มีเรื่องหนึ่งซึ่งจะมองข้ามไม่พูดถึงไม่ได้เลยสำหรับแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์ในปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมค่อนข้างมาก และเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ตลาดหดตัวไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
สิ่งนั้นก็คือนโยบายของรัฐบาล ที่แน่นอนว่าในภาพรวมนอกจากจะมีการดูดกำลังซื้อไปก่อนหน้านั้นแล้ว ปัญหาในเรื่องการควบคุมราคาพลังงานและราคาสินค้าทางการเกษตร ประกอบกับนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ไม่เห็นผลเป็นรูปธรรมก็ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม
จริง ๆ แล้วภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยต้องบอกว่ามีความเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับนโยบายของรัฐบาลเป็นอย่างมาก เพราะหากการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมเป็นไปได้ด้วยดี อุตสาหกรรมยานยนต์ก็มักจะเติบโตไปด้วย และหากแนวโน้มเศรษฐกิจทรุดตัว อุตสาหกรรมยานยนต์ก็พร้อมที่จะหดตัวลงทันที
ในรอบปีที่ผ่านมา ไม่มีนโยบายใดของภาครัฐที่จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์อย่างต่อเนื่องและรุนแรงได้เท่ากับการคืนภาษีรถยนต์คันแรก ซึ่งเป็นนโยบายที่จบไปตั้งแต่สิ้นปี 2555 แต่ยังส่งผลกระทบมาจนถึงช่วงกลางปี 2556
การดูดกำลังซื้อตามธรรมชาติไปล่วงหน้า 1 ปี เพื่อเข้าร่วมโครงการคืนภาษีให้กับผู้ซื้อรถยนต์คันแรกสูงสุด 1 แสนบาท แน่นอนว่าทำให้การทำตลาดสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ในปีนี้ เป็นไปได้อย่างยากลำบากมากขึ้น เนื่องจากความต้องการบางส่วนได้ถูกนำไปใช้ก่อนหน้า
ในรอบปีที่ผ่านมา ทำให้เราพบเห็นการจัดแคมเปญและโปรโมชั่นจากค่ายรถยนต์อย่างต่อเนื่องและรุนแรง แทบจะเรียกได้ว่าเป็นปีแห่งผู้บริโภคที่สามารถเลือกซือ เลือกช๊อปรถยนต์ที่ตัวเองสนใจกันได้ตลอดทั้งปี โดยไม่ต้องรอช่วงเวลาที่ค่ายรถจะปล่อยแคมเปญพิเศษออกมา
ไม่มีปีไหนอีกแล้วที่ประเทศไทยจะพบกับอภิมหาแคมเปญที่ลดราคากันกระหน่ำคิดเป็นมูลค่าหลักแสนบาท เพื่อให้เท่าเทียมกับนโยบายคืนเงินสูงสุดจากภาครัฐ ขณะที่ผู้บริโภคเองก็ถูกปรับพฤติกรรมในการเลือกซื้อรถยนต์ไปอย่างไม่ตั้งตัว
นั่นก็คือความต้องการในการใช้งานรถยนต์ให้ถูกประเภทนั้นลดน้อยถอยลงไป และการเลือกซื้อรถยนต์ตามโปรโมชั่นของรัฐบาลมีเพิ่มมากขึ้น ทำให้รถยนต์ที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการรถคันแรกชะงักงันในรอบปีที่ผ่านมา
สิ่งที่รัฐบาลควรจะทบทวนก็คือผลของโครงการที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนยอดผู้ไม่มารับรถยนต์ในโครงการที่สูงกว่า 1.32 แสนคัน จำนวนเงินภาษีที่คืนไปแล้วซึ่งอาจจะมีผู้ไม่ทำตามกฎการถือครองรถยนต์ 5 ปีที่กำหนดเอาไว้
นอกจากนี้ การเพิ่มจำนวนรถยนต์บนท้องถนนโดยที่ไม่ได้มีการวางแผนการพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคเพื่่อรองรับ แน่นอนว่าจะต้องก่อให้เกิดปัญหารถติดมหาศาลตามมาอีกต่างหาก ซึ่งผู้ได้รับผลกระทบก็คือผู้ใช้รถใช้ถนนเดิม ๆ ที่ซื้อรถยนต์ราคาเต็มแบบไม่มีโปรโมชั่นพิเศษ
ขณะที่ผู้ผลิตรถยนต์ก็ต้องประสบกับปัญหาในเรื่องของการจัดการสต๊อกสินค้าที่มีอยู่ เนื่องจากในเบื้องต้นต้องเร่งการผลิตเพื่อรองรับยอดจองที่เพิ่มขึ้นสูงมากขึ้น ขณะที่เมื่อลูกค้าปฏิเสธการรับรถแล้ว ปัญหาก็คือจะทำการจัดการกับสต๊อกสินค้าที่มีอยู่อย่างไร ทำให้เป็นที่มาของมวลหมู่มหาโปรโมชั่น และการเช่าพื้นที่จอดรถที่ผลิตสำเร็จแล้วในรอบปีที่ผ่านมาเช่นกัน
ต้องขอแสดงความดีใจแบบออกนอกหน้า ที่นโยบายแบบนี้จบลงไป และหวังว่าคงไม่มีอะไรวนกลับมาอีกครั้ง!!!
ความคิดเห็น