การประกาศเรียกคืนรถกลายเป็นประเด็นร้อนที่เกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน โดยเฉพาะปัญหาถุงลมนิรภัยของ Takata ที่ทำให้ตัวเลขการเรียกคืนพุ่งทะยานหลายสิบล้านคันไปแล้ว แต่ดูเหมือนว่าผู้บริโภคจะไม่สนใจปัญหาที่เกิดขึ้นมากเท่าที่ควร
ผลสำรวจจากบริษัท AutoTrader ระบุว่าผู้บริโภคชาวอเมริกัน “เพิกเฉย” ต่อการเรียกคืนรถ โดยมีผู้ใช้รถมากกว่าครึ่งหนึ่งเพียงเล็กน้อยหรือ 56% ที่นำรถเข้ามาซ่อมแซมตามการประกาศเรียกคืน นั่นหมายถึงรถ 4 ใน 10 คันที่ยังมีปัญหาและถูกใช้งานตามปกติบนท้องถนน
ฌอน เคน ผู้ก่อตั้งหน่วยงาน Safety Research & Strategies ระบุว่าการเพิกเฉยต่อการเรียกคืนอาจส่งผลถึงชีวิต โดยระบุว่า 77% ของผู้ทีได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากถุงลมนิรภัย Takata ที่ระเบิดออกมาพร้อมของมีคมนั้นมีสาเหตุมาจากการไม่นำรถเข้าแก้ไขตามการประกาศเรียกคืนก่อนหน้านี้
ล่าสุดหน่วยงานที่กำกับดูแลความปลอดภัยบนท้องถนนของสหรัฐฯ ได้จัดเวิร์กช็อปกระตุ้นให้ค่ายรถและหน่วยงานด้านความปลอดภัยมีความมุ่งมั่นยกระดับความสำคัญของการเรียกคืนรถมากขึ้น เพื่อให้ลูกค้าหันมาสนใจมากกว่าเดิม
ขณะเดียวกัน การเรียกคืนรถไม่ส่งผลมากนักต่อการตัดสินใจซื้อรถของผู้บริโภค โดยในปี 2014 ที่ผ่านมา เจนเนอรัล มอเตอร์สประกาศเรียกคืนรถจากปัญหาสวิทช์สตาร์ทเครื่องยนต์ทั้งหมด 84 ครั้ง รวมกว่า 27 ล้านคัน แต่ก็ไม่ส่งผลต่อการเลือกซื้อรถแบรนด์อเมริกัน โดยยอดขายปรับสูงขึ้น 5.1% ระหว่างเดือนมีนาคม 2014 ถึงเดือนมีนาคม 2015 ขณะที่รถเชฟโรเลตที่ถูกเรียกคืนมากที่สุดมียอดขายเพิ่มขึ้น 0.6% ในช่วงเวลาดังกล่าว
สำหรับลูกค้าในเมืองไทย การเรียกคืนหรือการเรียกรถกลับเข้ามาแก้ไขมักแจ้งต่อลูกค้าเมื่อนำรถเข้ามาเช็คระยะที่ศูนย์ผู้จัดจำหน่าย ดังนั้น ผู้ใช้รถก็ควรแก้ไขตามคำแนะนำของศูนย์เพื่อความปลอดภัยและความสมบูรณ์พร้อมใช้งานของตัวรถ
ความคิดเห็น