็มทุกขั้น ทั้งระบบเบรก ABS, EBD, HBA ระบบช่วยควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว ESP, ระบบป้องกันล้อลื่นไถล TCS, ระบบป้องกันการพลิกคว่ำ ARP, ระบบควบคุมความเร็วขณะลงทางชัน HDC, ระบบช่วยออกตัวบนทางชัน HSA
สรุป 2014 Chevrolet Captiva ใหม่นี้ แม้จะเป็นแค่โฉม Facelift แต่งหน้าทาปาก ก็ยังคงจุดเด่นเช่นเดิมจากเบาะนั่ง 7 ตำแหน่งที่นั่งได้จริงไม่อึดอัด พร้อมความอเนกประสงค์ ในตัวที่สามารถนำไปใช้งานได้หลากหลาย พร้อมลุยได้บ้าง! นอกจากนั้นในด้านของเทคโนโลยีความปลอดภัยก็มีมาจัดเต็มเช่นเดิมในรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ LTZ สำหรับด้านการขับขี่ต้องบอกว่าเกียร์เป็นจุดเดียวและเป็นจุดเด่นที่พัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น แต่ไม่ถึงกับทำให้ผู้ที่ใช้ Captiva โมเดลปัจจุบันอยู่นั้นต้องน้ำตาตกเสียใจกันแต่อย่างใด
เอาเป็นว่า หากคุณมองหา SUV ขนาดกลางสักคัน ที่ไม่ใช่ใช้พื้นฐานจาก Pick Up และต้องการรถ 7 ที่นั่งแล้วล่ะ ก็ Captiva ใหม่นี้ ยังเป็นตัวเลือกทีน่าสนใจอันดับต้นๆในตลาด ณ ขณะนี้
สำหรับราคาในรุ่นเครื่องดีเซลตัว ท๊อป LTZ คันนี้สนนราคาถึง 1.719 ล้านบาท ซึ่งหากคุณคิดว่าออปชั่น ดังกล่าวไม่เป็นสิ่งจำเป็น อาจมองในรุ่น LSX ดูจะช่วยประหยัดไปได้เกือบ 3 แสนบาทเลยทีเดียว
ขอขอบคุณ เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) ที่เอื้อเฟื้อรถยนต์ Chevrolet Captiva VCDi LTZ รุ่นท๊อป สีดำ Black Sapphire สำหรับการทดสอบคันนี้ ราคา 1.719 ล้านบาท
ภณ เพียรทนงกิจ Test Driver
ชมภาพเพิ่มคลิ๊ก
พบรถ Chevrolet และ Chevrolet Captiva มือ 2 ได้ที่ Thaicar.com
ความคิดเห็น