EVAT เสนอ 8 แนวทาง หวังหน่วยงานรัฐกระตุ้นพัฒนาเข้าสู่สังคม EV ทั้งการจัดทำ EV Roadmap เเก้ไขกฎหมาย ส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการไทย จัดทำมาตรฐานชิ้นส่วน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานยานยนต์ไฟฟ้ารองรับ
ยศพงษ์ ลออนวล นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย เปิดเผยว่า จากข้อมูลของกรมขนส่งทางบก ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2562 สถิติการจดทะเบียนใหม่ของรถยนต์ไฟฟ้า เเบบปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) เเละไฮบริด (HEV) ในครึ่งปีเเรก 2562 มีจำนวนมากถึง 15,366 คัน ซึ่งคิดเป็นกว่า 75 % ของยอดจดทะเบียนปี 2561 ทั้งปีที่มีจำนวนทั้งสิ้น 20,344 คัน ในส่วนของการจดทะเบียนใหม่ประเภทยานยนต์เเบบเเบตเตอรี่ (BEV) ในครึ่งปีเเรก (2562) มีจำนวน 420 คัน ซึ่งสูงกว่ายอดจดทะเบียนใหม่ของปี 2561 ทั้งปีที่มีอยู่ 325 คัน
ขณะที่มีสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะประมาณ 340 เเห่งทั่วประเทศ จะเห็นได้ว่าตัวเลขการจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าในครึ่งปีเเรก 2562 มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเเละมีเเนวโน้มที่การจดทะเบียนจะมีจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) เล็งเห็นถึงสถานการณ์การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบันเเละอนาคต จึงได้มีการร่างข้อเสนอเเนวทางการส่งเสริม ยานยนต์ไฟฟ้าประกอบไปด้วย 8 ข้อหลักที่มุ่งหวังให้ภาครัฐนำข้อเสนอเหล่านี้มาปรับใช้ในการดำเนินนโยบาย
1 .ให้รัฐจัด EV Roadmap โดยมีการกำหนดเป้าหมายของจำนวนยานยนต์ไฟฟ้าเเละสถานีอัดประจุไฟฟ้าอย่างเหมาะสม พร้อมสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ พร้อมทั้งจัดตั้งคณะกรรมการบูรณาการนโยบายโดยมีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเพื่อการบูรณาการที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
2 .เเนะให้รัฐพิจารณาปรับปรุงข้อกฎหมายต่างๆ อาทิ ให้รถสามล้อไฟฟ้าเเละรถรับจ้างไฟฟ้าสามารถจดทะเบียนได้อย่างเสรี รวมไปถึงการส่งเสริมการใช้รถสามล้อไฟฟ้าในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อีกทั้งทางสมาคมยังเสนอให้มีการเเยกการจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าระหว่างประเภทปลั๊กอิน ไฮบริด (PHEV) เเละไฮบริด (HEV)
3. ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า เช่น ลดภาษีส่วนบุคคลสำหรับผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าออกมาตรการเพิ่มหัวจ่ายประจุไฟฟ้าตามที่จอดสาธารณะเเละเพิ่มสิทธิในการวิ่งรถยนต์ในช่องทางพิเศษ, ให้หน่วยงานรัฐจัดซื้อรถยนต์ไฟฟ้าเเบบเเบตเตอรี่ตามมติครม.,ขยายการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในรถโดยสารสาธารณะ ,แยกประเภทป้ายทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าเเบบเฉพาะ
4. ส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทั้งในรูปเเบบรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าเเละรถสามล้อไฟฟ้า 5. ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยในการพัฒนาเทคโนโลยีเเละการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 6. จัดทำมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้อง 7.ควรมีการเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้า อย่างเช่น การสนับสนุนให้มีสถานีอัดประจุไฟฟ้าเเบบ Quick Charge ตามสถานที่ต่างๆ และ 8.ส่งเสริมให้มีการพัฒนาบุคลากรด้านยานยนต์ไฟฟ้า เช่น ให้มีการอบรมเเละการจัดทำหลักสูตรวิชาชีพในสถาบันการศึกษา
“ก่อนหน้านี้รัฐมีประกาศงดจดทะเบียนรถตุ๊กตุ๊ก ตั้งแต่ ปี 2535 ซึ่งขณะนี้ปี 2562 ผู้ประกอบการไทยมีรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า รัฐควรสนับสนุนเรื่องการนำมาใช้ เพื่อลดค่า PM 2.5 ลดมลพิษ รักษาสิ่งแวดล้อม โดยประเด็นสำคัญทั้ง 8 ข้อที่เสนอไปนั้น หากรัฐสามารถวางแผนแม่บทเรื่องยานยนต์ไฟฟ้าได้ก็จะช่วยให้เกิดความชัดเจนในการพัฒนาสู่สังคม EV ได้ง่ายมากขึ้น”
เช็คราคารถใหม่ และโปรโมชั่น ได้ที่นี่ ที่นี่
ต้องการซื้อรถมือสอง ตรวจสอบราคารถยนต์มือสอง เชิญที่นี่
มาร่วมแชร์ความเห็นของคุณบนเวบบอร์ด Autospinn คลิกที่นี่
ความคิดเห็น