กองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย ผนึกกำลัง มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ฟื้นฟูลุ่มน่านน้ำปีที่ 2 Share this

กองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย ผนึกกำลัง มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ฟื้นฟูลุ่มน่านน้ำปีที่ 2

Wongsupat
โดย Wongsupat
โพสต์เมื่อ 27 December 2560

กองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย ผนึกกำลัง มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ สานต่อโครงการพัฒนาแหล่งน้ำตามพระราชดำริ พื้นที่ลุมน้ำน่านปีที่ 2 ล้างภาพเขาหัวโล้น แก้ภัยแล้ง ดินถล่ม สร้างรายได้ให้ชุมชน

เมื่อเร็วๆนี้ ทางกองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย ภายใต้มูลนิธิฮอนด้าประเทศไทย ได้ร่วมมือกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้สานต่อโครงการพัฒนาแหล่งน้ำตามพระราชดำริ พื้นที่ลุ่มน้ำน่านเป็นปีที่ 2 เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนบ้านนาบง จ.น่าน ร่วมกันสร้างฝายชะลอน้ำ 7 ฝาย ทั้งยังปลูกพืชอุ้มน้ำบริเวณร่องน้ำ เช่น กล้วยป่า กล้วยน้ำหว้า และต๋าว รวม 350 ต้น คาดว่าหลังจากดำเนินงานปี 2562 จะสามารถฟื้นฟูพื้นที่เขาหัวโล้น ที่ประสบปัญหาภัยแล้งและดินถล่มกว่า 3,000 ไร่ ช่วยให้ประชากรกว่า 4,700 ครัวเรือนมีน้ำอุปโภคบริโภค เพิ่มแหล่งน้ำสำรองสำหรับเกษตรกร และเป็นชุมชนต้นแบบในการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบและยั่งยืน

วรพจน์ พรประภา กรรมการกองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย กล่าวว่า กองทุนฯได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาการจัดการน้ำอย่างต่อเนื่อง จึงได้ร่วมมือกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมชูปถัมภ์ดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ตั้งแต่ปี 2558 ด้วยการสนับสนุนโครงการพัฒนาแหล่งน้ำพื้นที่ลุ่มน้ำปราจีนบุรีจนสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งได้สำเร็จ จึงขยายผลสู่พื้นที่ลุ่มน้ำน่าน งบประมาณสนับสนุนทั้งสองลุ่มน้ำ 23.6 ล้านบาท

สำหรับโครงการพื้นที่ลุ่มน้ำน่านจะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ(ตั้งแต่ปี 2560-2562) 3 พื้นที่ ได้แก่ 1.พื้นที่ต้นน้ำบริเวณชุมชนบ้านดงผาปูนและบ้านนาบง ต.บ่อเกลือใต้ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน, 2. พื้นที่กลางน้ำบริเวณบ้านร้องแง ต.วรนคร อ.ปัว จ.น่าน และ 3.พื้นที่ปลายน้ำ ที่ต.ป่าหมาก อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก ส่วนในอนาคตจะเป็นพื้นที่ใดต่อไป ต้องขอศึกษาร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์อีกครั้ง

“ปีก่อนที่มาดูพื้นที่ลุ่มน้ำน่าน พบว่า ไม่มีน้ำมากขนาดนี้ มาครั้งนี้ได้เห็นความชุ่มชื้น สังเกตจากมอสส์ที่เกิดขึ้น หากมีมอสส์แสดงว่ามีน้ำตลอดปี แต่เราก็จะไม่หยุดเพียงเท่านี้ ซึ่งปัจจุบันเรามีเงินในกองทุนฯประมาณ 1,000 ล้านบาท เราจะไปพัฒนาพื้นที่กลางน้ำและปลายน้ำต่อไป”

รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า หากย้อนไปปี 2549 น้ำท่วมน่านเหมือนท่วมกทม.ปี 2554 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่นำเครื่องบินขึ้นสำรวจ ซึ่งมีการรายงานว่าที่จ.น่านแย่กว่าจ.อุตรดิตถ์ ซึ่งที่อุตรดิตถ์มีการบุกรุกป่าและปลูกพืชล้มลุก ขณะที่น่านปลูกข้าวโพด และใส่ยาฆ่าหญ้า ทำให้ภูเขาโล้น ต่อมาจึงได้มีการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำน่าน

“เราทำงานกับกองทุนฮอนด้าจะไม่มีข้อจำกัดเหมือนราชการ โดยที่นี่จะฟื้นฟูป่าด้วยวิธีทำฝาย ปลูกพืชนำร่องคือกล้วย ได้มีการสำรวจรายได้ที่จะได้จากการปลูกกล้วยสูงกว่าปลูกข้าวโพด 5-10 เท่า สาเหตุที่เริ่มปลูกกล้วยก่อนเพราะง่ายและไม่ตาย ระยะเวลาตัดขายสั้น ชาวบ้านมีเงินได้เร็ว จากนั้นจึงจะปลูกพืชชนิดอื่น ซึ่งแม้แต่ในจอร์แดน ก็ใช้หลักการเดียวกันในการแก้ไขปัญหาเขาหัวโล้น”

ด้านพนิดา ไชยกลาง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน บ้านนาบง กล่าวว่า ก่อนที่จะมีโครงการนี้ความเป็นอยู่ของชาวบ้านค่อนข้างลำบาก มีการบุกรุกป่า ทำไรเลื่อนลอย ปลูกข้าวโพด แต่ต่อมาเมื่อมีเจ้าหน้าที่เข้ามาให้ความรู้ มีการบริหารจัดการน้ำ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ชาวบ้านหันมาปลูกกล้วย ปลูกต๋าวทดแทนการปลูกข้าวโพดหรือทำไร่เลื่อนลอย ทำให้มีรายได้ต่อครัวเรือนต่อปีเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 1.9 หมื่นบาท/ครัวเรือน/ปี เพิ่มเป็นประมาณ 3 หมื่นกว่าบาท/ครัวเรือน/ปี หรือมีรายได้เพิ่มขึ้น 60% -80% โดยชาวบ้านสามารถนำสินค้าเกษตรขายในตลาดชุมชน ตลาดประชารัฐ เป็นต้น

คเณศวร น่านโพธิ์ศรี ผู้ช่วยฝ่ายรักษาความสงบ บ้านดงผาปูน กล่าวว่า หลังจากบ้านดงผาปูนได้รับความช่วยเหลือจากโครงการฯ ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของชาวบ้านดีขึ้น จากเดิมที่ไม่ได้พักผ่อนเพราะต้องฉีดสารเคมี ต้องดูแลข้าวโพด ก็หันมาปลูกล้วยน้ำหว้า กล้วยหอมทอง กล้วยไข่ ต๋าว กาแฟ ความเป็นอยู่ก็ดีขึ้นไม่ต้องมากังวลเรื่องการดูแลพืชผลทางการเกษตรเหมือนก่อนหน้านี้

ติดตามข่าวคราวความเคลื่อนไหวของแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์ได้ ที่นี่

ต้องการซื้อรถมือสอง ตรวจสอบราคารถยนต์มือสอง เชิญที่นี่


ความคิดเห็น


เรียกดูข่าวตามประเภทยานพาหนะ

ค้นหาข่าวโดยยี่ห้อ