ข้อมูลล่าสุดจากการวิจัย ซึ่งเปรียบเทียบเสียงรบกวนบนท้องถนนกับการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลพบว่า คนที่อาศัยหรือใช้ชีวิตในบริเวณที่มีเสียงรบกวนจากการจราจรสูงนั้นมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคที่เกี่ยวกับหัวใจและมีอายุสั้นลง
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า การวิจัยดังกล่าวซึ่งตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ European Heart Journal ทำการสำรวจประชากรชาวเมืองลอนดอนและใกล้เคียงที่อาศัยอยู่ในละแวกถนนมอเตอร์เวย์ M25 ระหว่างปี 2003 – 2010 เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลด้านสุขภาพ
ผลสำรวจพบว่า ชาวเมืองลอนดอน 1.6 ล้านคนจากทั้งหมดราว 8.6 ล้านคนต้องเผชิญกับเสียงรบกวนจากการจราจรเฉลี่ยสูงกว่า 55 เดซิเบลในการใช้ชีวิตประจำวัน ขณะที่บางคนต้องอาศัยในพื้นที่ที่มีระดับเสียงสูงเกินกว่า 60 เดซิเบล ซึ่งประชากรจำนวนนี้มีอัตราการเสียชีวิตมากกว่าผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เงียบกว่า 55 เดซิเบลราว 4%
ผู้คนที่อาศัยในเขตที่มีเสียงดังจากท้องถนน ยังมีแนวโน้มที่จะเข้าโรงพยาบาลด้วยโรคเกี่ยวกับหัวใจมากกว่าปกติ 5% ส่วนผู้ที่มีอายุมากที่ต้องฟังเสียงดังอยู่ตลอดเวลาก็จะต้องเข้าโรงพยาบาลมากกว่าคนที่อาศัยในเขตเงียบสงบเกือบเท่าตัว
ผลสำรวจดังกล่าวสอดคล้องกับมาตรฐานขององค์การอนามัยโลกที่กำหนดไว้ว่า เสียงรบกวนจากท้องถนนไม่ควรเกิน 55 เดซิเบล แต่ปัญหาเสียงเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้นในเมืองใหญ่ทั่วโลก
“รัฐบาลควรกำหนดนโยบายที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพของประชาชนมากกว่านี้ ซึ่งถือเป็นปัญหาเร่งด่วน” ฟรานเซสโก คาปูซิโอ ศาสตราจารย์ด้านหลอดเลือดหัวใจของมหาวิทยาลัยวอร์วิคกล่าวสรุป
ความคิดเห็น