เผยโฉม Ferrari SF90 Stradale ยนตรกรรม PHEV พละกำลัง 1,000 แรงม้า พร้อมเปิดตัวในประเทศไทย ด้วยราคาเริ่มต้น 40.9 ล้านบาท
Ferrari SF90 Stradale
เฟอร์รารี่สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่อีกครั้งด้วยการเผยโฉม Ferrari SF90 Stradale ยนตรกรรม PHEV (Plug-in Hybrid Electric Vehicle) ซีรี่ย์แรก ด้วยการพัฒนาประสิทธิภาพที่ไม่เคยมีในยนตรกรรมใดมาก่อน ไม่ว่าจะเป็น พละกำลัง 1,000 แรงม้า พร้อมเปิดตัวในประเทศไทย ด้วยราคาเริ่มต้น 40.9 ล้านบาท
Ferrari SF90 Stradale ยังเป็นสปอร์ตคาร์คันแรกของ Ferrari ที่มาพร้อมกับระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ (4WD) ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยถ่ายทอดพละกำลังมหาศาลของขุมพลังไฮบริดได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จนได้อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. อันน่าทึ่งที่ 2.5 วินาที และ 0-200 กม./ชม. ในเวลาเพียง 6.7 วินาที และการออกแบบที่สามารถสร้างแรงกด อัตราส่วนน้ำหนักต่อกำลังที่ 1.57 กก./แรงม้า และ Downforce 390 กก. ที่ความเร็ว 250 กม./ชม. เป็นต้น
การออกแบบ (DESIGN)
SF90 Stradale คือยนตรกรรมที่ล้ำหน้าที่สุดทั้งในด้านสมรรถนะและเทคโนโลยี คำจำกัดความของการออกแบบตัวรถนั้นได้รับแรงบันดาลใจมาจากหลักการ เพื่อสร้างสรรค์ภาพลักษณ์ที่รุดหน้าและเป็นนวัตกรรมการออกแบบซึ่งส่งต่อความเป็นสปอร์ตคาร์ที่สุดขั้ว
Ferrari Design เติมเต็มความสมบูรณ์แบบให้กับด้านหน้า, กลาง และท้ายรถ ตามวิถีทางแห่งการพัฒนาอันลึกซึ้งตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีในการสร้างรถยนต์ Ferrari เครื่องยนต์วางกลางลำ
จุดมุ่งหมายคือการออกแบบรถสุดล้ำที่สามารถมอบประสิทธิภาพซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ของรถยนต์จากค่ายม้าลำพอง SF90 Stradale อยู่คั่นกลางระหว่างรถคูเป้เครื่องกลางลำในปัจจุบันอย่าง F8 Tributo และซูเปอร์คาร์อย่าง LaFerrari ทั้งยังเป็นผู้กุมมาตรฐานของยนตรกรรมที่มีเทคโนโลยีสุดขั้วที่มาพร้อมกับรูปโฉมแห่งอนาคต
การออกแบบภายนอก (EXTERIOR)
สถาปัตยกรรมของ SF90 Stradale ประกอบด้วยห้องโดยสารซึ่งจัดวางไว้ก่อนถึงเครื่องยนต์ที่ติดตั้งไว้กลางตัวรถ เอื้อให้ Flavio Manzoni และทีมออกแบบของเขาที่ Ferrari Style Centre ได้มีโอกาสแสดงฝีมือรังสรรค์ซูเปอร์คาร์ขนานแท้ตามรูปแบบที่สมบูรณ์ลงตัว
โอเวอร์แฮงก์ที่สั้นลง (ด้านหลังสั้นกว่าด้านหน้า) และห้องโดยสารที่เยื้องมาด้านหน้า เน้นย้ำให้เห็นถึงความเป็นรถยนต์เครื่องวางกลางลำ จุดศูนย์ถ่วงที่ต่ำเป็นพิเศษเอื้ออำนวยให้ผู้ออกแบบสามารถจัดวางพื้นที่ห้องโดยสารได้ต่ำลงอีก 20 มม. เมื่อผนวกเข้ากับกระจกหน้าที่มีความโค้งมากขึ้น, เสา A ที่บางเฉียบ และฐานล้อกว้าง จึงกำเนิดเป็นยนตรกรรมที่มีรูปโฉมสละสลวยงดงาม
ห้องโดยสารทรงกลมขนาดกะทัดรัด มีดีไซน์ที่ชวนให้นึกถึงค็อกพิทของเครื่องบิน และข้อเท็จจริงก็คือ มันได้รับการจัดวางเยื้องมาทางด้านหน้า ทั้งยังเน้นให้เห็นถึงความโดดเด่นด้วยการตัดสีเพื่อแยกออกจากส่วนท้ายของรถ
อีกหนึ่งเอกลักษณ์ที่โดดเด่นคือไฟหน้าที่หันหลังให้กับรูปทรงตัว L เปลี่ยนมาเป็นดีไซน์แบบช่องเรียวยาวบางเฉียบ พร้อมช่องดักอากาศทรงตัว C สำหรับไประบายความร้อนให้ระบบเบรค ช่วยให้ด้านหน้ารถสวยงามดึงดูดทุกสายตา และ SF90 Stradale ยังติดตั้งไฟหน้าเทคโนโลยี Matrix LED พร้อมการทำงานแบบแอคทีฟ เพื่อเพิ่มทัศนวิสัยที่ชัดเจนในทุกสภาพการขับขี่
ส่วนท้ายของรถโดดเด่นด้วยปลายท่อไอเสียที่ติดตั้งไว้ในตำแหน่งสูง ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับเลย์เอาท์ของระบบไอเสีย และเพราะระบบขับเคลื่อนจัดวางในตำแหน่งที่ต่ำกว่าที่ผ่านมา จึงสามารถออกแบบส่วนท้ายของรถให้ต่ำลงได้ตามไปด้วย อีกสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปจากรูปแบบดั้งเดิมที่ผ??
ตัวถังแชสซี (CHASSIS)
แม้มีน้ำหนักเพิ่มเข้ามาอีก 270 กก. จากการใช้ระบบไฮบริด แต่ก็ได้รับการชดเชยด้วยพละกำลังที่มอเตอร์ไฟฟ้าผลิตได้ (220 แรงม้า, อัตราส่วน น้ำหนัก/แรงม้า ของระบบไฮบริดอยู่ที่ 1.23 กก./แรงม้า) อย่างไรก็ตาม การวิจัยเชิงลึกยังคงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้แน่ใจว่าน้ำหนักโดยรวมของรถจะยังคงอยู่ที่ 1,570 กก. สำหรับการรับประกันว่าจะทำให้รถทำลายสถิติอัตราส่วน น้ำหนัก/แรงม้า ที่ 1.57 กก./แรงม้า ได้
แชสซีส์ได้รับการออกแบบใหม่หมด พร้อมด้วยการใช้วัสดุและเทคโนโลยีที่หลากหลาย เพื่อรองรับขุมพลังไฮบริดและระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ มีการเปิดตัวเทคโนโลยีใหม่ๆ จำนวนมาก ไม่เพียงแค่การขึ้นรูปแบบกลวงแทนที่การขึ้นรูปแบบดั้งเดิมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผนังกั้นระหว่างห้องโดยสารกับห้องเครื่องยนต์ที่ทำจากคาร์บอนไฟเบอร์ทั้งชิ้น และอลูมิเนียมอัลลอยความแข็งแกร่งสูงในบางชิ้นส่วนที่เป็นแผ่นโลหะ ผลลัพธ์ที่ได้คือ แชสซีส์ของ SF90 Stradale ทนต่อการบิดงอได้เพิ่มขึ้น 20% และแข็งแกร่งขึ้น 40% เมื่อเทียบกับแพลตฟอร์มรุ่นเก่า โดยมีน้ำหนักคงเดิม นอกจากนั้น เสียงรบกวนและแรงสั่นสะเทือน ยังได้รับการปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นด้วยการใช้อัลลอยแบบใหม่ที่เรียกว่า “อลูมิเนียมไร้เสียง” (Quiet Aluminium) ที่พื้นรถอีกด้วย
อากาศพลศาสตร์ (AERODYNAMICS)
ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในการรังสรรค์แอโรไดนามิกส์ให้กับ SF90 Stradale เกิดจากความต้องการที่จะทำให้รถมีดาวน์ฟอร์ซและประสิทธิภาพทางอากาศพลศาสตร์ในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน ในขณะเดียวกันก็ต้องรับประกันได้ว่าระบบย่อยทั้งหมดของแหล่งพลังงานใหม่ (เครื่องยนต์สันดาปภายใน, มอเตอร์ไฟฟ้า, แบตเตอรี่และอินเวอร์เตอร์) จะทำงานได้อย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้
และเหมือนเช่นเคย... แผนกอากาศพลศาสตร์ทำงานอย่างใกล้ชิดกับทีมออกแบบของ Ferrari และความร่วมมือนี้ทำให้เกิดดาวน์ฟอร์ซและประสิทธิภาพที่ไม่มีรถคันใดในเซกเม้นต์เดียวกันจะเทียบชั้นได้ นับเป็นอีกครั้งหนึ่งที่พวกเขาประสบความสำเร็จภายใต้แบบฉบับเฉพาะตัวของ Ferrari นั่นคือ “ตัวรถได้รับการปั้นแต่งขึ้นอย่างพิถีพิถัน แทนที่จะใช้การเพิ่มอุปกรณ์ง่ายๆ เข้าไป”
ผลลัพธ์ในแง่ของประสิทธิภาพนั้นน่าประทับใจแน่นอน... เนื่องจากความสามารถในการสร้างดาวน์ฟอร์ซได้ถึง 390 กก. ที่ความเร็ว 250 กม. / ชม. SF90 Stradale จึงสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับประสิทธิภาพของรถยนต์สมรรถนะสูง
หลักอากาศพลศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงตามความร้อน (THERMAL AERODYNAMICS)
การจัดการกับการระบายความร้อนอย่างชาญฉลาดคือก้าวแรกของความสำเร็จในการจัดวางเลย์เอาท์ของรถ และในกรณีนี้ มั่นใจได้เลยว่าได้ว่าทั้ง 1,000 แรงม้า จะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลดปล่อยพลังงานออกมาเต็มเม็ดเต็มหน่วยในทุกสภาพการขับขี่ โดยไม่ลดทอนประสิทธิภาพของอากาศพลศาสตร์
เครื่องยนต์ ชุดเกียร์ เทอร์โบ แบตเตอรี่ และมอเตอร์ไฟฟ้า ตลอดจนอินเวอร์เตอร์และระบบชาร์จไฟ ทั้งหมดนี้ล้วนต้องการการระบายความร้อน ส่วนที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษคือห้องเครื่อง ซึ่งมีทั้งเครื่องยนต์สันดาปภายในที่สร้างความร้อนได้ถึง 900 องศา และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ไวต่ออุณหภูมิสูงๆ
ระบบหล่อเย็นของเครื่องยนต์สันดาปภายในและชุดเกียร์ (ซึ่งเป็นระบบปิดที่มีอุณหภูมิสูง) ได้รับการลดความร้อนลงโดยใช้แผงระบายความร้อนที่ติดตั้งไว้ด้านหน้าของล้อคู่หน้า อากาศร้อนที่ออกจากแผงระบายจะถูกลำเลียงเข้าไปยังด้านข้างของใต้ท้องรถ แทนที่จะระบายออกไปตามด้านข้างของตัวถัง นั่นหมายถึงอากาศที่ไหลอยู่ตลอดแนวของด้านข้างตัวรถจะมีอุณหภูมิต่ำกว่าเมื่อเข้าสู่ท่อรับอากาศที่อยู่ก่อนถึงล้อหลัง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายความร้อนให้กับอินเตอร์คูลเลอร์ได้ดียิ่งขึ้น
มอเตอร์ไฟฟ้าและอินเวอร์เตอร์ ใช้ระบบระบายความร้อนแยกจากกัน โดยแผงระบายความร้อนของแต่ละระบบถูกติดตั้งไว้ด้านหน้ารถ พร้อมด้วยท่อรับอากาศที่กลางกันชนหน้า สุดท้ายคือ ระบบระบายความร้อนสำหรับเบรค ที่ออกแบบให้ตรงตามสมรรถนะที่เพิ่มขึ้นของรถเฟอร์รารี่ ได้พัฒนาคาลิเปอร์เบรคหน้าขึ้นใหม่ ด้วยการร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับ Brembo และมีการนำมาใช้กับรถถนนเป็นครั้งแรก ตัวคาลิเปอร์มีรูปทรงแอโรไดนามิกส์เพื่อช่วยดึงอากาศที่ไหลมาจากปล่องดูดอากาศใต้ไฟหน้าเข้ามาระบายความร้อนให้กับผ้าเบรคและดิสก์ได้โดยตรง ส่วนเบรคหลังรับอากาศจากช่องรับลมที่อยู่ใกล้กับล้อคู่หลังใต้ท้องรถ มาระบายความร้อน
หลักอากาศพลศาตร์ส่วนหลังรถ (REAR AERODYNAMICS)
ฝาท้ายที่ครอบห้องเครื่องยนต์ของ SF90 Stradale ได้รับการออกแบบให้ต่ำเป็นพิเศษเพื่อเพิ่มความสอดประสานระหว่างการไหลของอากาศที่ด้านบนและใต้ท้องรถ ทั้งยังช่วยลดแรงต้านอีกด้วย ส่วนปลายสุดของฝากระโปรงท้าย ติดตั้งสปอยเลอร์ที่แยกออกเป็นสองส่วน ชิ้นหนึ่งติดตั้งแบบตายตัวพร้อมไฟเบรคดวงที่สาม อีกชิ้นเป็นแบบขยับได้พร้อมกับพื้นที่ส่วนหน้าทรงลิ่ม นี่คืออุปกรณ์สำหรับบริหารจัดการดาวน์ฟอร์ซที่เป็นนวัตกรรมอันรุดหน้าที่สุด
ขณะใช้งานในเมืองหรือที่ความเร็วสูงสุด ทั้งสองส่วนจะอยู่ในระนาบเดียวกันและติดตั้งลอยตัวอยู่เหนือฝาท้าย โดยชิ้นที่ขยับได้จะทำหน้าที่บังชิ้นที่ติดตั้งตายตัว ช่วยให้อากาศไหลผ่านได้ทั้งด้านบนและด้านล่างของสปอยเลอร์
ในสภาวะที่ต้องการดาวน์ฟอร์ซสูง (เช่น ขณะเข้าโค้ง, เบรค หรือเปลี่ยนทิศทางอย่างทันทีทันใด) ชิ้นที่ขยับได้จะลดระดับต่ำลงเพื่อกันพื้นที่ส่วนล่างและเปิดให้อากาศวิ่งเข้าหาสปอยเลอร์ชิ้นที่ติดตั้งตายตัว เพิ่มพื้นที่รับอากาศได้มากขึ้น
ระบบจะทำงานโดยตรรกะการควบคุมขั้นสูงซึ่งจะตรวจสอบความเร็ว, อัตราเร่ง และคำสั่งจากผู้ขับ หลายร้อยครั้งในหนึ่งวินาที เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด
หลักอากาศพลศาตร์ส่วนหน้ารถ (FRONT AERODYNAMICS)
ดาวน์ฟอร์ซด้านท้ายรถ ถูกถ่วงสมดุลด้วยตัวสร้างลมหมุนอันสลับซับซ้อนที่ออกแบบมาอย่างเหมาะสม แม้ว่าสิ่งนี้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ของสปอร์ตคาร์จากเฟอร์รารี่ ทว่าระบบก็ได้รับการปรับปรุงเพื่อให้ SF90 Stradale มีประสิทธิภาพสูงสุด ส่วนหน้าของแชสซีส์ถูกยกสูงขึ้น 15 มม. เมื่อเทียบกับส่วนกลางของแชสซีส์ในจุดที่ติดตั้งตัวสร้างลมหมุน ช่วยเพิ่มปริมาณอากาศให้วิ่งเข้าหาได้มากขึ้น เพื่อให้เกิดเอฟเฟคท์มากกว่าเดิม
กันชนหน้าถูกแยกออกเป็นสองส่วน และติดตั้งปีกที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ ระหว่างส่วนบนและฝากระโปรงออกแบบให้มีส่วนที่เยื้องออกมาเพื่อบีบอัดอากาศที่ไหลผ่าน ทั้งหมดนี้ทำงานร่วมกับกับดิฟฟิวเซอร์ที่อยู่ก่อนถึงล้อหน้าเพื่อสร้างดาวน์ฟอร์ซให้กับเพลาหน้า
พลศาสตร์แนวตรง (Longitudinal dynamics)
ระบบ RAC-e และ eTC ที่ล้อทั้งสี่ ช่วยเพิ่มการยึดเกาะให้กับล้อคู่หน้าขณะเร่งเครื่อง เมื่อรวมกับพละกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้าแม้ขณะขับขี่ด้วยความเร็วต่ำ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของอัตราเร่งใน SF90 Stradale ส่งให้มันเป็นรถที่มีสมรรถนะสูงตั้งแต่เริ่มออกตัว แม้ขณะขับขี่ด้วยความเร็วสูงและในเกียร์สูง การเข้ามาร่วมทำงานของมอเตอร์ไฟฟ้าพร้อมการยึดเกาะสูงยังช่วยลดเวลาในการตอบสนองของเครื่องยนต์สันดาปภายในให้น้อยลง ส่งให้อัตราเร่งดีขึ้นตามไปด้วย
ระบบ Brake-by-wire แบบใหม่ จะกู้คืนพลังงานจลน์ผ่านมอเตอร์ไฟฟ้า โดยผสานการเบรกด้วยไฮดรอลิกและการเบรกด้วยไฟฟ้า ผ่านการควบคุมจากระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยในสภาวะการเบรคปกติ ระบบจะเบรคด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า และจะใช้ไฮดรอลิกส์เข้ามาช่วยในกรณีที่ต้องใช้แรงเบรกมากเป็นพิเศษ
พลศาสตร์แนวขวาง (Lateral dynamics)
การทำงานของระบบ eSSC ยังรวมถึงการควบคุมแรงบิดระหว่างล้อคู่หน้า โดยใช้มอเตอร์ของระบบ RAC-e และระบบควบคุมด้วยอิเล็กทรอนิกส์จาก Torque Vectoring ในการแปรผันแรงระหว่างล้อหน้าฝั่งในและนอกโค้ง ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขแวดล้อม เพื่อให้ได้มาซึ่งสมรรถนะสูงสุดและยังง่ายต่อการควบคุมรถอีกด้วย
ล้อฟอร์จแบบเป่าลมระบายความร้อน (FORGED WHEELS WITH BLOWN GEOMETRY)
รูปทรงของล้อที่ผลิตด้วยกรรมวิธีฟอร์จ ได้รับการวิจัยทางด้านอากาศพลศาสตร์เป็นพิเศษ ผลิตขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีทางด้านโครงสร้างที่ช่วยแก้ไขปัญหาด้านแอโรไดนามิกส์ได้อย่างไร้ขีดจำกัด รูปทรงเฉพาะตัวของล้อทั้งสี่ประกอบด้วยส่วนที่เป็นแฉกบริเวณด้านนอกที่มีระยะห่างเท่าๆ กันในทุกๆ ก้านล้อ และออกแบบให้ทำหน้าที่เหมือนใบพัด ซึ่งให้ประสิทธิภาพอย่างมากในการจัดเรียงการไหลของอากาศด้านในซุ้มล้อ ทั้งยังส่งผลดีสองส่วนหลักๆ คือ
- เพิ่มการระบายอากาศออกจากซุ้มล้อ และสร้างแรงดูดซึ่งส่งผลดีต่อการไหลของอากาศที่ผ่านมาจากดิฟฟิวเซอร์ด้านหน้า จึงสร้างดาวน์ฟอร์ซได้มากยิ่งขึ้น
- อากาศที่ออกมาจากล้อ จะไหลเรียงตามแนวยาวไปตลอดด้านข้างของตัวรถ ช่วยลดลมเบี่ยงเบนที่เกิดจากมวลอากาศซึ่งออกมาจากมุมหนึ่งไปกระทำกับทิศทางการเคลื่อนที่ของรถ จึงช่วยลดแรงเสียดทานลงได้อีกทางหนึ่ง
ระบบส่งกำลัง (POWERTRAIN)
SF90 Stradale คือรถรุ่นแรกของเฟอร์รารี่ ที่เป็นรถ (Plug-in Hybrid Electric Vehicle) ซึ่งใช้เครื่องยนต์แบบสันดาปภายในทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า 3 ตัว โดย 2 ตัว ติดตั้งไว้ที่เพลาขับหน้าฝั่งละ 1 ตัว (ซ้าย-ขวา) และทำงานแยกอิสระจากกัน ส่วนมอเตอร์ไฟฟ้าตัวที่สามคั่นอยู่ระหว่างเครื่องยนต์และชุดเกียร์ที่เพลาหลัง
เครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้าทำงานร่วมกันเพื่อสร้างพละกำลังอันน่าทึ่งที่ 1,000 แรงม้า นั่นหมายถึง SF90 Stradale ไม่เพียงสร้างมาตรฐานใหม่แห่งสมรรถนะและนวัตกรรมให้กับ Ferrari เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงคู่แข่งรายอื่นๆ ด้วย
เครื่องยนต์สันดาปภายใน (INTERNAL COMBUSTION ENGINE)
ขุมพลัง V8 เทอร์โบ 780 แรงม้า ที่อยู่ใน SF90 Stradale ยกระดับของขีดจำกัดแห่งสมรรถนะขึ้นไปอีกขั้น จุดเริ่มต้นนั้นมาจากเครื่องยนต์ตระกูล F154 ซึ่งได้รับรางวัล International Engine of the Year ถึง 4 ปีซ้อน ซึ่งเป็นความสำเร็จที่ไม่เคยมีมาก่อน
สิ่งที่มาพร้อมกับพลัง 195 แรงม้า/ลิตร ซึ่งเป็นอัตราส่วนสูงที่สุดในเซกเม้นต์นี้ คือแรงบิดมหาศาลถึง 800 นิวตันเมตร ที่ 6,000 รอบ/นาที และเพื่อการปลดปล่อยผลลัพธ์ที่ไม่ธรรมดานี้ วิศวกรของเฟอร์รารี่จึงมุ่งความสนใจเป็นพิเศษไปยังส่วนต่างๆ ของเครื่องยนต์ เริ่มจากการเพิ่มความจุจาก 3,902 ซีซี. เป็น 3,990 ซีซี. จากการขยายขนาดกระบอกสูบเป็น 88 มม. ระบบไอดีและไอเสียได้รับการออกแบบใหม่ทั้งหมด ทั้งยังเป็นครั้งแรกของขุมพลัง V8 ที่ใช้ฝาสูบแบบใหม่ซึ่งมีขนาดเล็กลงพร้อมหัวฉีดที่ติดตั้งไว้ตรงกลางที่สร้างแรงดันได้ถึง 350 บาร์
เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการไหลเวียนอากาศในเครื่องยนต์ จึงไม่ใช่เพียงแค่การใช้วาล์วไอดีขนาดใหญ่ขึ้นเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการใช้ท่อนำอากาศแนวนอนติดตั้งไว้ส่วนบนสุดของเครื่องยนต์ เทอร์โบอยู่ในตำแหน่งที่ต่ำลงในขณะที่ท่อทางเดินไอเสียออกแบบให้อยู่สูงขึ้นเพื่อให้เหมาะสมกับปลายท่อไอเสียที่อยู่บริเวณส่วนบนของกันชนหลัง ตัวเทอร์โบทำงานร่วมกับ Wastegate (วาล์วระบบแรงดันไอเสียส่วนเกินของเทอร์โบ เมื่อได้แรงบูสต์ตามที่กำหนดไว้แล้ว) แบบควบคุมด้วยอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อช่วยเพิ่มความร้อนให้กับตัวกรองไอเสีย และใช้คอมเพรสเซอร์ทรงก้นหอยแบบใหม่ ที่ให้ประสิทธิภาพการดูดอากาศได้ดีกว่าเดิม
ไม่เพียงแค่การปรับปรุงการไหลเวียนอากาศเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการลดจุดศูนย์ถ่วงด้วยการใช้ฟลายวีลที่มีขนาดเล็กกว่าเดิม เพื่อจัดวางเครื่องยนต์ได้ต่ำลง ทั้งยังลดน้ำหนักรวมของเครื่องยนต์ลงด้วยใช้การท่อร่วมไอเสียที่ผลิตจากวัสดุ Inconel แทนโลหะ นอกจากนั้น ชุดท่อไอเสียยังได้รับการออกแบบใหม่เพื่อให้ได้เสียงที่หนักแน่น, ไพเราะ ในทุกความเร็วรอบเครื่องอีกด้วย
เกียร์บล็อกซ์ (GEARBOX)
SF90 Stradale ใช้เกียร์แบบ 8 สปีด คลัทช์คู่ ที่ได้รับการออกแบบขึ้นมาใหม่หมด อัตราทดเกียร์ใหม่ช่วยให้ประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงมากขึ้นเมื่อขับใช้งานในเมืองและบนมอเตอร์เวย์ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสมรรถนะของรถ การใช้ระบบ Dry Sump และมีชุดคลัทช์ขนาดกะทัดรัดกว่าเดิม ช่วยให้ชุดเกียร์มีขนาดเล็กลงกว่าเดิมถึง 20% และยังมีความสูงลดลง 15 มม. เมื่อติดตั้งเข้าไปในรถ ส่งผลให้มีจุดศูนย์ถ่วงที่ต่ำกว่าเดิมตามไปด้วย
แม้จะมีการเพิ่มเกียร์เป็น 8 สปีด และมีแรงบิดสูงสุดถึง 900 นิวตันเมตร แต่ชุดเกียร์ก็มีน้ำหนักเบากว่าเดิม 7 กก. บวกด้วยน้ำหนักของเกียร์ถอยหลังซึ่งติดตั้งไว้กับชุดมอเตอร์ไฟฟ้าด้านหน้าอีก 3 กก. ชุดคลัทช์แบบใหม่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นจากเดิม 35% สามารถรับแรงบิดได้ถึง 1,200 นิวตันเมตร และระบบไฮดรอลิกรุ่นใหม่ยังช่วยให้คลัทช์สามารถ ตัด-ต่อ การทำงานได้ในเวลาเพียง 200 มิลลิวินาที เทียบกับ 300 มิลลิวินาทีในเกียร์ของ 488 Pista
เครื่องยนต์ไฟฟ้า (ELECTRIC MOTORS)
SF90 Stradale ใช้มอเตอร์ไฟฟ้า 3 ตัว เพื่อสร้างพละกำลัง 220 แรงม้า (162 กิโลวัตต์) ใช้แบตเตอรี่ ลิเธียม-ไอออน ประสิทธิภาพสูงในการจ่ายพลังงานให้กับมอเตอร์ไฟฟ้าทั้งสาม และสามารถขับใช้งานเฉพาะไฟฟ้าอย่างเดียวโดยใช้มอเตอร์ไฟฟ้าคู่หน้า ในโหมด eDrive ได้ประมาณ 25 กม. และทำความเร็วสูงสุดได้ 135 กม./ชม. ด้วยแรง G ที่ราว 0.4G เกียร์ถอยหลังสามารถใช้ได้เฉพาะในโหมด eDrive นั่นหมายถึง รถสามารถเคลื่อนที่ในความเร็วต่ำได้โดยไม่จำเป็นต้องติดเครื่องยนต์สันดาปภายใน นอกจากนั้น มอเตอร์คู่หน้ายังถูกใช้ร่วมกับระบบ Launch Control เพื่อเพิ่มสมรรถนะให้กับอัตราเร่งอีกด้วย
โหมดการใช้งาน (FUNCTION MODES)
เครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้าทั้งหมดทำงานร่วมกันเพื่อสร้างพลังระดับ 1,000 แรงม้า ทำให้ SF90 Stradale มีสมรรถนะสูงสุดในรถประเภทเดียวกัน ระบบควบคุมการทำงานจะช่วยบริหารจัดการการใช้พลังงานให้เหมาะสมกับที่ผู้ขับเลือกใช้ ไม่ว่าจะเป็นอัตราสิ้นเปลืองหรือสมรรถนะ ต้องขอบคุณสวิตช์ eManettino (คล้ายกับสวิตช์ Manettino ซึ่งใช้เลือกโหมดการขับขี่ ซึ่งติดตั้งในรถรุ่นอื่นๆ ของ Ferrari) ที่ช่วยให้ผู้ขับสามารถเลือกแหล่งพลังงานได้แตกต่างกัน 4 โหมด คือ
- eDrive: เครื่องยนต์จะไม่ถูกใช้งาน และจะขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าของล้อหน้าเท่านั้น เมื่อเริ่มขับด้วยแบตเตอรี่ที่ชาร์จไฟเต็ม รถจะสามารถใช้งานได้เป็นระยะทางประมาณ 25 กม. ในโหมดนี้เหมาะสำหรับขับในเมืองหรือในขณะที่ผู้ขับไม่ต้องการให้เกิดเสียงการทำงานจากเครื่องยนต์ V8
- Hybrid: นี่คือโหมดเริ่มต้นเมื่อใช้รถ ซึ่งพลังงานจะถูกบริหารให้ได้ความประหยัดสูงสุด ระบบควบคุมอัตโนมัติจะคอยตัดสินใจว่าจะติดหรือดับเครื่องยนต์ ในกรณีที่ติดเครื่อง ขุมพลัง V8 จะสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพเพื่อมอบสมรรถนะอันทรงพลังได้ทันทีที่ผู้ขับต้องการ
- Performance: ในโหมดนี้เครื่องยนต์จะทำงานอย่างต่อเนื่อง จุดประสงค์เพื่อชาร์จไฟเข้าแบตเตอรี่มากกว่าเน้นเรื่องความประหยัด สิ่งนี้ช่วยรับประกันว่าจะมีพลังทั้งหมดให้ใช้ได้ทันทีที่ต้องการ โหมดนี้เหมาะอย่างยิ่งเมื่อต้องการความสนุกในการขับขี่
- Qualify: โหมดนี้จะสั่งงานให้มอเตอร์ไฟฟ้าทั้ง 3 ตัว ปล่อยพลังงานสูงสุดทั้ง 220 แรงม้าออกมา (ทำงานร่วมกับเครื่องยนต์) ระบบควบคุมจะเน้นไปที่สมรรถนะมากกว่าการชาร์จแบตเตอรี่
พลศาสตร์ยานยนต์ (VEHICLE DYNAMICS)
ความยอดเยี่ยมของพละกำลังที่ทำได้คงไร้ประโยชน์หากไม่มีการวิจัยและพัฒนาอย่างลงลึกในเรื่องของไดนามิกส์ เพื่อให้ SF90 Stradale ทำเวลาต่อรอบในสนามได้ดีขึ้น ในขณะเดียวกันก็ยังรับประกันได้ว่าผู้ขับทุกคนจะสามารถนำประสิทธิภาพสูงสุดของรถมาใช้ได้ทั้งหมด และด้วยความสนุกเร้าใจ
สถาปัตยกรรมไฮบริดรุ่นใหม่ จำเป็นต้องทำงานร่วมกับการควบคุมหลากหลายรูปแบบ โดยมี 3 ส่วนหลักๆ ที่เกี่ยวข้อง คือ ระบบควบคุมไฟฟ้าแรงดันสูง (แบตเตอรี่, RAC-e, MGUK, Inverter), ระบบควบคุมเครื่องยนต์กับชุดเกียร์ และระบบควบคุมไดนามิกส์ของรถยนต์ (การยึดเกาะ, เบรค และ Torque Vectoring)
การรวมระบบควบคุมทั้ง 3 ส่วนนี้ เข้ากับการทำงานของระบบควบคุมเดิมที่มีอยู่แล้ว นำไปสู่การพัฒนาระบบ eSSC (electronics Side Slip Control) ขึ้นใหม่ จนได้นวัตกรรมระบบควบคุมการขับขี่ 3 รูปแบบ ซึ่งช่วยให้สามารถกระจายแรงบิดของเครื่องยนต์ไปยังล้อทั้งสี่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ
Electric Traction Control (eTC): จัดการแรงบิดอย่างเหมาะสม ทั้งจากเครื่องยนต์และไฟฟ้า โดยกระจายไปยังแต่ละล้อให้เหมาะสมกับสภาพการขับขี่และการยึดเกาะถนน
Brake-by-wire control with ABS/EBD: แยกแรงที่เกิดจากการเบรคของระบบไฮดรอลิกส์ออกจากแรงเบรคที่เกิดจากมอเตอร์ไฟฟ้า ช่วยให้ประสิทธิภาพของระบบเบรคดีขึ้นและให้สัมผัสที่ดีกว่าเดิม
Torque Vectoring: ทำงานที่เพลาหน้าเพื่อแบ่งถ่ายแรงบิดที่ได้จากมอเตอร์ไฟฟ้าในขณะที่รถกำลังเข้าโค้ง เพื่อให้รถมีประสิทธิภาพการยึดเกาะสูงสุดและช่วยให้ควบคุมรถได้ง่ายดาย, มั่นใจ เมื่อขับขี่ด้วยความเร็ว
และเป็นครั้งแรกของ Ferrari ที่ผู้เป็นเจ้าของสามารถเลือกระหว่างรุ่นสแตนดาร์ดและรุ่นที่มีสเปคแบบสปอร์ตยิ่งขึ้น โดยสเปค “Assetto Fiorano” มาพร้อมกับช่วงล่างแบบพิเศษ Multimatic ที่พัฒนามาจากรถแข่ง และชิ้นส่วนน้ำหนักเบาซึ่งผลิตจากวัสดุระดับพรีเมี่ยม อาทิ คาร์บอนไฟเบอร์ (แผงประตู และแผ่นปิดใต้ท้องรถ) และไทเทเนียม (สปริง และท่อไอเสียทั้งหมด) ช่วยลดน้ำหนักลงได้อีกถึง 30 กก.
อีกหนึ่งความแตกต่างคือสปอยเลอร์ท้ายที่ให้ Downforce สูงขึ้น สามารถสร้างแรงกดได้ 390 กก. ที่ความเร็ว 250 กม./ชม. และสเปค Assetto Fiorano ยังมาพร้อมกับยาง Michelin Pilot Sport Cup2 ที่ออกแบบขึ้นมาเป็นพิเศษเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการยึดเกาะบนถนนแห้ง ทั้งยังมีเนื้อยางที่นิ่มและมีพื้นที่สัมผัสกับถนนมากกว่ายางสแตนดาร์ดอีกด้วย
ติดตามข่าวรถยนต์ ราคารถยนต์ รีวิวรถยนต์ และจักรยานยนต์ทุกยี่ห้อ กับเรา Autospinn
แชร์ความคิดเห็นบนเว็บบอร์ด Autospinn คลิกเลย webboard.autospinn.com
เช็คโปรโมชั่นรถใหม่ เช็คราคารถใหม่ ได้ที่นี่
ราคารถมือสอง ซื้อรถมือสอง ขายรถมือสอง เชิญได้เลยที่ one2car
ความคิดเห็น