การตัดสินใจซื้อรถยนต์สัก 1 คัน เรียกได้ว่าเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญในชีวิต เพราะการซื้อรถยนต์สักคันหนึ่ง ถือว่าเป็นเงินก้อนใหญ่ของคนไทยโดยส่วนใหญ่ หากเราต้องตัดสินใจซื้อรถยนต์สักคันในงบประมาณ 1 ล้านบาท จะเลือกอะไรดีระหว่างรถไฟฟ้าหรือรถน้ำมัน?
รถไฟฟ้า กับ รถน้ำมัน
ณ ปัจจุบันนี้ เรียกได้ว่ารถยนต์ไฟฟ้าเข้ามามีบทบาทในการตัดสินใจซื้อรถยนต์ใหม่ของคนไทยเป็นจำนวนมาก เนื่องด้วยสถานการณ์ราคาน้ำมันแพงที่ราคาน้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล 95 ยืนราคาระดับ 35 บาทมานานนับปี โดยยังไม่มีที่ท่าว่าจะลดลงแต่อย่างใด มิหน่ำซ้ำยังมีการปรับขึ้นราคาไปอยู่แถวๆ 40 บาท/ลิตร อยู่บ่อยครั้ง ส่งผลโดยตรงต่อภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของคนไทย ที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงมิได้
ส่งผลให้ผู้ที่กำลังตัดสินใจซื้อรถยนต์คันใหม่ นำเอารถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาอยู่ในข้อพิจารณาด้วย เนื่องจากค่าพลังงานของรถยนต์ไฟฟ้าต่อกิโลเมตร ถูกกว่ารถยนต์สันดาปถึง 4 เท่าด้วยกัน เอาว่าหากปกติแล้วคุณใช้รถยนต์สันดาปอยู่ จ่ายค่าน้ำมันเดือนละ 4,000 บาท เมื่อใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่มีขนาดเท่ากัน คุณจะจ่ายค่าไฟฟ้าเพียงเดือนละไม่ถึง 1,000 บาทเท่านั้น ในกรณีที่ชาร์จที่บ้านเป็นประจำ
ทว่า รถยนต์ไฟฟ้าก็อาจจะไม่ได้ตอบโจทย์คุณทั้งหมดซะทีเดียว เพราะด้วยเทคโนโลยีปัจจุบัน มันยังมีข้อจำกัดเรื่องของระยะทางขับขี่ ประกอบกับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตัวรถที่เราต้องเรียนรู้ใหม่ในหลายส่วน
ในบทความนี้ เราจะมาชวนวิเคราะห์ว่าหากคุณมีงบประมาณซื้อรถยนต์ใหม่ในระดับ 1 ล้านบาท คุณเหมาะสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า หรือรถยนต์สันดาปมากกว่ากัน?
รถยนต์ไฟฟ้า งบ 1 ล้าน
สำหรับรถยนต์ไฟฟ้างบประมาณระดับ 1 ล้านบาท จะมีอยู่ด้วยกัน 6 รุ่น ได้แก่ BYD Dolphin Extended Range, ORA Good Cat, MG 4, MG ES, MG ZS EV และ BYD ATTO 3 Standard Range โดยเราจะเห็นได้ว่าล้วนแล้วแต่เป็นรถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีนทั้งหมด ส่วนหนึ่งก็เพราะว่ามาตรการทางด้านภาษีของรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนที่มีสิทธิพิเศษทางภาษีมากกว่า ทำให้สามารถทำราคาที่จับต้องได้ง่าย
โดยรถยนต์ไฟฟ้ากลุ่มนี้ จะมีให้เลือกหลากหลายรูปแบบ อาทิเช่นรถแฮทช์แบค 5 ประตู พิกัด B-Segment อย่าง BYD Dolphin, ORA Good Cat, MG 4 และ MG ES อีกทั้งยังมีรถ B-SUV ด้วย ได้แก่ MG ZS EV และ BYD ATTO 3
สำหรับประสิทธิภาพของรถยนต์ไฟฟ้ากลุ่มนี้ จัดว่าน่าสนใจ โดยจะมีพละกำลังอยู่ราวๆ 170 - 201 แรงม้า แรงบิดสูงสุดตั้งแต่ 250 - 310 นิวตันเมตร ส่วนระยะทางขับขี่จะเฉลี่ยราวๆ 300 - 400 กิโลเมตรโดยส่วนใหญ่
รถยนต์สันดาป งบ 1 ล้าน
ในส่วนของรถยนต์สันดาปงบประมาณ 1 ล้านบาท จะมีตัวเลือกที่หลากหลายมากๆ โดยมีรถยนต์ให้เลือกหลากหลายแนว ทั้งรถซีดาน, รถ SUV และรถแบบ MPV โดยรถสันดาปในระดับราคานี้ หากเป็นรถเก๋งมักจะมาในพิกัด C-Segment เลยทีเดียว อาทิเช่น Honda Civic, Toyota Corolla Altis และ Mazda 3 ส่วนรถยนต์ B-SUV ก็มีทั้ง Honda HR-V, Toyota Corolla Cross, Mazda CX-30 และยังมีรถแบบ MPV 7 ที่นั่งอีกด้วย อาทิ Honda BR-V, Toyota Veloz, Suzuki Ertiga, XL7, Mitsubishi Xpander, Hyundai Stargrazer เป็นต้น
ไหนจะเป็นกลุ่มรถกระบะ ที่มีตัวเลือกให้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นกระบะตอนเดี่ยว, ตอนครึ่ง หรือ 2 ตอนก็ตาม ซึ่งรถยนต์ไฟฟ้า ณ ปัจจุบัน ส่วนใหญ่ยังเป็นรถเก๋งซะมากกว่า
เมื่อเปรียบเทียบในงบเท่ากันแล้ว จะเห็นได้ว่าตัวเลือกฝั่งรถยนต์สันดาปจะมีหลากหลายมากกว่าอย่างชัดเจน เนื่องด้วยตลาดรถยนต์สันดาปอยู่ในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน จึงไม่แปลกนักที่เราจะมีตัวเลือกมากมายอย่างที่ได้ยกตัวอย่างให้ดูกัน
ด้านประสิทธิภาพการขับขี่ เรียกได้ว่าหลากหลายสุดๆ เพราะว่ารถยนต์สันดาปแต่ละค่ายก็มีจุดเด่นที่แตกต่างกัน ถ้ามองด้านประสิทธิภาพการขับขี่ ก็ต้องมองไปหารถซีดาน ถ้าเน้นใช้งาน ผู้โดยสารเยอะ ต้องมอง MPV แต่ถ้าคนนั่งไม่เยอะมาก เน้นขับลุยๆ ออกต่างจังหวัดมากกว่า ก็ต้องมองไปที่ B-SUV
ส่วนขุมพลังของรถยนต์สันดาปพิกัดนี้ ก็มีทั้งเครื่องยนต์สันดาปล้วน 100% และรถยนต์ไฮบริด มีมอเตอร์ไฟฟ้าช่วยขับด้วย แต่ไม่ใช่ไร้ไอเสีย 100%
งบ 1 ล้าน ซื้อรถอะไรดี?
ในงบประมาณ 1 ล้านบาท ซื้อรถอะไรดี เป็นคำถามที่เราไม่แปลกใจนัก เพราะมีตัวเลือกในท้องตลาดเยอะมากๆ จริงๆ เพราะงั้นแล้วการเลือกซื้อรถยนต์ให้ตอบโจทย์การใช้งานมากที่สุด ต้องดูจากลักษณะการใช้งานรถยนต์ของเราว่าเราต้องการรถยนต์มาเพื่อใช้งานแบบไหนกันแน่ ส่วนประเภทรถที่ต้องการใช้งานนั้นก็ต้องพิจารณาด้วยว่าเราใช้รถแบบไหน? โดยเราจำแนกกลุ่มของผู้ใช้งานกับรถยนต์ที่เหมาะสมไว้ให้แล้วดังนี้
เน้นขับในเมือง นานๆ ที ขับทางไกล
กลุ่มนี้ขอแนะนำเป็น "รถยนต์ไฟฟ้า" เนื่องจากข้อดีหลักของรถยนต์ไฟฟ้าเลยนั่นคือค่าพลังงานที่ต่ำกว่ารถยนต์สันดาปถึง 4 เท่า มิหน่ำซ้ำในราคาเท่ากันแล้ว รถยนต์ไฟฟ้ามอบประสิทธิภาพการขับขี่ที่เร้าใจกว่า โดยเฉพาะการขับในเมือง รถยนต์ไฟฟ้าจะเร่งแซงได้ง่ายกว่ารถยนต์สันดาปอย่างมหาศาล เพราะมันไม่ต้องรอรอบใดๆ กดคันเร่งปุ้บพุ่งทันที เอาว่าคุณสามารถขับซิ่งได้ในค่าใช้จ่ายที่เป็นมิตรต่อกระเป๋า
เพราะอย่าลืมว่า นอกจากค่างวดรถแล้ว คุณยังมีค่าพลังงานที่ต้องจ่ายด้วย สมมุติว่าคุณต้องผ่อนรถเดือนละ 15,000 บาท แล้วต้องจ่ายค่าน้ำมันอีกเดือนละ 4,000 บาท ไหนจะค่าประกันภัย ตีเฉลี่ยอีกเดือนละ 1,500 บาท ไม่รวมค่าเซอร์วิสใดๆ เท่านี้รายจ่ายคุณก็ทะลุเดือนละ 20,000 บาทเข้าไปแล้ว
แต่ถ้าเป็นรถยนต์ไฟฟ้า แม้ว่าค่าใช้จ่ายอื่นๆ ก็ใกล้ๆ กับรถยนต์สันดาป แต่ค่าพลังงานคุณจะลดเหลือราว 1,000 บาท/เดือน นั่นส่งผลให้รายจ่ายต่อเดือนของคุณไม่เกิน 20,000 บาททันที
เน้นขับชานเมือง ระยะทางไม่เกิน 300 กิโลเมตร/วัน
สำหรับกลุ่มที่ขับรถในเส้นทางลักษณะนี้ มักจะอยู่อาศัยในเขตชานเมือง และวิ่งเข้ามาทำงานในเมือง หรืออาจจะอาศัยในเมือง แล้ววิ่งออกไปทำงานนอกเมือง มักจะใช้รถค่อนข้างเยอะ โดยเฉลี่ยมักจะใช้รถมากกว่า 20,000 กิโลเมตรต่อปีขึ้นไปเลยทีเดียว จัดว่าเป็นกลุ่มที่ใช้รถค่อนข้างหนักหน่วง
ทว่าด้วยเส้นทางขับรถเดิมๆ ที่คุณใช้งานทุกวันนั้น หากคุณใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าคุณจะสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้อย่างมหาศาลทันที
สมมุติว่า รถยนต์สันดาปคันเก่าของคุณ อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ยราว 14 กม./ลิตร หากคุณใช้รถปีละ 20,000 กิโลเมตร คุณจะต้องจ่ายค่าน้ำมันอยู่ที่ปีละ 55,000 บาท (ราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล 95 ตีเฉลี่ยลิตรละ 39 บาท) หรือราวๆ กม.ละ 2.7 บาท
หรือถ้าหันไปมองรถยนต์ไฮบริด อัตราสิ้นเปลืองจะขยับมาอยู่ราวๆ 20 กม./ลิตร ค่าน้ำมันก็จะลดลงมาเหลือราว 39,000 บาทต่อปี หรือตกกม.ละไม่ถึง 2 บาท ลดลงจากรถยนต์สันดาปพอสมควร
แต่ถ้าเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ที่อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ยราวๆ 150 Wh/km คุณจะมีค่าไฟฟ้าตกกิโลเมตรละ 57 สตางค์ หรือเป็นค่าไฟฟ้าปีละ 11,400 บาท ในกรณีที่คุณชาร์จที่บ้านตลอด (ค่าไฟฟ้าอัตรา TOU Off Peak หน่วยละ 3.8 บาท)
หรือถ้าคุณจะชาร์จนอกบ้านอย่างเดียวเลย 100% ค่าไฟฟ้าจะอยู่ที่หน่วยละ 7.5 บาทโดยเฉลี่ย จะมีต้นทุนการเดินทางอยู่ราวๆ กิโลเมตรละ 1.14 บาท หรือราวๆ ปีละ 22,800 บาทนั่นเอง
สรุปสั้นๆ ด้วยโจทย์การใช้งานเดียวกัน ค่าพลังงานต่อปีเป็นดังนี้
รถน้ำมัน | 55,000 บาท |
รถไฮบริด | 39,000 บาท |
รถไฟฟ้า | 11,400 - 22,800 บาท |
สำหรับระยะทางไม่เกิน 300 กิโลเมตร รถยนต์ไฟฟ้าตามรายชื่อที่ยกมาให้นี้ ล้วนแล้วแต่สามารถขับได้เพียงพอต่อ 1 การชาร์จแทบทั้งสิ้น ยกเว้น MG ที่อาจจะต้องบริหารการใช้ไฟฟ้าสักนิดหนึ่ง เนื่องจากมีอัตราการใช้ไฟฟ้าที่สูงกว่ารุ่นอื่นๆ สักหน่อย
โดยรถยนต์ไฟฟ้าจะเหมาะกับคนที่มีที่อยู่อาศัยแบบเป็นบ้านหรือทาวเฮ้าส์ที่สามารถติดตั้ง Home Charger ได้ ทว่าหากคุณอยู่คอนโด หรือสถานที่ที่ไม่สามารถติด Home Charger หรือเสียบชาร์จรถข้ามคืน หรือที่ทำงานของคุณไม่มีที่ชาร์จรถได้นั้น "ยังไม่ค่อยแนะนำ EV สักเท่าไหร่" เพราะคุณต้องสละเวลาอย่างน้อยวันละ 1 ชั่วโมง เพื่อนำรถไปชาร์จที่สถานีเป็นประจำทุกวัน ซึ่งนี่มันดูสร้างภาระให้กับผู้ใช้งานไปสักหน่อย
นอกเสียจากว่าคุณยอมสละเวลาวันละ 1 ชั่วโมง เพื่อนำรถไปชาร์จที่สถานี แลกกับค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่ลดลงครับ
เน้นขับนอกเมือง ไกลกว่า 300 กิโลเมตร/วัน ในเส้นทางเดิมๆ เป็นประจำ
สำหรับในโจทย์ที่ว่า คุณขับรถทางไกล เป็นระยะทางมากกว่า 300 กิโลเมตร/วัน โดยใช้เส้นทางเดิมเป็นประจำ คนกลุ่มนี้ถือว่ามีจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว ยกตัวอย่างเช่นอาศัยอยู่ในกรุงเทพ แต่ทำงานที่ชลบุรี, อยุธยา ฯลฯ เป็นต้น กลุ่มนี้มักจะขับรถในระยะทางเดิมๆ แต่ขับไกลเป็นพิเศษ กลุ่มนี้ก็ยังถือว่าเหมาะกับการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าอยู่ เพราะว่ามักจะเป็นระยะทางที่ขอแค่การชาร์จเพียง 1 ครั้งก็เพียงพอ
แต่ถ้าไม่สะดวกในการแวะชาร์จสัก 1 ครั้งต่อวัน หรือคิดว่ามันจะเปลี่ยนชีวิตประจำวันของคุณแบบที่คุณมิอาจยอมรับได้ ควรหันไปหารถยนต์สันดาปครับ
เน้นขับนอกเมือง ขับในเส้นทางใหม่ๆ เป็นประจำ
สำหรับกลุ่มนี้ เรายังไม่แนะนำให้คุณใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากโครงข่ายสถานีชาร์จนั้นยังไม่ได้มีความชัดเจนขนาดว่ามีทุกปั้มน้ำมัน เพราะการเดินทางในเส้นทางใหม่ๆ ตลอดนั้น หมายความว่าทุกๆ วันที่คุณใช้รถ คุณไม่อาจวางแผนการเดินทางล่วงหน้าได้อย่างชัดเจน
ต้องยอมรับว่า การค้นหาสถานีชาร์จในปัจจุบัน ล้วนแล้วแต่ทำผ่านแอปพลิเคชั่นซะมากกว่า ประกอบกับจำนวนสถานีชาร์จที่แม้ว่าจะตั้งคลอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่ามันหาได้ง่ายเหมือนกับปั้มน้ำมัน เพราะในบางจังหวัดอาจจะมีสถานีชาร์จเพียง 1-3 แห่งเท่านั้น แตกต่างจากปั้มน้ำมันที่อาจจะมีเยอะขนาดทุกอำเภอเลยก็ว่าได้
ทำให้ผู้ใช้งานรถยนต์กลุ่มนี้ ยังเหมาะกับรถยนต์สันดาปมากกว่า เว้นเสียแต่ว่าคุณสะดวกที่จะวางแผนการเดินทางใหม่ทุกครั้งในทุกๆ วัน ก็ยังพอใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าได้ครับ แต่อาจจะไม่สะดวกเท่ารถยนต์สันดาป
กลุ่มครอบครัว มีผู้โดยสารมากกว่า 5 คนเป็นประจำ
ควรมองไปยังกลุ่มรถยนต์แบบ MPV จะดีกว่า เนื่องจากรถยนต์กลุ่มนี้มักจะให้ที่นั่งมามากถึง 7 ที่นั่ง ซึ่งเพียงพอสำหรับทุกคนในการเดินทางอย่างแน่นอน อีกทั้งขนาดตัวรถที่มีพื้นที่ขนสัมภาระมากกว่ารถยนต์ประเภทอื่นด้วย จัดว่าเป็นรถที่เหมาะสำหรับครอบครัวที่มีผู้โดยสารเยอะๆ เป็นประจำ
โดย ณ ปัจจุบันนี้ ยังไม่มีรถยนต์ไฟฟ้า 7 ที่นั่ง จัดจำหน่ายในประเทศไทยอย่างเป็นทางการแม้แต่รุ่นเดียว ทำให้ผู้ที่กำลังมองหารถยนต์ประเภทนี้ในงบ 1 ล้านบาท ต้องมองรถยนต์สันดาปเท่านั้น
สรุป งบ 1 ล้าน ซื้อรถไฟฟ้า หรือ รถน้ำมัน
โดยสรุปแล้ว งบ 1 ล้านบาท จะซื้อรถไฟฟ้า หรือ รถน้ำมัน อยู่ที่รูปแบบการใช้งานของคุณล้วนๆ หากคุณขับรถในเส้นทางเดิมๆ เป็นประจำ มีรูปแบบการใช้รถยนต์ที่ชัดเจน ในระยะทางไม่เกิน 300 กิโลเมตรต่อวัน หรือเกินบ้างนิดหน่อย แทบจะไม่มีเหตุผลใดๆ ที่คุณต้องปฎิเสธรถยนต์ไฟฟ้า เว้นเสียแต่ว่ามีผู้โดยสารเยอะกว่า 5 คนเป็นประจำ แบบนั้นหันไปหารถยนต์ MPV จะคุ้มค่ากว่า
ส่วนคนที่เหมาะกับรถน้ำมัน เป็นกลุ่มคนที่ขับรถในเส้นทางที่หลากหลาย และขับไกล "ทุกวัน" อีกทั้งไม่สะดวกวางแผนการเดินทางล่วงหน้า แบบนี้ยังเหมาะกับรถน้ำมัน
อัปเดตข่าวรถยนต์ ดูรีวิวรถยนต์ รีวิวรถมอเตอร์ไซค์ ทุกยี่ห้อ โดยทีมงานมืออาชีพ เช็คราคา ตารางผ่อน พร้อมเกาะติดข่าวสารรถยนต์ไฟฟ้า EV ไปกับ Autospinn.com
ซื้อขายรถมือสอง ทุกรุ่น ทุกแบบ ทั้งรถเก๋งมือสอง รถตู้มือสอง รถกระบะมือสอง ราคาดี ฟรีดาวน์ ผ่อนถูก คุณภาพพร้อมใช้งาน ดูรายละเอียด และราคารถมือสองได้ที่ ตลาดรถ One2car
ความคิดเห็น