ถึงแม้ตลาดรถมิดไซส์ซีดานจะมีขนาดไม่ใหญ่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับรถกระบะหรือรถซับคอมแพกต์ แต่ก็ยังถือว่าน่าจับตามองอย่างยิ่ง เพราะหลายค่ายรถให้ความสำคัญและมีการแข่งขันกันดุเดือดพอสมควร
โดยเฉพาะเมื่อล่าสุด โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทยประกาศเปิดตัวโตโยต้า คัมรี่ (Toyota Camry) รุ่นปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์ครั้งใหญ่ อัพเกรดความสดใหม่ทั้งหน้าตาและอุปกรณ์อำนวยความสะดวก ยิ่งทำให้เซกเมนท์นี้มีความร้อนแรงมากขึ้น โดยคลิกชมภาพจากงานเปิดตัวได้เลย
ทีมงาน Autospinn รวบรวมข้อมูลเชิงเปรียบเทียบระหว่างรถซีดานขนาดกลางรุ่นยอดนิยมทั้ง ฮอนด้า แอคคอร์ด นิสสัน เทียน่าและโตโยต้า คัมรี่มาฝากท่านผู้อ่านกัน เชิญชมกันได้เลยครับ
การออกแบบและอุปกรณ์ที่น่าสนใจ
แอคคอร์ดถือเป็นหนึ่งในรถที่เขย่ารวมความหรูหราและความหล่อเหลาได้อย่างลงตัว แถมยังแฝงความสปอร์ตและปราดเปรียวไว้อย่างแนบเนียนด้วย โดยเฉพาะตัวท็อป 2.4 TECH ถึงแม้จะมีค่าตัวสูงระดับที่ 1,799,000 ล้านบาทแต่ก็เพียบพร้อมทีเด็ดหัวจรดท้าย อย่างกรอบไฟหน้า LED และไฟเดย์ไลท์รวมอยู่ในโคมเดียวกันซึ่งถือว่าโดดเด่นที่สุดในเซกเมนท์ ล้ออัลลอยขนาดใหญ่ 18 นิ้วหุ้มด้วยยาง 235/45 R18 แหงนมองหลังคามีซันรูฟแบบวันทัช ขาดไม่ได้คือฟังชั่นพิเศษที่มีเฉพาะในรุ่นนี้นั่นคือกล้องแสดงภาพมุมอับสายตาขณะเปลี่ยนเลนหรือ Honda Lane Watch ที่ใต้กระจกมองข้างฝั่งซ้าย
ห้องโดยสารเน้นความเรียบหรูและและอารมณ์สปอร์ตแบบเคร่งขรึมด้วยการเลือกโทนวัสดุห่อหุ้มภายในสีดำเฉพาะในรุ่น 2.4 TECH แต่สำหรับรุ่น 2.0 จะใช้สีอ่อนลงที่ให้ความสว่างสดใสมากขึ้น พร้อมประดับด้วยลายไม้และเมทัลลิกสีเงิน ส่วนออฟชั่นต่างๆนั้นของรุ่น 2.4 นั้นยกชุดมาตรฐานมาจากตัว 2.0 ไม่ว่าจะเป็นปุ่มสตาร์ทเครื่องยนต์ (One Push Ignition System) หน้าจออัจฉริยะ i-MID พวงมาลัยมัลติฟังชั่น รวมถึงจอแสดงผล TFT พร้อมระบบนำทางขนาด 8 นิ้ว ที่สั่งงานผ่านปุ่มควบคุม Interface Dial
ระบบความปลอดภัยครบครัน Collision Mitigation Brake System (CMBS) ระบบเตือนการชนด้านหน้าด้วยเรดาห์พร้อมระบบช่วยเบรก Honda LaneWatch ระบบแสดงภาพมุมอับสายตาขณะเปลี่ยนเลน Active Cornering Light (ACL) ไฟส่องสว่างด้านข้างอัตโนมัติขณะเลี้ยว ช่วยเพิ่มความสว่างด้านข้างของรถในขณะเลี้ยวในเวลากลางคืน Multi-angle Rearview Camera กล้องส่องภาพด้านหลังปรับมุมมองได้ 3 ระดับ และ Adaptive Cruise Control ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน ซึ่งระบบต่างๆจะลดหลั่นกันไปตามรุ่นย่อย ใครเลือกรุ่นไหนควรตรวจสอบให้ถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจ
รูปลักษณ์ของนิสสัน เทียน่าได้รับการออกแบบภายใต้แนวคิด Suggestive Aura เน้นความปราดเปรียวล้ำสมัยผสมผสานความหรูหราซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญของรถมิดไซส์ซีดานราคาล้านต้นๆ ไปจนถึงล้านกลางๆ ไฟหน้าเป็นแบบโปรเจคเตอร์เลนส์ซีนอน พร้อมไฟเลี้ยวและไฟท้ายแบบแอลอีดี เพิ่มดีกรีความเท่ด้วยหลังคาซันรูฟปรับไฟฟ้าและกระจกมองข้างดีไซน์ใหม่ ทางนิสสันยังนำเสนออุปกรณ์ตกแต่งเป็นขอบคิ้วโครเมียมสำหรับคนที่ชื่นชอบความหรูหราแบบวาววับ
ภายในห้องโดยสารเน้นบรรยากาศพรีเมียมและสะดวกสบาย เบาะหุ้มหนังคุณภาพเยี่ยมให้สัมผัสนุ่มนวล ออกแบบเป็นพิเศษตามหลักสรีรศาสตร์เพื่อกระจายแรงกดทับและรองรับกระดูกสันหลัง เครื่องเสียง BOSE แบรนด์ไฮเอนด์ระดับโลก ประกอบด้วยแอมป์ระบบดิจิตอล พร้อมระบบ Digital Signal Processing (DSP) และลำโพง 9 ตัว ที่ให้ระบบเสียงสมบูรณ์แบบ จากการทดสอบนั่งเบาะหลังพบว่าพื้นที่ช่วงขามีความสะดวกสบาย แต่พื้นที่เหนือศีรษะอาจแคบไปเล็กน้อยสำหรับคนที่สูง 180 ซม. ขึ้นไป
นิสสันเคลมว่าเทียน่าเป็นรถยนต์รุ่นแรกในไทยที่มีกล้องมองภาพรอบทิศทาง Around View Monitor (AVM) เพื่อให้ผู้ขับขี่มองเห็นวัตถุรอบตัวรถได้ชัดเจนง่ายดายยิ่งขึ้น พร้อมระบบช่วยในการขับขี่อัจฉริยะ Intelligent Transport System (ITS) แจ้งเตือนบนหน้าจอ 3 มิติ ให้ผู้ขับขี่รับทราบข้อมูล 360 องศารอบคันรถ โดยผสานการทำงานของระบบเตือนให้รักษาตำแหน่งรถในช่องทาง Lane Departure Warning ระบบเตือนจุดอับสายตา Blind Spot Warning (BSW) และระบบเตือนวัตถุเคลื่อนไหวรอบรถ Moving Object Detection (MOD)
รูปร่างหน้าตาภายนอกของคัมรี่โฉมบิ๊กไมเนอร์เชนจ์ได้รับการอัพเกรดความสดใหม่กันพอสมควร เริ่มจากแผงกันชนหน้าพร้อมไฟตัดหมอกหน้าดีไซน์ใหม่ กระจังหน้าโครเมียม ไฟหน้าโปรเจคเตอร์แบบ HID ใหม่ พร้อมไฟเดย์ไลท์ LED ส่องสว่างกว้างไกลยิ่งขึ้นที่มีระบบปรับระดับสูงต่ำอัตโนมัติ ขณะที่ด้านท้ายรถเสริมขอบคิ้วโครเมี่ยม ไฟท้าย LED มีไฟตัดหมอกหน้า–หลังเพิ่มทัศนวิสัย กระจกมองข้างพร้อมไฟเลี้ยว ล้ออัลลอยลายใหม่มีทั้งขนาด 16 นิ้ว พร้อมยาง 215/60 R16 ในรุ่น 2.0G และล้อขนาด 17 นิ้ว พร้อมยางขนาด 215/55 R17 สำหรับรุ่น 2.5G
ภายในห้องโดยสารยังคงสไตล์เรียบง่าย ตกแต่งด้วยสีเบจ ลายไม้สีน้ำตาลดำและวัสดุเมทัลลิกโดยเน้นให้มีความหรูราและทันสมัยขึ้น มาตรวัดเรืองแสง Optitron พร้อมจอแสดงผลข้อมูลการขับขี่ TFT ขนาด 4.2 นิ้ว พวงมาลัยมัลติฟังก์ชั่น ควบคุมการทำงานของเครื่องเสียง – จอแสดงข้อมูลรวม – ระบบเชื่อมต่อ Hands-free แบบไร้สาย Bluetooth เบาะนั่งคู่หน้าปรับด้วยไฟฟ้า 8 ทิศทาง พร้อมปุ่มปรับดันหลังไฟฟ้าด้านคนขับเพื่อความผ่อนคลายขณะขับขี่ มีช่องต่อ USB / VTR / AUX
อุปกรณ์ชาร์จไฟแบบไร้สาย (Wireless Charger) ที่ชาร์จแบบไร้สายบริเวณกล่องคอนโซลกลางรองรับระบบการชาร์จไฟแบบ QI เครื่องเล่น DVD พร้อมลำโพง JBL Green Edge Touch 10 ตำแหน่ง ระบบความปลอดภัยครบครันไม่แพ้คู่แข่ง ถุงนิรภัยคู่หน้าและด้านข้าง ระบบช่วยเตือนมุมอับสายตา Blind Spot Monitor ระบบเตือนวัตถุเคลื่อนไหวด้านหลังรถ Rear Cross Traffic Alert ไฟฉุกเฉิน Emergency Stop Signal เมื่อเบรกกระทันหัน ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน Hill-start Assist Control ระบบความปลอดภัยก่อนการชน Pre-crash System
นอกจากนี้ในรุ่น HV Premium ยังมีระบบช่วยเตือนเมื่อรถเบี่ยงออกนอกช่องทาง Lane Departure Warning อีกขั้นของความล้ำหน้า เมื่อคุณขับรถออกนอกช่องทางโดยไม่เปิดไฟเลี้ยว หรือเบี่ยงออกนอกเลนโดยไม่ตั้งใจ ระบบจะส่งสัญญาณเตือนที่หน้าจอ MID
เครื่องยนต์
ฮอนด้า แอคคอร์ด
เครื่องยนต์รุ่นเริ่มต้นของแอคคอร์ดเป็นบล็อกเบนซิน 4 สูบ 2.0 ลิตร SOHC i-VTEC พละกำลัง 155 แรงม้า ถ้ายังแรงไม่สะใจพอก็สามารถเลือกรุ่น 4 สูบ 16 วาล์ว DOHC i-VTEC ความจุ 2.4 ลิตรเทคโนโลยี Earth Dreams รีดพละกำลังสูงสุดออกมาได้ 174 แรงม้า ที่ 6,200 รอบ/นาที พร้อมแรงบิด 225 นิวตันเมตร ที่ 4,000 รอบ/นาที โดยส่งถ่ายกำลังผ่านระบบเกียร์ลูกเดียวกันคือเกียร์อัตโนมัติ 5 สปีด Grade Logic Control พร้อม Direct Control และ Shift Hold Control ซึ่งรุ่น 2.4 ลิตรจะถูกปรับอัตราทดให้ต่ำลงอีกเล็กน้อย เพื่อให้เข้ากับพละกำลังที่เพิ่มขึ้น
แน่นอนว่าอัตราเร่งของรุ่น 2.4 ลิตรย่อมดีกว่า 2.0 ลิตร แต่ก็ไม่ถือว่าปรู๊ดปร๊าดมากนักเพราะตามบุคลิกของรถประเภทนี้ต้องเน้นความนุ่มนวลและไหลลื่นของอัตราเร่งมากกว่า โดยพละกำลังมีมาให้ใช้อย่างต่อเนื่อง ท็อปสปีดของรุ่น 2.4 ลิตรทะยานไปได้ทะลุ 200 กม./ชม. เล็กน้อย โดยมีอัตราสิ้นเปลืองตามที่เราเคยทำทดสอบอยู่ที่ประมาณ 15.3 กม./ลิตร
ต้องไม่ลืมว่าแอคคอร์ดมีรุ่นไฮบริด Sport Hybrid i-MMD (Intelligent Multi-Mode Drive) ทำงาน่ด้วยมอเตอร์ไฟฟ้ากำลังสูง 2 ตัวพลัง 169 แรงม้าและเครื่องยนต์ขนาด 2.0 ลิตร Atkinson Cycle DOHC i-VTEC พลัง 143 แรงม้า ดึงกำลังไฟจากแบตเตอรี่ไฮบริดแบบลิเธียม-ไอออน ความจุ 1.3 กิโลวัตต์-ชั่วโมง ประหยัดน้ำมัน 23.6 กม./ลิตร
นิสสัน เทียน่า
ขุมพลังของเทียน่าเริ่มกันที่รหัส MR20DE เบนซิน 4 สูบ 16 วาล์ว 2.0 ลิตร 136 แรงม้าที่ 5,600 รอบต่อนาทีและแรงบิดสูงสุด 190 นิวตัน-เมตร ที่ 4,400 รอบต่อนาที ทำงานพร้อมระบบวาล์วแปรผัน C-VTC ให้แรงบิดสูงที่รอบต่ำและความประหยัดน้ำมัน ขณะที่รุ่นท็อปไลน์เป็นรหัส QR25DE บล็อก 4 สูบ 2.5 ลิตร 16 วาล์ว 173 แรงม้า แรงบิดสูงสุดที่ 234 แรงเต็มสมรรถนะ ผสานการทำงานกับระบบวาล์วแปรผันคู่ Twin C-VTC (Twin Continuously Variable-valve Timing Control) ควบคุมการเปิดและปิดของวาล์วไอดีและไอเสีย ให้ทำงานสัมพันธ์กัน
นักขับทดสอบของ Autospinn เผยว่าอัตราเร่งของเทียน่ารุ่น 2.5 ลิตรน่าจะดีที่สุดในกลุ่มพิกัด 2.4 – 2.5 ก็ว่าได้ การออกตัวรวดเร็วทันใจ การเร่งแซงในระดับ 80 – 120 กม./ชม. ถือว่าดีมาก แต่เสียงเครื่องยนต์อาจแผดดังเข้ามาในห้องโดยสารมากกว่าคู่แข่ง สำหรับระบบช่วงล่างและพวงมาลัยถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี รองรับการใช้งานในชีวิตประจำวันได้อย่างสะดวกสบาย
โตโยต้า คัมรี่
เริ่มดูกันที่รุ่นเครื่องยนต์เบนซิน โดยรุ่น 2.5G ใช้เครื่องยนต์ 4 สูบ 2.5 ลิตร 2A R-FE DOHC 16 วาล์ว Dual VVT-i พละกำลัง 181 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิด 231 นิวตันเมตรที่ 4,100 รอบ/นาที ส่งกำลังผ่านระบบเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด รองรับเชื้อเพลิง E20 จะเห็นได้ว่าขุมพลัง 2.5 ลิตรของโตโยต้า มีพละกำลังมากที่สุดเมื่อเทียบกับรถในกลุ่มเดียวกัน
ขณะที่รุ่นเครื่องยนต์ 2.0 ลิตรเป็นบล็อกใหม่รหัส 6A R-FSE DOHC 16 วาล์ว VVT-iW และ D-4S ให้พละกำลัง 167 แรงม้า (PS) ที่ 6,500 รอบ/นาที แรงบิด 199 นิวตันเมตรที่ 4,600 รอบ/นาที ส่งกำลังด้วยระบบเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด รองรับเชื้อเพลิง E20 เช่นกัน โตโยต้าเคลมว่าขุมพลังบล็อกนี้แรงขึ้นและกินน้ำมันน้อยลง ถ้าเรามีโอกาสทดสอบจะนำมารายงานให้ท่านผู้อ่านทราบทันที
สำหรับคัมรี่ไฮบริดใช้เครื่องยนต์ 2.5 ลิตร พละกำลัง 160 แรงม้า (PS) แรงบิด 213 นิวตันเมตรประกบกับมอเตอร์ไฟฟ้า 105 กิโลวัตต์ แรงบิด 270 นิวตันเมตร ใช้พลังไฟฟ้าจากแบตเตอรี่นิกเกิลเมทัลไฮดรายแรงดันไฟฟ้า 245 โวลต์
ราคา
ฮอนด้า แอคคอร์ดจัดจำหน่าย 5 รุ่นย่อย เริ่มจาก 2.0 EL1,299,000 บาท ตามมาด้วย 2.0 EL NAVI1,419,000 บาท ส่วนรุ่น 2.4 ลิตรเริ่มจาก 2.4 EL1,549,000 บาท ถัดมาคือ 2.4 EL NAVI เคาะ 1,669,000 บาทและรุ่นท็อปไลน์ 2.4 TECH ราคาค่าตัวกระโดดไปถึง 1,799,000 บาท ขณะที่รุ่นแอคคอร์ด ไฮบริดเริ่มต้น 1,659,000 บาทไปจนถึง 1,899,000 บาท
นอกจากนี้ยังมีเงื่อนไขสี White Orchid Pearl เพิ่มเงินอีก 12,000 บาท ส่วนสี Champagne Frost Pearl และ Crystal Black Pearl เพิ่มเงินอีก 8,000 บาท
ทางด้านนิสสัน เทียน่ามี 5 รุ่นย่อยเช่นกัน เริ่มต้นด้วย 2.0XE ราคา 1,270,000 บาท ตามมาด้วย 2.0XE เคาะที่ 1,270,000 บาท 2.0XL NAVI อยู่ที่ 1,380,000 บาท ขณะที่รุ่น 2.5 ลิตร 2.5XV มีราคา 1,570,000 บาทและรุ่นท็อป 2.5XV NAVI ตั้งราคา 1,620,000 บาท
สำหรับโตโยต้า แคมรี่เปิดราคารุ่นไมเนอร์เชนจ์ทั้งหมด 5 รุ่นย่อย 2.5L Hybrid Premium 1,899,000 บาท 2.5L Hybrid Navigator 1,729,000 บาท 2.5L Hybrid CD 1,679,000 บาท 2.5G 1,569,000 บาท 2.0G Extremo 1,429,000 บาท และรุ่นเริ่มต้น 2.0G 1,319,000 บาท
สรุป
ด้วยระดับราคาที่แตกต่างกันหลักหมื่นจนถึงหลักแสนระหว่างแต่ละรุ่นย่อยเช่นนี้ คนที่กำลังมองหารถมิดไซส์ซีดานสักคันอาจต้องพิจารณาที่สเปกและอุปกรณ์อำนวยความสะดวกกันให้รอบคอบ กลุ่มลูกค้าที่ใช้รถซีดานขนาดกลางส่วนใหญ่มักอยู่ในวัยกลางคนที่มีครอบครัวแล้ว โดยตัดสินใจเลือกรถซีดานแทนที่รถเอสยูวีที่มีราคาใกล้เคียงกัน เนื่องจากรถซีดานตอบสนองด้านความนุ่มนวลสะดวกสบายได้มากกว่าและยังมีภาพลักษณ์ “หรูหรา” กว่ารถอเนกประสงค์
ดังนั้น จุดที่ควรพิจารณาเป็นพิเศษคือความกว้างขวางและการขับขี่ที่นุ่มนวล ตลอดจนอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสบายที่จำเป็นต่อการใช้งานในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ “ความภักดีในแบรนด์” ยังมีส่วนสำคัญสำหรับการตัดสินใจเลือกรถระดับนี้ด้วยเช่นกันซึ่งอยู่ที่รสนิยมและความชอบของแต่ละคน ขณะที่สมรรถนะการขับขี่อาจไม่แตกต่างกันมากนัก
สำหรับคนที่มองหาความประหยัดก็สามารถเลือกได้ทั้งคัมรี่ ไฮบริดและแอคคอร์ด ไฮบริดแต่ราคาจำหน่ายของทั้งสองโมเดลก็ทะลุหลัก 1.6 ล้านบาท แลกกับเทคโนโลยีความประหยัดเชื้อเพลิงซึ่งจะให้ความคุ้มค่าถ้าใช้งานรถมากหรือขับขี่ทางไกลเป็นประจำ
สิ่งสำคัญที่สุดซึ่งเราเน้นย้ำมาโดยตลอด คือการลองขับและสัมผัสตัวจริงให้ครบทั้งสามรุ่นก่อนตัดสินใจครับ
ความคิดเห็น