บีบแตรอย่างไร ให้รู้ว่าข้างหน้ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น หรือเป็นการส่งสัญญาณเตือนขณะขับขี่บนท้องถนน แล้วบีบอย่างไรถึงจะถูกวิธีเลี่ยงดราม่ากันล่ะ?
บีบแตร.. สัญญาณสื่ออารมณ์
การบีบแตรรถยนต์ถือเป็นการส่งสัญญาณเตือนเพื่อนร่วมทาง ซึ่งวิธีนี้สามารถช่วยลดอุบัติเหตุได้เป็นอย่างดี แต่ก็มีหลายคนมองว่า การบีบแตรรถยนต์บนท้องถนนเป็นการกระทำที่เสียมารยาทไม่ควรทำ ในบางครั้งอาจเป็นสาเหตุก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาทกัน บางกรณีถึงกับเสียชีวิตเลยทีเดียว ดังนั้นวันนี้มาเพิ่มความเข้าใจว่าการบีบแตรแบบไหน สื่อถึงอารมณ์ของเพื่อนร่วมทาง
- ปื๊ด ปิ๊ด ปิ๊ด ปิ๊ด หากคุณได้ยินเสียงบีบแตรแบบเบาๆ สั้นๆ ต่อเนื่องหลายครั้ง แบบเสียง เช่นนี้ แสดงว่าเพื่อนร่วมทางกำลังส่งคำทักทายมาถึงคุณ ซึ่งการส่งสัญญาณลักษณะนี้มักเกิดขึ้นเมื่อเจอเพื่อนจอดรถติดไฟแดงอยู่ข้างเราเหมือนกัน ประมาณว่า “เฮ้ย… เพื่อนหันมามองฉันสิ”
- ปิ๊ด การบีบแตรรถยนต์แบบสั้นๆ เบาๆ ส่วนใหญ่เป็นการบีบแตรเพื่อเตือนคนรอบข้าง หรือรถคันอื่นให้ระมัดระวัง อาทิ เราขับรถแล้วเห็นคนกำลังจะข้ามถนน ก็สามารถบีบแตรแบบนี้เพื่อเตือนว่ารถของคุณขับใกล้มาแล้วนะ อย่าเพิ่งข้ามเพราะอาจเกิดอันตรายได้
- ปี๊ดดดดดดดดดดดดดด หากคุณได้ยินเสียงบีบแตรแบบยาวๆ และค่อนข้างดัง เสียงบีบแตรในลักษณะนี้ มักเกิดขึ้นเมื่อต้องการเตือนให้เพื่อนร่วมทางรู้ตัว เพราะเขาอาจกำลังเหม่อลอย หรือเล่นเกมมือถือเพลินจนไม่สนใจว่าสัญญาณไฟจราจรได้เปลี่ยนจากสีแดงเป็นไฟเขียวแล้ว ประมาณว่า "ฉันกำลังรีบนะ ตั้งใจขับขรถหน่อยสิ!"
- ปี๊ดดดดดด ปี๊ดดดดดด ปี๊ดดดดดด ปี๊ดดดดดด เป็นเสียงบีบแตรดังและยาว ซ้ำๆ กันหลายครั้ง หากคุณได้ยินเสียงบีบแตรรถลักษณะนี้ ให้รู้เลยว่าเจ้าของเสียงบีบแตรที่ว่า กำลังอยู่ในอาการหัวร้อน ที่สุ่มเสี่ยงให้เกิดการปะทะอารมณ์จนถึงขั้นวางมวยกันได้ ดังนั้นถ้าหลีกเลี่ยงได้ ก็ควรหลีกเลี่ยง
- ปี๊ดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดด ถ้าได้ยินเสียงบีบแตรดังและยาวต่อเนื่องแบบนี้เมื่อไหร่ เตรียมหนีได้เลย เพราะคนที่บีบแตรอยู่ในอาการหัวร้อนขั้นสุดแล้ว เหมือนการตะโกนออกมาว่า "ไอ้......" ดังนั้นหากใครใช้สัญญาณแตรแบบนี้ เตรียมใจรับแรงปะทะที่อาจตามมาได้เลย
ทุกวันนี้เรามักจะเห็นข่าวที่มาจากการการกระทบกระทั่งกันบนรถถนนไม่ใช่น้อย โดยหนึ่งในสาเหตุคือมาจากความไม่พอใจที่ “ถูกบีบแตรใส่เสียงดัง” จนกลายเป็นเรื่องราวดราม่าในโลกออนไลน์ ซึ่งจริงๆแล้ว “แตรรถยนต์” ถือเป็นสัญญาณเตือนที่ช่วยลดอุบัติเหตุได้ อีกทั้งการบีบแตรก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิดหรือเสียมารยาทอย่างที่หลายคนเข้าใจ เพียงรู้จักและใช้อย่างเข้าใจในความหมายของมัน
อย่างไรก็ตาม หากใครเคยได้มีโอกาสเดินทางไปประเทศอินเดียจะรู้ว่ามีสิ่งหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์และแตกต่างจากประเทศอื่นๆ นั่นคือ "เสียงแตรรถ" ที่บีบกันอย่างสนั่นหวั่นไหวแบบไร้เหตุผล ถนนโล่งก็บีบ แน่นก็บีบ จอดก็บีบ เร่งก็บีบ จนกลายเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง แต่ใช่ว่าคนอินเดียทุกคนจะเห็นด้วยกับวัฒนธรรมนี้เพราะมันคือการสร้างมลภาวะทางเสียงที่ไม่ใช่แค่น่ารำคาญ แต่ฟังแล้วเครียดทำให้เกิดความดันโลหิตสูง เป็นภัยต่อสุขภาพจิตและสุขภาพกาย
ซึ่งเมืองที่ขึ้นชื่อว่ามีเสียงดังที่สุดในโลกคือ "มุมไบ" ที่มีพฤติกรรมการบีบแตรตลอดเวลา แต่ทางกฎหมายยังไม่มีบทลงโทษสำหรับผู้ขับที่บีบแตร ตำรวจจราจรมุมไบจึงร่วมกับเอเยนซี่โฆษณา FCB Interface คิดค้นบทลงโทษที่เป็นโซลูชันใหม่เรียกว่า The Punishing Signal เพื่อจัดการกับเสียงแตรที่เป็นภัยคุกคามนี้ บทลงโทษที่ว่านี้คือ "ยิ่งบีบแตร ยิ่งรอนาน" โดยติดตั้งเครื่องวัดเดซิเบลพิเศษเชื่อมต่อกับสัญญาณไฟจราจร ณ จุดแยกสำคัญที่มีการจราจรหนาแน่นมากที่สุด เมื่อมีเสียงเกิน 85dB ที่ถือเป็นระดับเสียงอันตราย ตัวบอกเวลาสัญญาณไฟจราจรสีแดงจะรีเซ็ตตัวเอง ให้แช่ไฟแดงนานขึ้น! แถมยังมีป้ายข้อความท้าทายว่า “นี่คือสัญญาณไฟแห่งการลงโทษ” และ “เชิญบีบแตรได้เลย ถ้าไม่กลัวรอนาน” ด้วยเหตุนี้จึงสามารถช่วยลดพฤติกรรมการปล่อยมลภาวะทางเสียงของนักบีบทั้งหลายได้มากทีเดียว หรือโชคดีที่ประเทศไทยคงไม่ต้องใช้มาตรการนี้... (ละมั้ง)
วันนี้เรามีเทคนิคการใช้แตรรถยนต์ให้ถูกวิธี เพื่อสุขภาพจิตที่ดีในขณะขับขี่ และช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนอีกด้วย
- บีบแตรเมื่อผ่านโค้งหักศอก หรือบริเวณมุมอับที่ไม่สามารถมองเห็นรถยนต์ที่สวนทางมาได้ เพื่อเป็นการบอกรถคันที่กำลังจะสวนทางมาได้ระมัดระวังมากขึ้น
- บีบแตรเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้น เช่น มีผู้บาดเจ็บ พบเห็นคนโดนชิงทรัพย์ มีก็สามารถใช้สัญญาณแตรแบบเสียงดังและลากยาวได้ เพื่อขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้างได้
- ห้ามบีบแตรเมื่อพบป้ายห้ามใช้แตรรถยนต์ หรือห้ามส่งเสียงดัง เช่นในพื้นที่โรงพยาบาล ก็ควรหลีกเลี่ยงการแตรรถยนต์
บีบแตรไร้กาลเทศะมีโทษปรับ!
ตามข้อมูลพระราชบัญญัติการจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 14 ระบุไว้ว่า การใช้เสียงสัญญาณ ผู้ขับขี่จะใช้ได้เฉพาะเมื่อจำเป็นหรือป้องกันอุบัติเหตุเท่านั้น แต่จะใช้เสียงยาวหรือซ้ำเกินควรไม่ได้ ซึ่งหากทำผิดมาตรา 14 วรรค 2 จะมีบทลงโทษตามมาตรา 150 (1) โดยมีโทษปรับ 500 บาท รวมถึงสถานที่มีที่ป้ายงดใช้เสียงด้วย อาทิ วัด โรงพยาบาล โรงเรียน เขตพระราชฐาน เพื่อไม่ให้เสียงสัญญาณแตรไปบกวนในเขตที่ติดตั้งป้ายเหล่านั้น ซึ่งหากฝ่าฝืนจะมีบทลงโทษปรับตามมาตรา 148 ด้วย โดยมีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท
อัปเดตข่าวรถล่าสุด ดูรีวิวรถยนต์ รีวิวรถมอเตอร์ไซค์ ทุกยี่ห้อ โดยทีมงานมืออาชีพ เช็คราคา ตารางผ่อน พร้อมเกาะติดข่าวสารรถยนต์ไฟฟ้า EV ได้ที่ Autospinn.com
ซื้อขายรถมือสองออนไลน์ ต้องที่ ตลาดรถมือสอง One2car ซื้อรถง่าย ขายรถไว ทั้งรถเก๋งมือสอง รถตู้มือสอง รถกระบะมือสอง ราคาดี ฟรีดาวน์ ผ่อนถูก คุณภาพพร้อมใช้งาน
ความคิดเห็น