Yamaha YZF-R1 ซุปเปอร์ไบค์รุ่นเรือธง ที่ขึ้นชื่อเรื่องความแรงมาตั้งแต่ยุคที่ก่อกำเนิดของมัน จนถึงปัจจุบัน ชื่อเสียงของรถซุปเปอร์ไบค์คันนี้ก็ยังคงเป็นสุดยอดแห่งความแรงทะลุ 299 กม./ชม. ด้วยขุมพลังแบบ MotoGP
Yamaha YZF-R1 ซุปเปอร์ไบค์ตัวแรง สัญชาติญี่ปุ่น
Yamaha YZF-R1 หรือ Yamaha R1 เชื่อว่าเป็นรถมอเตอร์ไซค์ซุปเปอร์ไบค์ที่เหล่าไบเกอร์ล้วนแล้วแต่รู้จักเป็นอย่างดี มันเป็นรถมอเตอร์ไซค์ตระกูลซุปเปอร์ไบค์สายสปอร์ต ที่ขึ้นชื่อทั้งในเรื่องของความทรงพลังมาตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะโมเดลปัจจุบัน เวอร์ชั่นปี 2020 ที่อัดแน่นเรื่องเทคโนโลยีเข้าไปแบบจัดเต็มทุกเม็ด เพื่อทำให้พละกำลังความแรงของตัวรถนั้น ควบคุมได้ง่ายยิ่งขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ต่างๆ ที่ติดตั้งอยู่บนตัวรถ
เอาล้ะครับ เราจะพาทุกท่าน ย้อนไปดูความเป็นมาของรถซุปเปอร์ไบค์สุดแรงคันนี้กันตั้งแต่โมเดลแรกกันเลย ว่ารถคันนี้ มีที่มาที่ไปอย่างไร
เครื่องยนต์ Yamaha Genesis
ในยุคปัจจุบัน เราจะคุ้นชื่อกับเครื่องยนต์ Crossplane Crankshaft ของ Yamaha ทว่าในยุค 1990 ยามาฮ่า ในยุคนั้น ได้พัฒนาเครื่องยนต์ในรหัส Genesis โดยเครื่องยนต์ตัวนี้ เป็นเครื่องยนต์มอเตอร์ไซค์แบบประสิทธิภาพสูงแบบ 5 วาล์ว ซึ่งรองรับการใช้งานในรถมอเตอร์ไซค์แบบสปอร์ต และในโมเดลอื่นๆ
จุดเด่นของเครื่องยนต์ Genesis คือ เป็นเครื่องยนต์ขนาดเล็กที่มีประสิทธิภาพสูง DOHC 5 วาล์วต่อสูบ โดย 3 วาล์วแรก เป็นฝั่งไอดี ส่วนอีก 2 วาล์วเป็นวาล์วไอเสีย ซึ่งเครื่องยนต์นี้มีจุดเด่นที่สามารถทำรอบเครื่องยนต์ได้สูงมาก ส่วนระบบจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นคาบูเรเตอร์
เครื่องยนต์ Genesis ถูกใช้งานครั้งแรกใน Yamaha FZ750 รุ่นปี 1984 และมอเตอร์ไซครุ่นอื่นๆ ในเวลาต่อมา โดยเครื่องยนต์มี 2 รูปแบบ ได้แก่เครื่องยนต์ 2 สูบเรียง และ 4 สูบเรียง ซึ่งองศาของเครื่องยนต์จะวางเอียงไปด้านหน้ารถประมาณ 45 องศา
Yamaha YZF R1 รุ่นแรกของโลก
ในปี ค.ศ. 1998 ยามาฮ่า เปิดตัวรถจักรยานยนต์ตระกูลซุปเปอร์ไบค์ รุ่นที่จะเป็นรถที่แรงที่สุดของแบรนด์ ในชื่อว่า Yamaha YZF-R1โดยนำเอาเครื่องยนต์ Yamaha Genesis มาใช้ ซึ่งจุดเด่นของเครื่องยนต์นี้คือเป็นเครื่องยนต์ขนาดเล็ก แต่ประสิทธิภาพสูง สามารถทำรอบเครื่องยนต์จัดๆ ได้ ด้วยจุดเด่นจากเครื่องยนต์ที่มีขนาดเล็กนี่เอง ทำให้สามารถสร้างรถที่มีฐานล้อสั้นได้ และทำให้จุดศูนย์ถ่วงของรถที่ต่ำด้วยการติดตั้งเครื่องยนต์ไว้ภายในเฟรมแบบ Deltabox II ของตัวรถ ทำให้จุดศูนย์ถ่วงของรถต่ำลง
เครื่องยนต์ของ 1998 Yamaha YZF-R1 ใช้เครื่องยนต์ Genesis 4 สูบเรียง ขนาด 998 ซีซี DOHC 5 วาล์วต่อสูบ ระบายความร้อนด้วยน้ำ จ่ายน้ำมันด้วยคาบูเรเตอร์ 4 ตัว ขนาด 40 มม. มอบพละกำลังสูงสุด 148.88 แรงม้า ที่ 10,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 108 นิวตันเมตร ที่ 7,750 รอบ/นาที ส่งกำลังผ่านเกียร์ 6 สปีด ขับเคลื่อนด้วยโซ่ ความเร็วสูงสุดที่ทำได้อยู่ที่ 270 กม./ชม. โดยอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. อยู่ที่ 2.96 วินาที โดยตัวรถมีน้ำหนักเพียง 198 กิโลกรัม
โช๊คอัพหน้า เป็นโช๊คอัพหัวกลับขนาดแกน 41 มม. เบรคเป็นดิสเบรคคู่ พร้อมปั้มเบรคจำนวน 4 พอต
Yamaha R1 ปี 2000 - 2001
ในปี ค.ศ. 2000 ยามาฮ่า ได้เปิดตัว R1 รุ่นไมเนอร์เชนจ์ ที่ถูกปรับปรุงประสิทธิภาพของตัวรถภายนอกใหม่เล็กน้อย เพื่อให้ขับขี่ได้สบายมากยิ่งขึ้น และยังสามารถรีดน้ำหนักตัวของตัวรถลดลงไปเหลือ 194 กิโลกรัม (เดิม 198 กิโลกรัม) ส่วนความเร็วสูงสุดของรถก็ขยับขึ้นไปเล็กน้อยอยู่ที่ 280 กม./ชม.
Yamaha R1 ปี 2002 - 2003
ในปี ค.ศ. 2002 เป็นปีแรกที่ R1 เปลี่ยนระบบจ่ายน้ำมันใหม่ จากคาร์บูเรเตอร์ เป็นระบบหัวฉีดแทน ปรับปรุงในส่วนของลูกสูบใหม่ให้มีความแข็งแรงมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม และยังลดอัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง อีกทั้งยังมีการพัฒนาในส่วนของเฟรมเดลต้า บ็อกซ์ใหม่ ด้วยวิธีการลดจำนวนจุดเชื่อมต่อของเฟรมลง ซึ่งช่วยให้เฟรมรถมีความแข็งแรงมากขึ้นถึง 30% ด้วยกัน
ในส่วนของระบบระบายความร้อนก็ถูกปรับปรุงใหม่ ให้มีประสิทธิภาพการระบายความร้อนที่ดียิ่งขึ้น ตามประสิทธิภาพของตัวรถที่สูงขึ้น และมีการเปลี่ยนการวางท่อไอเสียใหม่ จากเดิม 4 - 1 เป็น 4 - 2 - 1 แทน โดยตัววัสดุของท่อไอเสียใช้เป็นไทเทเนียม
ทางด้านรูปลักษณ์ภายนอก มีการปรับปรุงใหม่ เริ่มต้นจากด้านหน้าของตัวรถที่มีการเพิ่มรายละเอียดของหน้ากากบังลมด้านหน้าให้มีความแหลมคมมากขึ้น แฟริ่งด้านข้างแบบใหม่ และไฟท้ายของตัวรถ ใช้เป็นไฟแบบ LED
Yamaha R1 ปี 2004 - 2005
ในปี 2004 เป็นปีที่การแข่งขันรถมอเตอร์ไซค์ทางเรียบนั้นฮอตฮิตเป็นอย่างยิ่งไปทั่วทั้งโลก และด้วยกระแสของ Motorsport นั่นเองทำให้ Yamaha ปรับปรุง Yamaha YZF-R1 ใหม่ ให้มีความสปอร์ต เรซซิ่งมากยิ่งขึ้นประดุจรถแข่งนสนามแข่ง
เริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงภายนอกกันก่อนเลย หลักๆ คือการเปลี่ยนตำแหน่งการวางท่อไอเสียใหม่ จากเดิมที่ออกด้านข้างขวา มาเป็นออกท้ายรถแทน (ท่อออกตูด) ซึ่งช่วยเพิ่มความสปอร์ตให้กับตัวรถ ให้ดูเหมือนรถแข่งมากยิ่งขึ้น มีการอัพเกรดในส่วนของระบบเบรก เป็นแบบเรเดียลเม้าท์ ทำให้มีประสิทธิภาพการเบรคที่สูงขึ้น และเป็นรุ่นแรกในตระกูล ที่ติดตั้งแรมแอร์ (Ram-air intake) มาให้ด้วย มีการออกแบบสวิงอาร์มใหม่ ให้มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น
ไฟหน้าของตัวรถ ปรับปรุงใหม่ให้มีความโฉบเฉี่ยว ดูสปอร์ตขึ้น รวมถึงแฟริ่งของตัวรถทั้งด้านหน้าและด้านข้างถูกปรับปรุงใหม่ด้วยเช่นกัน
ในส่วนของเครื่องยนต์ ก็มีการพัฒนาใหม่ให้มีประสิทธิภาพที่สูงขึ้นกว่าเริ่มเดิม โดยพละกำลังสูงสุดของรุ่นปีนี้สูงถึง 171 แรงม้า ที่ 12,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 107 นิวตันเมตร ที่ 10,500 รอบ/นาที ความเร็วสูงสูดทำได้มากกว่า 290 กม./ชม. โดยอัตราเร่ง 0-100 อยู่ที่ 3.04 วินาที
Yamaha R1 ปี 2006
ในปี 2006 ยามาฮ่ามีการปรับปรุง R1 ใหม่อีกครั้ง ด้วยการพัฒนาสวิงอาร์มใหม่ ให้มีความยาวมากขึ้น 20 มม. ซึ่งทำให้รถ สามารถผลิตแรงม้าสูงสุดได้ที่ 174 แรงม้า ที่ 12,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 106.6 นิวตันเมตร ที่ 10,500 รอบ/นาที ส่วนดีไซน์อื่นๆ ยังคงเดิม
Yamaha R1 ปี 2007 - 2008
ในปลายปี 2006 ยามาฮ่า เปิดตัว All-new YZF-R1 รุ่นปี 2007 ออกมาอย่างเป็นทางการ ซึ่งครั้งนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง นับจากตอนที่เปลี่ยนระบบจ่ายน้ำมันจากระบบคาร์บู เป็นหัวฉีด โดยในปีนี้ได้มีการเปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่ ไปใช้เครื่องยนต์ 4 สูบเรียง 4 วาล์วต่อสูบ แทนจากเดิมที่เป็นแบบ 5 วาล์วต่อสูบ และยังมาพร้อมกับระบบ YCC-I (Yamaha Chip Control Intake) เป็นระบบควบคุมวาล์วด้วยไฟฟ้า และระบบ YCC-T (Yamaha Chip Control Throttle) หรือคันเร่งไฟฟ้านั่นเอง
นอกจากนี้ ยังมาพร้อมกับสลิปเปอร์คลัชท์ และเฟรมอลูมิเนียมรวมถึงสวิงอาร์มที่ถูกออกแบบมาใหม่ ทางด้านระบบเบรก ใช้ดิสเบรกคู่เช่นเดิม แต่ให้ขนาดใหญ่ขึ้นเป็น 310 มม. มาพร้อมกับปั้มเบรคแบบเรเดียลเม้าท์ 6 พอต
นอกจากนี้ ในส่วนของช่องแรมแอร์ ยังออกแบบใหม่ตามสไตล์ของรถแข่ง MotoGP Yamaha YZR-M1 เพื่อเสริมทั้งความดุดัน และประสิทธิภาพด้านอากาศพลศาสตร์อีกด้วย โดยพละกำลังสูงสุดของรถรุ่นปีนี้มามากถึง 189 แรงม้า ที่ 12,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 118.3 นิวตันเมตร ที่ 10,000 รอบ/นาที น้ำหนักตัวของรถลดลงเหลือ 190 กิโลกรัม
Yamaha R1 2009 - 2014 ( หน้าเอเลี่ยน)
ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้ง เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2008 ซึ่ง Yamaha ได้แถลงข่าวเปิดตัวรถซุปเปอร์ไบค์รุ่นใหม่ All New Yamaha YZF-R1 รุ่นปี 2009 โดยในรุ่นปีนี้ อัดแน่นไปด้วยเทคโนโลยีจากรถแข่ง Yamaha YZR-M1 ในรายการ MotoGP ซึ่งขณะนั้นประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดดเด่นด้วยเครื่องยนต์ใหม่แบบ Crossplane Crankshaft ชนิดเดียวกับตัวแข่ง MotoGP มาติดตั้งใน R1 รุ่นปีนี้ โดยองศาจุดระเบิดของรถจะไม่เป็นแบบคงที่ ซึ่งการจุดระเบิดจะเป็นการจุดวนไปแบบ 270°- 180°- 90°- 180° ทำให้เสียงของเครื่องยนต์ Crossplane 4 สูบเรียงนี้ ฟังดูเหมือนเสียงเครื่องยนต์ V4 เป็นอย่างยิ่ง
โดยในเครื่องยนต์ Crossplane ทางยามาฮ่าเคลมว่า เครื่องยนต์นี้เป็นการรวมจุดเด่นระหว่างเครื่องยนต์ 2 แบบด้วยกัน โดยรถจะมีแรงบิดสูงเหมือนรถ 2 สูบ แต่ให้ความเร็วปลายสูงเหมือนรถ 4 สูบเรียงปกติ
อีกหนึ่งจุดเด่นในโมเดลนี้คือ โหมดการขับขี่ ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ขับขี่ สามารถเลือกโหมดการขับขี่ให้เหมาะสมกับการใช้งานในสถานการณ์ต่างๆ ได้ ด้วยการควบคุมผ่านคันเร่งไฟฟ้า
สำหรับพละกำลังสูงสุดของรถรุ่นนี้ ขยับขึ้นเป็น 191 แรงม้า ที่ 12,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 103.3 นิวตันเมตร ที่ 10,000 รอบ/นาที โดยน้ำหนักของตัวรถขยับขึ้นเป็น 206 กิโลกรัม
จุดเด่นอีกอย่างหนึ่ง นอกจากเครื่องยนต์ที่เปลี่ยนเป็นเครื่อง Crossplane แล้ว รูปลักษณ์ภายนอกยังถูกเปลี่ยนใหม่อีกด้วยเช่นกัน โดยไบเกอร์ชาวไทยจะเรียกหน้าตาโฉมนี้ว่า "เอเลี่ยน" โดยอ้างอิงจากไฟหน้ากลมโต ภายในเบ้าไฟหน้าสุดแหวกแนวนี่เอง อันเป็นเอกลักษณ์ของ Yamaha R1 ในช่วงรุ่นนี้ โดยเอกลักษณ์อีกอย่างที่ยังรักษาไว้อยู่นั่นคือท่อออกท้ายรถและท้ายรถที่โด่งสุดๆ ซึ่งเจ้า R1 โฉมนี้ หลายๆ คนยกให้ว่าเป็นโฉมที่ดูดุดันที่สุดเท่าที่เคยมีมา
ในปี 2012 ยามาฮ่า ปล่อยรุ่นพิเศษ ฉลองครบรอบ 50 ปีของทางแบรนด์ ซึ่งโดดเด่นด้วยสีขาวตัดแดงของตัวรถ โดยรุ่นพิเศษนี้ถูกผลิตขึ้นมาเพียง 2,000 คัน ทั่วโลก
Yamaha R1 2015 - ปัจจุบัน (กระเบน)
ถัดมากับโฉมปัจจุบัน Yamaha YZF-R1 เปิดตัวครั้งแรกในงาน EICMA Show โดยตัวรถรุ่นนี้เรียกได้ว่าแทบจะนำเอา Yamaha YZR-M1 รถตัวแข่งใน MotoGP มาใส่ระบบไฟส่องสว่างขายกันเลยทีเดียว เพราะดูละม้ายคล้ายคลึงกันเป็นอย่างยิ่ง อัดแน่นด้วยเทคโนโลยีจากสนามแข่งครบครัน ไม่ว่าจะเป็น Traction Control ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี, Slide Control System ระบบป้องกันการสไลด์, Lift Control System ระบบป้องกันล้อหน้าลอย, ระบบช่วยการออกตัว, ระบบควิกชิพเตอร์ และอื่นๆ อีกมากมาย
โดยในรุ่นนี้จะโดดเด่นในเรื่องของเทคโนโลยีเป็นพิเศษ โดดเด่นด้วยระบบไฟ LED ทั้งคัน, หน้าจอเรือนไมล์แบบจอสี TFT อันทันสมัย และยังมีเซ็นเซอร์ IMU 6 แกนด้วยกัน คอยตรวจจับการทำงานต่างๆ ของตัวรถ ส่งไปประมวลผลกับ ECU เพื่อความปลอดภัย และเพื่อการรีดประสิทธิภาพสูงสุดของตัวรถ
และอีกรุ่นหนึ่ง ที่เป็นตัวท็อป นั่นคือ Yamaha YZF-R1M เป็นรุ่นท็อปสุดในรุ่นนี้ โดยมีโครงสร้างพื้นฐานเหมือนกันทั้งหมด แตกต่างกันที่แฟริ่งของรถ ที่เลือกใช้เป็นคาร์บอนไฟเบอร์ทั้งคัน และระบบช่วงล่างแบบไฟฟ้าจากแบรนด์ Ohlins ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
เครื่องยนต์ของ Yamaha YZF-R1 2015 ใช้เครื่องยนต์ Crossplane Crankshaft ขนาด 998 ซีซี 4 สูบเรียง DOHC 4 วาล์วต่อสูบ ระบายความร้อนด้วยน้ำ มอบพละกำลังสูงสุดถึง 200 แรงม้า ที่ 13,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 112.4 นิวตันเมตร ที่ 11,500 รอบ/นาที
และในปี 2016 Yamaha ปล่อยรุ่นพิเศษ ฉลองครบรอบ 60 ปียามาฮ่า โดดเด่นด้วยสีเหลือง-ขาว-ดำ
เป็นอย่างไรกันบ้างครับ กับประวัติความเป็นมาของ Yamaha YZF-R1 จากรุ่นแรก ถึงปัจจุบัน ถ้าชอบบทความนี้ก็อย่าลืมฝากแชร์ให้ด้วยนะครับผม แล้วคราวหน้าจะมีเรื่องราวอะไรดีๆ มาให้ได้อ่านกันอีก อย่าลืมติดตามกันนะครับ
อ่านรีวิว Yamaha YZF-R1 2020
อ่านรีวิว Yamaha Xmax 300
อ่าน Yamaha Xmax 400 ดิสเบรคคู่
ติดตามข่าวรถยนต์ ราคารถยนต์ รีวิวรถยนต์ และจักรยานยนต์ทุกยี่ห้อ กับเรา Autospinn
แชร์ความคิดเห็นบนเว็บบอร์ด Autospinn คลิกเลย webboard.autospinn.com
เช็คโปรโมชั่นรถใหม่ เช็คราคารถใหม่ ได้ที่นี่
ราคารถมือสอง ซื้อรถมือสอง ขายรถมือสอง เชิญได้เลยที่ one2car
ความคิดเห็น