พบกันต่อกับตอนที่ 2 ของ บทความ ขี่มอไซ 9 วัน ที่ Leh Ladakh สักครั้งหนึ่งในชีวิต ต้องมาที่นี่ ซึ่งความเดิมตอนที่แล้ว เราเดินทางจากประเทศไทยไปยัง Leh Ladakh และได้เริ่มขับขี่ไปยังถนนที่สูงที่สุดในโลกทั้งอันดับที่ 1 และ 2 รวมถึงทะเลสาบน้ำเค็มที่สุดในโลกมาแล้วเรียบร้อย สำหรับตอนนี้เรามาเริ่มต้นเดินทางจาก Leh Ladakh อีกครั้ง เพื่อมุ่งหน้าไปยัง Tso Moriri ครับ
วันที่ 6 เดินทางไกลสู่ Tso Moriri
วันที่ 6 ณ เลห์ ลาดัค วันนี้จะเป็นวันที่เดินทางไกลที่สุดกว่า 220 กม. มุ่งหน้าไปยังทะเลสาบ โช โมริริ ซึ่งวันนี้จัดเป็นวันที่เดินทางขับขี่ไกลที่สุดในทริปนี้ โดยทางมาร์แชลได้แจ้งว่า วันนี้ระยะทางจะไกลสักหน่อย และมีทางฝุ่นสั้นๆ ประมาณ 40 กม. (อันนี้สั้นแล้วใช่ไหม) โดยทางส่วนใหญ่ทางมาร์แชลได้ว่าเป็น Tarmac หรือถนนลาดยางนั่นเอง
และจากเหตุการณ์ที่รถขนสัมภาระจมน้ำเมื่อวันก่อน ทำให้วันนี้ผู้ขับขี่ทุกคน จำเป็นต้องขนสัมภาระไปด้วยกระเป๋าใบเล็กสำหรับ 2 คืนเท่านั้น เพื่อที่จะไม่ต้องขนกระเป๋าเดินทางใบใหญ่ไป และให้ฝากไว้ที่โรงแรมทั้งหมด
เมื่อขับขี่จริง พบว่าเส้นทางนี้เป็นเส้นทางลาดยางยาวๆ เลียบแม่น้ำสินธุแทบตลอดทาง ซึ่งระดับตลิ่งของแม่น้ำกันถนนนั้น ผมว่าถนนสูงจากแม่น้ำน่าจะประมาณฟุตเดียวเองมั้ง เรียกได้ว่าถ้าหน้าฝน หรือช่วงพายุเข้า ผมว่าน่าจะมีน้ำท่วมทางกันบ้างล้ะ เพราะน้ำในแม่น้ำไหลเชี่ยวกราดมากๆ ส่วนเส้นทางสายนี้จะเป็นถนนลาดยางซะส่วนใหญ่ แต่ก็มีทางออฟโรดให้พอสนุกๆ
ความพิเศษของวันนี้คือ รถทหารเยอะมากๆ ผมว่าน่าจะมีเกินร้อยคันเลยกระมั่ง ยังกับจะไปรบ เจอคอนวอยทหาร แต่ละกลุ่มมีอย่างต่ำ 30 คัน ยาวเป็นกิโลเมตรเลยทีเดียวเชียว แถมแซงยากมาก เพราะถนนแคบ และรถทหารคันใหญ่
และเมื่อเราขับขี่เลียบแม่น้ำสินธุมาจนถึงปากทางแยกเข้าไปยัง Tso Moriri ซึ่งเป็นเขตทหารครับ การเดินทางขับขี่เข้าไปต้องงดติดกล้องถ่ายภาพอย่าง GoPro ไว้บนหมวกกันน็อก หรือภายนอกรถ หรือเอาง่ายๆ ว่า "ซ่อนกล้อง" สักหน่อย พอเป็นพิธี เพราะเส้นนี้ พี่ๆ ทหารเขาเยอะจริงๆ ทำให้ในระหว่างทางจุดนี้ เราไม่ได้มีภาพถ่ายใดๆ
ทว่า ระหว่างทางที่ขับขี่นี่สิครับ ให้ภาพบรรยายดีกว่า
และแล้วก็ถึงปลายทาง กับทะเลสาบ Tso Moriri ซึ่งอากาศค่อนข้างเย็นสบาย หมู่บ้านแถวนี้จะมีชนพื้นเมืองอยู่เป็นส่วนใหญ่ และมีศาสนสถานประจำเมืองตั้งเด่นสง่าใจกลางเมือง เป็นสถานพักผ่อนจิตใจของชาวเมือง
อากาศที่นี่ค่อนข้างเย็นครับ โดยในคืนนี้เรานอนกันในกระโจมอีกแล้ว อุณหภูมิสำหรับวันนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 15 องศาเซลเซียสโดยประมาณ ซึ่งเราเดินทางกันมาถึงเวลาประมาณ 15.00 น. ซึ่งอากาศกำลังเย็นสบายดี และน้ำอุ่นยังไหลอยู่ ผมจึงไม่รอช้าอะไรนัก ไปอาบน้ำก่อนเลย แล้วค่อยออกมาเก็บภาพ ก่อนที่ตอนกลางคืนจะไม่มีน้ำอุ่นให้ใช้...
สำหรับทะเลสาบ Tso Moriri แห่งนี้ ในช่วงฤดูหนาว จะมีหิมะปกคลุมตลอดทั้งฤดู โดยอุณหภูมิต่ำสุดจากการสอบถามจากคุณหมอคือ -30 องศาเซลเซียส (ติดลบ 30 องศาเซลเซียส) โดยมีหิมะปกคลุมหนาถึงหัวเข่า และน้ำในทะเลสาบกลายเป็นน้ำแข็งทั้งหมด ส่วนบรรยากาศโดยรอบจะถูกปกคลุมด้วยหิมะทั้งหมด เพราะขนาดผมมาถึงที่นี่ในช่วงฤดูร้อนของที่นี่แล้วอากาศยังค่อนข้างหนาวเย็น และยอดเขารอบๆ ทะเลสาบแห่งนี้ล้วนปกคลุมด้วยหิมะทั้งสิ้น
ภายในโซนกระโจมนอนนั้นจะมีลำธารเล็กๆ ไหลผ่านอยู่ ซึ่งลำธารนี้ต้นทางมาจากน้ำแข็งที่ละลายจากบนภูเขาลงมาเป็นลำธาร ซึ่งน้ำเย็นเหมือนในถังน้ำแข็งเป๊ะๆ เย็นจนเพื่อนร่วมทริปเอาเบียร์มาแช่กันเลยทีเดียว
วันที่ 7 พักผ่อนกลางทุ่งหญ้าสุดกว้างใหญ่ ที่ Tso Kar แบบไร้ซึ่งสิ่งใด
วันที่ 7 เช้านี้ที่ Tso Moriri อากาศเย็นลงกว่าเมื่อวานเยอะ โดยอุณหภูมิตอนเช้าอยู่ที่ประมาณ 10 องศาเซลเซียสเท่านั้น และด้วยความที่เช้านี้ระยะทางขับขี่รถไม่ได้ไกลมาก เพียง 130 กม. เท่านั้น จึงออกไปถ่ายภาพเล่นกันกลางทะเลทรายกันก่อน ซึ่งบอกเลยว่า กว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตามากๆ
ระหว่างเส้นทางขับขี่วันนี้จัดว่าเป็น ทางดำ 40 ทางฝุ่น 60 ล้ะกัน เพราะว่าระยะทางที่ไม่ใช่ลาดยางเนี้ย เยอะกว่าทางลาดยางแบบเยอะโครตๆๆๆ แต่ทางฝุ่นที่นี่ค่อนข้างดีครับ สามารถทำความเร็ว 60 - 80 กม./ชม. ได้
และทีเด็ดของทางช่วงนี้คือ ทะเลสาบ Tso Kar ครับ ที่ซึ่งมีทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ให้ขับขี่มอเตอร์ไซค์กันได้แบบฟรีสไตล์ สามารถขับไปไหนมาไหนได้เลย ออกแบบถนนได้เองตามใจชอบ ส่วนผมนั่นแน่นอนครับว่า ไปตามทีมงานครับ กลัวหลง
ในส่วนของที่พักคืนนี้ เรานอนกันในเต๊นท์ครับ ความสูงจากระดับน้ำทะเลที่ 4,600 เมตร ซึ่งโรงแรมที่พักแห่งนี้ตั้งอยู่กลางทุ่งหญ้ากว้างๆ เลยทีเดียว มีเพียงรั้วเตี้ยๆ เอาไว้กันสัตว์จากภายนอกไม่ให้เข้ามาภายในเขตที่พัก และแน่นอนครับว่ารอบนี้การอาบน้ำต้องใช้น้ำอุ่นจากเครื่องทำน้ำอุ่นพลังงานแสงอาทิตย์เช่นเดิม และก็ยังคงไม่มี Wifi ใช้เป็นวันที่สอง ฮ่าาา
ความพีคอย่างนึงคือ ที่นี่มีห้องน้ำ 10 ห้อง ห้องอาบน้ำ 2 ห้อง แต่ห้องอาบน้ำปิดประตูได้ห้องเดียว ทว่าน้ำไม่ไหล ส่วนห้องอาบน้ำที่น้ำไหล แต่ไม่มีประตู แก้ปัญหายังไงดีละ?
ห้องน้ำครับ มีน้ำไหล มีประตู มีไฟส่องสว่าง แต่แคบหน่อย ไบเกอร์ชาวตะวันตกส่วนใหญ่ไม่ค่อยกล้าอาบน้ำกันในห้องส้วมครับ ไม่ทราบว่าทำไม แต่ไบเกอร์ชาวไทยอย่างผมนั้น ไม่รอช้าครับ อาบน้ำก่อนตะวันตกดินให้ได้พอ ไม่งั้นหนาวแน่...
และนี่คือภาพสุดท้ายของวันนี้ ภาพที่กลุ่มรถมอเตอร์ไซค์จอดท่ามกลางทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ และอากาศที่กำลังดี ทุกอย่างลงตัวไปได้ด้วยดี ทว่าเช้าวันถัดไป ทุกอย่างมันไม่เหมือนเดิมสักนิด...
วันที่ 8 ขี่มอเตอร์ไซค์ลุยหิมะ -15 องศา ครั้งแรกในชีวิต
เซอร์ไพรซ์แต่เช้าวันก่อนเดินทางกลับ โดยเมื่อคืนของวันที่ 7 ด้วยความที่เรานอนท่ามกลางทุ่งหญ้ากว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา แถมอากาศก็ไม่ร้อนไม่หนาวจนเกินไป ด้วยความที่ภายในเต้นท์ที่นอนมีผ้าห่มนวมให้ถึง 2 ผืน แต่ให้หมอนใบเดียว จึงเลือกเอาผ้าห่มนวมห่มเพียงผืนเดียว แล้วอีกผืนก็เอามาหนุนเป็นหมอนให้สูงขึ้นสักหน่อย จะได้นอนสบาย
04.00 น. ผมเริ่มรับรู้สึกถึงอากาศที่มันหนาวเย็นมากกว่าตอนก่อนเข้านอน จึงตัดสินใจเอาผ้านวมที่หนุนหัวเอามาห่มตัวอีกชั้นหนึ่ง แต่ก็ยังรู้สึกหนาวอยู่ดี
6.00 น. ผมตื่นนอนเรียบร้อย ก็ยังรู้สึกว่า เอ้ะ ทำไมเช้านี้อากาศมันหนาวกว่าทุกๆ วัน แต่ผมก็ไม่ได้คิดอะไร มานั่งพิมพ์บทความของวันก่อนๆ เป็นโน๊ตไว้สำหรับเอากลับมาทำที่เมืองไทยต่อ พร้อมนั่งดูวิดีโอของวันก่อนๆ เพลินๆ เพราะว่าข้างนอกยังไม่มีแสงส่องมา แล้วก็ไม่มีอินเตอร์เน็ตใช้ด้วย มีอะไรให้ทำไปพลางๆ ก็ทำไปก่อน ฮ่าาาา
7.00 น. อากาศก็ยังหนาวเย็นมากอยู่ ผมอยากออกไปล้างหน้าแปรงฟันสักหน่อย จึงตัดสินใจเปิดซิปของเต๊นท์ก็ถึงกับต้องผงะ เพราะว่าหิมะกำลังตกอยู่ และหิมะบนพื้นค่อนข้างหนามาก !
9 DAYS RIDING LIKE NEVER BEFORE
สโลแกนของทริปนี้ ผมขอยกไว้ให้วันนี้วันเดียว เกิดมาในชีวิตนี้กับชาวไทยเขตร้อนอย่างเรา เคยเห็นหิมะครั้งแรกก็ที่ประเทศญี่ปุ่น มาเจออีกทีที่อินเดีย แถมต้องมาขี่มอเตอร์ไซค์บนหิมะอีก โอ้วแม่เจ้าไม่อยากจะคิด ยอมรับตรงๆ ว่าเคยดูคลิปการขับขี่บนหิมะในต่างประเทศมาบ้าง เห็นส่วนใหญ่รถจะถูกดัดแปลงล้อให้เป็นล้อตะปู หรือพันโซ่ไว้เลย เพื่อให้รถยังสามารถเกาะติดพื้น และขับขี่ต่อไปแล้ว แต่ทีนี้ความเซอร์ไพรซ์คือ รถมอเตอร์ไซค์ Royal Enfield Himalayan ของทุกคนคือรถเดิมๆ จากโรงงาน ที่ใส่ยางหนามยี่ห้อ CEAT มา จะไปรอดไหมหนอ ทุกคนได้แต่ครุ่นคิด...
ยังไงก็ต้องไป
เป็นประโยคเด็ดจากผู้จัดการทริปนี้เลยว่า หิมะตกที่นี่ นับเป็นโอกาสที่เกิดขึ้นได้ แต่เขาก็ไม่คาดคิดเช่นกันว่ามันจะตกหนักขนาดนี้ และด้วยความที่หิมะเพิ่งตกได้ไม่กี่ชั่วโมง และยังตกอยู่ ทำให้การขับขี่บนหิมะ เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งมาร์แชลแนะนำให้ผู้ขับขี่ทุกคน ขับขี่ตามรอยของล้อรถยนต์ที่ขับไปก่อน หลีกเลี่ยงการเหยียบหิมะให้มากที่สุด เพราะมันลื่นมาก และอาจเสียหลักล้มได้ง่ายๆ เลยทีเดียว ซึ่งถ้าหากหิมะไม่ได้หนามากนัก รถยนต์สามารถเบิกทางให้มอเตอร์ไซค์วิ่งได้สบายๆ
แต่ถ้าหิมะหนามากๆ เบิกทางไปยังไง ก็ยังเป็นหิมะอยู่ดี นี่แหละประเด็นเลยคือเราไม่สามารถเลี่ยงหิมะได้
เคล็ดไม่ลับ การขี่มอเตอร์ไซค์ในขณะหิมะตก
การขับขี่มอเตอร์ไซค์ท่ามกลางหิมะที่ตกอยู่นั้น ผมบอกได้เลยว่าความรู้สึกมันไม่เหมือนกับการขี่มอเตอร์ไซค์บนทรายแม้แต่น้อย เอาว่าง่ายๆ เลยคือ ถ้ามีให้เลือกระหว่างหิมะกับทราย ผมลงไปในทรายยังรู้สึกดีกว่า
เพราะการขับขี่ท่ามกลางหิมะที่ตกนั้น นอกจากเราต้องคอยดูเส้นทางข้างหน้าว่าสามารถไปได้โดยไม่ลื่นไหม เรายังต้องคอยควบคุมคันเร่งให้สมูทที่สุด เพื่อไม่ให้รถเสียกำลังยึดเกาะถนน แล้วยังต้องจัดการกับปัญหาฝ้าในชิวหมวกกันน็อกอีก เพราะลมหายใจของเรานั้นอุ่น ส่วนหิมะ และอุณหภูมิภายนอกขณะที่ผมขับขี่นั้นเย็นจัดตั้งแต่ 0 ถึงติดลบ -15 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว ซึ่งจำเป็นต้องเปิดชิวหน้านิดๆ เพื่อไล่ฝ้า แต่หิมะก็ยังคงหาช่องทางลอดเข้ามาติดหน้าได้นิดหน่อย พอรับได้
ในส่วนของการแต่งตัวนั้น ผมได้เลือกใช้เสื้อการ์ดของ Alpinestar รุ่น AMOG Air DryStar Jacket ซึ่งมีผ้า 3 ชั้น ได้แก่ชั้นนอก เป็นส่วนของชุดการ์ดป้องกัน ชั้นที่สอง สำหรับกันน้ำ และชั้นที่สามสำหรับกันลม ซึ่งมันได้ผลดีมาก สามารถรักษาอุณหภูมิภายในร่างกายผมให้อุ่นได้เป็นอย่างดี และไม่รู้สึกหนาวเลย โดยผมได้ใส่เสื้อยืด และเสื้อซับในอีกอย่างละชั้น รวมทั้งหมดเป็น 5 ชั้นด้วยกันในส่วนของลำตัว
ในส่วนของหัว ผมใส่เพียงโม่งธรรมดาๆ อันละไม่กี่ร้อยบาท กับหมวกกันน็อกของ X-Lite รุ่น X-551 GT ซึ่งเป็นหมวกกันน็อกแบบทัวร์ริ่ง บอกเลยว่า หัวไม่เย็นครับ
ในส่วนของมือ ผมเอามาแต่เพียงถุงมือหนังธรรมดา หมอได้ให้ถุงมือยางมาใส่ เพื่อรักษาความอุ่นของมือ แต่บอกเลยว่า ไม่ช่วย !!! แนะนำว่า ควรนำถุงมือกันน้ำมา หรือพวกถุงมือทัวร์ริ่งจะดีมาก เพราะอุ่น และกันความเย็นได้ดี ที่สำคัญที่สุด อย่ามือเปียกครับ ปัญหามันจะตามมาอีกเยอะมาก เพราะการที่มือเปียก แถมอากาศเย็นจัดขนาดนี้ มือของเราจะชาและเจ็บมากจนเราแทบจะไม่อยากขี่รถเลยทีเดียว
ในส่วนของขา ผมใช้กางเกงยีนส์ของ Braap แบรนด์ไทยแท้ๆ เพียงตัวเดียวเท่านั้น ไม่มีซับในอื่นๆ บอกเลยว่า อันนี้ก็ไม่หนาวเช่นกัน
ในส่วนของเท้า ผมเลือกใส่ถุงเท้ากันน้ำดังที่กล่าวไปข้างต้น ร่วมกับถุงเท้าข้อยาว ใช้กับรองเท้าทัวร์ริ่งกันน้ำ จุดนี้ถือว่าเย็น แต่พอทนได้
การขับขี่ในวันนี้ เราเดินทางออกกันสายมาก เนื่องจากดูท่าทีของหิมะว่าจะเบาบางไหม แต่ก็ไม่เลย จึงตัดสินใจขี่ลงมาด้านล่างจะดีกว่า เพราะด้านล่างหิมะไม่ตก ระหว่างทางค่อนข้างทุลักทุเลมาก เพื่อมุ่งหน้าไปยัง Leh ท่ามกลางหิมะที่ตกตลอดทาง
และเมื่อขับลุยทุ่งหิมะมาเรื่อยๆ ก็มาเจอกับถนนทางดำสักที ผมไม่รอช้าล้ะครับ ปีนขึ้นสิ ขี่ทางดำ สบายใจกว่าเยอะ ฮ่าาาาา
ตอนแรกที่เจอทางดำคือ ผมดีใจมากๆ เพราะทางดำเป็นแบบ 2 เลนสวนกันคุณภาพเยี่ยมเลย คิดว่าคงเจอหิมะตกไม่นาน เดี๋ยวเราก็พ้นแล้ว แต่กลับกลางเป็นว่านั่นคือความคิดที่ผิดคาดอย่างยิ่ง...
ขับขี่บนทางดำได้สัก 5 กม. ถนนเริ่มไต่ขึ้นที่สูงขึ้นเรื่อยๆ สัญชาติญาณของผมบอกว่า อากาศจะต้องเย็นขึ้นอีกตามความสูงที่ไต่ขึ้นไป วิวทิวทัศน์ข้างทางจากเดิมที่มองเห็นได้นิดหน่อย กลายเป็นว่าทุกอย่างขาวไปหมด และระยะการมองเห็นเหลือเพียงตัวรถกับวิวรอบๆ เพียง 5 - 10 เมตรเท่านั้น...
เท่านั้นยังไม่พอ เรายังมาเจอกับขบวนรถบรรทุกทหารที่กำลังข้ามเขากันอีกประมาณ 30 คันเห็นจะได้ ซึ่งแน่นอนว่าทัศนวิสัยที่ย่ำแย่ บวกกับสภาพทางบางจุดที่ถนนพังพินาศ ทำให้การขับขี่ยิ่งยากเข้าไปใหญ่
และอีกความเซอร์ไพรซ์คือ ด้วยความที่อากาศหนาวเย็นจัดมากๆ และกล้อง GoPro7 Black ที่ผมติดไว้บนหมวกกันน็อค มันต้องปะทะกับความเย็นตลอดเวลา ทำให้มัน "ดับ" และไม่สามารถบันทึกภาพได้ชั่วคราว ต้องทำให้อุ่นก่อนสักครู่จึงจะใช้งานต่อได้
และด้วยความที่เราขับขี่ไต่เพิ่มความสูงขึ้นเรื่อยๆ สูงขึ้นเรื่อยๆ จนมาถึงจุด Taglang La ที่ความสูง 5,300 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล กับอุณหภูมิ -15 องศาเซียลเซียส ณ จุดนี้ !!! แถมถนนทางลงก็แสนลาดชัด ทางพัง ทางวิบาก(กรรม) และลื่น ครบครัน แต่บอกเลยว่า สนุก และหนาวมากๆ ครับ
หลังจากลงมาด้านล่าง พักผิงไฟเพิ่มความอบอุ่นให้ร่างกาย หลังจากเอาไปแช่ความเย็นติดลบกันมานานจัดๆ เรายังคงพบกับวิบากกรรมกันต่อ กับเส้นทางที่ถูกดินโคลนถล่ม เนื่องจากน้ำป่าไหลลงมาจากภูเขา ทำให้ต้องรอให้ทหารมาทำการเคลียรเส้นทาง เพื่อเปิดทางกันต่อ ซึ่ง ณ จุดนี้จะมีเหล่าบรรดารถบรรทุก และรถยนต์ที่ต้องจอดรอการทำทางให้สามารถขับผ่านไปได้ก่อน ซึ่งนี่ไม่ใช่ปัญหาของสองล้อ เพราะด้วย Royal Enfield Himalayan ซึ่งเป็นรถสายลุยอยู่แล้ว และมีขนาดตัวที่ไม่ใหญ่มาก ทำให้เราสามารถเลาะไปตามทางด้านข้างของรถบรรทุก เพื่อมุ่งหน้ากลับสู่ Leh ได้
และในที่สุด กับการขับขี่มากว่า 1,000 กิโลเมตร ตลอด 8 วันเต็มๆ เราก็เดินทางมาถึงที่พักเป็นที่เรียบร้อย เป็นอันปิดทริป Royal Enfield Moto Himalaya 2019 อย่างเป็นทางการ ซึ่งความประทับใจของทริปนี้ นอกจากเส้นทางอันแสนงดงามแล้ว ยังได้มิตรภาพดีๆ จากนักบิดทั่วโลกที่เข้ามาร่วมขับขี่ด้วยกันในทริปนี้ จัดเป็นอีกหนึ่งสิ่งดีๆ ที่มีคุณค่ามากๆ ครับ
อ่าน ขี่มอไซ 9 วัน ที่ Leh Ladakh สักครั้งหนึ่งในชีวิต ต้องมาที่นี่ - Moto Himalaya EP1
ขอขอบคุณ Royal Enfield ประเทศไทย ที่ได้เอื้อเฟื้อให้ทาง Autospinn เข้าร่วมทริป Royal Enfield Moto Himalaya 2019
บทความ และขับขี่โดย กฤตนู วิเศษไชยศรี
ภาพโดย กฤตนู, Royal Enfield India
เช็คราคารถใหม่ และโปรโมชั่น ที่นี่
ต้องการซื้อรถมือสอง ตรวจสอบราคารถยนต์มือสอง เชิญที่นี่
มาร่วมแชร์ความเห็นของคุณบนเวบบอร์ด Autospinn คลิกที่นี่
ความคิดเห็น