"ชัยวัฒน์" ประสานทุกฝ่ายแก้ปัญหาจราจรระยะสั้น ใช้วิธีบริหารจัดการพื้นที่ผิวถนน ส่วนระยะกลาง ระยะยาว ลงสำรวจเพิ่มพื้นที่ถนนทางลัด ทางเชื่อมระบายรถ ย้ำชัดอนาคตกทม.และปริมณฑลจำต้องใช้ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะแก้ ชี้หากระบบดีแต่คนเมิน งัดมาตรการบังคับ ลดปริมาณรถบนถนน
ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) เปิดเผยว่า ขณะนี้การแก้ไขปัญหาการจราจรระยะเร่งด่วนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะมีคณะกรรมการเพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจราจร ประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรุงเทพมหานคร(กทม.) กรมทางหลวง(ทล.) กรมการขนส่งทางบก(ขบ.) สนข. และมีสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นประธาน โดยการแก้ไขปัญหาระยะสั้นจะเป็นการปรับเพิ่มพื้นที่ผิวจราจรให้สามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ
ยกตัวอย่าง ถนนขาเข้าออกระหว่างเมือง หากมีช่องจราจรขาเข้า-ออกฝั่งละ 3 ในช่วงปริมาณรถหนาแน่นหรือช่วงเร่งด่วน เช้าและเย็น อาจเปิดช่องทางพิเศษนำฝั่งขาออกมาเป็นขาเข้า คือมีช่องจราจรขาเข้าเมือง 4 ช่อง ขาออก 2 ช่อง และสลับเป็นช่วงเร่งด่วนเย็น ขาออกเมือง 4 ช่อง ขาเข้า 2 ช่อง เป็นต้น ขณะเดียวกันประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้รถใช้ถนนหันมาใช้บริการแอพพลิเคชั่นช่วยหาเส้นทางไปสู่จุดหมาย หลีกเลี่ยงเส้นทางที่มีรถหนาแน่น ซึ่งปัจจุบันมีให้เลือกใช้จำนวนมาก
ชัยวัฒน์ กล่าวว่า ในระยะกลางและระยะยาว จะมีการสำรวจพื้นที่คอขวดเพื่อเพิ่มทางเชื่อมต่อ ทั้งเพิ่มพื้นที่เส้นทางลัดที่มีอยู่แล้วให้กว้างขึ้น ทำทางเชื่อมถนนที่มีระยะห่างกันไม่มากให้สามารถทะลุถึงกันได้ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางได้มากขึ้น
"ปัจจุบันพื้นที่กทม.และปริมณฑล ทั้งปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม แทบจะแยกกันไม่ออก ทำให้กทม.กลายเป็นมหานครใหญ่ จึงจำเป็นต้องนำระบบขนส่งมวลชนมาแก้ไขปัญหาการจราจรและช่วยวางแผนการเดินทางให้ประชาชน เราจำเป็นต้องมีรถไฟฟ้า มีที่จอดและจรให้บริการ และในอนาคตหากระบบขนส่งมวลชนดี แต่มีคนมาใช้ระบบขนส่งมวลชนน้อย ยังใช้รถยนต์ส่วนบุคคลกันอยู่ ก็อาจจะมีมาตรการบังคับเหมือนสิงคโปร์ อังกฤษ ที่มีการจัดเก็บค่าใช้ถนน มีการด่านเก็บเงินเป็นระยะๆ เพื่อลดปริมาณรถที่นำมาวิ่งบนถนนในเมือง"
ส่วนการแก้ไขปัญหาการจราจรในต่างจังหวัดโดยเฉพาะเมืองใหญ่ อยู่ระหว่างการศึกษา และคาดว่าจะใช้ระบบรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ เช่นเดียวกันกับรถบีอาร์ทีของกทม.ในการแก้ไขปัญหาการจราจรในต่างจังหวัด โดยจะเริ่มทำที่จังหวัดภูเก็ตเป็นอันดับแรก จากนั้นจะเริ่มทำในจังหวัดเชียงใหม่ นครราชสีมา และขอนแก่น
อย่างไรก็ตาม รายงานการศึกษาพัฒนาปรับปรุง บำรุงรักษาฐานข้อมูลฯ สนข.ได้คาดการณ์สัดส่วนการขนส่งสาธารณะในกทม.และปริมณฑลปี 2560 ว่า ประชาชนจะเดินทางโดยรถยนต์ส่วนบุคคล เพิ่มขึ้นเป็น 19.1 ล้านคนเที่ยวต่อวัน ระบบขนส่งสาธารณะ 8.5 ล้านคนเที่ยวต่อวัน ขณะที่ปี 2565 จะมีการเดินทางโดยรถยนต์ส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 21.2 ล้านคนเที่ยวต่อวัน ระบบขนส่งสาธารณะ เพิ่มขึ้นเป็น 9 ล้านคนเที่ยวต่อวัน ซึ่งชี้ให้เห็นว่าปริมาณรถยนต์จะเพิ่มมากขึ้นโดยไม่จำกัด แม้ว่าจะเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายต่างๆก็ตาม
ติดตามข่าวคราวความเคลื่อนไหวของแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์ได้ ที่นี่
ต้องการซื้อรถมือสอง ตรวจสอบราคารถยนต์มือสอง เชิญที่นี่
ความคิดเห็น