สถาบันยานยนต์ เชื่อรัฐบาลใหม่เดินหน้าความเป็นกลางทางคาร์บอน ดันไทยขึ้นแท่นฮับอีวี Share this

สถาบันยานยนต์ เชื่อรัฐบาลใหม่เดินหน้าความเป็นกลางทางคาร์บอน ดันไทยขึ้นแท่นฮับอีวี

Wongsupat
โดย Wongsupat
โพสต์เมื่อ 29 May 2566

สถาบันยานยนต์ ร่วมมืออาร์เอ็กซ์ เทรดเด็กซ์ จัดสัมมนาด้านยานยนต์ในงาน “แมนูแฟกเจอริ่ง เอ็กซ์โป” (Manufacturing Expo) 2023 และสัมมนา “ออโตโมทีฟ ซัมมิท” (Automotive Summit) 2023 ระหว่างวันที่ 21-22 มิถุนายนนี้ ที่ไบเทค บางนา และเชื่อว่ารัฐบาลใหม่เดินหน้านโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน ดันไทยขึ้นแท่นฮับอีวี


สถาบันยานยนต์ เชื่อรัฐบาลใหม่เดินหน้านโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน ดันไทยขึ้นแท่นฮับอีวี

ดร. เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์  ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ ได้กล่าวถึงภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ของโลกว่า ข้อมูลเดือนมกราคม-เมษายน 2566 ระบุว่า ทั่วโลกมีปริมาณจำหน่ายยานยนต์ 27.5 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ร้อยละ 9 สะท้อนถึงตลาดยานยนต์ทั่วโลกที่กำลังฟื้นตัว และปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนเพื่อการผลิตเริ่มคลี่คลาย คาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2566 จะมียอดขายรถยนต์ทั่วโลก 86.05 ล้านคัน (ข้อมูลจาก LMC Automotive)

สถานการณ์ยานยนต์ 4 เดือนแรก

ส่วนภาพรวมในไทยปี พ.ศ. 2566 คาดการณ์ปริมาณผลิต 1.95 ล้านคัน ขายในประเทศ 0.90 ล้านคัน และส่งออก 1.05 ล้านคัน และในเดือน มกราคม-เมษายน 2566 มีปริมาณการผลิต 625,423 คัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5 ตลาดรถยนต์ในประเทศมีปริมาณ 276,603 คัน ลดลงร้อยละ 6 เนื่องจากการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงิน

อันเป็นผลจากหนี้ครัวเรือนอยู่ในอัตราสูงและอัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้นเพิ่มขึ้น ปริมาณจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า 19,347 คัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1,206 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ในขณะที่ตลาดส่งออกมีปริมาณ 353,632 คัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 18 เป็นผลจากฐานต่ำของปีที่แล้ว เนื่องจากปัจจัยด้านอุปทาน ที่ขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์และชิ้นส่วนเพื่อการผลิต 

ปัจจัยภายนอกที่มีผลต่อตลาดส่งออก

ปัจจัย ที่จะมีผลกระทบต่อปริมาณผลิต จำหน่ายและส่งออก ว่าจะเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ ขึ้นอยู่กับปัจจัยทั้งภายนอกและภายในประเทศ “สำหรับปัจจัยภายนอกประเทศนั้น สถานการณ์ตลาดส่งออก คาดการณ์ว่า ตลาดหลักคือ อาเซียนและตะวันออกกลางจะยังเติบโต ร้อยละ 4 และ 6 ตามลำดับ (ข้อมูลจาก IHS Markit) เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 ในขณะที่ตลาดออสเตรเลียจะทรงตัว

เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศเริ่มชะลอตัวจากหนี้ภาคครัวเรือน อย่างไรก็ดี ในกลุ่มตลาดหลัก คือ ออสเตรเลียและอาเซียน ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น โดยมีทั้งมาตรการด้านอุปสงค์และอุปทาน ทำให้การเติบโตของตลาดส่วนหนึ่งจะมาจากกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งยังไม่ใช่ผลิตภัณฑ์หลักที่ประเทศไทยส่งออก จึงอาจทำให้เสียโอกาสการส่งออกบางส่วน

นอกจากนี้ ในไตรมาส 1 ปี พ.ศ. 2566 การส่งออกรถยนต์จากจีนมีจำนวน 1.07 ล้านคัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 58  มากกว่าการส่งออกของญี่ปุ่นที่มีจำนวน 950,000 คัน เนื่องจากความนิยมในยานยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และความสามารถการแข่งขันของผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของจีนเพิ่มขึ้นมาก ผู้ผลิตรถยนต์ต่างประเทศที่ตั้งโรงงานในจีนเริ่มพิจารณาปรับลดการลงทุน

เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันด้านต้นทุนกับผู้ผลิตรถยนต์ของจีนได้ ผลดังกล่าว อาจจะทำให้การส่งออกรถยนต์ไฟฟ้ามายังประเทศไทยมากขึ้น ทั้งรถยนต์ของจีนและรถยนต์ของต่างประเทศที่ลงทุนในจีน

เชื่อรัฐบาลใหม่เดินหน้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน 

ส่วนปัจจัยภายในประเทศนั้น ขึ้นอยู่กับว่า นโยบายของรัฐบาลชุดใหม่จะมีทิศทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างไร แต่เชื่อว่า นโยบายของรัฐยังคงมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutral) ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ ทำให้คาดว่าภาครัฐน่าจะมีมาตรการส่งเสริมยานยนต์คาร์บอนต่ำด้วยเช่นเดียวกัน

เพราะการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่อง เป็นเทรนด์โลก หากไทยต้องการเป็นศูนย์กลางการผลิตอันดับต้นๆ ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จำเป็นต้องรักษาฐานการผลิต แม้ว่าค่าแรงที่รัฐบาลใหม่ประกาศนั้นจะสูงถึงวันละ 450 บาท แต่เชื่อว่า ฝีมือและความรู้ ความสามารถของแรงงานก็น่าจะเป็นปัจจัยในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ด้วย ไม่ใช่เฉพาะค่าแรงเพียงอย่างเดียว 

ปัจจุบันมีผู้ผลิตยานยนต์จากจีนลงทุนในไทย 4 ราย ได้แก่ 

  1. SAIC (กำลังการผลิต 100,000 คันต่อปี)
  2. GWM (กำลังการผลิต 80,000 คันต่อปี)
  3. BYD (กำลังการผลิต 150,000 คันต่อปี)
  4. NETA (กำลังการผลิต 20,000 คันต่อปี) 

ที่เหลืออยู่ระหว่างจัดตั้งธุรกิจ 2 ราย ได้แก่ GAC Aion และ Chang An Automobile และมีแผนลงทุน 1 ราย ได้แก่ Chery Automobile (ปี 2024) ซึ่งเป็นโอกาสการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ แต่ยังมีประเด็นความท้าทายคือ เงื่อนไขการค้าการลงทุนระหว่างประเทศเปลี่ยนแปลงไป มาตรการกีดกันการทางการค้าระหว่างประเทศมีน้อยลง เช่น ข้อกำหนดการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ ประกอบกับผู้ผลิตชิ้นส่วนจากจีนมีความสามารถทางเทคโนโลยีสูงกว่าและต้นทุนการผลิตต่ำกว่า ซึ่งจะส่งผลต่อความสามารถแข่งขันของผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศ

Manufacturing Expo

วราภรณ์ ธรรมจรีย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาร์เอ็กซ์ เทรดเด็กซ์ จำกัด  (RX Tradex เดิมชื่อ รี้ด เทรดเด็กซ์) ผู้นำด้านการจัดงานแสดงสินค้าแห่งอาเซียน เปิดเผยว่า ในทุกๆ ปีช่วงเดือนมิถุนายน อาร์เอ็กซ์ เทรดเด็กซ์ จะจัดงาน Manufacturing Expo ขึ้นให้เป็นเวทีกลางให้ผู้ประกอบการในหลายอุตสาหกรรมได้พบกับเทคโนโลยี องค์ความรู้ และเครือข่ายทางธุรกิจใหม่ๆ ในมหกรรมเครื่องจักรและเทคโนโลยีเพื่อการผลิตและอุตสาหกรรมสนับสนุนที่ครบครันที่สุดในอาเซียน โดยรวมเอางานแสดงเครื่องจักรและเทคโนโลยีเฉพาะทางถึง 8 งานไว้ในมหกรรมเดียว ซึ่งในปีนี้จะนับเป็นปีที่ 13 ของ Manufacturing Expo และกำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 21 – 24 มิถุนายน นี้ ที่ฮอลล์ 98 – 104 ไบเทค บางนา

ความครบครันของงาน Manufacturing Expo นั้นเกิดมาจากการรวมตัวกันของงานแสดงเฉพาะทางที่แสดงนวัตกรรมใหม่ๆ สำหรับหลากหลายวงการ ทั้งการผลิตพลาสติก, แม่พิมพ์และการขึ้นรูป, ชิ้นส่วนยานยนต์, การเตรียมพื้นผิว ชุบเคลือบ และทำสีชิ้นส่วน, การแสดงหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเพื่อภาคการผลิตและภาคบริการ, การผลิตและประกอบอิเล็กทรอนิกส์, การก่อสร้าง บริหารจัดการ และบำรุงรักษาโรงงานและอาคาร และการผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มสำหรับหลากหลายสาขาอุตสาหกรรม

อัปเดตข่าวรถยนต์ ดูรีวิวรถยนต์ รีวิวรถมอเตอร์ไซค์ ทุกยี่ห้อ โดยทีมงานมืออาชีพ เช็คราคา ตารางผ่อน พร้อมเกาะติดข่าวสารรถยนต์ไฟฟ้า EV ไปกับ Autospinn.com

ซื้อขายรถมือสอง ทุกรุ่น ทุกแบบ ทั้งรถเก๋งมือสอง รถตู้มือสอง รถกระบะมือสอง ราคาดี ฟรีดาวน์ ผ่อนถูก คุณภาพพร้อมใช้งาน ดูรายละเอียด และราคารถมือสองได้ที่ ตลาดรถ One2car


ความคิดเห็น


เรียกดูข่าวตามประเภทยานพาหนะ

ค้นหาข่าวโดยยี่ห้อ