“พิมพ์ภัทรา รมว.อุตสาหกรรม” ปาฐกถาในหัวข้อ “ยุทธศาสตร์ยานยนต์ไทย สู่…ท็อปเทนโลก” งานเดลินิวส์ ทอล์ก 2024 เผยโอกาสและอนาคตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าระดับท็อปเทนของโลก ด้านนายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย-เอ็มจีเชื่อมั่นเป็นไปได้แน่นอน
หนุนไทยเป็นฐานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ขึ้นสู่ท็อปเทนของโลก
วันที่ 7 มี.ค.2567 ปารเมศ เหตระกูล กรรมการบริหารหนังสือพิมพ์เดลินิวส์และเดลินิวส์ออนไลน์ เปิดเผยว่า ในโอกาสที่เดลินิวส์จะครบรอบ 60 ปี ในวันที่ 28 มีนาคม 67 นี้ ในฐานะสื่อมวลชนที่อยู่คู่กับสังคมไทยมายาวนาน ได้จัดกิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์ในหลากหลายรูปแบบรวมถึงการจัดงานเสวนา “เดลินิวส์ ทอล์ก 2024” (Dailynews Talk 2024) เพื่อเผยแพร่ความรู้และทิศทางอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทยภายใต้หัวข้อ “เช็กความพร้อมยานยนต์ไทย สู่…ท็อปเทนโลก อย่างยั่งยืน”
พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “ยุทธศาสตร์ยานยนต์ไทย สู่…ท็อปเท็นโลก” ว่า ในปี 2565 ประเทศไทยมีการผลิตยานยนต์รวม 1.9 ล้านคัน เป็นอันดับที่ 10 ของโลก และอันดับ 1 ของอาเซียน มีมูลค่าการส่งออกรวมประมาณ 1.07 ล้านล้านบาท ถือว่าอุตสาหกรรมยานยนต์มีลักษณะที่โดดเด่นคือ มี Supply Chain ที่ยาวนาน เข้มแข็ง แผ่ขยายเป็นวงกว้าง มีคลัสเตอร์ผู้ผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนที่มีอยู่ทั่วประเทศ
“แม้ว่าเราจะไม่ได้เป็นเจ้าของแบรนด์ยานยนต์ หรือ Maker เอง แต่แบรนด์ใหญ่แทบทุกรายล้วนมาตั้งฐานการผลิตและประกอบรถยนต์ในประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางยานยนต์ของภูมิภาค ส่งผลให้อุตสาหกรรมยานยนต์มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย ทั้งด้านการลงทุน การจ้างงาน การสร้างมูลค่าเพิ่ม และการส่งออก”
ปัจจุบันเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยและของโลก และคงไม่มีใครปฏิเสธว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนไปสู่การผลิตยานยนต์ที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางตลาดโลก และการที่ไทยจะรักษาความเป็นฐานการผลิตยานยนต์แห่งอนาคต จำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ที่ผสมผสานในหลายๆ ด้านทั้งยุทธศาสตร์ในเชิงรุก เพื่อเร่งปรับตัวก้าวให้ทันกับกระแสของยานยนต์ไฟฟ้า หรือ รถยนต์ EV ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด เพื่อไม่ให้ไทยตกจากเวทีโลก และจากมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าหรือ EV 3.5 กับมาตรการ EV 3.0 เชื่อว่าจะครอบคลุมการส่งเสริมการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของไทยได้
“กระทรวงฯ ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติในการศึกษา และกำหนดมาตรการ เพื่อส่งเสริมการ Reduce, Reuse และ Recycle เพื่อนำแบตเตอรี่ใช้แล้วกลับมาผลิตเป็นแบตเตอรี่ใหม่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า หรืออุปกรณ์กักเก็บพลังงานไฟฟ้า (Energy Storage System: ESS) ที่ใช้ในอุตสาหกรรมดิจิทัล และได้มอบหมายให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้พิจารณาจัดสรรพื้นที่เพื่อรองรับการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม จากเดิมที่มีพื้นที่ EEC ที่ได้กันพื้นที่ไว้แล้ว”
ทิศทางรถยนต์ไฟฟ้าแข่งดุแน่นอน
กฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกมีโอกาสเติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยคาดว่าในปี 2035 จะมีสัดส่วนเกินครึ่งของตลาดรถยนต์ โดยประเทศจีนจะเป็นตลาดใหญ่ ขณะที่อาเซียนก็มีการเปลี่ยนแปลง มีบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาตั้งโรงงานในหลายๆประเทศในภูมิภาคนี้ แต่ไทยมีโอกาสมากกว่าจากนโยบายของภาครัฐที่สนับสนุน ทำให้การใช้รถไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น และมีบริษัทต่างชาติเข้ามาตั้งโรงงานผลิตในไทยตามเงื่อนไขที่กำหนด
“ในปีที่ผ่านมา ไทยมียอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าประมาณ 7.6 หมื่นคัน มีรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด 54 โมเดลจาก 25 แบรนด์ ส่วนใหญ่เป็นรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน ส่วนสถานีชาร์จมี 9,600 หัวจ่าย จาก 2,200 โลเคชั่น เป็นสัดส่วนประมาณ 20 คันต่อ 1 หัวจ่าย และในปีนี้ จะเห็นแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามาอีก การแข่งขันจะรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะด้านราคา ถือว่าประโยชน์จะอยู่ที่ผู้บริโภค ส่วนผู้ประกอบการจะต้องปรับตัว”
ประเด็นสำคัญที่ภาครัฐจะต้องสนับสนุนพลังงานหมุนเวียน พลังงานสีเขียว มากขึ้น เพราะบริษัทต่างชาติให้ความสำคัญเรื่องนี้ในการเข้ามาตั้งโรงงาน อีกทั้งต้องส่งเสริมเรื่องบุคคลในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากการมีโรงงานเข้ามาตั้ง หากเรามีความพร้อมภาคแรงงาน และหลักสูตร การเรียนการสอน จะสามารถรองรับตลาดแรงงานในอนาคต รัฐต้องจับมือกับเอกชน ให้แรงงาน นักศึกษา มีสถานที่ฝึกงาน และต้องผลักดันให้เกิดการค้าร่วมทุนการค้าไทย เนื่องจากรถที่ผลิตจากไทยมีคุณภาพ ได้รับการยอมรับจากประเทศอื่นๆ จะช่วยให้ไทยมีโอกาสกระจายสินค้าไปต่างประเทศได้มากขึ้น
เอกชนไทยพร้อมเป็นเจ้าของเทคโนโลยีรถอีวีเพื่อความยั่งยืน
พงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลล์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า การทำให้ไทยติดท็อป 10 ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ทำได้ไม่ยาก แต่การทำให้ยั่งยืน ถือเป็นเรื่องยาก เมื่ออุตสาหกรรมยานยนต์เมื่อถูกดิสรัปชั่นแล้ว ก็จะเกิดเปลี่ยนแปลง ไทยจะต้องเป็นเจ้าของเทคโนโลยี จึงจะช่วยให้เกิดความยั่งยืน ไม่เช่นนั้นจะถูกคู่แข่งแซง เพราะตลาดยานยนต์ไฟฟ้าไทยมีขนาดไม่ใหญ่ ดังนั้น การเป็นเจ้าของเทคโนโลยีเองจะช่วยให้เกิดความยั่งยืนมากกว่า
“กติกาการค้าใหม่ จะใช้เรื่องสิ่งแวดล้อมมากีดกันทางการค้า จึงมองว่า ไทยมีโอกาสมากกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน จะเห็นว่า จีน ยุโรป มาลงทุนในไทย การผลักดันเรื่องสิ่งแวดล่อม จะเป็นตัวเสริมมาช่วยลดการกีดกันทางการค้า อยู่ที่ไทยจะฉวยโอกาสได้อย่างไร ซึ่งเรื่องรถยนต์ไฟฟ้า มีเรื่องระบบความปลอดภัย มีระบบการเชื่อมต่อ มีซอฟท์แวร์เข้ามาเกี่ยวข้อง ไทยมีคนเก่งเรื่องซอฟท์แวร์ จึงเป็นโอกาสของไทย”
บทความที่น่าสนใจ
- วางแผนอย่างไร ก่อนถอยรถป้ายแดง
- ซื้อรถป้ายแดง ดาวน์เท่าไหร่ดี?
- 2 วิธีตรวจสอบคะแนนใบขับขี่ด้วยตัวเองผ่านช่องทางออนไลน์
- ต่อใบขับขี่ ไม่ต้องจองได้ไหม ใช้เวลาเท่าไร
อัปเดตข่าวรถล่าสุด ดูรีวิวรถยนต์ รีวิวรถมอเตอร์ไซค์ ทุกยี่ห้อ โดยทีมงานมืออาชีพ เช็คราคา ตารางผ่อน พร้อมเกาะติดข่าวสารรถยนต์ไฟฟ้า EV ได้ที่ Autospinn.com
ซื้อขายรถมือสองออนไลน์ ต้องที่ ตลาดรถมือสอง One2car ซื้อรถง่าย ขายรถไว ทั้งรถเก๋งมือสอง รถตู้มือสอง รถกระบะมือสอง ราคาดี ฟรีดาวน์ ผ่อนถูก คุณภาพพร้อมใช้งาน
ความคิดเห็น