ในการเดินทางไปร่วมงานโตเกียว มอเตอร์โชว์ ที่ผ่านมา นอกเหนือไปจากการเข้าร่วมงาน การทดสอบรถ รวมถึงการร่วมงานเปิดตัวดัทสันรุ่นใหม่แล้ว อีกหัวข้อที่น่าสนใจเป็นอย่างมากก็คือการเข้าร่วมเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยียานยนต์แห่งโลกอนาคตของนิสสัน
นิสสันได้เปิดศูนย์วิจัยและพัฒนา 1 ใน 9 แห่งในประเทศญี่ปุ่น เพื่อแสดงให้เห็นถึงเทคโนโลยียานยนต์อนาคตที่นิสสันมีความมั่นใจว่าจะกลายเป็นทัศนวิสัยแห่งการเดินทางในอนาคต ไม่ว่าจะเรื่องรถไฟฟ้าหรือยานยนต์ขับเคลื่อนไร้พลขับ
นิสสัน ลีฟ อาจจะมีคำถามที่ตามมาจากการใช้งานมากมาย ขณะที่นิสสัน ไอดีเอส คอนเซปต์ ก็ดูจะยังห่างไกลจากความเป็นจริง นิสสันได้จัดช่วงสนทนามากมายที่พาเราเชื่อมโยงจากปัจจุบันถึงอนาคตของยานยนต์โลกเอาไว้ได้ภายในครึ่งวันเท่านั้น
โดยรวม ๆ แล้ว นิสสันได้ตอบคำถามที่น่าสนใจเอาไว้ในเรื่องของการเพิ่มระยะทางการวิ่งของรถไฟฟ้าในปัจจุบันออกไปอย่างไร้ขีดจำกัด แถมรถยนต์รุ่นใหม่จะมาพร้อมเทคโนโลยีมากมายที่จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตของเราในอนาคต
แม้จะมีข่าวออกมาแล้วว่านิสสันจะพัฒนาลีฟรุ่นใหม่ให้มีระยะทางวิ่งเพิ่มเติมเป็นมากกว่า 250 กิโลเมตร แต่นั่นก็เป็นเพียงครึ่งทางเท่านั้น เพราะในห้องทดลองของนิสสันได้ทำการติดตั้งแบตเตอรี่รุ่นใหม่ขนาด 60 กิโลวัตต์ชั่วโมงให้กับลีฟเป็นที่เรียบร้อย
ผลก็คือรถทดลองคันนี้สามารถวิ่งทำระยะทางได้มากกว่า 500 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และระบบดังกล่าวได้นำไปติดตั้งในรถต้นแบบไอดีเอสเป็นที่เรียบร้อย นั่นก็หมายความว่ารถยนต์ไฟฟ้าในอนาคตของนิสสันจะทำระยะทางวิ่งได้ดีมากขึ้นอย่างแน่นอน
การวิ่งได้ไกลขึ้นไม่ได้มีผลมาจากแค่การเพิ่มขนาดของแบตเตอรี่ แต่ยังรวมถึงการเพิ่มขีดความสามารถทางด้านอากาศพลศาสตร์ การเลือกใช้วัสดุที่น้ำหนักเบามาใช้ในการประกอบเป็นรถก็ล้วนแล้วแต่มีผลที่ทำให้รถมีประสิทธิภาพที่สูงขึ้นอย่างมาก
นอกไปจากน้ำหนักที่เบาขึ้นแล้ว ซีเอฟอาร์พี (CFRP - Carbon Fiber Reinforced Plastic) ยังมีความแข็งแกร่งและความเหนียวที่เหนือกว่าโลหะทั่วไป ทำให้เมื่อนำมาขึ้นรูปเป็นชิ้นส่วนแล้ว จะสามารถลดความหนาของชิ้นส่วน และเพิ่มทัศนวิสัยในการขับขี่ได้
สุดท้ายก็คือเรื่องความฉลาดของรถ นิสสันได้แสดงให้เห็นถึงคุณสมบัติที่สำคัญ 2 ข้อ หนึ่ง ก็คือการพัฒนาระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ ที่ถือว่าไม่ธรรมดา เพราะต้องทำการศึกษาถึงท่าทางการเคลื่อนไหวของคนเดินถนน และแนวคิดการตัดสินใจของรถคันอื่นกันเลยทีเดียว
Together We Ride คือแนวคิดในการพัฒนาระบบดังกล่าวเพื่อให้ได้รถยนต์ที่มีคุณสมบัติโดดเด่นที่สุด 2 ด้าน หนึ่งก็คือการเป็นรถยนต์ที่สนับสนุนผู้ขับขี่อย่างดีเลิศ และสอง การเป็นรถยนต์ที่มีความสอดคล้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับสังคมในทุกรูปแบบ
ระบบภายในรถที่พัฒนาขึ้นมาจะเรียนรู้ถึงกฎระเบียบของการใช้ถนนในท้องที่แต่ละแห่งเพื่อเรียนรู้ที่จะขับเคลื่อนแบบอัตโนมัติอย่างปลอดภัย รวมถึงมีกล้องที่คอยจับความเคลื่อนไหวของคนและวัตถุรอบด้านเพื่อช่วยเหลือประเมินในการตัดสินใจอย่างเฉียบพลัน
ฟังดูแบบนี้เหมือนจะง่าย แต่บอกเลยว่าแม้แต่นิสสันเองยังบอกว่าเป็นเรื่องยากมาก และทุกอย่างจะต้องทำการศึกษาเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาหรือข้อผิดพลาดใดใดขึ้นมาระหว่างการใช้งานจริงเสียก่อนที่จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 2020 ตามแผนงานที่คาดการณ์ไว้
เรื่องสุดท้ายที่อยากพูดถึงก็คือเรื่องการบริหารจัดการเรื่องไฟฟ้าของนิสสัน ลีฟ ที่นิสสันได้โชว์ให้เห็นว่านอกจากการเป็นรถไฟฟ้าแล้ว ลีฟยังสามารถเป็นแหล่งไฟฟ้าให้กับบ้านเรือนได้ในกรณีที่ไฟดับหรือต้องการพลังงานพิเศษ โดยจะต้องติดตั้งตู้ที่สามารถทำการรีชาร์จไฟได้เพื่อใช้งาน
นิสสันยังได้มองถึงเรื่องของการบริหารจัดการแบตเตอรี่ของลีฟที่หมดอายุการใช้งาน โดยนำแบตเตอรี่ที่มีประสิทธิภาพเหลือราว 70% ซึ่งเป็นการเก็บจากรถแท็กซี่ที่ใช้งานรถเหมือนกับการขับ 10 ปี โดยนำเซลล์แบตเตอรี่เหล่านั้นมาพ่วงเข้าด้วยกันเพื่อซัพพลายพลังงงานให้กับบ้านเรือนได้
อันนี้ยังเป็นโครงการเริ่มต้นที่อยู่ระหว่างการศึกษา แต่นิสสันก็คาดว่าน่าจะเริ่มส่งมอบกระแสไฟที่เกิดจากแบตเตอรี่เก่าให้กับบ้านเรือนที่ขาดแคลนได้ในอีก 3-4 ปีข้างหน้า เมื่อมีปริมาณแบตเตอรี่เก่ามากพอให้ใช้งานได้จริงจัง
คิดกันตั้งแต่ผลิตยันบริหารจัดการไม่ให้เกิดขยะ ถือว่ายอดเยี่ยมเหมือนกันนะนี่...
ความคิดเห็น