วิธีแปลงหน่วยวัดระยะทางรถยนต์ไฟฟ้าให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน Share this
EV Trends
โหมดการอ่าน

วิธีแปลงหน่วยวัดระยะทางรถยนต์ไฟฟ้าให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

Paknam536
โดย Paknam536
โพสต์เมื่อ 07 September 2565

มาตรฐานการวัดระยะทางขับขี่ของรถยนต์ไฟฟ้าของผู้ผลิตแต่ละรายนั้นมีความแตกต่างกันออกไป เนื่องจากผู้ผลิตแต่ละรายอยู่คนละประเทศกัน นอกจากนี้แต่ละประเทศผู้ใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าก็มีมาตรฐานของตัวเองไปอีก แล้วเราจะมองเป็นมาตรฐานเดียวกันได้อย่างไร?


มาตรฐานการวัดระยะทางรถยนต์ไฟฟ้า

มาตรฐานการวัดระยะทางรถยนต์ไฟฟ้า เกิดขึ้นมาเพื่อทำให้ผู้ที่กำลังสนใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้าสามารถทราบข้อมูลว่ารถยนต์รุ่นที่คุณสนใจนั้นสามารถขับขี่ได้ระยะทางไกลแค่ไหน ซึ่งจะทำให้ผู้สนใจสามารถมองเห็นภาพได้ว่ารถยนต์ไฟฟ้ารุ่นนั้นๆ เหมาะสมกับการใช้งานของเราหรือไม่

ทว่า มาตรฐานการวัดระยะทางรถยนต์ไฟฟ้าในโลกเรานั้น มีมากมายหลายมาตรฐานเหลือเกิน บางประเทศก็มีมาตรฐานการวัดเป็นของตัวเอง บางประเทศก็ใช้มาตรฐานการวัดจากยุโรป หนักสุดก็ไม่มีมาตรฐานการวัดกลาง ปล่อยให้ผู้จำหน่ายรถใช้มาตรฐานการวัดตามใจตนเอง ซึ่งแน่นอนว่าผู้จำหน่ายรถยนต์ก็ต้องเอามาตรฐานที่วัดระยะทางขับขี่ของตัวเองได้ไกลที่สุดไว้ก่อนเสมอ

 

ในปัจจุบัน มาตรฐานการวัดระยะทางรถยนต์ไฟฟ้าจะมีอยู่ 4 มาตรฐานหลักๆ ได้แก่ WLTP, NEDC, CLTC และ EPA ซึ่งแต่ละมาตรฐานการวัดนั้น ใช้วิธีการตรวจวัดที่แตกต่างกันออกไปอีก ทำให้ตัวเลขที่วัดออกมาได้มีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก คราวนี้เรามาดูกันว่าแต่ละเจ้านั้นใช้วิธีการวัดค่ากันยังไง

สำหรับประเทศไทย เราใช้งานค่ามาตรฐานกันอยู่ 2 ค่าหลักๆ ที่เจอกันบ่อยๆ นั่นคือ NEDC และ WLTP ตามมาตรฐานยุโรป ดังนั้นแล้วบทความนี้เราจะมาแนะนำวิธีแปลงค่าจาก NEDC มาเป็น WLTP เท่านั้น แต่จะมีการกล่าวถึงมาตรฐานอื่นๆ ด้วยครับ

 

 

WLTP คืออะไร

WLTP หรือชื่อเต็มๆ ว่า Worldwide Harmonised Light Vehicle Test Procedure เป็นมาตรฐานการวัดระยะทางที่ใช้งานอยู่ในทวีปยุโรป ซึ่งใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากกว่า NEDC และถูกใช้งานกับรถยนต์แบรนด์ยุโรป และบังคับให้รถยนต์ทุกคันที่จัดจำหน่ายในประเทศเครือสหภาพยุโรป ต้องวัดด้วยมาตรฐานนี้

ส่วนรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ยุโรป ที่ส่งออกมายังประเทศไทย และใช้มาตรฐานนี้ในการวัดระยะทาง ได้แก่ BMW, Mercedes, Porsche ฯลฯ

ในส่วนของวิธีวัดระยะทางของ WLTP นั้น เริ่มใช้งานในปี 2017 ที่ผ่านมา โดยการใช้วิธีเก็บข้อมูลการใช้งานกับการขับขี่บนถนนจริง เพื่อให้ได้ระยะทางใช้งานจริงว่าเป็นอย่างไร โดยค่ายรถยนต์ส่วนใหญ่ประกาศใช้งาน WLTP ทดแทน NEDC แบบเดิมแล้ว

โดยวิธีทดสอบของ WLTP นั้น จะแบ่งการขับขี่เป็นหลายรูปแบบ ตั้งแต่เรื่องของการใช้ความเร็ว ตั้งแต่ความเร็วต่ำ - ปกติ - สูง และสูงพิเศษ โดยแต่ละการทดสอบมีการทดลองการหยุด, เร่ง, การเบรกหลายรูปแบบ และมีการทดสอบน้ำหนักบรรทุกตั้งแต่เบาไปหาหนักด้วย เพื่อทดสอบว่าพอใช้งานจริงแล้วตัวเลขจะออกมาเป็นอย่างไร ซึ่งถือเป็นการทดสอบที่โหดหินมากๆ เลยทีเดียว

 

 

NEDC คืออะไร

NEDC หรือ New European Driving Cycle เป็นมาตรฐานเก่าที่ใช้งานในทวีปยุโรปตั้งแต่ช่วงปี 1980 เป็นต้นมา ซึ่งจะเป็นการทดสอบการขับขี่ตามทฤษฎีการใช้งานรถยนต์รุ่นนั้นๆ ซึ่งทำให้ตัวเลขการทดสอบมีความแตกต่างจากการใช้งานในโลกความเป็นจริง ส่งผลให้รถยนต์ที่จัดจำหน่ายในสหภาพยุโรป เปลี่ยนมาตรฐานไปใช้ WLTP ทั้งหมดแล้ว

โดยรถยนต์ที่ผลิตจากประเทศจีน ยังมักจะใช้งานมาตรฐานนี้อยู่ อาทิเช่น ORA, MG, NETA, BYD เป็นต้น

 

 

CLTC คืออะไร

CLTC หรือ China Light-Duty Vehicle Test Cycle เป็นมาตรฐานการทดสอบรถยนต์ของประเทศจีน ซึ่งรถยนต์ที่จัดจำหน่ายในประเทศจีน โดยเฉพาะแบรนด์รถยนต์สัญชาติจีนมักจะใช้มาตรฐานนี้ในการทดสอบ โดยการทดสอบนี้จะทดสอบขับขี่ด้วยความเร็ว 3 แบบ ทั้งความเร็วต่ำ - กลาง - สูง รวมถึงการทดสอบเบรก และการใช้พลังงานขณะรถจอดหยุดนิ่งด้วย

 

China Flag

 

EPA คืออะไร

EPA หรือ U.S Environmental Protection Agency เป็นหน่วยงานดูแลด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศสหรัฐอเมริกา และทำหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพของรถยนต์ด้วยเช่นกัน โดย EPA ถือเป็นบททดสอบรถยนต์ไฟฟ้าที่โหดที่สุดในโลก ณ ขณะนี้ โดยวิธีการทดสอบของเขา จะนำเอารถยนต์ไฟฟ้ามาชาร์จแบตเตอรี่ให้เต็ม 100% และจอดไว้ 1 คืน ก่อนจะนำรถยนต์ขึ้นไดโน่ และเริ่มทดสอบ โดยจำลองการขับขี่ทั้งบนทางด่วน และการขับในเมือง ทำวนไปซ้ำๆ จนกว่าแบตเตอรี่จะหมด และพอได้ระยะทางทดสอบจริงมาแล้ว จะ x0.7 เข้าไปอีก เพื่อทำให้ตัวเลขใกล้เคียงกับผู้ใช้งานทั่วไปมากที่สุด จะเห็นได้ว่ามันโหดมากๆ

 

EPA

 

ควรยึดค่าการทดสอบไหน เหมาะที่สุดในตอนนี้?

ในส่วนของผลการทดสอบไหน ที่ถือว่าน่าจะเหมาะสมที่สุดในตอนนี้ และใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด ต้องยกให้เป็นของ WLTP เพราะถือเป็นมาตรฐานการทดสอบที่รถยนต์ทุกรุ่นในโลก ที่จะเอาไปขายในทวีปยุโรปต้องสอบผ่านมาตรฐานนี้ก่อน ประกอบกับในทวีปยุโรป มีแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าเข้าไปจำหน่ายเกือบจะทุกยี่ห้อแล้ว ณ ตอนนี้ เราจึงขอยกให้มาตรฐาน WLTP เป็นค่ามาตรฐานครับ

 

สูตรแปลงค่ามาเป็น WLTP

เนื่องจากผู้ผลิตรถยนต์แต่ละค่าย มาจากหลายประเทศ และมักจะพกพาเอามาตรฐานการทดสอบที่ดีที่สุดมาเพื่อชูโรง ทว่ามันไม่ใช่ค่าที่เป็นกลางซะทีเดียว ดังนั้นเราจึงต้องนำมาแปลงค่าให้มาอยู่ในค่าเดียวกัน นั่นคือค่า WLTP นั่นเองครับ โดยมีสูตรคำนวณ พร้อมตัวอย่างดังนี้

 

วิธีแปลงค่า NEDC มาเป็น WLTP

ให้นำเอาตัวเลข NEDC หารด้วย 1.27 จะออกมาเป็นตัวเลข WLTP (มีโอกาสคลาดเคลื่อน 8%)

อาทิเช่น ORA Good Cat 500 Ultra ได้มาตรฐาน NEDC 500 กม. ให้นำเอา 500 มาหารกับ 1.27 ดังนี้

500/1.27 = 393 กม.

 

NETA V ได้ระยะ NEDC ที่ 384 กม. จะคำนวณออกมาเป็น WLTP ได้ดังนี้

384/1.27 = 302 กม.
 

สูตรคำนวณจากเว็บไซต์

https://insideevs.com/features/343231/heres-how-to-calculate-conflicting-ev-range-test-cycles-epa-wltp-nedc/

 

อัปเดตข่าวรถล่าสุด ดูรีวิวรถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ ทุกยี่ห้อ โดยทีมงานมืออาชีพ ตรวจสอบราคา ตารางผ่อน พร้อมเกาะติดข่าวสารรถยนต์ไฟฟ้า EV ไปกับ Autospinn 

ค้นหารถมือสองทุกรุ่น ทุกแบบ ทั้งรถเก๋งมือสอง รถตู้มือสอง รถกระบะมือสอง ราคาดี ฟรีดาวน์ ผ่อนถูก คุณภาพพร้อมใช้งาน ดูรายละเอียด และราคารถมือสองได้ที่ ตลาดรถ One2car


ความคิดเห็น


เรียกดูข่าวตามประเภทยานพาหนะ

ค้นหาข่าวโดยยี่ห้อ