แม้จะทำการทดสอบกันแล้วหลายต่อหลายครั้งก็ตาม แต่กระแสของ 2015 มาสด้า 2 สกายแอคทีฟ-ดี ก็ยังแรงดีไม่มีตก ด้วยข้อดีของรถมากมายหลายประการ ที่แม้จะมีติติงกันออกมาในเรื่องของราคาจำหน่ายที่เหมือนจะสูงไปนิดก็ตาม
ในการทดสอบครั้งล่าสุดที่จบลงเมื่อวานนี้ ถือเป็นความพิเศษสำหรับรถยนต์รุ่นนี้ก็คือรถยนต์ทดสอบทั้ง 20 คันที่นำมาให้ทดสอบนั้นเป็นรถยนต์รุ่นที่ทำการผลิตเพื่อจำหน่ายและทำตลาดในประเทศไทยอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก
อีกเรื่องก็คือหลังจากการเปิดตัวมาสด้า 2 ซีดานในประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา นี่ก็เป็นครั้งแรกเช่นกันที่เราได้ทำการทดสอบรถยนต์รุ่นดังกล่าว ซึ่งน่าจะเป็นสื่อมวลชนกลุ่มแรก ๆ ที่ได้มีโอกาสทดสอบ
สุดท้ายก็คือ นอกเหนือไปจากรถยนต์รุ่นท๊อปที่มาพร้อมจอแสดงผลขนาดใหญ่ ระดับเฮดอัพดิสเพลย์ และเบาะหนังเดินด้ายแดงที่ติดตั้งมาเป็นอุปกรณ์มาตรฐาน ในคราวนี้เรายังได้มีโอกาสทดลองรุ่นกลาง ที่มาพร้อมเครื่องเสียงแบบธรรมดาและเบาะที่นั่งแบบผ้า ซึ่งก็ให้บรรยากาศอีกแบบ
อย่างที่เรารู้กันดีว่า มาสด้าได้เคาะราคาจำหน่ายในประเทศไทยที่รุ่นล่างสุด 6.75 แสนบาท รุ่นกลาง 7.35 แสนบาทและรุ่นท๊อปที่ 7.90 แสนบาท ถือเป็นราคาจำหน่ายในระดับพรีเมียมของรถยนต์ระดับบี-เซกเมนต์ ซึ่งมาสด้าก็ไม่ได้กริ่งเกรงในการวางราคาจำหน่ายระดับนี้
รายละเอียดทั้งหมดสามารถติดตามอ่านได้ในคอนเทนต์ที่เคยนำเสนอที่รวบรวมอยู่ท้ายเรื่อง วันนี้เราจะมาตอบคำถาม 3 ประเด็นหลักที่เป็นเรื่องใหม่ของการทดสอบในครั้งนี้ ซึ่งน่าจะเป็นคำถามคาค้างใจทุกคนอยู่
ผลิตในไทย มาตรฐานเทียบชั้นญี่ปุ่น
ผมเองเคยได้มีโอกาสทดสอบรถยนต์รุ่นนี้ที่ประเทศญี่ปุ่นในช่วงก่อนการเปิดตัวในประเทศไทย โดยรถยนต์ที่นำไปทดสอบวันนั้น เป็นรถยนต์ที่ผลิตในโรงงานโฮฟุ ของมาสด้า มอเตอร์ คอร์ป ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นโรงงานผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของมาสด้าทั่วโลก
โรงงานออโต้อัลลายแอนซ์ในประเทศไทยเป็นโรงงานที่เริ่มเปิดสายการผลิตมาสด้า 2 เป็นลำดับที่ 3 ต่อจากโรงงานในญี่ปุ่นและโรงงานมาสด้า เดอ เม็กซิโก แต่จะเป็นโรงงานที่กำลังผลิตสูงสุดเป็นอันดับ 2 รองจากโรงงานโฮฟุ
ในเรื่องของมาตรฐานการผลิตรถยนต์รุ่นนี้ หากมองแบบทั่วไปแล้ว ต้องบอกว่ามาตรฐานในการผลิตไม่ได้ด้อยไปกว่ามาตรฐานการผลิตของโรงงานในประเทศญี่ปุ่นแต่อย่างใด การประกอบทั้งภายนอกภายในจัดได้ว่าเนี๊ยบ และการเลือกใช้วัสดุก็ได้มาตรฐานเท่าเทียมกัน
นอกจากนี้ โรงงานในประเทศไทยยังมีความสามารถในการประกอบรถยนต์ที่ใช้มาตรฐานระดับสูง ไม่ว่าจะเป็นเฮดอัพ ดิสเพลย์ ระบบไอ-อีลูป และระบบต่าง ๆ มากมายที่ติดตั้งเข้ามาในรถยนต์คันนี้
รักสปอร์ตไปแฮชท์แบค อยากสบายไปซีดาน
การทดสอบที่ผ่านมาทุกครั้งเราจะได้ทำการทดสอบรุ่น 5 ประตูเป็นหลัก แต่ในคราวนี้ รถยนต์มาสด้า 2 รุ่น 4 ประตูก็ได้ฤกษ์ออกมาทำตลาดอย่างเป็นทางการและเป็นครั้งแรกที่ได้เปิดให้ทดสอบ
แม้รุ่น 5 ประตูจะได้รับเสียงตอบรับอย่างล้นหลามในเรื่องของสมรรถนะการขับขี่ที่เป็นเยี่ยม ช่วงล่างที่แน่นหนึบ และอุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่ล้ำสมัย แต่ก็มีเสียงติบ่นเหมือนกันในเรื่องความแข็งกระด้างของช่วงล่างในรูป
ในรุ่น 4 ประตูนั้น ต้องบอกว่ามาสด้าทำงานมาค่อนข้างดีกับการแก้ไขจุดนี้ เพราะช่วงล่างของมาสด้า 2 นั้นให้ความนุ่มนวลเพิ่มขึ้นมาอีกนิดหน่อย และให้อาการโยนตัวที่ลดน้อยลงไปเช่นกัน
ขณะที่ห้องโดยสารด้านหลังที่ไม่ได้เน้นเรื่องการนั่งโดยสารแบบสะดวกสบายก็ไม่ได้แตกต่างกันมาก โดยส่วนตัวมองว่าเป็นรถที่เหมาะกับการขับขี่เป็นหลัก ตำแหน่งที่นั่งที่ดีคือเบาะโดยสารคู่หน้า ขณะที่ห้องโดยสารตอนหลังเดินทางไกลอาจจะเหนื่อยหน่อย
ไม่ต้องหรูให้สุด ซื้อตัวกลางก็พอใช้
แม้ในรุ่นท๊อปจะมาพร้อมอุปกรณ์อำนวยความสะดวกมากมายเหนือชั้นกว่าคู่แข่งทุกรายในท้องตลาด แต่หากคุณแค่ต้องการความยอดเยี่ยมของเครื่องยนต์ดีเซล และเทคโนโลยีสกายแอคทีฟต่าง ๆ ของมาสด้า ขอบอกว่าแค่รุ่นกลางที่นำมาให้ขับก็เพียงพอแล้ว
สิ่งที่ขาดหายไปจากรุ่นท๊อปที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือจอเฮดอัพดิสเพลย์ที่หายไป จอแสดงผลขนาดใหญ่ตรงกลางที่หายไปแล้วเปลี่ยนเป็นวิทยุธรรมดาหน้าตาแปลกตา รวมถึงเบาะหนังที่ถูกเปลี่ยนเป็นเบาะผ้าแบบธรรมดา
การรับน้ำหนักของเบาะผ้าอาจจะสู้เบาะหนังไม่ได้ และทำให้เกิดอาการเมื่อยล้าหากต้องเดินทางไกลได้ง่ายกว่า ขณะที่การออกแบบมาตรวัดความเร็วก็มีการเปลี่ยนด้วยการนำมาตรความเร็วมาเป็นมาตรวัดหลัก ขณะที่รุ่นทีอปมาตรวัดหลักจะเป็นรอบเครื่องยนต์
สิ่งที่ได้ก็คืออารมณ์ในการขับขี่ที่ดูเร้าใจกว่า เมื่อเห็นความเร็วกวาดขึ้นไปเรื่อย ๆ ขณะที่รุ่นท๊อปจะเป็นมาตรความเร็วแบบดิจิตอล ในส่วนของระบบต่าง ๆ มากันครบ ไม่ว่าจะเป็นไอ-สต๊อปและไอ-อีลูป ไม่ได้ถูกตัดออกแต่อย่างใด
มาตรฐานใหม่รถยนต์นั่งขนาดเล็ก
ด้วยการออกแบบและการพัฒนาอย่างยอดเยี่ยมของมาสด้า 2 คงไม่ใช่เรื่องที่จะเกินไปว่านี่คือมาตรฐานใหม่ของรถยนต์นั่งขนาดเล็กที่จะกลายเป็นตัวท้าทายผู้ผลิตรถยนต์ทุกราย ว่าจะต้องเดินหน้าสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ออกมาให้ดีไม่แพ้กัน
แม้ในบางระบบจะทำให้รู้สึกหงุดหงิดเล็ก ๆ ในการขับขี่ เช่น การที่ระบบจะไม่ยอมออกตัวรถทันทีที่กดคันเร่ง แต่จะดึงจังหวะเล็กน้อยก่อนออกตัว ซึ่งเป็นระบบที่ช่วยให้มาสด้า 2 ผ่านมาตรฐานอันเข้มงวดของอีโคคาร์ เฟสสองมาได้ แต่ก็ไม่ได้ทำให้รถคันนี้ลดความน่าใช้ลง
การทำความเร็วของรถที่ส่งกำลังอย่างต่อเนื่องบนถนนออนโรดที่การทำความเร็วสูงเป็นเรื่องง่ายดาย บนพื้นฐานของรถยนต์ที่ให้ความมั่นคงสูงมาก ขณะที่การวิ่งบนเขาที่ต้องอาศัยการส่งกำลังของเครื่องยนต์อย่างต่อเนื่อง ผสานกับช่วงล่างที่ไว้ใจได้ก็เป็นเรื่องสนุกสนานในการขับขี่
บนเส้นทางที่มาสด้าเตรียมไว้ให้ทดสอบนั้น การขับขึ้นไปสู่ดอยตุงถือว่าเป็นเส้นทางที่ค่อนข้างโหดสำหรับรถยนต์นั่งขนาดเล็ก ด้วยความชันของทางและโค้งที่ลดเลี้ยวไปตามไหล่เขา แต่มาสด้า 2 ก็พิสูจน์ให้เห็นว่ารถเล็กคันนี้สามารถวิ่งขึ้นไปได้อย่างสบาย
ถ้าคุณเป็นคนที่ชอบรถยนต์ที่ขับได้อย่างสนุกสนาน มาสด้า 2 ก็เป็นคำตอบที่น่าสนใจในการเลือกรถไปใช้งาน แต่หากเป็นคนที่ไม่ได้ขับรถเร็วมาก แต่ต้องการใช้งานรถยนต์อย่างเอนกประสงค์มาก ๆ ก็อาจจะต้องลองเปรียบเทียบกับรุ่นอื่น
เบาะที่นั่งตอนหลังของมาสด้า 2 นั้น แม้จะได้รับการออกแบบมาใหม่ แต่ก็ยังเป็นเบาะที่นั่งที่สั้นและมีพื้นที่วางขาที่ถือว่าสั้นกว่ารถของคู่แข่งหลายรุ่น การรองรับขาของผู้โดยสารยังทำได้ไม่ค่อยดีนัก เมื่อเทียบกับคู่แข่งที่ออกแบบมาเพื่อเป็นรถเอนกประสงค์
แต่มองในภาพรวมแล้วก็ถือเป็นรถที่น่าใช้งานด้วยคุณสมบัติด้านอื่นที่โดดเด่นกว่าคู่แข่งอยู่ดี!!!
ขอขอบคุณ บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) สำหรับการทดสอบรถยนต์ในครั้งนี้
ผู้เขียน golfautospinn พูดคุยกันได้ที่ pisan.i@icarasia.com เฟซบุ๊ค Autospinn.Fans และทวิตเตอร์ @Autospinn
ข่าวคราวอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
- สัมผัสแรกกับมาสด้า 2 สกายแอคทีฟ-ดี ที่ประเทศญี่ปุ่น
- รายละเอียดรถยนต์และราคาของมาสด้า 2 สกายแอคทีฟ-ดี
ความคิดเห็น