ว่าด้วยเรื่องของเสียงดังรบกวนผู้ที่มีที่พักอาศัยอยู่ริมถนน หรือร้านค้าริมทางที่ได้รับผลกระทบโดยตรง จากการก่อกวนโดยเสียงท่อไอเสียที่ดังเกินเหตุ วันนี้เลดี้จะพาไปชมว่าทางต่างประเทศมีมาตรการที่จะจัดการกับปัญหาเหล่านี้ยังไงบ้าง
จะเงียบ หรือ จะจ่าย? ด้วยกล้องจับเสียงดังบนท้องถนน
เอาล่ะสิงานนี้ ใครที่ชอบส่งเสียงดังคำรามบนท้องถนนมีหนาว ล่าสุดที่เลดี้เคยเขียนไว้ในบทความ "บีบแตร.. สัญญาณสื่ออารมณ์" เรื่องราวของประเทศอินเดียหนึ่งในประเทศที่ชอบบีบแตรเอามากๆ จนกลายเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง และได้รับฉายา "มุมไบเมืองที่เสียงดังที่สุดในโลก" แต่เอาจริงๆ มันเป็นพฤติกรรมที่ไม่น่ารักเอาซะเลย ทางตำรวจจราจรจึงได้ออกกฎหมาย The Punishing Signal หรือ ยิ่งบีบแตร ยิ่งรอนาน โดยติดตั้งเครื่องวัดเดซิเบลพิเศษเชื่อมต่อกับสัญญาณไฟจราจร หากมีเสียงเกิน 85dB (เดซิเบล) ถือเป็นระดับเสียงอันตราย สัญญาณไฟจราจรสีแดงจะรีเซ็ตตัวเอง ให้แช่ไฟแดงนานขึ้น!
คราวนี้เป็นเรื่องราวของ New York City ประเทศสหรัฐอเมริกากันบ้าง เมื่อทางรัฐออกกฎหมาย Noise Cameras เพราะอยากให้ท้องถนนมีความเงียบสงบจากเสียงของรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ หากฝ่าฝืนต้องเสียค่าปรับสูงสุดถึง 2,600 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 91,000 บาท ถือเป็นการจ่ายค่าปรับที่โหดมากๆ โดยการออกร่างกฎหมายใหม่นี้คาดว่าจะพร้อมใช้ใน 5 เขตเมืองสำคัญภายในปี 2568
Noise Cameras Fines
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร Keith Powers ได้ออกร่างกฎหมายที่อนุญาตให้เมืองนิวยอร์กติดตั้งกล้องจับเสียงดังบนท้องถนนเพิ่มเติม เพื่อต่อสู้กับท่อไอเสียที่ดังกังวานและก่อกวนมลภาวะทางเสียงแก่ชาวเมือง โดยมีแนวโน้มว่าร่างกฎหมายนี้จะผ่านฉลุยภายในไม่กี่อาทิตย์ และจุดประกายให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายนี้เริ่มต้นจาก 5 เมืองสำคัญภายในปี 2568 เนื่องจากนิวยอร์กได้มีกรต่อสู้กับปัญหาเรื่องเสียงมานานหลายปีแล้ว ซึ่งในปี 2020 เพียงปีเดียว รัฐรายงานเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับเสียงดังบนถนนกว่า 81,000 ครั้ง ต่อมาในปี 2021 มีการปรับเงินจำนวน 1,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 35,000 บาท สำหรับผู้ที่มีท่อไอเสียดังเกินไป และในปี 2022 มีรายงานการออกตั๋วหรือใบสั่งมากถึง 71 ใบ ให้กับผู้ขับขี่ที่มีท่อไอเสียดังด้วยการใช้กล้องจับเสียง จึงมีการขยายผลเพิ่มเติมไปยังเมืองอื่นๆ อีกในอนาคต
ร่างกฎหมายดังกล่าวมีการอนุญาตให้ใช้กล้องจับเสียงดังบนท้องถนน เมื่อมียานพาหนะที่ส่งเสียงดังเกิน 85dB (เดซิเบล) จากระยะ 50 ฟุตขึ้นไป โดยทั่วไปจะถือว่าเป็นปริมาณที่อาจเกิดความเสียหายต่อการได้ยินของมนุษย์ เมื่อกล้องจับความดังเหล่านี้ได้ จะถูกบันทึกภาพยานพาหนะที่กระทำผิดและผู้ที่ครอบครองจะต้องได้รับตั๋วหรือใบสั่ง ที่ปรับสูงสุดถึง 2,600 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 91,000 บาท
แต่น่าเสียดายที่ตำรวจจราจรของ New York City ไม่มีบทลงโทษขั้นเด็ดขาดหากมีการละเมิดกฎหมายดังกล่าว ซึ่งใจความสำคัญของร่างกฎหมายกล่าวว่า หากมีการกระทำผิดเป็นครั้งแรก จะถูกปรับประมาณ 800 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 28,000 บาท และหากใครที่ทำผิดมากกว่า 3 ครั้ง จะถูกปรับประมาณ 2,625 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 91,875 บาท ในการส่งเสียงดังเกิดกว่าที่กฎหมายกำหนด
นอกจากนี้ยังมีการแนะนำให้ทางกระทรวงคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (DEP) ส่งรายงานประจำปีต่อนายกเทศมนตรีและประธานสภาโดยระบุรายละเอียดการทำงานในโครงการนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการกำหนดให้ต้องติดตั้งกล้องจับเสียงดังบนท้องถนนอย่างน้อย 5 ตัวในแต่ละเขตเมือง นั่นคืออย่างน้อย 25 จุด เพิ่มเติมจากของเก่าที่มีอยู่แล้ว ซึ่งการทำงานของกล้องจะช่วยระบุตำแหน่ง เพื่อให้ผู้ที่กระทำความผิดรู้ตัวว่าตนเองอยู่ที่ไหน หากพวกเขาต้องการสืบค้นข้อมูลแบบสาธารณะ
และนี่คือตัวอย่างร่างกฎหมายที่ระบุบทลงโทษการสร้างมลภาวะทางเสียงในต่างประเทศ โดยมีบทลงโทษอย่างชัดเจน และเลดี้คิดว่าถือเป็นตัวอย่างที่ดีให้อีกหลายๆ ประเทศ รวมถึงประเทศไทยก็ควรรับไว้พิจารณาด้วยเช่นกัน ใครคิดเห็นยังไงคอมเม้นต์มาพูดคุยกันได้ค่ะ
อัปเดตข่าวรถล่าสุด ดูรีวิวรถยนต์ รีวิวรถมอเตอร์ไซค์ ทุกยี่ห้อ โดยทีมงานมืออาชีพ เช็คราคา ตารางผ่อน พร้อมเกาะติดข่าวสารรถยนต์ไฟฟ้า EV ได้ที่ Autospinn.com
ซื้อขายรถมือสองออนไลน์ ต้องที่ ตลาดรถมือสอง One2car ซื้อรถง่าย ขายรถไว ทั้งรถเก๋งมือสอง รถตู้มือสอง รถกระบะมือสอง ราคาดี ฟรีดาวน์ ผ่อนถูก คุณภาพพร้อมใช้งาน
ความคิดเห็น