หลังประกาศเปิดตัวรถยนต์เอ็มจี และบริษัทร่วมทุนระหว่างซีพีและเอสเอไอซีอย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อวานนี้ และแม้ว่าเอ็มจีจะเริ่มเข้ามาทำตลาดในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2557 ไปแล้วก็ตาม แต่ก็อย่าคิดว่าซีพีจะอยู่เฉย ๆ เพื่อรอเวลาขายเอ็มจีเพียงอย่างเดียว
เพราะล่าสุดในงานแถลงข่าวเปิดตัวบริษัท ธนากร เสรีบุรี รอบประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์และประธานคณะผู้บริหารกลุ่มธุรกิจยานยนต์และอุตสาหกรรม เครือซีพี เปิดเผยว่าแผนการเดินหน้าธุรกิจยานยนต์ของซีพีในประเทศไทยยังไม่หมดเพียงเท่านั้น
เพราะนอกจากการร่วมเซ็นสัญญาเพื่อตั้งโรงงานผลิตและบริษัทจำหน่ายรถยนต์เอ็มจีในประเทศไทยแล้ว การเป็นพันธมิตรของซีพีและเอสเอไอซีเอง จะรวมไปถึงการร่วมมือเปิดตลาดรถยนต์นั่งพวงมาลัยขวาทั้งหมด ที่โรงงานในประเทศไทยจะส่งสินค้าไปจำหน่าย
นั่นก็หมายถึงบริษัท เอ็มจี เซลล์ (ประเทศไทย) จำกัด จะกลายเป็นผู้ดูแลการจำหน่ายและการทำตลาดของรถยนต์เอ็มจี ในตลาดรถยนต์พวงมาลัยขวาทั้งหมด โดยคาดว่าจะเริ่มจากในภูมิภาคอาเซียน อันประกอบไปด้วย มาเลเซีย อินโดนีเซียและสิงโปร์
ขณะที่ตลาดอื่น ๆ ของอาเซียนซึ่งเป็นตลาดพวงมาลัยซ้ายนั้น แหล่งข่าวผู้บริหารระดับสูงของเอ็มจี ระบุว่ามีความเป็นไปได้เหมือนกันที่จะเปิดไลน์การผลิตสำหรับรถยนต์พวงมาลัยซ้ายขึ้นมาเพื่อรองรับ โดยหวังใช้เขตการค้าเสรีอาเซียนเป็นตัวผลักดันการส่งออก
นอกจากนี้ แหล่งข่าวคนเดียวกันยังระบุว่าเป้าหมายการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์พวงมาลัยขวานั้น มองไปถึงการส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศอินเดีย ญี่ปุ่น รวมไปถึงในเครือสหราชอาณาจักรเอง ซึ่งแม้จะมีโรงงานผลิตก็เป็นโรงงานเล็กที่เน้นการประกอบเท่านั้น
ทั้งนี้ จากข้อมูลในงานแถลงข่าว โรงงานแห่งแรกของเอ็มจีจะตั้งที่นิคมอุตสาหกรรมเหมราช โดยมีกำลังผลิตเบื้องต้น 5 หมื่นคัน และจะทำการผลิตรถยนต์ที่จำหน่ายในประเทศไทยทั้ง 4 รุ่น โดยมีเป้าหมายที่จะใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ 40% ซึ่งในปี 2557 คาดว่าจะมีการผลิต 5,000 คัน และตั้งเป้าหมายการจำหน่าย 2,000 คัน ในช่วงไตรมาสสุดท้าย
"ราคาจำหน่ายรถยนต์ของเอ็มจี จะอยู่ที่ 6 แสน - 1.5 ล้านบาท โดยจะเน้นการทำตลาดแข่งกันตลาดบี-เซกเมนต์และบีบวก ด้วยรถยนต์เครื่องยนต์ 1.2-1.5 ลิตร และจะเริ่มทำตลาดเอ็มจี 6 เป็นรุ่นแรก ซึ่งเรายืนยันว่าเอ็มจีไม่ใช่รถยนต์ราคาถูก แต่เป็นรถที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นที่ผู้ขับรถยนต์น่าจะชื่นชอบ" ธนากรกล่าว
ขณะที่การลงทุนเพิ่มเพื่อให้มีกำลังการผลิตระดับ 2 แสนคันต่อปีนั้น จะต้องมีการลงทุนด้วยเม็ดเงินมหาศาลและต้องใช้เวลาสักระยะ รวมถึงการหาสถานที่ตั้งของโรงงานแห่งใหม่ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้มีการพิจารณาแผนงานในส่วนนี้แต่อย่างใด
ธนากรยังระบุอีกว่านอกเหนือไปจากการทำธุรกิจรถยนต์เอ็มจีแล้ว ในปีหน้า ซีพีและเอสเอไอซีจะร่วมมือกันเปิดธุรกิจจำหน่ายรถตู้ในประเทศไทย โดยจะทำตลาดรถตู้ยี่ห้อแม็กซัส (MAXUS) ซึ่งเป็นรถตู้ที่ผลิตโดยบริษัท บริติช เลย์แลนด์ จำกัด (British Leyland)
"เราเตรียมที่จะทำตลาดรถตู้แม็กซัส 2 รุ่น ประกอบไปด้วยรุ่นแรกที่จะทำตลาดแข่งขันกับรถตู้ในกลุ่มโตโยต้า คอมมิวเตอร์ และอีกกลุ่มจะเป็นกลุ่มที่ทำตลาดแข่งกับฮุนได เอช-วัน ซึ่งแผนงานทั้งหมดยังไม่สามารถเปิดเผยได้ขณะนี้"
ขณะเดียว หวู่ ฮวน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด ก็เปิดเผยว่าบริษัทฯ กำลังสนใจและให้การศึกษาโครงการรถยนต์นั่งประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล หรือ อีโคคาร์ โครงการที่ 2 ซึ่งรัฐบาลประกาศว่าจะต้องส่งแผนการลงทุนทั้งหมดก่อนเดือนมีนาคม 2557
อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่ต้องทำการศึกษาอย่างใกล้ชิด แต่ยอมรับว่าเอสเอไอซีเองก็มีความสนใจในเรื่องนี้ แต่ยังไม่สามารถตอบอะไรได้ทั้งหมดเกี่ยวกับโครงการต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าการเข้ามาของซีพีและเอสเอไอซีครั้งนี้ ถือว่าไม่ธรรมดา มีการเตรียมแผนงานทั้งรุกและรับไว้อย่างต่อเนื่อง ทำให้เราเชื่อว่าปี 2557 จะเป็นปีที่ซีพีสร้างความคึกคักให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยอย่างแน่นอน!!!
ความคิดเห็น