สัมมนาทิศทางยานยนต์ไฟฟ้าไทย ที่มีหลายฝ่ายเข้าร่วมงาน สรุปประเด็นจี้รัฐจัดทำ ROAD MAP กำหนดปีชัดเจน ให้ทุกโรงงานในไทยผลิตรถอีวี เปิดทางผู้ประกอบการปรับตัว พร้อมสร้างดีมานด์จูงใจผู้ซื้อและผู้ผลิต กระตุ้นรถยนต์ไฟฟ้าเกิด เริ่มจากรถในระบบราชการ รถขนส่งมวลชนก่อนขยายสู่ภาคบริการอื่นๆ
จี้รัฐจัดทำ ROAD MAP กำหนดปีชัดเจน ให้ทุกโรงงานในไทยผลิตรถอีวี
เมื่อเร็วๆนี้ ในการสัมมนา เรื่อง ทิศทางยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย จัดโดยคณะกรรมาธิการการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีผู้เข้าร่วมสัมมนาหลายฝ่าย ผู้แทนกระทรวงพลังงาน ผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรม บริษัทเอกชน โดยแต่ละฝ่ายต่างมีข้อเสนอเพื่อให้เกิดการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าในไทยดังนี้
ระวี มาศฉมาดล ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการพลังงาน กล่าวว่า รัฐบาลต้องเร่งให้มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) เพื่อจัดทำ ROAD MAP หรือแผนแม่บทเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้า แม้ว่าไทยจะได้ตั้งเป้าว่าในปี 2030 จะมีรถยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท(X EV) 25% ของรถทั้งหมด แต่ประเด็นที่ต้องการให้ผู้ประกอบการมีการเตรียมตัวรองรับคือ ให้มีการกำหนดปีที่ชัดเจน เพื่อให้ทุกโรงงานในไทยผลิตรถยนต์ไฟฟ้า
ทั้งนี้ การกำหนดปีที่ชัดเจนดังกล่าว จะช่วยให้เอกชนผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามีการเตรียมความพร้อมในการปรับตัว เพราะหากล่าช้าจะทำให้ไทยสูญเสียรายได้จากอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งระบบ ฐานการผลิตอาจจะย้ายไปยังประเทศเพื่อนบ้าน หรืออาจทำให้โรงงานผลิตรถยนต์ ผลิตชิ้นส่วนต้องปิดตัวลง เกิดการว่างงาน
ปัจจุบันไทยมีโรงงานผลิตรถยนต์อยู่ 19 แห่ง โรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ 2,200 แห่ง สามารถผลิตรถยนต์ได้ปีละ 2 ล้านคัน มูลค่ากว่า 2 ล้านล้านบาท มีแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งหมด 8.5 แสนราย หากแผนพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าล่าช้า จะทำให้ไทยสูญเสียโอกาสในหลายๆ เรื่อง ขณะกลุ่มประเทศในภูมิภาคอาเซียนได้หันมาให้ความสำคัญกับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น
“รัฐบาลต้องส่งเสริมการพัฒนามอเตอร์ไฟฟ้าในไทยให้ได้ 100% แก้ไขปัญหาผู้ประกอบการรถอีวีในประเทศให้สามารถสู้กับรถอีวีนำเข้าจากจีนที่มีภาษีนำเข้า 0% รวมทั้งมีมาตรการต่างๆ ในการส่งเสริมผู้ซื้อให้ใช้รถอีวี อาทิ ลดภาษีรถอีวีคันแรก ให้ใช้ทางด่วนฟรี แยกสีป้ายทะเบียนเพื่ออำนวยความสะดวกในการลดค่าต่อภาษี ลดค่าต่อประกันรถอีวี เป็นต้น”
สมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ กล่าวว่ การสนับสนุนให้รถยนต์ไฟฟ้าในไทย เกิด ควรเริ่มจากการสร้างดีมานด์ ของรถขนส่งมวลชนและรถราชการ ก่อนขยายวงกว้างไปสู่ส่วนอื่นๆ อย่างเป็นระบบเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการที่จะลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า
ยศพงษ์ ลออนวล นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า การส่งเสริมให้เกิดการใช้รถยนต์ในประเทศจะช่วยลดปัญหามลพิษบนท้องถนน โดยเฉพาะในเมืองขนาดใหญ่ ทำให้เกิดการใช้พลังงานในภาคขนส่งอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบันมีรถยนต์ไฟฟ้าที่จดทะเบียนใหม่ในปี 2563 จำนวน 16,290 คัน แบ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (HEV) รถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบิด (PHEV) จำนวน 13,214 คัน และรถยนต์อีวี 3,076 คัน มีสถานีชาร์จสาธารณะทั่วประเทศ 557 แห่ง สะท้อนอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
“ภาครัฐต้องมีมาตรการส่งเสริมให้ประชาชนสามารถซื้อรถยนต์ไฟฟ้าได้ในราคาที่เหมาะสม และสร้างแรงจูงใจสำหรับผู้ใช้ รวมถึงส่งเสริมผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในการผลิตและมาตรการจัดการรถยนต์ไฟฟ้า”
ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กล่าวว่า บีโอไอกำลังอยู่ในระหว่างการปรับปรุงมาตรการใหม่ออกมาเพื่อขยายสู่รถอื่นๆ เพราะการส่งเสริมเดิมมีแค่รถยนต์ และรถบัส แต่ตอนนี้กำลังพิจารณาเกี่ยวกับรถจักรยานยนต์ (2 ล้อ) และ 3 ล้อ อย่างไรก็ตามยืนยันว่าหากอยากให้ยานยนต์ไฟฟ้ามีการขับเคลื่อนไปได้นั้น จะต้องมีมาตรการสนับสนุนให้เกิดดีมานด์ ทำอย่างไรให้มีวอลุ่มเพิ่มขึ้น เพราะปัจจุบันตลาดรถยนต์ไฟฟ้ายังถือว่ามีสัดส่วนที่น้อยอยู่
ติดตามข่าวรถยนต์ ราคารถยนต์ รีวิวรถยนต์ และจักรยานยนต์ทุกยี่ห้อ กับเรา Autospinn
แชร์ความคิดเห็นบนเว็บบอร์ด Autospinn คลิกเลย webboard.autospinn.com
เช็คโปรโมชั่นรถใหม่ เช็คราคารถใหม่ ได้ที่นี่
ราคารถมือสอง ซื้อรถมือสอง ขายรถมือสอง เชิญได้เลยที่ one2car
ความคิดเห็น