รีวิว MV Agusta F3 675 EAS Supersport Middle Weight ที่สวยที่สุดในโลก ขี่ไปไหนทุกสายตาจะคอยสะกดคุณ Share this
รีวิวรถยนต์
โหมดการอ่าน

รีวิว MV Agusta F3 675 EAS Supersport Middle Weight ที่สวยที่สุดในโลก ขี่ไปไหนทุกสายตาจะคอยสะกดคุณ

Pon Piantanongkit
โดย Pon Piantanongkit
โพสต์เมื่อ 29 April 2557

เมื่องาน Motor Expo 2013 ที่ผ่านมา ทางค่าย MV Agusta โดยบริษัท Kunka Cororation ได้เปิดตัวรถใหม่ของค่าย 2 รุ่น ได้แก่ MV Agusta Rivale รถที่ถือว่าสวยงามที่สุดแห่งปี 2013 และ F3 800 รถ Supersport ที่มาอุดช่องว่าง ระหว่าง Class 600 – 1,000cc

2012-MV-Agusta-F3-675-TestRide_21

และในวันนี้ ถือเป็นโอกาสที่ดี ที่เราได้มีโอกาสสัมผัสกับรถ F3 675 ซึ่งถือเป็นรถ Bigbike Middle Weight ที่สวยที่สุดในโลก The Most Beautiful 600 in the world

นอกจากนั้นในรายการ World Superbike Class Supers Sport สนามแรก Jules Cluzel ได้ควบ F3 675 คว้าอันดับ 1 ที่สนาม Phillip Island เป็นที่เรียบร้อย

2012-MV-Agusta-F3-675-TestRide_25

ต้นกำเนิดของ MV Agusta F3 นี้ได้ถือกำเนิดจากโปรเจ็คของ Claudio Castiglioni อดีตประธานหัวเรือใหญ่ของ MV Agusta มีความตั้งใจพัฒนาเครื่องยนต์บล๊อกใหม่ 3 สูบ 675cc ขึ้นมา ซึ่งโปรเจ็คนี้ ถือเป็นโปรเจ็คสุดท้ายก่อนการเสียชีวิตของเขา ทาง MV ได้ใช้งบลงทุนไปเป็นจำนวนมาก กว่าที่จะปลุกปั้น เครื่องยนต์ตัวนี้ จากการ downsized เครื่องยนต์ 4 สูบ ที่ใช้กับ F4 ลง เพื่อนำมาปรับใช้กับรถ Supersport คันที่มีเรือนล่างเล็กกว่า F4 นั่นก็คือ F3 Supersport Mid Sized คันนี้ และมันจะช่วยสะท้อนภาพลักษณ์รถสนามโดยเฉพาะ เอาล่ะมาชมผลงาน Masterpiece ชิ้นสิ้นสุดท้ายของ Claudio Castiglioni กันเลยดีกว่า

2012-MV-Agusta-F3-675-TestRide_71

รูปลักษณ์ของ  MV Agusta F3    ถือเป็นรถ Supersport ใน Class Middle Weight   มากับดีไซน์ไฟหน้าอันเป็นเอกลักษณ์   แบบดวงไฟเดี่ยว  มันจึงดูเหมือนอสูรกายตาเดียว    และอีกจุดเด่นของรถ MV Agusta คือ การดีไซน์ปลายท่อที่ไม่เหมือนใคร  ปลายสั้นออกด้านข้าง มากับช่องระบายไอเสียถึง 3 ช่อง  GP3  ทำให้รถดูทรงพลัง  ร่วมกับล้ออลูมีนัมอัลลอย ที่มีลวดลายงดงาม  มาพร้อมกับ Single Sided Swingarm ที่ช่วยให้ ล้อดูเต็มซุ้มหลัง    และที่สำคัญ F3 นี้  มากับดีไซน์ที่ดูเพรียว  โฉบเฉี่ยว  จากเส้นสายที่แหลมคมกว่าตัว F4

2012-MV-Agusta-F3-675-TestRide_10

ด้านโรงสร้างรถใช้เฟรมตัวถังเหล็ก ผสม อลูมีนัม  จึงช่วยให้น้ำหนักตัวค่อนข้างเบา  อยู่ที่  173 กก. (Dry Weight)  โดยมีความสูงเบาะ 805mm    ซึ่งช่วยให้ผู้ที่มีสัดส่วนไม่สูงมาก อย่างคนเอเชียเราสามารถยืนคร่อมเหยียบได้เต็ม 2 ขา

2012-MV-Agusta-F3-675-TestRide_55

มาดูที่แผงหน้าปัด   พบแถบวัดรอบเครื่องยนต์เป็นสเกลวิ่งในแนวราบ  สำหรับความเร็วขึ้นเป็นตัวเลขดิจิตัล    ด้านซ้ายบอก โหมดEngine Map และ ตำแหน่งเกียร์  ทางด้านขวาเป็นแถบวัดความร้อนเครื่องยนต์       โดยไม่มีสเกลบอกระดับของน้ำมันที่เหลือในถังความจุ 16.5 ลิตร   ซึ่งอาจต้องอาศัยสังเกตุจากปุ่มเตือนให้เติมน้ำมัน

2012-MV-Agusta-F3-675-TestRide_60

สวิทช์ไฟฝั่งซ้ายประกอบด้วย  ประกับด้านขวามือ จะพบสวิทช์ off-run  และปุ่มสตาร์ทเครื่องยนต์  ซึ่งหากกดปุ่มค้างไว้จะเป็น Engine Map  (โหมดการขับขี่)   ทางฝั่งซ้ายจะมีปุ่มต๊อปไฟสูง  และปุ่มเปิดไฟเลี้ยว  แตรให้เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว  แต่จะมีปุ่มสวิทช์ Comand เอาไว้ดูเซ็ตค่าบนหน้าจอเพิ่มเข้ามา

2012-MV-Agusta-F3-675-TestRide_13

สำหรับในรูปลักษณ์เนื้องานแล้ว  อาจมีจุดติบ้าง  ในเรื่องของการเก็บงานท่อสายยางระบายไอน้ำมันที่ ดูยื่นโผล่ออกรกตาไปสักนิด     กับเบาะ ผู้ซ้อน  ขนาดจิ๋ว  พื้นที่แคบบาง  พอที่จะให้สาวเอวบางก้นเล็กซ้อนพอได้ในระยะสั้น    ซึ่งใช้สีขาวเพื่อให้ดูกลืนกับสีตัวถัง   จึงดูเหมือนตูดมด  แบบรถขี่คนเดียว  เพิ่ม Look Sport ยิ่งขึ้น  แต่ด้วยความที่ใช้สีขาวจึงดูเลอะง่ายอย่างเห็นได้ชัด

2012-MV-Agusta-F3-675-TestRide_08

และในคันทดสอบนี้ได้เปลี่ยนพักเท้า เป็นแบบเกียร์โยง  ทำให้ระบบเกียร์  จะกลับกันกับตัวปกติ   คือ  จาก  ตบลง 1  งัดขึ้น 2 -6  จะกลายเป็น   งัดขึ้น 1 ตบลง 2-6   ซึ่งผู้ที่ไม่เคยขี่รถญี่ปุ่นในยุคเก่าๆ   อาจต้องระวัง ในการแยกแยะประสาทสัมผัสเล็กน้อย     และได้ตั้งติดฝาตกแต่งครอบเครื่องยนต์  ซึ่งจะช่วยเป็นกันแคร้งเครื่องไปในตัว

2012-MV-Agusta-F3-675-TestRide_28

นอกจากนั้นยังเปลี่ยนตำแหน่งพักเท้า  เป็นแบบเกียร์โยงทำให้ตำแหน่งวางเท้าสูงขึ้น     จากการเปลี่ยนตำแหน่งพักเท้าคนขี่ เป็นรูปแบบเกียร์โยง  จึงทำให้ท่านั่งเปลี่ยนไปด้วย   ตำแหน่งวางเท้าถูกยกขึ้นสูง และเยื้องออกไปทางด้านหลัง  ท่านั่งยิ่งบังคับให้ก้มโค้งหลังมากขึ้นแบบรถสนาม   และจากที่เราได้ยืมมาทดสอบ และถ่ายทำรีวิวในพื้นที่  กทม.  ที่พบสภาพการจราจรทั้งรถโล่ง  และที่รถติดขัด  ส่งผลให้เมื่อยปวดหลังกันเอาเรื่อง  ทีเดียว   แต่อย่างว่าอยากเท่ห์  อยากหล่อ  ต้องลำบาก, อดทน   เพราะท่านั่งแบบนี้  ไม่ว่าจะผ่านไปไหนมาไหน  ก็ต้องมีแต่คนหันมาเหลือบมอง  ร่วมกับซุ่มเสียงที่หอมหวาน  และหากผู้ที่ชอบใส่กางเกงยีนส์ขาเล็กๆ  และเนื้อพาแข็ง หน่อยแล้ว  ต้องระวังการเสียดสี บริเวณข้อพับเข่า  ด้านหลัง  เพราะ  นี่เป็นสิ่งที่ผู้เขียนได้เจอมากับตัว  กับการลองขี่ 2 วัน

2012-MV-Agusta-F3-675-TestRide_07

เครื่องยนต์  MV Agusta F3  ใช้เครื่องยนต์แบบ 3 สูบเรียง 12 วาล์ว  675cc   128 แรงม้า @ 14,400rpm และแรงบิด   71Nm @10,900rpm     คันเร่งแบบ Ride-byWire   ให้ซุ่มเสียงที่ดุดันเป็นเอกลักษณ์   ในสไตล์รถอิตาเลียน   เริ่มต้นกำคลัชสตาร์ทเครื่อง  พบว่าน้ำหนักคลัชไม่หนักอย่างที่คิด     เสียงเครื่องในรอบเดินเบาจะพบเสียงรัวแบบสั่นๆ   ดุแต่ไม่ดิบจนเกินไป แบบเครื่อง 2 สูบ   แต่ก็ไม่นุ่มแบบเครื่องยนต์ 4 สูบ   แต่  ขณะเบิลเครื่องที่เกียร์ว่าง เสียงดุดัน  แต่ไม่แผดกร้าว  หวานไพเราะอย่างบอกไม่ถูก   แต่เวลาวิ่งออกตัวไปแล้วเสียงเหล่านั้นดูจะเลือนลางหายไป  กลายเป็นเสียงเครื่องที่เป็นเอกลักษณ์แต่ไม่ไพเราะนัก

2012-MV-Agusta-F3-675-TestRide_63

สำหรับการขับขี่ใช้งานในตัวเมืองถือว่า ลำบากพอสมควร จากเครื่องยนต์ที่เน้นรอบจัดจ้าน  การมุดคลานในช่วงรถติดบางจังหวะ  อาจต้องคอยเลี้ยงคลัชเอาไว้ตลอด เนื่องจากที่รอบเครื่องยนต์ต่ำเกินไป  (รอบต่ำกว่า 2500rpm)  อาจพบอาการเครื่องยนต์สะอึก  (กระตุกดับ)   จึงต้องอาจคอยเลี้ยงคลัชเอาไว้  หรือเบิลรักษาให้รอบไม่ต่ำจนเกินไป  ซึ่งนั่นดูจะไม่ทำให้อัตราสิ้นเปลืองในการใช้งานตัวเมืองดีนัก   การขับขี่เครื่องยนต์ไม่ได้ออกแบบมาอย่างสมูทเพื่อให้ขี่ใช้งานทั่วไป มันจะออกกระชากกระตุกๆ ดิบพอไม่แพ้กับเสียงของมันเอง และการขี่ใช้งานยาวๆ  อาจพบอาการข้อมือขวาชา  จากการสั่นที่บริเวณแฮนด์ฝั่งขวา    ซึ่งหากมีการติดตั้งกันสะบัดเพิ่มน่าจะช่วยให้แฮนด์มีอาการนิ่งขึ้น สั่นน้อยลงกว่าเดิม       สำหรับจุดที่น่าประทับใจ  คือ การระบายความร้อนของเครื่องยนต์    เนื่องจากการนำมาใช้ขับขี่ในเมืองไทยบ้านเราที่มีสภาพอากาศร้อนจัดนี้   พบว่า ระดับสเกลความร้อนของเครื่องยนต์ ขึ้นมาถึงขีดระดับที่ 6 (เกินขีดกลางมาเพียง 1 ช่อง) เท่านั้น   และแม้ว่าจะระบายได้ดีแค่ไหน โดยที่ยังไม่ Overheat  แต่การจอดติดไฟแดงเป็นเวลานาน  ก็ยังควรที่จะดับเครื่องทิ้งอยู่ดี เนื่องจาก เล่นเอาร้อนหน้าแข้งซ้ายกันมากอยู่เหมือนกัน  กับรถในระดับ Mid Sized  นี้

2012-MV-Agusta-F3-675-TestRide_03

ด้าน Top Speed ที่เคลมไว้ที่ 260 กม./ชม.    สำหรับการใช้งานที่เราได้มีโอกาสนำมาทดสอบนั้น  อาจไม่ได้ใช้เต็มเปี่ยมทุกอัตรากำลัง   เนื่องจากเน้นถ่ายทำและใช้งานในตัวเมือง แบบใช้ในชีวิตประจำวันเสียมากกว่า    ทันทีที่เริ่มออกตัวไป   พบแรงฉุดของเครื่องที่รอบเดินเบามีแรงพอสมควร   รถสามารถพุ่งทะยานออกตัวได้อย่างรวดเร็ว   และพบแรงบิดเริ่มมาที่ราว 3,500rpm   และเริ่มดึงหนักขึ้นมากตั้งแต่ช่วง 6,000rpm ไป   แต่ถ้าพูดกันตามจริงแล้ว Torque  ของ F3 คันนี้ไม่ถือว่าหนักมากในช่วงใช้งานรอบต่ำ  และมาที่รอบเครื่องยนต์ที่อาจดูสูงกว่ารถพวกพิกัด Midsized แบบ 2 สูบเล็กน้อย    แต่เมื่อผ่านพ้นช่วงที่ลากรอบเครื่องไปสูงกว่า 8,000rpm   อาจจะต้องใช้สมาธิในการเกร็งควบคุมแฮนด์ให้ดียิ่งขึ้น   รวมถึงการโน้มเอนตัวให้ชิดกับตัวถังมากขึ้น    เพราะหากปล่อยมือ  อาจพบกับแรงดึงที่ทำให้ตัวอาจจะปลิวหลุดไปจากรถ   และนั่นจะทำให้อะดรีนาลีน  หลั่งพุ่งพร่าน  ซึ่ง MV Agusta F3  675 คันนี้จะมอบความฟิน  ในรูปแบบของเครื่องยนต์ 3 สูบ

2012-MV-Agusta-F3-675-TestRide_40

ระบบเกียร์ MV EAS  (Electronic Assist Shift)     ช่วยให้การเปลี่ยนเกียร์เป็นไปอย่างรวดเร็ว (Quick Shift)  ในบางจังหวะสะดวกง่ายดาย     เข้าเกียร์ได้โดยไม่ต้องกำคลัช   แต่หากจังหวะ  ที่รอบเครื่องยนต์ไม่สูงพอ  ก็ไม่สามารถที่จะขึ้นเกียร์ได้ต้องกำคลัชช่วย  หรือ ในขณะที่ต้องการลดเกียร์ก็เช่นเดียวกัน   ในบางจังหวะที่รอบเครื่องยนต์ไม่ต่ำพอจนใกล้พบอาการกระตุกดับ   ก็ต้องกำคลัชเช่นกัน

ในด้านของ E-Brake จากที่ลองในโหมด Normal พบว่า มีแรงดึงกลับแบบไม่หนักมากนัก  ช่วยให้การควบคุมไม่สูญเสียจังหวะ ในการลดเกียร์เพื่อเรียกกำลัง   และการควบคุมรถในช่วงที่ชะลอความเร็ว ก่อนถึงโค้ง

2012-MV-Agusta-F3-675-TestRide_75

สำหรับระบบ Electronic  ของเครื่องยนต์  ได้แก่   โหมดกำลังของเครื่องยนต์  ที่ถูกควบคุมด้วย  Engine Map  มีโหมด  Sport, Normal, Rain และ Custom  (ปรับเซ็ตค่าพารามิเตอร์ ต่างๆได้เอง)  ซึ่งจะให้การตอบสนองต่อการใช้งานต่างๆ กันไป ตั้งแต่   จังหวะการเปิดของลิ้นปีกผีเสื้อ  ซึ่งส่งผลต่อการตอบสนองของคันเร่ง,  แรงบิดของเครื่องยนต์, แรงดึงจาก E-Brake,   และการจำกัดรอบเครื่องยนต์  เป็นต้น

นอกจากนั้นการเซ็ตค่า  Traction Control  ยังสามารถปรับได้มากถึง 8 ระดับ ด้วยกัน  เพื่อให้ตอบโจทย์กับการขับขี่ของแต่ละ คนซึ่งมีรูปแบบต่างกันไปจนถึง พื้นผิวถนนที่มีหลากหลายรูปแบบในบ้านเรา

2012-MV-Agusta-F3-675-TestRide_12

ระบบเบรก   Twin Disc  320mm  คาลิปเปอร์  4 ลูกสูบ  Brembo Radial Mount   ซึ่งแตกต่างจากในรุ่น F3 800 ที่อัพเกรดเป็นเบรกแบบ Monobloc  จานหลังเดี่ยวขนาด   220mm  คาลิปเปอร์ 2 ลูกสูบ   หยุดรถได้เป็นอย่างดี  กำหยุดอยู่มือในระดับหนึ่ง   การขับขี่มาด้วยความเร็วยังสามารถหน่วงความเร็วลงได้อย่างรวดเร็วดีเยี่ยม  ไม่มีหวาดเสียวสันหลังนัก   แต่ในบางจังหวะที่หาก ซัดมาด้วยอัตราเร่งรอบสูงๆ    และเบรกเพื่อจะหยุดยังคงพบว่าถ้าไม่ได้เบรกกดน้ำหนักลงมาก  แบบหน้าเกือบทิ่ม  รถอาจมีระยะหยุดที่ยาวขึ้นเล็กน้อย  (อาจเป็นผลมาจากกำลังฉุดของเครื่องยนต์ที่มีในรอบสูง) และในรุ่นนี้ที่ไม่มี ABS   การเบรกลงด้วยน้ำหนักที่มาก เกือบเข้าขั้นเบรกฉุกเฉิน   โดยเฉพาะที่ล้อหลัง   อาจส่งผลให้เกิดการส่ายสูญเสียการควบคุมไปบ้าง   กับการขับขี่ใช้งานทั่วๆไป   แล้วอาจทำให้เราลืมนึกถึงมันไปเลยว่า ไม่มี ABS   เพราะ การควบคุมรถของ F3 คันนี้ ถือว่าทำได้อย่างดี  ยกเว้นแต่ว่า  หากเกิดฝนตก  แล้วต้องขี่บนพื้น Track ที่เปียก  ABS อาจจะมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

2012-MV-Agusta-F3-675-TestRide_66

ระบบกันสะเทือนและการควบคุม   รถ MV Agusta F3 675 คันนี้ใช้ โช้คอัพคู่หน้าจาก Mazocchi  ขนาดแกนโช้ค 43mm  แบบ Up Side Down   ซึ่งปรับ Rebound –Compression Damping   และ Spring Preload     ด้านหลังใช้  โช้คอัพเดี่ยวจาก  Sachs   ซึ่งปรับ Rebound –Compression Damping   และ Spring Preload        กับสวิงอาร์มหลังอลูมีนัม น้ำหนักเบาแบบ  Single-Sided  ที่ช่วยให้วงล้อดูใหญ่โต และอวดโชว์ลายล้อ ให้เข้ากับปลายท่อยิ่งขึ้น

ด้านล้อที่ใช้ก็เป็นแบบอลูมีนัมอัลลอย  สวมยางOn Road ชั้นเยี่ยม Pirelli Diablo Rosso  Corsa  Made in Germany  ขนาดยางหน้า 120/70/17  และ 180/55/17  สำหรับยางหลัง

2012-MV-Agusta-F3-675-TestRide_79

ในด้านของ  handling  การควบคุมและการยึดเกาะถนนนั้น   ทำได้อย่างดีทั้งการเข้าโค้งและการหักเลี้ยวรถ  เนื่องจากน้ำหนักของตัวที่ไม่มาก และวงเลี้ยวที่ค่อนข้างแคบ ช่วยให้การควบคุมในทางโค้งดูจะไม่เป็นเรื่องยากเกินไปสำหรับผู้ที่เรือนร่างเล็ก     และยางซีรีย์ Corsa จาก Pirelli ที่ช่วยให้การขับขี่เป็นไปอย่างมั่นใจยิ่งขึ้น        แต่อาจจะพบอาการจากช่วงล่างที่ไวไปสักนิด   เมื่อต้องขี่ผ่านพื้นผิวที่ไม่ราบเรียบ   และในช่วงที่เป็นเนินพื้นผิวนูนขึ้นมา  ถ้าขับมาเร็วรถอาจมีเหินลอยขึ้นเล็กน้อย เนื่องด้วยน้ำหนักตัวที่ค่อนข้างเบา

2012-MV-Agusta-F3-675-TestRide_62

บทสรุป  MV Agusta F3 675    รถ Supersport  Mid Size  Premium   ทั้งตัวแบรนด์  และราคา     เป็นรถที่สร้างมาตรฐานใหม่ให้แก่รถแนว Supersport  Middle Weight     ทั้งในด้านของดีไซน์รูปลักษณ์  ต้องขอยอมรับว่าสวยแทบไร้ที่ติ (ถ้าไม่ติดตรงท่อยางระบายไอน้ำมัน)   เพราะมันดูสวยงาม กว่ารุ่นพี่  F4 ด้วยซ้ำไป     และการพัฒนาเครื่องยนต์แบบ 3 สูบเรียง  ที่มีเสียงและรูปแบบการขับขี่ที่เป็นเอกลักษณ์     สมรรถนะการขับขี่ใช้งานถือว่า กำลังมีให้ใช้อย่างดีเยี่ยม   แต่การใช้งานในตัวเมือง  อาจลำบากไปนิด  เนื่องจากเป็นรถที่รอบจัด  เน้นใช้กำลังที่รอบสูง  มากกว่าแรงบิดจากรอบต่ำ  จึงอาจทำให้ต้องคอยเลี้ยงคลัช  หรือรักษารอบเครื่องให้อยู่ในรอบสูง    สำหรับในด้านการควบคุมตัวรถ  และการยึดเกาะถนนถือว่า ทำหน้าที่ได้อย่างดีเยี่ยม

2012-MV-Agusta-F3-675-TestRide_82

เอาเป็นว่า  หากเรื่องเงินไม่ใช่ปัจจัยในการซื้อของคุณ   และคุณเป็นผู้หลงใหล คลั่งใคล้ ในเรื่องรูปลักษณ์ การดีไซน์ที่สวยงาม  เสียงที่ไพเราะไม่เหมือนใครแล้ว    อีกทั้งเน้นออกรถมาขับขี่แบบสนุกในการไป Track Day กับเพื่อนๆ     อาจจะนำรถออกมาขี่ไปมีตติง หรือเที่ยวเล่นบ้างเป็นครั้งคราว   แล้วล่ะก็   มองข้ามจำนวนเงินที่คุณต้องจ่ายเพื่อแลกกับความนจุ cc  ที่สูงกับ การไม่มี ABS  ไปได้เลย   เพราะ MV Agusta F3 675  คันนี้  จะมอบประสบการณ์ในการขับขี่ที่ไม่เหมือนใครให้   แค่ขี่ไปไหนมาไหน ก็หล่อโครต เพราะทุกสายตาจะจ้องมองมาที่คุณ

2012-MV-Agusta-F3-675-TestRide_69

MV Agusta F3  675 EAS  ราคา 9.49 แสนบาท    มีให้เลือก 3 สี   ได้แก่  ขาว, ดำ เมทัลลิก และ แดง-เงิน

ขอขอบคุณ บริษัท Kunka Corp สำหรับรถทดสอบ MV Agusta F3 675  สีขาวคันนี้

ภณ เพียรทนงกิจ Test Driver

ชมภาพเพิ่มเติมคลิ๊ก


ความคิดเห็น


เรียกดูข่าวตามประเภทยานพาหนะ

ค้นหาข่าวโดยยี่ห้อ