ควรรู้! ง่วงแล้วขับ อันตรายไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเมาแล้วขับ Share this

ควรรู้! ง่วงแล้วขับ อันตรายไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเมาแล้วขับ

Satapana
โดย Satapana
โพสต์เมื่อ 29 November 2558

หลายหน่วยงานรณรงค์ป้องกันการเมาแล้วขับกันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลวันหยุดยาว แต่หลายคนอาจยังไม่ทราบว่า การง่วงแล้วขับก็มีอันตรายไม่แพ้กันเลย

สมาคมยานยนต์อเมริกาเพื่อความปลอดภัยบนถนนระบุว่า 10% ของผู้ขับขี่รถชาวอเมริกันยอมรับว่าเคยงีบหลับขณะนั่งอยู่หลังพวงมาลัย ขณะที่การสำรวจของอังกฤษระบุว่า 1 ใน 8 ของผู้ขับขี่ชาวเมืองผู้ดียอมรับว่าเคยหลับขณะขับขี่กินเวลานานสูงสุดถึง 30 วินาทีเลยทีเดียว

อาการง่วงงุนลดความสามารถในการขับขี่ไม่ต่างจากการดื่มสุรา เพราะทำให้มีอาการตื่นตัวน้อยลงและไม่สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์เบื้องหน้าได้อย่างทันท่วงที นั่นหมายความว่า ความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุก็มากขึ้นด้วยถึงแม้คนขับจะยังไม่หลับในก็ตาม

อุบัติเหตุ 1 ใน 5 ที่เกิดจากการง่วงแล้วขับมักนำไปสู่การบาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิต โดยความง่วงขณะขับขี่มักเกิดขึ้นในช่วงความเร็วสูงบนถนนโล่งยาว เกิดกับผู้ชายอายุระหว่าง 16 – 24 ปีมากที่สุด และส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงเวลา 5 ทุ่มถึง 8 โมงเช้า ตัวรถมักเฉออกนอกช่องจราจรและผู้ขับขี่ไม่มีสติมากพอที่จะควบคุมรถหรือเบรก

https://img.icarcdn.com/autospinn/body/sleepy-drive-2.jpg

อาการง่วงนอนขณะขับขี่มักเกิดกับคนที่ทำงานจนเมื่อยล้าและไม่ได้พักผ่อน พนักงานที่เข้ากะติดต่อกันหรือคนที่รับประทานยาที่ออกฤทธิ์ทำให้ง่วงนอน โดยมักมีอาการนำมาก่อน อย่างการหาวนอน การเฉออกนอกเลนโดยไม่รู้ตัว การขับเข้าใกล้คันหน้ามากเกินไป และการหลงลืมป้ายจราจร

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ถ้าเริ่มมีอาการเหล่านี้ หรือรู้สึกตัวว่าง่วงนอนเมื่อไหร่ ให้รีบนำรถเข้าจอดข้างทางที่ปลอดภัยทันที

สมาคมป้องกันอุบัติเหตุของอังกฤษระบุว่า กาแฟ 2 แก้วและการงีบหลับ 15 นาทีเป็นวิธีที่ให้ประสิทธิภาพสูงสุดในการลดความง่วงนอน ขณะที่การเปิดวิทยุ เปิดกระจก หรือการพูดคุยกับผู้โดยสารไม่ได้ช่วยให้หายง่วงนอนได้มากเท่าที่ควร

ขณะเดียวกัน ควรขับขี่ในช่วงเวลาทำงานปกติหรือเวลาสว่าง และหลีกเลี่ยงการขับระหว่างเที่ยงคืนจนถึง 6 โมงเช้า วางแผนการเดินทางให้มีการพักเบรกทั้งคนและรถเป็นเวลา 15 นาทีในทุก 2 ชั่วโมง ก่อนที่จะออกเดินทางไกลควรหลับพักผ่อนให้เพียงพอหรืออย่างน้อย 7 ชั่วโมง และควรมี “พลขับ” สำรองที่คอยสลับหน้าที่ขับกันไป


ความคิดเห็น


เรียกดูข่าวตามประเภทยานพาหนะ

ค้นหาข่าวโดยยี่ห้อ