[Year End 2014] ทิ้งทวน 7 ข่าวใหญ่วงการยานยนต์โลกส่งท้ายปี 2014 Share this

[Year End 2014] ทิ้งทวน 7 ข่าวใหญ่วงการยานยนต์โลกส่งท้ายปี 2014

Satapana
โดย Satapana
โพสต์เมื่อ 23 December 2557

ถึงแม้ตลอดทั้งปี 2014 จะเป็นช่วงเวลาที่วงการยานยนต์เมืองไทยอยู่ในภาวะซบเซา แต่สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์โลกมีความเคลื่อนไหวที่น่าติดตามมากมาย วันนี้ทีมงาน Autospinn ขอรวบรวมข่าวคราวที่น่าสนใจที่สุดมาฝากกัน

1. ความคึกคักของรถไฮโดรเจนฟิวเซล

รถพลังงานทางเลือกอย่างไฮโดรเจนฟิวเซลมีความคึกคักตลอดทั้งปีนี้และเชื่อว่าจะเป็นข่าวใหญ่ต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้าเมื่อโตโยต้าเปิดตัวมิราอิ (Toyota Mirai) ออกจำหน่ายจริงในเดือนเมษายน ก่อนส่งทำตลาดอเมริกาและยุโรปภายในช่วงกลางปี

https://img.icarcdn.com/autospinn/body/Mirai-Water-21.jpg

มิราอิจะกลายเป็นรถไฮโดรเจนฟิวเซลรุ่นแรกในโลกที่ออกจำหน่ายในวงกว้าง ไฮไลท์อยู่ที่ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและความสะดวกสบายในการใช้งานไม่ต่างจากน้ำมันเบนซินและดีเซลทั่วไป แต่อุปสรรคสำคัญของการพัฒนารถไฮโดรเจนยังอยู่ที่โครงสร้างพื้นฐานอย่างสถานีเติมเชื้อเพลิงและต้นทุนการพัฒนาระบบขับเคลื่อนที่ยังสูงเกินกว่าจะสร้างความคุ้มค่าได้ในระยะสั้น

https://img.icarcdn.com/autospinn/body/hydrogen.jpg

นอกจากโตโยต้าแล้ว ฮอนด้ายังเปิดตัวเอฟซีวี (FCV) รถไฮโดรเจนรุ่นโปรดักชั่นออกขายในปี 2016 เช่นกัน ซึ่งดูแล้วมีดีไซน์ที่เข้าตามากกว่ามิราอิเสียอีก ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีอีกหลายค่ายรถที่มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีนี้ด้วย ทั้งเมอร์เซเดส-เบนซ์ บีเอ็มดับเบิลยู รวมถึงค่ายยักษใหญ่เกาหลีอย่างฮุนได

2. ประชันไฮเปอร์คาร์ตัวแข่งของสองค่าย

สองค่ายรถซูเปอร์คาร์อย่างเฟอร์รารี่และแม็คลาเรนพร้อมใจกันส่งรถไฮเปอร์คาร์เวอร์ชั่นสำหรับสนามแข่งออกมาเอาใจลูกค้าเท้าขวาหนักในปีเดียวกัน เริ่มจากฝั่งแม็คลาเรนที่เปิดตัวพี1 จีทีอาร์ (P1 GTR) ออกมาในช่วงกลางปีนี้ พร้อมประกาศลั่นว่าเป็น “รถสำหรับสนามแข่งที่ดีที่สุดในโลก”

https://img.icarcdn.com/autospinn/body/p1-gtr.jpg

พี1 จีทีอาร์ขับเคลื่อนด้วยขุมพลัง V8 ความจุ 3.8 ลิตร ทวินเทอร์โบ-ไฮบริดแบบเดียวกับรุ่นสแตนดาร์ดแต่ถูกอัพเกรดพละกำลังจาก 916 แรงม้าไปอยู่ที่ 1,000 แรงม้า ดีไซน์เน้นความดุดันทั้งภายนอกและภายในห้องโดยสาร รวมถึงการปรับปรุงหลักอากาศพลศาสตร์ที่ว่ากันว่าล้ำหน้าที่สุดในวงการรถสมรรถนะสูงเวลานี้

https://img.icarcdn.com/autospinn/body/ferrari.jpg

ทางฝั่งเฟอร์รารี่เพิ่งเปิดตัวเอฟเอ็กซ์เอ็กซ์ เค (FXX K) ออกมาเมื่อต้นเดือนธันวาคมนี้ หัวใจขับเคลื่อนบล็อกใหญ่ V12 ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า รีดพลัง 1,050 แรงม้า แรงบิดระดับ 900 นิวตันเมตร รูปลักษณ์เป็นแบบตัวแข่งขนานแท้ ข่าวล่ามาแรงระบุว่าเอฟเอ็กซ์เอ็กซ์ เคมีจำนวนการผลิตเพียง 32 คันเท่านั้นและถูกจับจองหมดเกลี้ยงแล้ว

3. ปีแห่งการเรียกคืนรถมโหฬาร

ปัญหาการเรียกคืนหรือ recall รถในปี 2014 กลายเป็นข่าวพาดหัวตัวไม้ตั้งแต่ต้นปี เริ่มตั้งแต่กรณีของเจนเนอรัล มอเตอร์สที่เผชิญกับปัญหาสวิทช์สตาร์ทเครื่องยนต์ทำงานบกพร่องส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตนับสิบราย ยักษ์ใหญ่จากดีทรอยท์ต้องประกาศเรียกคืนรถหลายล้านคันและต้องชดใช้ให้เหยื่อที่ได้รับผลกระทบเป็นจำนวนเงินมหาศาล พร้อมกับถูกรัฐบาลอเมริกันสอบสวนครั้งใหญ่เนื่องจากมีรายงานว่าผู้บริหารระดับสูงทราบถึงปัญหานี้มานานแล้วแต่ไม่มีการดำเนินการใดๆ อย่างไรก็ตามปัจจุบัน จีเอ็มประกาศว่าการเรียกคืนรถเสร็จสิ้นลงแล้วและพร้อมเดินหน้าฟื้นฟูชื่อเสียงของแบรนด์ต่อไป

https://img.icarcdn.com/autospinn/body/GTY_takata_airbags_sk_141120_16x9_992.jpg

ประเด็นถัดมาคือปัญหาถุงลมนิรภัยของบริษัททาคาตะแห่งญี่ปุ่นที่ทำงานบกพร่อง โดยมีรายงานเกี่ยวกับ “ของมีคม” ที่กระจายออกมาเมื่อถุงลมทำงานจนทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตหลายราย นำไปสู่การประกาศเรียกคืนของค่ายรถยักษ์ใหญ่อย่างโตโยต้า ฮอนด้า มิตซูบิชิและอีกหลายแบรนด์รวมแล้วนับสิบล้านคันทั่วโลก โดยตลาดใหญ่ๆ อย่างอเมริกา ญี่ปุ่นและเอเชีย-แปซิฟิกต่างได้รับผลกระทบทั้งหมด ปัจจุบันปัญหาถุงลมนิรภัยของทาคาตะก็ยังไม่คลี่คลายและคาดว่าจะเรื้อรังต่อเนื่องไปจนถึงปี 2015

4. รถขับขี่อัตโนมัติ

เทคโนโลยีรถขับขี่อัตโนมัติมีพัฒนาการอย่างก้าวกระโดดในปี 2014 มอร์แกน สแตนลีย์ บริษัทการเงินระดับโลกออกมาฟันธงว่าภายในปี 2046 หรืออีกราว 32 ปีข้างหน้า รถทุกคันบนท้องถนนจะใช้ระบบขับขี่อัตโนมัติเต็มรูปแบบ โดยเทคโนโลยีนี้จะช่วยให้เศรษฐกิจโลกประหยัดเงินได้มากถึง 5.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ

https://img.icarcdn.com/autospinn/body/2014-audi-rs-7-piloted-driving-concept-3.jpg

หลายค่ายรถปล่อยข้อมูลการพัฒนารถขับขี่อัตโนมัติตลอดทั้งปีที่ผ่านมา โดยข่าวที่โด่งดังไปทั่วโลกมีทั้งรถต้นแบบ ออดี้ อาร์เอส7 (Audi RS7) ที่สามารถทำความเร็วในสนามแข่งได้ทะลุ 200 กม./ชม. โดยที่ไม่ต้องมีคนขับ ส่วนโตโยต้า เทสล่า เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประกาศความมุ่งมั่นว่าจะส่งรถขับขี่อัตโนมัติออกจำหน่ายจริงแน่นอนภายในอีก 4 – 5 ปีข้างหน้า แต่สำหรับการใช้งานในวงกว้างอาจต้องรอนานกว่านั้น

ไม่เพียงค่ายรถที่เดินหน้าพัฒนารถไร้คนขับ แต่ยักษ์ใหญ่ในโลกไอทีอย่างกูเกิลก็กำลังซุ่มทำวิจัยและพัฒนารถประเภทนี้ด้วย แต่ผู้บริหารของกูเกิลยอมรับว่าต้องเจอกับความท้าทายมากมาย โดยเฉพาะการตรวจจับอุปสรรคบนถนนที่ระบบของตัวรถยังไม่สามารถแยกแยะได้ดีเพียงพอ ถึงกระนั้นกูเกิลเองก็กำหนดกรอบเวลาใกล้เคียงกันว่ารถขับขี่อัตโนมัติจะใช้งานได้จริงในอีก 5 ปีนับจากนี้

5. ลดขนาดเครื่องยนต์ 3 สูบ

เทรนด์การลดขนาดเครื่องยนต์ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากเดิมเมื่อหลายปีที่แล้ว เครื่องยนต์ 3 สูบเคยถูกวิศวกรและนักการตลาดประเมินว่าเป็นสิ่งแปลกประหลาดและไม่น่าคบหา เพราะมีจุดด้อยทั้งในด้านพละกำลังและมูลค่าในมุมมองของผู้บริโภค

https://img.icarcdn.com/autospinn/body/three-cylinder-main-00005.jpg

แต่ปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนไปแล้วเพราะมีแรงขับเคลื่อนด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ความประหยัดพลังงานและการพัฒนาเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ที่ทำให้เครื่องยนต์ 3 สูบมีพละกำลังมากขึ้นและตอบสนองการใช้งานได้หลากหลายกว่าเดิม

เหตุผลหลักที่เครื่องยนต์ 3 สูบได้รับความนิยมสูงขึ้นเป็นเพราะความจุกระบอกสูบที่น้อยกว่าและการจัดวางลูกสูบสามลูกเรียงต่อกันทำให้มีแรงบิดที่ดีในช่วงรอบต่ำถึงรอบกลาง ซึ่งบางครั้งดีกว่าเครื่อง 4 สูบด้วยซ้ำไป นอกจากนี้เครื่อง 3 สูบยังมีขนาดเล็กกว่าและเบากว่าด้วย ประโยชน์สูงสุดที่ได้รับคือความประหยัดเชื้อเพลิง

ปัจจุบัน ขุมพลังบล็อก 3 สูบถูกพัฒนาโดยบีเอ็มดับเบิลยู ฟอร์ด วอลโว่และอีกหลายค่าย แถมยังใช้อยู่ในรถมินิรุ่นใหม่ด้วย ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าอีกไม่นานเกินรอ เครื่องยนต์ 4 สูบจะถูกแทนที่ด้วยเครื่องยนต์ 3 สูบกลายเป็นขุมพลังกระแสหลักในอนาคตอันใกล้

6. ครอสโอเวอร์ครองเมือง

ปฎิเสธไม่ได้ว่ารถครอสโอเวอร์กลายเป็นรถที่ได้รับความนิยมสูงสุดในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ตลาดรถอเนกประสงค์เติบโตทั่วโลก ทั้งสหรัฐอเมริกา ยุโรปและเอเชีย นั่นทำให้ค่ายรถทั้งระดับพรีเมียมและรถตลาดทั่วไปแข่งขันกันส่งรถรุ่นใหม่ออกทำตลาดกันอย่างดุเดือด ผู้บริโภคอย่างเราๆ จึงได้รับประโยชน์กันเต็มๆ และมีทางเลือกเพิ่มมากขึ้น

https://img.icarcdn.com/autospinn/body/crossover.jpg

ปีนี้มีทั้งรถรุ่นใหม่แกะกล่อง รุ่นไมเนอร์เชนจ์และรถต้นแบบเปิดตัวออกมามากมาย ตั้งแต่รถตลาดอย่าง ฮอนด้า เอชอาร์-วีหรือวีเซล นิสสัน จู๊คไมเนอร์เชนจ์ โฟล์คสวาเกน กอล์ฟ ออลแทร็ก ตลอดจนซูซูกิ ซานยองและเกีย รถพรีเมียมอย่างเมอร์เซเดส-เบนซ์ วอลโว่ บีเอ็มดับเบิลยู ไปจนถึงรถซูเปอร์พรีเมียม ทั้งเบนท์ลีย์ โรลส์-รอยซ์ พอร์ชและแลมโบร์กินี่ที่มีข่าวเคลื่อนไหวกันอย่างพร้อมเพรียง

รถครอสโอเวอร์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นตามกระแส urbanization หรือการขยายตัวของสังคมเมืองทั่วโลก ผู้บริโภคต้องการใช้รถที่ตอบสนองการใช้งานที่หลากหลายกว่าเดิม รถครอสโอเวอร์จึงตอบโจทย์ได้ดีที่สุด โดยเฉพาะรถขนาดคอมแพกต์ที่เหมาะสำหรับการขับขี่ในเมืองและนอกเมือง

7. ASEAN NCAP ความปลอดภัยมาตรฐานอาเซียนทัดเทียมระดับโลก

อาเซียน เอ็นแคป (ASEAN NCAP) หน่วยงานวัดมาตรฐานด้านความปลอดภัยเปิดตัวอย่างเป็นทางการในประเทศไทยภายในงานมอเตอร์ เอ็กซ์โปเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา หลังจากที่เดินสายให้ความรู้เกี่ยวกับองค์กรใหม่ที่เริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี 2011 โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ในมาเลเซีย ถือเป็นศูนย์การทดสอบลำดับที่ 9 ของโลก

https://img.icarcdn.com/autospinn/body/NCAP.jpg

คาริล อันวาร์ อาบู คัสซิม เลขาธิการของอาเซียน เอ็นแคปกล่าวว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีการประเมินรถยนต์ 31 รุ่นจาก 18 ผู้ผลิตทั่วโลกและทำการทดสอบรถยนต์ไปแล้ว 17 ยี่ห้อ ครอบคลุมผู้ผลิตรถยนต์ 20 รายในอาเซียน มาตรฐานการทดสอบนั้นไม่ได้มีอะไรแตกต่างจากทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นหุ่นดัมมี่ที่ติดตั้งเซนเซอร์รอบตัว แท่นพุ่งชนและตัวรถที่นำมาทดสอบ ซึ่งเขาระบุว่าทางอาเซียน เอ็นแคป จะเป็นผู้ซื้อรถยนต์ทุกคันที่จะนำมาทำการทดสอบด้วยตัวเอง

อย่างไรก็ตาม อาเซียน เอ็นแคปเองยอมรับว่าองค์กรอยู่ในช่วงเพิ่งเริ่มต้น ทำให้มีเรื่องต้องปรับปรุงอีกมาก เช่น เรื่องของการหาเก้าอี้ที่นั่งสำหรับเด็กในอาเซียน หรือแม้แต่การประชุมร่วมกับผู้ผลิตรถยนต์เพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับระบบและอุปกรณ์ความปลอดภัยที่เหมาะสม

ได้แต่หวังว่าอาเซียน เอ็นแคปจะยกระดับความปลอดภัยให้อุตสาหกรรมยานยนต์อาเซียนให้สูงขึ้นทัดเทียมกับยุโรปและอเมริกา ผลประโยชน์ก็จะตกแก่ลูกค้าทุกคน


ความคิดเห็น


เรียกดูข่าวตามประเภทยานพาหนะ

ค้นหาข่าวโดยยี่ห้อ