ในการประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบกล่าสุด เห็นชอบแผนลงทุนก่อสร้างทางข้ามจุดตัดบนทางด่วน วงเงินประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท แก้ปัญหารถติดในพื้นที่กทม. และปริมณฑล
เมื่อเร็วๆนี้ ในการประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ทางสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้เสนอรายงานความคืบหน้าแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการจราจรในเมืองหลวงให้ที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ทราบ ก่อนเสนอไปยังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) โดยได้มีการสรุปเส้นทางรถติดจำนวน 9 เส้นทาง ได้แก่
1. วงแหวนรัชดาภิเษก
2. มอเตอร์เวย์สาย 7 - ทางด่วนพิเศษศรีรัช
3. ถนนประเสริฐมนูกิจ-งามวงวานศ์
4. สะพานตากสิน ช่วงราชพฤกษ์-กัลปพฤกษ์
5. ทางด่วนขั้นที่ 1 ช่วงต่างระดับอาจณรงค์
6. ทางด่วนขั้นที่ 1 ช่วงสะพานพระราม 9 -พระราม 2
7. สะพานคู่ขนานลอยฟ้าบรมราชชนนี-สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า
8. ทางด่วนฉลองรัช-ลำลูกกา
9. ถนนราชพฤกษ์ ช่วงชัยพฤกษ์-รัตนาธิเบศร์
นอกจากนี้ ยังมีเส้นทางที่เกิดปัญหาจราจรต่อเนื่องในอีก 3 เส้นทาง ตามแนวงานก่อสร้างรถไฟฟ้า ได้แก่
10.ถนนติวานนท์-แจ้งวัฒนะ-รามอินทรา
11.ถนนรัชดาภิเษก-ลาดพร้าว-ศรีนครินทร์-เทพารักษ์
12.ถนนพระราม 9 – รามคำแหง
ทางสนข.ได้มีการแนวทางเสนอให้ลงทุนก่อสร้างทางข้ามจุดตัดบนทางด่วนในเส้นทางรถติดที่กำหนดคล้ายกับสะพานข้ามแยก คาดว่าจะใช้วงเงินลงทุนประมาณมากกว่า 1,000 ล้านบาท ในการก่อสร้างทางยกระดับข้ามจุดปัญหา ควบคู่ไปกับการหาแนวทางระบายการจราจรพื้นราบบริเวณจุดขึ้น-ลงทางด่วนที่สำคัญ
สำหรับหลักการสำคัญของแผนดังกล่าวคือการแก้ปัญหารถติดครอบคลุมถึงการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดผ่านถนนตามแยกต่างๆ ที่มีปัญหาการจราจรติดขัด และการจัดหาพื้นที่จอดรถของประชาชนที่มาใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะรวมถึงการใช้เทคโนโลยีช่วยบริหารจราจร
อย่างไรก็ตาม เพื่อการแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตกทม. และปริมณฑล อย่างถาวร ทางสนข.ได้เสนอให้ดำเนินการแผนแม่บทการพัฒนาระบบการจราจรและขนส่งอัจฉริยะ ในเขตกทม. และปริมณฑล (Intelligent Transport System : ITS) ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบฯ และมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมขับเคลื่อนแผนแม่บทฯ ไปสู่การปฏิบัติต่อไป ทั้งนี้ มีกรอบแนวคิดโดยมุ่งเน้นให้ประเทศไทยพัฒนาการจราจรและขนส่งให้มีประสิทธิภาพโดยใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะต่างๆ มาผนวกเข้ากับโครงสร้างพื้นฐาน และยานพาหนะ ดังนั้น เพื่อให้การพัฒนาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน การพัฒนาระบบ ITS ในเขตพื้นที่เมืองต่างๆ จึงควรนำเทคโนโลยีอัจฉริยะมาผนวกกับโครงสร้างพื้นฐานและยานพาหนะภายในเมือง ซึ่งในพื้นที่กทม.และปริมณฑลควรพัฒนาให้เป็น Smart Metropolis หรือ นครหลวงอัจฉริยะ ส่วนในระดับเมืองต่างๆ จะนำไปสู่การเป็น Smart City เช่นเดียวกัน
ประกอบด้วย 3 เป้าประสงค์หลัก คือ 1) ITS for Green Mobility จากปัญหาการจราจรติดขัด ปัญหามลภาวะภายในเมือง รวมถึงปัญหาการขาดแคลนพื้นที่รองรับปริมาณจราจรเนื่องจากการก่อสร้าง ทำให้นำมาสู่แนวทางการแก้ไขปัญหา คือ การลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล และการส่งเสริมให้ใช้ระบบขนส่งสาธารณะ 2) ITS Integrated Center จากปัญหาในการดำเนินการด้าน ITS ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จึงได้มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาโดยการจัดตั้งหน่วยงานที่เข้ามาบูรณาการในการดำเนินงานภายในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยจากกรอบแผนการพัฒนาระบบ ITS ของประเทศ จะมีการตั้งศูนย์บูรณาการ ITS ภายในแต่ละพื้นที่ เพื่อมุ่งเน้นให้เกิดการบูรณาการข้อมูลด้านจราจรและขนส่ง ควบคุมและจัดการจราจร และตรวจสอบการกระทำผิดกฎจราจร ซึ่งการดำเนินการของศูนย์ฯ จะเป็นหน่วยงานกลางการแก้ไขปัญหาภายในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้อย่างบูรณาการ และ 3) ITS Assistive Solution เป็นการนำระบบ ITS มาแก้ไขปัญหาด้านคมนาคมขนส่งที่สำคัญในปัจจุบัน ในพื้นที่กทม.และปริมณฑล
เช็คราคารถใหม่ และโปรโมชั่น ได้ที่นี่ ที่นี่
ต้องการซื้อรถมือสอง ตรวจสอบราคารถยนต์มือสอง เชิญที่นี่
มาร่วมแชร์ความเห็นของคุณบนเวบบอร์ด Autospinn คลิกที่นี่
ความคิดเห็น