มาดู ข้อดีและข้อเสีย ของ เกียร์ CVT ว่ามีความแตกต่างจากเกียร์อัตโนมัติแบบปกติอย่างไร รวมถึงปัญหาที่มักพบบ่อยๆ และวิธีถนอมเกียร์ CVT ไม่ให้พังก่อนระยะเวลาอันควร
ข้อดี-ข้อเสีย ของเกียร์ CVT และความแตกต่างระหว่างเกียร์อัตโนมัติปกติ
ในยุคปัจจุบันรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ได้มีการเปลี่ยนมาใช้เกียร์อัตโนมัติแบบ CVT กันมากขึ้น นั่นอาจเกิดคำถามขึ้นมาว่า แล้วเกียร์ CVT ที่ว่านี้คืออะไร มีข้อดีและข้อเสีย หรือข้อแตกต่างระหว่างเกียร์อัตโนมัติแบบเดิมอย่างไร รวมถึงเมื่อใช้งานไปนานๆ ต้องการการดูแลเป็นพิเศษขนาดไหน ไปหาคำตอบกันค่ะ
เกียร์ CVT คืออะไร มีหลักการทำงานอย่างไร?
ก่อนอื่นเลยเรามาทำความรู้จักกับเจ้า เกียร์ CVT หรือ Continuously Variable Transmission เป็นหนึ่งในเกียร์อัตโนมัติรูปแบบหนึ่งที่มีอัตราทดแปรผันตามความเร็ว ได้รับแนวคิดมาจาก ค.ศ. 1490 โดย Leonardo DaVinci ซึ่งได้รับการจดสิทธิบัตรอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 1886 โดยผู้ผลิตรถยนต์แบรนด์หรูยี่ห้อหนึ่ง ต่อมาเริ่มได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในกลุ่มรถยนต์ขนาดเล็กและขนาดกลาง
โดยหลักการทำงานของ เกียร์ CVT หลักๆ จะประกอบไปด้วย รอก หรือพูลเลย์ (Pulley) 2 ตัว ประกอบไปด้วย พูลเลย์ขับ (Drive Pulley) ที่ต่อจากเครื่องยนต์ และพูลเลย์ตาม (Driven Pulley) ที่ต่อเข้ากับชุดเพลาขับ โดยมีสายพานโซ่ (Steel Belt) ที่ทำงานคล้ายกับจานโซ่จักรยานทั่วไปที่ไม่มีเกียร์ เพียงแต่แกนพูลเลย์ทั้ง 2 ตัวของระบบ CVT นั้นสามารถขยับถอยเข้า-ออกได้ เพื่อลดหรือเพิ่มขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของวงสายพานแต่ละด้านสำหรับเปลี่ยนแปลงอัตราทดแทนชุดเฟืองเกียร์ในเกียร์อัตโนมัติปกติ
ข้อดีของเกียร์ CVT
- เปลี่ยนเกียร์นุ่มนวล ลื่นไหล ไม่กระชาก ไม่มีรอยต่อระหว่างการเปลี่ยนเกียร์เหมือนกับเกียร์อัตโนมัติแบบทั่วไป
- ช่วยให้ประหยัดน้ำมันมากยิ่งขึ้น เนื่องจากสามารถปรับอัตราทดเกียร์ได้อย่างต่อเนื่อง ช่วยให้เครื่องยนต์ใช้รอบที่เหมาะสม และสูญเสียกำลังน้อย
- ช่วยให้เครื่องยนต์ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพสม่ำเสมอ
- ชุดเกียร์มีชิ้นส่วนน้อย มีขนาดเล็กกว่าชุดเกียร์อัตโนมัติทั่วไป ทำให้มีพื้นที่มากขึ้น และยังเหมาะกับรถขนาดเล็กด้วย
- ต้นทุนในการผลิตต่ำ
ข้อเสียของเกียร์ CVT
- ค่าบำรุงรักษาแพงมากกว่าเกียร์อัตโนมัติแบบทั่วไป
- ไม่เหมาะกับขาซิ่งเป็นอย่างยิ่ง เพราะการทำงานของเกียร์ CVT จะทำงานแบบละมุน ค่อยๆ ไต่ความเร็ว และรองรับแรงบิดได้น้อย
- ส่วนมากคนจะมักคุ้นชิ้นกับเกียร์ธรรมดา หรือเกียร์อัตโนมัติแบบเดิมๆ ก็จะรู้สึกอึดอัดกับอัตราเร่งที่ไม่ทันใจเท่าไหร่นัก เพราะเกียร์ CVT จะปรับอัตราทดเกียร์โดยอัตโนมัติ เพื่อให้เครื่องยนต์ทำงานที่รอบที่เหมาะสม ส่งผลให้รอบเครื่องยนต์อาจจะต่ำกว่าที่คุ้นเคย
ปัญหาที่มักพบบ่อยๆ ในเกียร์ CVT
- เกิดความร้อนในระบบเกียร์สูง เนื่องจากการทำงานของเกียร์ CVT ซึ่งใช้ชุดพูลเลย์ 2 ตัว และสายพานนั้นต้องหมุนอยู่ตลอดเวลา จึงจำเป็นต้องอาศัยระบบหล่อเย็นเพื่อระบายความร้อน หากระบบดังกล่าวมีปัญหาจะทำให้ชุดเกียร์ CVT เกิดความร้อนสูง ซึ่งสังเกตได้จากกลิ่นไหม้ภายในรถ
- น้ำมันเกียร์รั่วซึม เนื่องจากระบบเกียร์ CVT ก็เหมือนกับระบบเกียร์ทั่วไป ยังคงต้องอาศัยน้ำมันเกียร์ในการหล่อลื่น หากปล่อยให้น้ำมันเกียร์ขาดจะทำให้เกียร์มีปัญหาตามมา เช่น การรั่วซึม ส่งผลให้ระบบเกียร์ตอบสนองช้าลง รวมถึงหากน้ำมันเกียร์มีการปนเปื้อนจะทำให้การทำงานของเกียร์ CVT ไม่ราบรื่น เร่งไม่ขึ้น หรือกระตุก หากรถมีอาการเหล่านี้ควรรีบนำไปตรวจเช็กน้ำมันเกียร์โดยด่วน
- สูญเสียกำลังและความเร็ว ในกรณีที่เกียร์มีปัญหานี้จะมีอาการกระตุกและสั่นเมื่อเดินคันเร่ง โดยเฉพาะเมื่อเกิดความร้อนสูงในระบบ รถจะสูญเสียกำลังลงไปอย่างเห็นได้ชัด
- ความทนทานน้อยกว่าเกียร์อัตโนมัติแบบปกติ เนื่องจากเกียร์ CVT มีชิ้นส่วนน้อยและต้องทำงานตลอดเวลา จึงมีความทนทานน้อยหรืออายุการใช้งานสั้นกว่าตามธรรมชาติ
วิธีถนอมเกียร์ CVT
1. หลีกเลี่ยงการคิกดาวน์
เดาว่าหลายคนน่าจะเคยเป็นเวลาที่ต้องการเร่งแซงแต่รู้สึกว่ารถมันอืดไม่ทันใจ ประกอบกับอาจจะมีอารมณ์ผสมอยู่หน่อยๆ ก็เลยกดคิกดาวน์ไปเลยสิจ้ะ การกระทำเช่นนี้เป็นการทำให้ เกียร์ CVT ต้องปรับต้องปรับอัตราทดเกียร์ลงอย่างรวดเร็วเพื่อเพิ่มแรงบิด ส่งผลให้เครื่องยนต์ทำงานรอบสูง มีเสียงดัง และกินน้ำมันมากยิ่งขึ้น และอาจทำให้สายพานเสื่อมสภาพก่อนกำหนดได้
2. ไม่ออกตัวแบบกระชาก
พอเราคิกดาวน์หรือเหยียบคันเร่งแรงๆ ในตอนออกตัว เป็นเหตุทำให้รอบเครื่องยนต์พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้พูลเลย์หมุนตามไม่ทัน ทำให้รถมีอาการรอรอบ ออกตัวได้ช้า สายพานก็จะพังเร็วขึ้นอย่างที่กล่าวไปในข้อแรก ดังนั้นควรเริ่มจากการเหยียบคันเร่งเพียงเล็กน้อย รอให้รอบเครื่องยนต์ขยับขึ้นจนเริ่มมีแรงบิดส่งมาที่เกียร์ จากนั้นค่อยๆ เพิ่มแรงกดดันเร่งเข้าไปทีละนิด วิธีนี้ทำให้การออกตัวราบรื่นมากขึ้นและรวดเร็วกว่าการออกตัวแบบกระชาก และยังช่วยยืดอายุการใช้งานของเกียร์ได้อีกด้วย
3. บำรุงรักษาตามระยะ
นำรถเข้าตรวจเช็คระยะตามรอบกำหนด เปลี่ยนถ่ายด้วยน้ำมันเกียร์ CVT โดยเฉพาะ เพราะตัวน้ำมันจะมีความลื่นแบบพอดีๆ ช่วยลดการสึกหรอของสายพานและพูลเลย์ ทำให้เกียร์ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่หากเติมน้ำมันเกียร์ผิดประเภท เช่น เติมน้ำมันเกียร์ออโต้ธรรมดา จะมีความลื่นมากเกินไป เมื่อใช้ไปเรื่อยๆ ก็อาจทำให้ระบบเกียร์พังได้
อัปเดตข่าวรถล่าสุด ดูรีวิวรถยนต์ รีวิวรถมอเตอร์ไซค์ ทุกยี่ห้อ โดยทีมงานมืออาชีพ เช็คราคา ตารางผ่อน พร้อมเกาะติดข่าวสารรถยนต์ไฟฟ้า EV ได้ที่ Autospinn.com
ซื้อขายรถมือสองออนไลน์ ต้องที่ ตลาดรถมือสอง One2car ซื้อรถง่าย ขายรถไว ทั้งรถเก๋งมือสอง รถตู้มือสอง รถกระบะมือสอง ราคาดี ฟรีดาวน์ ผ่อนถูก คุณภาพพร้อมใช้งาน
ความคิดเห็น