ระบบไฟฟ้าของรถยนต์ไฟฟ้า EV กับเรื่องที่คุณอาจจะยังไม่รู้ Share this
EV Trends
โหมดการอ่าน

ระบบไฟฟ้าของรถยนต์ไฟฟ้า EV กับเรื่องที่คุณอาจจะยังไม่รู้

Paknam536
โดย Paknam536
โพสต์เมื่อ 19 January 2565

รถยนต์ไฟฟ้า ใช้งานง่าย ดูแลง่าย ไม่จุกจิก เป็นคำที่หลายคนคุ้นตาไม่ว่าจะอ่านจากที่ไหน ก็จะเห็นคำนี้ แต่ทราบหรือไม่ว่า เจ้ารถยนต์ไฟฟ้าแม้จะดูใช้ง่าย แต่มันยังมีเรื่อง "นิดหน่อย" ที่คุณควรทราบ และควรทำซะด้วย ก่อนจะตัดสินใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้า


รถยนต์ไฟฟ้า ใช้ง่ายไหม?

รถยนต์ไฟฟ้า ใช้งานง่าย อันนี้ถือว่าไม่ปฎิเสธ เพราะเป็นรถยนต์ที่ใช้งานได้ง่ายกว่ารถยนต์เครื่องสันดาปเยอะกว่ามากๆ ด้วยความที่คุณมีหน้าที่ชาร์จแบตเตอร์รี่ให้เต็มไว้เสมอ, ตรวจเช็คลมยาง, ระบบเบรก, น้ำฉีดกระจก, ระบบปรับอากาศ เท่านั้นเอง ซึ่งง่ายกว่ารถยนต์เครื่องสันดาปปกติมากๆ ที่คุณต้องเช็คตั้งแต่น้ำมันเครื่อง, เกียร์, กรองอากาศ และอื่นๆ อีกนานับประการ ไหนจะต้องเข้าเช็คระยะตามที่กำหนดที่มีค่าใช้จ่ายหลักพันกันเป็นเรื่องปกติ

ระบบไฟฟ้าของรถ EV

ในส่วนของการเช็คระยะนี้ รถยนต์ไฟฟ้าก็ไม่ได้จ่ายแพงขนาดนั้น เพราะเค้ามีชิ้นส่วนสิ้นเปลืองน้อยมากๆ แต่สิ่งที่รถยนต์ไฟฟ้ายังแพ้รถยนต์สันดาปในปัจจุบันอยู่นั้นคือ "การเติมพลังงาน" อย่างที่ทราบกันดีว่ารถยนต์น้ำมัน เราก็ไปเติมน้ำมันตามปั้มน้ำมัน ใช้เวลาไม่เกิน 5 นาที ก็ได้พลังงานเต็มเปี่ยมแล้ว แต่ถ้าเป็นรถยนต์ไฟฟ้า คุณต้องใช้เวลาราวๆ 30 นาที ถึงจะได้พลังงานสำหรับขับขี่ราว 80% แล้วแต่รุ่นรถนั้นๆ

แต่ข้อดีของรถยนต์ไฟฟ้านั่นคือ คุณสามารถชาร์จแบตเตอร์รี่ที่บ้านได้ !

ทำให้คุณ มีพลังงานเต็มเปี่ยมออกจากบ้านทุกครั้ง ต่างจากรถยนต์สันดาปที่คุณจะเติมน้ำมันที่บ้าน ไม่ได้ ! (ยกเว้นว่าบ้านเป็นปั้มน้ำมัน หรือมีแกลลอนน้ำมันที่บ้าน แต่คนทั่วไปก็ไม่น่าจะเก็บน้ำมันไว้ที่บ้านนะ)

แต่ไฟฟ้า เชื่อได้ว่าแทบทุกบ้านในประเทศไทย เข้าถึงไฟฟ้าหมดแล้วอย่างแน่นอน เพราะงั้นแล้วเรื่องแหล่งพลังงานไฟฟ้าเนี้ย หายห่วง

ระบบไฟฟ้าของรถ EV

 

แต่ ก็ไม่ใช่ทุกปลั๊กไฟ หรือบ้านทุกหลัง ที่สามารถชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าได้นะครับ เพราะว่ารถยนต์ไฟฟ้าเนี้ย เค้ามีอัตราการบริโภคพลังงานที่สูงกว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายๆ ชิ้นในบ้านพอสมควร ยกตัวอย่างเช่นไมโครเวฟ ที่มีอัตราบริโภคพลังงานที่ 2,000 วัตต์ แต่รถยนต์ไฟฟ้า แค่ชาร์จแบบ AC ก็บริโภคพลังงานเริ่มต้นที่ 2,500 วัตต์ขึ้นไปแล้วครับ (ขึ้นอยู่กับสเป็คของตัวเครื่องชาร์จด้วย)

นอกจากนี้ ปลั๊กไฟในบ้านเรือนของเราโดยทั่วไป มีคุณสมบัติการจ่ายพลังงานไฟฟ้าที่ 3,680 วัตต์

และถ้าให้พีคยิ่งกว่านั้นก็จะเป็นเรื่องของ "มิเตอร์ไฟฟ้า" ที่มีเรื่องให้คุณต้องทราบอีกครับ

มิเตอร์ไฟฟ้า ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า

สำหรับบ้านใครที่จะซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้งานนั้น สิ่งที่คุณต้องตรวจสอบก่อนเลยนั้นคือเรื่องของ "มิเตอร์ไฟฟ้า" ซึ่งสามารถเดินไปดูได้ที่หน้าบ้านของท่านครับ บ้านในปัจจุบันโดยส่วนใหญ่จะติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าแบบ 15(45)A แบบ 1 เฟส 2 สาย ซึ่งมิเตอร์ไฟฟ้าระดับนี้ "พอสามารถชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าได้" เพราะเค้ายังมีระดับการจ่ายกระแสไฟฟ้าที่เพียงพอต่อการใช้งานอยู่ครับ

เนื่องจากมิเตอร์แบบ 15(45)A จะสามารถจ่ายไฟฟ้าได้ 3300(9900) วัตต์ นั่นหมายความว่าคุณยังพอสามารถชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า หรือรถยนต์ Plug-in Hybrid ได้อยู่ โดยไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อระบบไฟฟ้า

แต่ถ้าบ้านของคุณ ใช้มิเตอร์ไฟฟ้าแบบ 5(15)A ซึ่งสามารถจ่ายไฟฟ้าได้เพียง 1,100(3,300) วัตต์ ซึ่งมีความอันตรายมากครับ ไม่แนะนำให้ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเด็ดขาด แนะนำให้เปลี่ยนเป็นขนาด 15(45) ขึ้นไป หรือถ้าเป็น 30(100) ยิ่งดีครับ

 

มิเตอร์ไฟฟ้า ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า

ภาพจาก การไฟฟ้านครหลวง

 

มิเตอร์ TOU ชาร์จรถไฟฟ้า ของต้องมี

ประเภทของมิเตอร์ไฟฟ้าในบ้านอยู่อาศัย มี 2 แบบหลัก ได้แก่แบบทั่วไปที่เราใช้งานกัน อัตราค่าไฟฟ้าจะอยู่ที่ราวๆ 4.4217 บาท/หน่วย ตลอด 24 ชั่วโมง

ส่วนมิเตอร์ TOU หรือมิเตอร์แบบ Time of Use ซึ่งจะมีเรทการคิดค่าไฟอยู่ 2 แบบ ได้แก่ช่วง On Peak กับ Off Peak ซึ่งมีราคาไฟฟ้าแตกต่างกันถึง 2 เท่า

โดยช่วงความต้องการไฟฟ้าสูง (On Peak) ระหว่างเวลา 09.00-22.00 น. ของวันจันทร์-ศุกร์ อัตราค่าไฟฟ้า 5.7982 บาท ต่อหน่วย

ช่วงความต้องการไฟฟ้าต่ำ (Off Peak) ระหว่างเวลา 22.00-09.00 น. ของวันจันทร์-ศุกร์ และช่วงเวลาระหว่าง 00.00-24.00 ของวันเสาร์-อาทิตย์ วันแรงงานแห่งชาติ วันหยุดราชการตามปกติ (ไม่รวมวันพืชมงคลและวันหยุดชดเชย) อัตราค่าไฟฟ้า 2.6369 บาท ต่อหน่วย

 

ยกตัวอย่างเช่น เราชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ด้วยมิเตอร์ปกติ ด้วยปริมาณไฟฟ้า 50 kWh เราจะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าที่ 221 บาท

แต่ถ้าเราใช้มิเตอร์ TOU ชาร์จในช่วง Off Peak เราจะจ่ายค่าไฟฟ้าเพียง 131.8 บาท ประหยัดได้เกือบครึ่งหนึ่ง และเป็นวิธีการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่มีต้นทุนถูกที่สุดในปัจจุบัน

 

มิเตอร์ TOU

ภาพจาก การไฟฟ้านครหลวง

 

ระบบไฟฟ้าในบ้าน สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า

สำหรับการพิจารณาว่าควรปรับปรุงระบบไฟฟ้าภายในบ้าน เพื่อรถยนต์ไฟฟ้าหรือไม่นั้น นอกจากการตรวจสอบเบื้องต้นจากมิเตอร์หน้าบ้านแล้ว การตรวจสอบดูเมนเบรกเกอร์ และเบรกเกอร์ลูกย่อย ก็ถือเป็นสิ่งที่สำคัญอีกจุดหนึ่ง

นอกจากเราจะทราบสเป็คของเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าว่ามีอัตราการรับไฟฟ้าที่เท่าใดแล้วนั้น เราต้องตรวจเช็คด้วยว่าตัวเมนเบรกเกอร์เรามีขนาดเพียงพอต่อการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า และการใช้งานไฟฟ้าโดยปกติภายในบ้านหรือไม่

และตัวเบรกเกอร์ลูกย่อยที่ใช้ควบคุมการจ่ายพลังงานไฟฟ้าไปยังปลั๊กไฟว่ามีขนาดเพียงพอต่อการบริโภคพลังงานหรือไม่ หากไม่เพียงพอ ท่านจำเป็นจะต้องเปลี่ยนเบรกเกอร์ใหม่ รวมไปถึงต้องตรวจเช็คตัวสายไฟฟ้าด้วยว่ามีขนาดสอดรับกับการใช้งานหรือไม่ ซึ่งท่านสามารถปรึกษากับช่างไฟฟ้าได้โดยตรง

นอกจากนี้ หากบ้านของท่านมีอายุที่ค่อนข้างเก่า สายไฟฟ้าใช้งานมาเกิน 20 ปีแล้ว ทางเราแนะนำให้อัพขนาดมิเตอร์เป็น 30(100)A และเปลี่ยนสายไฟฟ้าใหม่ทั้งบ้านไปเลยครับ เพราะไหนๆ ก็ทำแล้ว ก็ทำทีเดียวเลย จบกว่า นอกจากจะได้เปลี่ยนสายไฟทั้งบ้านแล้ว ยังได้เพิ่มจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแยกมาโดยเฉพาะ อีกทั้งยังทำให้บ้านของเราห่างไกลจากเหตุไฟฟ้าลัดวงจรเนื่องจากอายุการใช้งานของสายไฟฟ้าด้วยนะครับ

แต่ถ้าท่านไม่อยากให้ค่าชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า มาปนอยู่กับค่าไฟฟ้าของบ้านแบบปกติ ท่านสามารถติดต่อขอเพิ่มมิเตอร์แยกสำหรับชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าได้ โดยสามารถปรึกษากับการไฟฟ้าได้โดยตรงครับ

เครื่องตัดไฟรั่ว

เครื่องตัดไฟรั่ว อีกหนึ่งอุปกรณ์ที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับบ้านที่มีเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า เพราะมันช่วยไม่ให้การชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเกิดอันตรายจากพลังงานไฟฟ้านั่นเอง โดยมันทำหน้าที่ตรวจจับไฟฟ้ารั่ว ไม่ว่าจะเกิดจากฟ้าฝ่า, ช้ไฟเกิน กระทั่งไฟฟ้าเกิดการลัดวงจร ช่วยป้องกันไฟดูด ซึ่งมันสามารถปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของเราได้เป็นอย่างดี 

 

เครื่องตัดไฟรั่ว

ตู้ชาร์จรถไฟฟ้า

เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้ว สุดท้ายที่จะมาดูนั่นคือตู้ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่จะติดตั้งนั่นเอง โดยตู้ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในบ้านนั้นต้องสอดคล้องกับเต้าชาร์จบนรถยนต์ไฟฟ้าของเราด้วย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยมักจะนำเข้ามาจากประเทศจีนหรือประเทศโซนยุโรป ซึ่งมักจะใช้หัวชาร์จ AC Type 2 มาตรฐานยุโรปเป็นส่วนใหญ่

โดยหัวชาร์จประเภทนี้ มีกำลังชาร์จสูงสุดที่ 22 kW ขึ้นอยู่กับกำลังไฟของตู้ชาร์จ ทั้งนี้ต้องสอดคล้องกับระบบไฟฟ้าของบ้านด้วยว่าสามารถรองรับกับตู้ชาร์จกำลังขนาดนั้นได้หรือไม่

ส่วนการชาร์จแบบ DC นั้น ปัจจุบันนี้มักจะอยู่กับตามสถานีชาร์จมากกว่า เพราะการชาร์จแบบ DC เป็นการชาร์จด่วน เน้นความเร็วซะมากกว่า ส่วน AC จะเป็นการชาร์จแบบช้า เน้นชาร์จไปเรื่อยๆ หรือเสียบชาร์จข้ามคืน เป็นต้น

 

ตู้ชาร์จรถไฟฟ้า

สุดท้ายนี้ บทความของเราก็เป็นเพียงแนวทางสำหรับผู้ที่กำลังตัดสินใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น หากท่านยังมีข้อสงสัยทางเทคนิคประการใด ทางเราขอแนะนำให้ปรึกษากับการไฟฟ้าได้โดยตรง เพราะปัจจุบันนี้ทางการไฟฟ้าเองเค้าก็มีนโยบายสนับสนุนการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง เราสามารถปรึกษาเรื่องระบบไฟฟ้าทางเทคนิคกับการไฟฟ้าได้โดยตรงครับ

สำหรับกรุงเทพ ติดต่อการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) โทร. 1130
สำหรับต่างจังหวัด ติดต่อการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โทร. 1129


อ่าน ชาร์จรถไฟฟ้าแบบ AC กับ DC Fast charge ต่างกันอย่างไร?
อ่าน Tesla Model S ชาร์จ 1 ครั้ง วิ่งไกล 1,200 กม. ด้วยแบตเตอร์รี่จาก ONE Inc.
อ่าน Tesla รับชำระเงินด้วย Dogecoin อย่างเป็นทางการ

Autospinn เว็บไซต์รายงานข่าวรถยนต์ รถยนต์ไฟฟ้า รถมอเตอร์ไซค์ เช็กวันเปิดตัวรถใหม่ ราคารถ ตารางผ่อน และรีวิวรถยนต์ รถจักรยานยนต์ โดยทีมงานมืออาชีพ
ซื้อ-ขาย รถมือสอง ได้อย่างมั่นใจ ปลอดภัยชัวร์ ต้องที่ ตลาดรถ One2car


ความคิดเห็น


เรียกดูข่าวตามประเภทยานพาหนะ

ค้นหาข่าวโดยยี่ห้อ