ผู้ผลิตแบตเตอรี่พลังงานสะอาด วอนรัฐส่งสัญญาณสถาบันการเงินหนุนเอกชนเดินหน้าอุตสาหกรรมแบบครบวงจร ด้านผู้ผลิตรถยนต์ยังรอรายละเอียดพัฒนาเทคโนโลยีฯ หลังบีโอไอมีนโยบายแล้ว
ยศพงษ์ ลออนวล นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) เปิดเผยในการสัมมนา หัวข้อ ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าสำหรับสื่อมวลชน ว่า ขณะนี้ผู้ผลิตรถยนต์ต่างเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า รถยนต์ไฟฟ้าเกิดยาก เพราะราคาแพง เฉพาะราคาแบตเตอรี่คิดเป็น 40% ของราคารถ แต่การพัฒนาดังกล่าวจะต้องเกิดขึ้นเช่นเดียวกันกับโทรศัพท์มือถือที่พัฒนาจนเป็นสมาร์ทโฟนเช่นในปัจจุบัน
"หลายคนมองว่าการพัฒนาเป็นรถยนต์ไฟฟ้า น่าจะพัฒนาตั้งแต่รถปลั๊กอินไฮบริด ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลได้หันมาส่งเสริมเรื่องนี้แล้ว ขณะที่สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยก็จะพัฒนาสถานีประจุไฟฟ้าด้วย"
วิศิษฎ์ คชสิทธิ์ ซีอีโอ บริษัท เบต้าเอนเนอยีโซลูชั่น ผู้ผลิตแบตเตอรี่พลังงานสะอาดรายแรกของไทย กล่าวว่า ขณะนี้ได้รับการสนับสนุนเรื่องภาษีจากคณะกรรมส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) โดยอยู่ระหว่างพัฒนาโรงงานประกอบแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า และแหล่งเก็บพลังงานสะอาด ( Energy Storage) ที่นิคมอุตสาหกรรมบางปูเหนือ จ.สมุทรปราการ วงเงินลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท และจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ โดยจะผลิแหล่งเก็บพลังงานได้ปีละประมาณ 220 เมกกะวัตต์ต่อชั่วโมงต่อปี และจะใช้ในการส่งออกประมาณ 90%
อย่างไรก็ตาม ต่อไปจำเป็นจะต้องสำรวจความต้องการของภายในประเทศว่ามีมากน้อยเพียงใด เนื่องจากวงเงินลงทุนในระยะที่ 2 ซึ่งเป็นโรงงานขนาดใหญ่ครบวงจรจะต้องใช้เงินลงทุนสูงเกือบ 1 หมื่นล้านบาท
"ขณะนี้รัฐมีมาตรการสนับสนุนเอกชนที่พัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาดแล้ว แต่ก็ไปไม่สุด เพราะทางสถาบันการเงินยังไม่เห็นความสำคัญ จึงต้องการให้รัฐส่งสัญญาณให้สถาบันการเงินเหล่านั้นทราบด้วย โดยบริษัทเราจะจ้างมหาวิทยาลัยโตเกียวเพื่อศึกษาวิจัยข้อมูลให้เรา ซึ่งในอนาคตเรายังมีเทคโนโลยีที่ต้องพัฒนาอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะการพัฒนาควิกชาร์จ ซึ่งใช้เวลาชาร์จ 5-7 นาทีเท่านั้น"
เบื้องต้นบริษัทมีงานในมือแล้วอย่างน้อย 3 ปี โดยจะผลิตแบตเตอรี่ให้กับค่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ อย่างไรก็ตาม ในอนาคตบริษัทอาจจะสร้างซัพพลายเชนเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถใช้ได้กับรถยนต์แต่ละยี่ห้อด้วย
ครรชิต ไชยสุโพธิ์ ตัวแทนบริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า หลังจากคณะกรรมการบีโอไอได้ออกนโยบายสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าแล้ว ยังไม่มีรายละเอียดออกมาแต่อย่างใด ผู้ผลิตรถยนต์หลายค่ายรออ่านรายละเอียดเพื่อวางแผนการทำงานให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐ
กฤษฎา อุตตโมทย์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสาร กิจการองค์กร บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย กล่าวว่า บริษัทมีแผนที่จะเดินหน้าพัฒนารถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดตามแผนอยู่แล้ว เพียงแต่อยู่ระหว่างรอนโยบายบริษัทที่ชัดเจนอีกครั้ง ซึ่งคาดว่าจะเริ่มลงทุนในปี 2561-2562 และเริ่มผลิตหลังจากนั้นภายใน 1-2 ปี
"เราต้องดูว่า ในอนาคตจะผลิตรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดในไทยเท่าไร โดยในปีที่ผ่านมามีสัดส่วนการขายรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด 5% และในปีนี้คาดว่าจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 15%"
ติดตามข่าวคราวความเคลื่อนไหวของแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์ได้ ที่นี่
ต้องการซื้อรถยนต์ใหม่และรถมือสอง ตรวจสอบราคา เชิญที่นี่
ความคิดเห็น