รถยนต์ไฟฟ้า ยานพาหนะรูปแบบใหม่ที่เตรียมเข้ามาแทนที่รถยนต์เครื่องสันดาปที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ โดยภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ รถคันใหม่ที่เราจะซื้อก็ล้วนแล้วแต่มีรถยนต์ไฟฟ้าให้เป็นตัวเลือกหลักทั้งสิ้น
วิธีอ่านสเปครถยนต์ไฟฟ้า
ในรถยนต์เครื่องสันดาปปัจจุบันที่เราใช้งานกันอยู่ คนส่วนใหญ่มักจะดูเรื่องของออปชั่น เครื่องยนต์ เกียร์ และราคากันเป็นหลัก ซึ่งตัวเครื่องยนต์ของรถนั้นเราก็จะดูเรื่องของแรงม้า แรงบิดกันซะมากกว่า ส่วนในรถยนต์ไฟฟ้านั้น เราก็ดูสเปคตัวรถเหมือนกับรถยนต์เครื่องสันดาปเลย แตกต่างกันตรงที่มันไม่มีเครื่องยนต์ แต่จะใช้ "มอเตอร์ไฟฟ้า" ในการสร้างกำลังขับเคลื่อน เหมือนกับ "เครื่องยนต์" และ "แบตเตอรี่" ในการเก็บพลังงานไฟฟ้า เหมือนกับ "ถังน้ำมัน" นั่นเอง
- เครื่องยนต์ = มอเตอร์ไฟฟ้า
- ถังน้ำมัน = แบตเตอรี่
จุดสำคัญที่ต้องดูในรถยนต์ไฟฟ้าหลักๆ ในยุคนี้ ที่จัดเป็นยุคเริ่มต้นของยุครถยนต์ไฟฟ้าของบ้านเรา เราจะดูเรื่องของ "ระยะทางการวิ่งต่อ 1 การชาร์จ" เป็นหลักซะมากกว่า ก่อนจะมาดูเรื่องของ "แรงม้า/แรงบิด" ของตัวมอเตอร์ซะด้วยซ้ำ และถึงจะมาเริ่มดูกันเรื่อง "อัตราบริโภคพลังงานไฟฟ้า"
เพราะ ณ ขณะนี้ ถือว่าเป็นยุคเริ่มต้นของรถยนต์ไฟฟ้า การจะเปลี่ยนถ่ายจากรถยนต์เครื่องสันดาปมายังรถยนต์ไฟฟ้านั้น สิ่งที่คนยังต้องการรักษาไว้นั่นคือ "ไลฟ์สไตล์การขับขี่" ที่ยังคงอยากให้ใกล้เคียงกับการใช้งานรถยนต์แบบเดิมอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระยะทางการขับในแต่ละการเติมพลังงาน, อัตราเร่งที่อยากให้ใกล้เคียง หรือดีกว่า รวมไปถึงการเติมพลังงานที่อยากให้มีความใกล้เคียงกับการใช้รถยนต์เครื่องสันดาปแบบเดิม (รถไฟฟ้า ต้องใช้เวลาการชาร์จอย่างน้อย 30 นาที แต่รถสันดาป เติมน้ำมันไม่เกิน 5 นาที ไปได้เลย)
วิธีอ่านสเปคแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า
สเปครถยนต์ไฟฟ้าที่เราควรทราบ นอกจากระยะทางต่อการวิ่ง 1 ครั้ง, อัตราเร่ง แรงม้า/แรงบิด, ออปชั่น, ราคา และอื่นๆ แล้ว สิ่งที่ควรทราบอีกนั่นคือ "รายละเอียดเกี่ยวกับสเปคของแบตเตอรี่" ว่าเป็นแบบไหนครับ ซึ่งทางค่ายรถก็มักจะแนบมาให้อยู่แล้ว แต่เราก็อาจจะงงๆ ว่ามันหมายความว่าอย่างไร วันนี้เรามาดูกันครับ
ตัวอย่างสเปคแบตเตอรี่ในรถยนต์ไฟฟ้า
แบตเตอรี่ | ลิเธียมไอออน |
ความจุพลังงานไฟฟ้าในแบตเตอรี่ (kWh) | 71.4 |
แรงดันไฟฟ้า (V) | 355 |
รองรับการชาร์จ AC (kW) | 6.6 |
รองรับการชาร์จ DC (kW) | 150 |
สเปคแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า
- Wh = วัตต์ต่อชั่วโมง ใช้ในการวัดปริมาณแบตเตอรี่
- kWh = กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง ใช้ในการวัดปริมาณแบตเตอรี่ ทำหน้าที่เหมือนกับหน่วยลิตร ที่ใช้วัดปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิง
- V = Volt = แรงดันไฟฟ้า ยิ่งโวลต์สูง แรงดันไฟฟ้ายิ่งเยอะ = ไฟยิ่งแรง
- kW = กำลังไฟฟ้า ยิ่งจำนวนตัวเลขสูง ยิ่งจ่ายไฟ/รับไฟ ได้มาก
- ไฟฟ้า 1 หน่วย = 1 kWh
ในตารางข้างต้นที่เราหยิบยกมา เป็นสเปกของแบตเตอรี่ที่ใช้อยู่ใน Subaru Solterra และ Toyota bZ4X ซึ่งเราขออธิบายแบบง่ายๆ เทียบกับรถยนต์สันดาปได้ดังนี้
พลังงานไฟฟ้าทั้งหมดที่แบตเตอรี่กักเก็บไว้ได้ หน่วยเป็น kWh เปรียบเสมือนหน่วย "ลิตร" ของความจุถังน้ำมันเชื้อเพลิงรถยนต์นั่นเองครับ
ส่วนแรงดันไฟฟ้า (หน่วย V หรือ Volt) คือแรงดันไฟฟ้าของแบตเตอรี่ตัวรถ มีผลต่อเรื่องการชาร์จเป็นอย่างยิ่ง ยิ่งแบตที่มีแรงดันไฟฟ้าสูง (Volt เยอะ) ก็จะยิ่งรับกำลังการชาร์จไฟฟ้าด้วยระบบ DC Fast charge ได้มากยิ่งขึ้น
ส่วนการ "รองรับการชาร์จ" ที่มีกำกับด้วยหน่วย kW หมายถึง "กำลังในการชาร์จไฟฟ้า" หน่วย kW หรือพูดแบบให้เห็นภาพก็เหมือนท่อน้ำนั่นเองครับ ยิ่ง kW เยอะ ก็ยิ่งจ่ายไฟได้เยอะ เหมือนท่อน้ำที่มีขนาดใหญ่นั่นเองครับ
- 6.6 kW = ท่อเล็ก
- 150 kW = ท่อใหญ่
ทั้งนี้ รถคันนั้นๆ จะจ่ายไฟได้เต็ม kW ด้วยหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับค่า V หรือแรงดันไฟฟ้าของแบตเตอรี่ในตัวรถอีกทีด้วย
และก็ขึ้นอยู่กับสเปคของตู้ชาร์จไฟฟ้าด้วยว่าจ่ายไฟได้แรงมากแค่ไหน ถ้าตู้จ่ายไฟได้แรงมาก แต่รถรับได้น้อย เราก็จะรับได้แค่จุดสูงสุดของที่รถรับได้
กลับกัน แม้ว่ารถเราจะรับไฟได้มาก แต่ถ้าตู้จ่ายได้น้อย ก็จะได้รับไฟฟ้าแค่ความแรงสูงสุดที่ตู้ทำได้ครับ
ยกตัวอย่างเช่น
- ใช้รถยนต์ไฟฟ้า Subaru Solterra ที่สามารถรองรับการชาร์จ DC ได้สูงสุด 150 kW เข้าชาร์จที่ตู้ชาร์จของ eleXA ที่กำลัง 120 kW เราจะสามารถรับพลังงานไฟฟ้าได้สูงสุด 120 kW
- ใช้รถยนต์ไฟฟ้า ORA Good Cat 500 ULTRA ที่สามารถรองรับการชาร์จ DC ได้สูงสุด 60 kW เข้าชาร์จที่ตู้ชาร์จของ eleXA ที่กำลัง 120 kW เราจะสามารถรับพลังงานไฟฟ้าได้สูงสุด 60 kW
อธิบายแบบง่ายๆ เทียบกับของใกล้ตัว
หน่วยวัดการใช้ไฟฟ้า (W : Watt) | เป็นหน่วยวัดการใช้พลังงานไฟฟ้า เปรียบเสมือนน้ำมัน |
ความจุไฟฟ้าในแบตเตอรี่ (kWh) | เปรียบเสมือนปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงในถังน้ำมัน ที่ใช้หน่วยเป็น ลิตร |
แรงดันไฟฟ้า (V : Volt) | เปรียบเสมือนแรงดันของน้ำว่ามากน้อยแค่ไหน อาทิเช่น แรงดัน 355V ก็จะส่งมาน้อยกว่า 800V เป็นต้น เป็นการวัดความสามารถในการรับพลังงานไฟฟ้าของแบตเตอรี่ |
กระแสไฟฟ้า (A : Amp) | เปรียบเสมือนกระแสน้ำ |
รองรับการชาร์จ AC 6.6 kW | ท่อน้ำขนาดเล็ก แรงดันต่ำ กระแสไฟฟ้าไหลผ่านน้อย ส่งน้ำมาน้อย |
รองรับการชาร์จ DC 150 kW | ท่อน้ำขนาดใหญ่ แรงดันสูง กระแสไฟฟ้าไหลผ่านมาก ส่งน้ำมาเยอะ |
อัตราบริโภคพลังงานไฟฟ้า อีกข้อสำคัญต้องดู
อีกจุดหนึ่งที่เป็นตัวบ่งบอกว่ารถยนต์ไฟฟ้าคันนั้นๆ จะขับได้ไกลแค่ไหนอีกนั่นคือ "อัตราบริโภคพลังงานไฟฟ้า" นั่นเองครับ ยกตัวอย่างเช่น 160Wh/km (160 วัตต์ หรือ 0.16 kWh/1 กิโลเมตร) หรืออาจจะแจ้งว่า 16 kWh/100 km. ก็จะเหมือนกับกินน้ำมัน 16 ลิตร/100 กิโลเมตร นั่นเองครับ
หรือถ้าอยากคิดเป็นแบบอารมณ์หน่วย กิโลเมตร/ลิตร ก็เพียงนำ 100 กิโลเมตร / 16 kWh = 6.25 กิโลเมตร/1 kWh นั่นเอง
ซึ่งเป็นจุดที่สามารถบอกได้ด้วยว่ารถคันนั้นๆ สามารถวิ่งได้กี่กิโลเมตรต่อ 1 การชาร์จ ยกตัวอย่างเช่น Tesla Model Y Long Range ที่มีปริมาณแบตเตอรี่ 75 kWh (เหมือนมีน้ำมัน 75 ลิตร)
- 1 kWh = 1,000 Wh
- 75 kWh = 75,000 Wh
หมายความว่า Tesla Model Y Long Range หากมีอัตราบริโภคพลังงานไฟฟ้าที่ 160 วัตต์ ต่อ 1 กิโลเมตร ก็จะมีระยะทางการวิ่งจากแบตเตอรี่ 100% จนเหลือ 0% ได้ไกลสุดราว 468 กิโลเมตร นั่นเองครับ
และยิ่งถ้าคุณชาร์จแบตเตอรี่ที่บ้านกับไฟฟ้ามิเตอร์ TOU ช่วง Off peak ด้วยค่าไฟฟ้าราว 2.7 บาท/หน่วย หากคุณชาร์จแบตเตอรี่จาก 0-100% ก็จะจ่ายค่าไฟฟ้าเพียง 200 บาท เท่านั้นครับ
เป็นอย่างไรกันบ้างครับ สำหรับเทคนิคการอ่านสเปคของแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ส่วนมอเตอร์นั้นก็ทำหน้าที่เหมือนกับเครื่องยนต์ทุกประการครับ ทำหน้าที่สร้างกำลังแรงม้า/แรงบิด เป็นกำลังขับเคลื่อนหลักให้กับตัวรถยนต์ไฟฟ้านั้นเอง ส่วนแบตเตอรี่ ก็ทำหน้าที่เหมือนกับถังน้ำมัน ที่กักเก็บพลังงานไฟฟ้าไว้นั่นเองครับ
Autospinn เว็บไซต์รายงานข่าวรถยนต์ รถยนต์ไฟฟ้า รถมอเตอร์ไซค์ เช็กวันเปิดตัวรถใหม่ ราคารถ ตารางผ่อน และรีวิวรถยนต์ รถจักรยานยนต์ โดยทีมงานมืออาชีพ
ซื้อ-ขาย รถมือสอง ได้อย่างมั่นใจ ปลอดภัยชัวร์ ต้องที่ ตลาดรถ One2car
ความคิดเห็น