น้ำมันเครื่องมีความสำคัญต่อการทำงานของเครื่องยนต์เป็นอย่างมาก โดยมีหน้าที่ในการหล่อลื่นและปกป้องเครื่องยนต์ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและยืดอายุการใช้งานของเครื่องยนต์ ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องทราบก่อนว่าน้ำมันเครื่องมีกี่ประเภทและมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง เพื่อที่จะสามารถเลือกน้ำมันเครื่องที่ใช่สำหรับรถของเรา
เลือกน้ำมันเครื่องแบบไหน ให้เหมาะสำหรับรถคุณ
1. ประเภทของน้ำมันเครื่อง
- แบบสังเคราะห์แท้ (Fully synthetic) : น้ำมันเครื่องสังเคราะห์ 100% เป็นน้ำมันเครื่องที่มีระยะเวลาในการใช้งานยาวที่สุด ช่วยส่งเสริมสมรรถนะต่างๆ ให้กับรถ ทนอุณหภูมิสูงได้ดี ไม่เสื่อมสลายง่าย เหมาะสำหรับผู้ที่จำเป็นต้องใช้รถทุกวัน และมีเวลาจำกัดในการดูแลรักษา
- แบบกึ่งสังเคราะห์ (Semi-synthetic) : น้ำมันเครื่องกึ่งสังเคราะห์ เกิดจากการผสมกันระหว่างน้ำมันพื้นฐาน (Base oil) สังเคราะห์แท้กับน้ำมันพื้นฐานธรรมดามีราคาไม่แพงมาก ระยะการใช้งานปานกลาง เหมาะสำหรับการใช้งานที่มีรอบการเปลี่ยนถ่ายไม่สูงมาก
- แบบธรรมดา (Mineral) : น้ำมันเครื่องแบบธรรมดา เป็นน้ำมันเครื่องที่มีราคาถูกที่สุด แต่มีระยะเวลาการใช้งานสั้นที่สุด เน้นเปลี่ยนถ่ายเร็ว เหมาะสำหรับรถเก่า หรือรถที่เน้นรอบการเปลี่ยนถ่ายเร็ว และต้องการน้ำมันเครื่องราคาถูก
ซึ่งทั้ง 3 ประเภท สามารถใช้งานและปกป้องเครื่องยนต์ได้เหมือนกันหากใช้งานตามระยะทางที่แนะนำ
2. ค่าความหนืดของน้ำมันเครื่อง
สมาคมวิศวกรรมยานยนต์ของอเมริกา(The Society of Automotive Engineer = SAE) เป็นหน่วยงานที่กำหนดมาตรฐานความหนืดของน้ำมันเครื่องยนต์ โดยแบ่งเป็น
- เกรดเดี่ยว เช่น SAE 30, SAE 40, SAE 50
- เกรดรวม เช่น SAE 5W-30, 10W-40, 15W-50
น้ำมันเครื่องเกรดรวมจะมีคุณภาพดีกว่า ราคาแพงกว่า อายุการใช้งานยาวนานกว่าน้ำมันเครื่องเกรดเดี่ยว
ส่วนความหนืด คือความข้น ใส ของน้ำมันเครื่อง เบอร์น้อยจะใสกว่าเบอร์มาก เช่น เกรดเดี่ยว SAE 30 จะใสกว่า SAE 50 หรือเกรดรวม 10W-40 จะใสกว่า 15W-50 สำหรับค่าความหนืดให้ดูเลขท้ายเป็นหลัก
ตัวอย่างเบอร์ 10W-40 ตัวเลข 10W เป็นการทดสอบที่อุณหภูมิติดลบว่าน้ำมันมีความหนืดเท่าไร และยังไม่แข็งตัว สามารถไหลไปหล่อลื่นเครื่องยนต์ได้ ตัวเลข 40 เป็นการทดสอบที่ 100 องศาเซลเซียส ว่าความหนืดยังเพียงพอในการหล่อลื่นเมื่อเครื่องยนต์ร้อนๆ การเลือกใช้เบอร์ความหนืดนั้น ให้ดูจากคู่มือรถยนต์เป็นหลัก
3. ค่ามาตรฐานของน้ำมันเครื่อง
ระดับคุณภาพน้ำมันเครื่อง จะถูกกำหนดโดยหลายสถาบันหรือหลายองค์กร ระดับคุณภาพน้ำมันจะถูกพัฒนามาควบคู่กับเทคโนโลยีรถยนต์ และกฎหมายสิ่งแวดล้อม
ประเทศไทยจะนิยมดูตามมาตรฐาน API(American Petroleum Institute) เป็นสถาบันปิโตรเลียมของอเมริกา โดยน้ำมันเครื่องยนต์เบนซินจะขึ้นต้นด้วยตัว “S” เช่น API S…ส่วนน้ำมันเครื่องดีเซลจะขึ้นต้นด้วยตัว “C” เช่น API C… แล้วตามด้วยตัวอักษรอีกตัวตั้งแต่ตัว A โดยยิ่งเข้าไกล้ตัว Z เท่าใหร่ยิ่งมีมาตรฐานสูงขึ้นเท่านั้น ตัวอย่างมาตรฐานน้ำมันเครื่องเบนซิน เช่น API SM, API SN ซึ่งบางจากได้มาตรฐานสูงสุด คือ API SN ตัวอย่างมาตรฐานน้ำมันเครื่องดีเซล เช่น API CI-4, API CK-4 ซึ่งบางจากได้มาตรฐานสูงสุด คือ API CK-4 วิธีการเลือกมาตรฐานควรเลือกที่เท่ากันหรือสูงกว่ามาตรฐานที่ผู้ผลิตรถยนต์กำหนด
ขอขอบคุณข้อมูลจาก บางจาก
ติดตามข่าวรถยนต์ ราคารถยนต์ รีวิวรถยนต์ และจักรยานยนต์ทุกยี่ห้อ กับเรา Autospinn
แชร์ความคิดเห็นบนเว็บบอร์ด Autospinn คลิกเลย webboard.autospinn.com
เช็คโปรโมชั่นรถใหม่ เช็คราคารถใหม่ ได้ที่นี่
ราคารถมือสอง ซื้อรถมือสอง ขายรถมือสอง เชิญได้เลยที่ one2car
ความคิดเห็น