หากพูดถึงการ ต่อภาษีรถยนต์ คนส่วนใหญ่มักคิดไปเองว่ามันต้องเป็นเรื่องที่ยุ่งยากเสียเวลาแน่นอน ไม่รู้ต้องเริ่มจากตรงไหน ไม่รู้ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง แล้วรถที่ผ่อนอยู่ยังไม่ได้เล่มจะต่อได้ยังไง สุดท้ายจบด้วยคำว่า “จ้างเขาทำง่ายว่า”
ต่อภาษีรถยนต์ มีขั้นตอนอย่างไร
ต่อภาษีรถยนต์ นอกเหนือจากค่าตรวจสภาพรถยนต์ ค่า พรบ. ค่าภาษีแล้ว ทำไมเรายังต้องเสียค่าจ้างอีกหลายร้อย ไปจนถึงหลักพัน ในเมื่อเราสามารถไปทำด้วยตัวเองได้ โดยใช้เวลาแค่ไม่กี่นาที ซึ่งขั้นตอน และ เอกสารที่ต้องเตรียมมีเพียงแค่ไม่กี่อย่างเอง เรามาดูกันครับว่าขั้นตอนการต่อภาษีรถยนต์และเอกสารที่ต้องใช้มีอะไรบ้าง
เอกสารที่ต้องเตรียมในการต่อภาษีรถยนต์
- หนังสือแสดงการจดทะเบียนรถยนต์ (เล่มรถ) ถ้ารถผ่อนอยู่ยังไม่ได้เล่มรถ ก็ให้ใช้สำเนาแทน
- พรบ.
- ใบตรวจสภาพรถยนต์ (ใช้เฉพาะรถยนต์ที่มีอายุเกินกว่า7ปี) หากรถยนต์ที่ยังไม่ถึง 7 ปี ไม่ต้องใช้ใบตรวจสภาพ
ขั้นตอนการต่อภาษีรถยนต์
- ตรวจสภาพรถยนต์ หากรถยนต์ท่านมีอายุยังไม่ถึง7ปี ให้ข้ามขั้นตอนนี้ไปได้เลย (นับอายุรถยนต์ จากวันที่จดทะเบียน) แต่หากรถยนต์ท่านมีอายุเกินกว่า7ปี ท่านต้องนำรถยนต์ไปตรวจสภาพ ซึ่งสถานที่ตรวจสภาพรถยนต์ก็มีอยู่มากมาย ให้สังเกตสัญลักษณ์ ตรอ. (ย่อมาจาก ตรวจสภาพรถเอกชน)
- ซื้อพรบ. เราสามารถหาซื้อได้ที่ตัวแทน เช่นที่ธนาคาร ,ที่ ตรอ. ,ที่กรมการขนส่งทางบก แนะนำว่าให้ซื้อที่ ตรอ. จะสะดวกกว่า เพราะสามารถตรวจสภาพ และซื้อพรบ.ได้ที่นี่เลย
- ต่อภาษี เมื่อเราได้ใบตรวจสภาพและซื้อ พรบ. เรียบร้อยแล้ว ก็ขับรถไปที่กรมการขนส่งทางบกได้เลย ขับเข้าไปที่ช่อง เลื่อนล้อต่อภาษี เพื่อชำระค่าเสียภาษีประจำปี แค่นี้ก็เรียบร้อยแล้วครับ หรือหากท่านใดไม่สะดวกไปที่กรมการขนส่งทางบก ก็สามารถต่อภาษี ผ่านทางออนไลน์ ที่ www.dlte-serv.in.th (เฉพาะรถที่ไม่ต้องตรวจสอบสภาพ) หรือสามารถต่อภาษีได้ที่ ไปรษณีย์, ธนาคาร, จุดบริการตามห้างสรรพสินค้า, ผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส
อัตราค่าเสียภาษีรถยนต์
รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน ป้ายทะเบียนตัวหนังสือสีดำ พื้นสีขาว อัตราค่าเสียภาษีประจำปี ขึ้นอยู่กับขนาดเครื่องยนต์ (ซีซี) ดังนี้
- 600 ซีซี แรก ซีซี ละ 0.50 บาท
- 601 -1,800 ซีซีๆ ละ 1.50 บาท
- เกิน 1,800 ซีซี ๆ ละ 4.00 บาท
ยกตัวอย่าง
รถยนต์ Honda Jazz ปี 2016 มีขนาดเครื่องยนต์ 1,497 ซีซี
วิธีคำนวณภาษีรถยนต์
600 ซีซี แรก ซีซี ละ 0.50 บาท = 300 บาท
601 -1,497 ซีซีๆ ละ 1.50 บาท = 1,345.50 บาท
เท่ากับว่า Honda Jazz คันนี้ต้องเสียภาษี เท่ากับ 1,645.50 บาท
กรณีที่รถที่จดทะเบียนเกิน 5 ปี จะได้รับการลดหย่อนภาษีประจำปีในปีต่อไป ดังนี้
- ปีที่ 6 ลดให้ 10 %
- ปีที่ 7 ลดให้ 20 %
- ปีที่ 8 ลดให้ 30 %
- ปีที่ 9 ลดให้ 40 %
- ปีที่ 10 ขึ้นไป ลดให้ 50 %
รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ป้ายทะเบียนตัวหนังสือสีเขียว พื้นสีขาว อัตราค่าเสียภาษีประจำปี ขึ้นอยู่กับน้ำหนักรถ ดังนี้
- น้ำหนักรถ 501- 750 กก. อัตราภาษี 450 บาท
- น้ำหนักรถ 751 – 1000 กก. อัตราภาษี 600 บาท
- น้ำหนักรถ 1001 – 1250 กก. อัตราภาษี 750 บาท
- น้ำหนักรถ 1251 – 1500 กก. อัตราภาษี 900 บาท
- น้ำหนักรถ 1501 – 1750 กก. อัตราภาษี 1,050 บาท
- น้ำหนักรถ 1751 – 2000 กก. อัตราภาษี 1,350 บาท
- น้ำหนักรถ 2001 – 2500 กก. อัตราภาษี 1,650 บาท
กรณีที่รถที่จดทะเบียนเกิน 5 ปี จะได้รับการลดหย่อนภาษีประจำปีในปีต่อไป เช่นเดียวกันกับด้านบน
อย่าลืมตรวจสอบวันหมดอายุกันนะครับ สามารถต่อภาษีล่วงหน้าได้ 3 เดือน หากปล่อยภาษีขาด จะต้องเสียค่าปรับเดือนละ 1% และถ้าขาดต่อเกิน 3 ปี ท่านต้องนำรถไปจดทะเบียนใหม่นะครับ หากท่านใดนำรถที่ขาดต่อภาษีมาใช้ ถือว่าผิดกฎหมาย เวลาพี่ๆ ตำรวจเจอโดนใบสั่งนะจ๊ะ
ติดตามข่าวรถยนต์ ราคารถยนต์ รีวิวรถยนต์ และจักรยานยนต์ทุกยี่ห้อ กับเรา Autospinn
แชร์ความคิดเห็นบนเว็บบอร์ด Autospinn คลิกเลย webboard.autospinn.com
เช็คโปรโมชั่นรถใหม่ เช็คราคารถใหม่ ได้ที่นี่
ราคารถมือสอง ซื้อรถมือสอง ขายรถมือสอง เชิญได้เลยที่ one2car
ความคิดเห็น