"อาคม" วอนไจก้าศึกษาแผนแม่บทระยะ 2 ให้แล้วเสร็จในปีเดียว แต่ยังระบุไม่ได้ว่าเป็นแนวเส้นทางใด ส่วน ฟีดเดอร์ 2 เส้นทางสายสีเทา-ฟ้า ครม.ปี 53 อนุมติให้สร้างได้ ไม่จำเป็นต้องบรรจุไว้ในแผนแม่บท
อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ขอให้องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) เร่งศึกษาจัดทำแผนแม่บทรถไฟฟ้าระยะที่ 2 พื้นที่กรุงเทพ-ปริมณฑลให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี ซึ่งตอนนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่า แนวเส้นทางจะไปในทิศทางใด นอกจากนี้ ทางไจก้าจะต้องพิจารณาโครงข่ายแผนแม่บทระยะแรกด้วยว่าเพียงพอหรือไม่ หรืออาจจะมีเส้นทางขยายต่อเนื่องและโครงการใหม่เพิ่มศักยภาพระบบขนส่งมวลชน แก้ปัญหาการจราจรติดขัดกลางเมือง
"ที่ผ่านมาเราขีดเส้นทางรถไฟฟ้า ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาคนไม่ใช้บริการ ดังนั้นต่อไปทางไจก้าจะศึกษารายละเอียดใหม่ ทั้งแนวเส้นทางที่ผ่านเมือง การเชื่อมโยงระหว่างรถไฟฟ้าและจุดสำคัญๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า เพื่อดึงคนให้มาใช้ รวมทั้งการพัฒนาพื้นที่สถานีและบริเวณสถานีให้เป็นพื้นที่ธุรกิจการค้า ต่อไปจะต้องมีการเชื่อมโยงโครงข่ายต่างๆ ตามแผนยุทธศาสตร์กระทรวงคมนาคม ซึ่งพล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ให้ข้อคิดว่า การเชื่อมต่อรถไฟฟ้าควรอยู่ภายในสถานี"
สำหรับขั้นตอนหลังจากไจก้าศึกษาแล้วเสร็จ ทางกระทรวงคมนาคมโดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและการจราจร (สนข.) จะต้องนำมาศึกษารายละเอียดพร้อมส่งให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมพิจารณาใช้เวลาอีก 1 ปี จึงจะเสนอขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อดำเนินการต่อไปได้
พิเชษฐ คุณาธรรมรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานโครงการพัฒนาระบบราง สนข. กล่าวว่า โครงการระบบขนส่งมวลชนหลักจะอยู่ในแผนแม่บทรถไฟฟ้าระยะที่สอง แต่โครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง (ฟีดเดอร์) ไม่จำเป็นต้องบรรจุในแผนแม่บท เช่น รถไฟฟ้าสายสีเทา วัชรพล-สะพานพระราม 9 ระยะทาง 26 กม. และสายสีฟ้า ดินแดง-สาทร ระยะทาง 9.5 กม. อยู่ในมติครม.ปี 2553 แล้ว ทางกรุงเทพมหานคร(กทม.) สามารถดำเนินการได้เลย
"กรอบการศึกษาของไจก้า จะศึกษาพฤติกรรมของผู้ใช้บริการระบบขนส่งมวลชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยจะพัฒนาให้สถานีรถไฟฟ้าเป็นศูนย์กลางความจำเป็นในชีวิตประจำวันของคนให้มากขึ้น และวางแผนว่าทำอย่างไรให้คนหันมาใช้ระบบขนส่งมวลชนให้มากขึ้นด้วย"
ชินยะ เอจิมะ รองประธานกรรมการอาวุโส ไจก้า กล่าวว่า แนวโน้มเส้นทางรถไฟฟ้าที่จะขยายต่อไปเพื่อรองรับคนที่อาศัยอยู่บริเวณปริมณฑล ให้สามารถเดินทางเข้าเมืองได้มากขึ้น ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีเขียว สีน้ำเงิน สีม่วง
ติดตามข่าวคราวความเคลื่อนไหวของแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์ได้ ที่นี่
ต้องการซื้อรถมือสอง ตรวจสอบราคารถยนต์มือสอง เชิญที่นี่
ความคิดเห็น