กสอ.เร่งผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยต่อยอดสู่อุตสาหกรรมอากาศยานและระบบราง พร้อมตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนสร้างความเชื่อมั่น
วรพงษ์ ฉินโชคสกุลชัย ผู้อำนวยการส่วนพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เปิดเผยในการสัมมนาแนวทางพัฒนาผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ สู่อุตสาหกรรมอากาศยานและระบบราง ว่า จากการพัฒนาโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ของภาครัฐ จะส่งผลให้เกิดความต้องการใช้ชิ้นส่วนยานยนต์ ในภาคอุตสาหกรรมและการผลิตในการต่อยอดเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น จึงได้มีการเตรียมความพร้อมและเร่งให้ความรู้ พัฒนาผู้ประกอบการ อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ต่อยอด และเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมไปสู่ อุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคต หรือ New S-Curve
ทั้งนี้ จะเน้นการสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย 3 กลุ่มหลัก คือ ออโตเมชั่น แอร์โรสเปส และเมดิคัล โดยกสอ.ได้รับจัดสรรงบประมาณ 110 ล้านบาทในการจัดสัมมนา ส่งเสริมความรู้ ให้กับผู้ประกอบการโดยจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม อาทิ สถาบันยานยนต์ สวทช. พร้อมจัดตั้งคณะทำงานเพื่อเตรียมความพร้อมสอดคล้องยุทธ์ศาสตร์ชาติ 20 ปี สร้างความเชื่อมั่น
สามารถ มหาพล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อีซูซุ มอเตอร์ (ประเทศไทย) กล่าวเสวนาเรื่อง "แนวทางการสรรหาผู้ผลิตชิ้นส่วนของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ และอุตสาหกรรมอากาศยาน ต่างกันอย่างไร" ว่า ผู้ผลิตชิ้นส่วนทั้งสองอย่างแตกต่างกันเรื่องการตรวจสอบย้อนกลับกระบวนการผลิตได้ ของอุตสาหกรรมอากาศยาน นั่นหมายความว่า อุตสาหกรรมอากาศยานต้องมีความรับผิดชอบ มีการประกันความเสี่ยงมูลค่าสูง เพราะชิ้นส่วนมีราคาสูง
ทั้งนี้ การสั่งสินค้าตามที่ลูกค้าสั่งจะเป็นไปตามความต้องการของลูกค้า คาดการณ์ไม่ได้ ก่อให้เกิดความเสี่ยง ขณะที่ ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์มีช่วงการดำเนินการโดยมีข้อมูล และหากผู้ผลิตชิ้นส่วนเพิ่มระบบการตรวจสอบย้อนกลับได้ ก็คล้ายกับการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน ซึ่งหากบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์กล้าเสี่ยงก็สามารถปรับเปลี่ยนได้
"ศักยภาพคนไทยสามารถปรับเปลี่ยนระบบการผลิตได้ เพียงแต่เราไม่มีกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ต่อจากนี้อุตสาหกรรมยานยนต์ต้องมีการปรับเปลี่ยน ไม่เช่นนั้นเราอาจถูกลบชื่อออกไปจากผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่ก็ได้"
ติดตามข่าวคราวความเคลื่อนไหวของแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์ได้ ที่นี่
ต้องการซื้อรถมือสอง ตรวจสอบราคารถยนต์มือสอง เชิญที่นี่
ความคิดเห็น