ORA Good Cat รถยนต์ไฟฟ้า 100% รุ่นแรก ที่ทำตลาดอย่างเป็นทางการในประเทศไทยจากแบรนด์ GWM ที่มีความโดดเด่นในเรื่องของดีไซน์ที่มีความน่ารัก ดูวินเทจแบบร่วมสมัย และทำราคาเข้าถึงได้ง่าย
ORA Good Cat 500 Ultra
ORA Good Cat ออกแบบบนแพลตฟอร์ม LEMON E อันเป็นแพลตฟอร์มโมดูล่าร์อัจฉริยะที่สามารถปรับเปลี่ยนและรองรับเครื่องยนต์ได้หลากหลายรูปแบบ รวมไปถึงพัฒนาด้านความปลอดภัย ซึ่ง GWM LEMON E PLATFORM ถูกปรับเพื่อใช้งานกับรถไฟฟ้า (BEV) โดยเฉพาะ
ORA Good Cat แม้จะดูเหมือนรถขนาดเล็ก แต่จริงๆ "Good Cat ไม่เล็กนะครับ !" ด้วยมิติตัวรถ (กว้าง x ยาว x สูง) 1,825 x 4,235 x 1,596 มม. ระยะฐานล้อ ยาว 2,650 มม. มีค่าสัมประสิทธิ์แรงต้านอากาศเพียง 0.273 เท่านั้น อีกทั้งออกแบบให้มีฐานล้อกว้าง ทำให้ตัวรถตามสเป็คชีทจะมีขนาดที่ใหญ่กว่าที่ตาเห็นพอควร
โดย ORA Good Cat มีขนาดตัวรถใหญ่กว่า Honda Jazz, Toyota Yaris, Mazda 3 และ MG3 แต่เล็กกว่า Honda HRV, Toyota Corolla Cross และ Haval Jolion)
รีวิว ORA Good Cat เป็นอะไรที่หาดูได้ง่ายจากสื่อต่างๆ เพราะตัวรถก็ถือว่าเปิดตัวมานานแล้วพอสมควร แต่ในบทความนี้เรามีภารกิจในการขับเจ้า ORA Good Cat 500 Ultra จากกรุงเทพ ขึ้นอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และวนกลับมาที่เดิมแบบไม่ชาร์จเลยแม้แต่ครั้งเดียว
สำหรับเส้นทางในการขับขี่ เราจะชาร์จแบตเตอร์รี่เต็ม 100% กันที่ปั๊มน้ำมันปตท.พัฒนาการ ขาออก ซึ่งเป็นจุดชาร์จของ PTT EV Station โดยเราจะแบ่งเส้นทางออกเป็น 2 ส่วน คือขาไปและขากลับ โดยเราจะขับออกจากจุดเริ่มต้นไปตามถนนอ่อนนุช เลี้ยวขึ้นถนนกาญจนาภิเษก ต่อที่ถนนหมายเลข 305 รังสิต-นครนายก และขึ้นอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่จากฝั่งจังหวัดปราจีนบุรี จะถึงจุดกลางทางที่เรากำหนดไว้ ด้วยระยะทาง 166 กิโลเมตร สภาพเส้นทางคือขับผ่านในเมือง ขึ้นทางด่วน ต่อด้วยไฮเวย์ปกติ และทางขึ้นเขา
ในส่วนของขากลับ เราจะขับข้ามอุทยานไปลงที่ฝั่งจังหวัดนครราชสีมา และวิ่งกลับกรุงเทพฯ โดยใช้ถนนมิตรภาพ ต่อด้วยถนนกาญจนภิเษก และกลับมาที่จุดชาร์จเดิม โดยใช้ระยะทางทั้งสิ้นราว 360 กิโลเมตร ไม่รวมจอดแวะถ่ายภาพที่อื่นๆ และแวะรับประทานอาหารบ้าง เปรียบเสมือนขับท่องเที่ยวกันจริงๆ โดยสภาพเส้นทางขากลับจะเริ่มต้นจากการขับลงเขาเป็นหลัก ต่อด้วยวิ่งทางหลวงชนบท เข้าถนนไฮเวย์ และขึ้นทางด่วนเข้าเมืองตามลำดับ
ORA Good Cat 500 Ultra มอเตอร์ไฟฟ้า
ORA Good Cat 500 Ultra ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าแบบ Permanent Magnet Synchronous Motor มอบพละกำลังสูงสุด 143 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 210 นิวตันเมตร ความเร็วสูงสุดเกือบ 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง
แบตเตอร์รี่ ORA Good Cat ชาร์จนานไหม
ORA Good Cat 500 Ultra ใช้แบตเตอรี่ชนิดลิเธียม Ternary (NMC) ความจุ 63.139 kWh ระยะทางวิ่งสูงสุด 500 กิโลเมตร ในรุ่น 500 ULTRA รองรับการชาร์จแบบเร็วด้วยไฟกระแสตรง (DC) สูงสุด 60 kW และการชาร์จไฟบ้านแบบ AC 6.6 kW
ระยะเวลาในการชาร์จ
- ชาร์จแบบเร็วด้วยไฟฟ้ากระแสตรง DC จาก 0 - 80% ใช้เวลา 60 นาที
- ชาร์จแบบเร็วด้วยไฟฟ้ากระแสตรง DC จาก 30 - 80% ใช้เวลา 40 นาที
- ชาร์จด้วยไฟบ้านแบบ AC จาก 0 - 100% ใช้เวลา 10 ชั่วโมง
โหมดการขับขี่ของ ORA Good Cat มีทั้งหมดกี่แบบ
โหมดการขับขี่ทั้งหมด 4 แบบ ได้แก่
- โหมดมาตรฐาน
- โหมด Sport
- โหมด ECO
- โหมดอัตโนมัติ
และมีโหมดพิเศษอีก 2 โหมด ที่ต้องเข้าไปตั้งค่าต่างหากิได้แก่
- โหมด One Pedal
- โหมด Eco+
ORA Good Cat สามารถตั้งค่าการกู้คืนพลังงาน (Energy Recovery) ได้สามระดับ ได้แก่ น้อย, มาตรฐาน และมาก เพื่อการประหยัดพลังงาน เมื่อถอนคันเร่งทุกครั้งพลังงานะจะชาร์จไฟกลับเข้าสู่แบตเตอร์รี่ ซึ่งปั่นกำลังไฟกลับได้มากถึง 40 kW เลยทีเดียว โดยแต่ละระดับจะมีแรงเฉื่อยที่เราคุ้นว่า "Engine Brake" แตกต่างกันตามชื่อเลย
ข้อมูลทางเทคนิค ORA Good Cat 500 Ultra
แบตเตอร์รี่ | ลิเธียมไอออน NMC |
พลังงานไฟฟ้าทั้งหมด (kWh) | 63.139 |
แรงดันไฟฟ้า (V) | 400 |
รองรับการชาร์จ AC (kW) | 6.6 |
รองรับการชาร์จ DC (kW) | 60 |
ระบบกันสะเทือนหน้า / หลัง | อิสระแมคเฟอร์สันสตรัท พร้อมเหล็กกันโคลง / ทอร์ชั่นบีม พร้อมเหล็กกันโคลง |
ระบบเบรคหน้า/หลัง | ดิสเบรค พร้อมครีบระบายความร้อน |
ขนาดยางล้อ |
215/50 R18 |
มิติรถ
ขนาดตัวรถภายนอก ยาว x กว้าง x สูง (มม.) | 4,235 x 1,825 x 1,596 |
ระยะฐานล้อ (มม.) | 2,650 |
ระยะห่างจากพื้น (มม.) | 145 |
รัศมีวงเลี้ยวแคบสุด (เมตร) | 5.9 |
น้ำหนักรถเปล่า (กก.) | 1,510 |
ทดลองขับ ORA Good Cat
ในส่วนของการทดสอบขับขี่ ORA Good Cat 500 Ultra เราได้ทำการทดสอบขับขี่กันตั้งแต่กรุงเทพ ไปยังเขาใหญ่ และกลับมาที่กรุงเทพ มีแวะขับไปถ่ายภาพบ้างนิดหน่อย ระยะทางรวมราวๆ 360 กิโลเมตร
เริ่มต้นกันตั้งแต่เรื่องของพละกำลังกันก่อนเลย ด้วยความที่เป็นรถยนต์ไฟฟ้า 100% แน่นอนว่าจุดเด่นของรถยนต์ไฟฟ้า นอกจากจะเงียบและไม่มีไอเสียแล้ว ยังมีแรงบิดมหาศาลที่มาเร็วมากๆ ตั้งแต่สัมผัสคันเร่งกันเลยทีเดียว โดยตัวรถมอบอัตราเร่งจาก 0-100 กม./ชม. ได้ภายใน 9 วินาทีเท่านั้น จัดว่าไม่แพ้รถซีดานระดับ C-Segment เลยทีเดียว
พละกำลังในการเร่งแซงของรถถือว่า "เหลือเฝือ" ด้วยแรงบิด 210 นิวตันเมตร ที่กดเป็นมา สั่งได้ดั่งใจ ตัวคันเร่งทำงานได้กระชับ ตอบสนองไวตามโหมดการขับขี่ที่เราเลือกไว้ เอาว่าเรื่องเร่งแซงสำหรับรถคันนี้ หายห่วงครับ
ทัศนวิสัยของตัวรถจัดว่าทำได้ดีมาก หน้าต่างบานหน้ามีขนาดใหญ่ มองเห็นได้ไกล เสา A มีการเว้นช่องว่างระหว่างเสากับกระจกมองข้าง ทำให้การขับเข้าโค้งนั้นสามารถมองเข้าไปในโค้งได้เลย แทบไม่เป็นปัญหาในการขับขี่ แถมยังมี Blind spot มาให้ ช่วยเตือนมุมอับสายตาด้วยอีกแรง
ท่านั่ง จัดว่านั่งสบาย ขาไม่ชันมาก มุมมองจากผู้ขับคล้ายๆ ขับรถ B-SUV ซะด้วยซ้ำไป ตัวเบาะไม่ได้โอบกระชับกับผู้ขับขี่มากนัก แต่ก็นั่งสบายดี ทว่าหากคุณเข้าโค้งแรงๆ หน่อย ก็อาจจะมีอาการตัวไหล่ไปตามเบาะให้เจอกันบ้าง
อีกจุดหนึ่งที่ดีงามมากๆ สำหรับเบาะรุ่นนี้นั่นคือ มันมีระบบเลื่อนเข้า-ออก ขณะที่เราขึ้น-ลง รถมาให้ด้วย ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายในการขึ้น-ลงรถ
พวงมาลัยระบบไฟฟ้าของ ORA Good Cat สามารถปรับระดับความแข็งได้ 3 ระดับ โดยระดับเบาสุด พวงมาลัยจะมีน้ำหนักที่เบามากๆ เหมาะสำหรับการขับในเมืองที่รถติดๆ หรือคุณผู้หญิงที่ชอบขับรถแบบสบายๆ พวงมาลัยเบาสุดเนี้ยตอบโจทย์อย่างแน่นอน
ส่วนสายซิ่ง ชอบดัน มุด ซิ่งโค้ง แนะนำระดับแข็งสุดเลย เพราะพวงมาลัยระดับแข็งสุดเนี้ย จะช่วยทำให้การควบคุมรถมีความมั่นใจมากยิ่งขึ้น และคมมากยิ่งขึ้นอย่างชัดเจน ส่งผลให้เรามีความมั่นใจในการขับขี่ด้วยความเร็วสูงมากยิ่งขึ้น แต่ก็ต้องแลกมาด้วยน้ำหนักพวงมาลัยที่เยอะขึ้นค่อนข้างมาก ในขณะขับขี่ในเมืองที่ใช้ความเร็วต่ำ
ช่วงล่าง นุ่มนวล ซับแรงกระแทกได้ดี ไม่มีตึงตังให้เห็นมากนัก จัดว่าใช้งานจริงสอบผ่าน ขับในเมืองดี ทางไกลได้เริ่ด พวกหลุม ท่อ บ่อ รางรถไฟ อะไรพวกนี้ ถ้าขับในเมืองปกติเนี้ย ตัวรถเค้าซับแรงมาได้ดีเลยทีเดียว แต่ถ้าขับมาเร็วนิดนึงก็จะมีความตึงตังให้เห็นบ้าง
ส่วนเรื่องการเข้าโค้งเนี้ย อันนี้เป็นอะไรที่ดีงามมากๆ ตามสไตล์รถยนต์ไฟฟ้า ด้วยความที่น้ำหนักของตัวรถกว่า 1 ใน 3 เป็นแบตเตอร์รี่ที่ติดตั้งอยู่ใต้ท้องรถ ส่งผลให้ตัวรถยนต์มีจุดศูนย์ถ่วงที่ต่ำมาก ส่งผลให้การขับเข้าโค้งด้วยความเร็ว พบว่ารถจิกโค้งได้ดีมาก ทว่าตัวพวงมาลัยของเค้าเองมีน้ำหนักที่แอบเบาไปสักนิดนึง แนะนำให้ปรับพวงมาลัยเป็นระดับสูงสุด จะช่วยให้การขับเข้าโค้งด้วยความเร็ว รวมไปถึงสายซิ่งที่ชอบมุด มีความมั่นใจมากยิ่งขึ้น
ระบบความปลอดภัยอย่าง Adaptive Cruise Control ที่มีระบบช่วยรักษาตัวรถให้อยู่ในเลนด้วย ยิ่งช่วยทำให้การเดินทางไกลสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ช่วยลดความเหนื่อยล้าของผู้ขับได้เป็นอย่างดี เพราะตัวรถคอยเป็นหูเป็นตาให้เราแล้วเป็นที่เรียบร้อย โดยส่วนตัวผมมองว่าต่อไปในอนาคต ระบบ Adaptive Cruise Control ควรจะเป็นออปชั่นพื้นฐานแล้วสำหรับรถยนต์รุ่นย่อยตัวท็อปที่สุดของรุ่นนั้นๆ
โหมดการขับขี่ มีทั้งหมด 6 แบบด้วยกัน ได้แก่
1. Eco โหมดเริ่มต้นทุกครั้งที่สตาร์ทรถ เป็นโหมดพื้นฐานที่สุดของรถคันนี้ เน้นไปในเรื่องของความประหยัดพลังงานเป็นหลัก อัตราเร่งมีมาแบบนุ่มนวล คันเร่งหน่วงมาก
2. Standard อัพเกรดขึ้นจากโหมด Eco ในเรื่องของความสนุกในการขับขี่ คันเร่งมีความกระชับมากยิ่งขึ้น กดเป็นมา ติดเท้ามากยิ่งขึ้น ขับสนุกกว่าโหมด Eco ชัดเจน แต่ก็กินไฟด้วยเช่นกัน
3. โหมด Sport สำหรับสายซิ่ง ที่อยากใช้พลังสูงสุดของรถยนต์ไฟฟ้า ต้องโหมดนี้ ด้วยแรงบิดสูงสุดของรถที่ 210 นิวตันเมตรที่สั่งได้ทันใจ กดเป็นมา คันเร่งกระชับมากที่สุดจากทุกๆ โหมด แถมพวงมาลัยในโหมดนี้จะหนืดเป็นพิเศษ เรียกได้ว่าขาซิ่งที่ไม่กลัวแบตหมด ต้องถูกใจเจ้าโหมดนี้อย่างแน่นอน
4. โหมด Auto เป็นโหมดที่เรียกได้ว่า ย่องก็ได้ แรงก็ดี แถมปั่นไฟแรง เป็นการผสมผสานระหว่างทั้ง 3 โหมดหลักเอาไว้ในโหมดนี้
5. โหมดคันเร่งอัฉริยะ One Pedal โหมดคันเร่งเดียวนี้ ถือเป็นไฮไลท์หลักเลยของรถยนต์ไฟฟ้า เพราะคุณไม่ต้องใช้เบรกแต่อย่างใด เพียงใช้คันเร่งอย่างเดียว ก็สามารถควบคุมการเร่ง, ลดความเร็ว จนถึงการหยุดรถได้จากการใช้คันเร่งเพียงอย่างเดียว โดยส่วนตัวผมชื่นชอบโหมดนี้มากที่สุด เพราะเป็นโหมดที่ถ้าใช้จนชินแล้ว มันจะใช้งานได้ง่ายมาก เพราะคุณแทบไม่ต้องละเท้าออกจากคันเร่งเลย
ทว่า หากเปิดระบบล็อกความเร็วแบบแปรผันแล้ว ตัวรถจะปิดระบบนี้โดยอัตโนมัติ หรือหมายความว่า ระบบ One Pedal ไม่สามารถใช้งานร่วมกับระบบล็อกความเร็วแบบแปรผันได้นั่นเองครับ
6. Eco+ โหมดนี้คล้ายกับโหมด Eco แต่ตัวรถจะถูกจำกัดความเร็วให้ใช้ได้ไม่เกิน 90 กม./ชม. แถมแอร์ไม่เย็นด้วย เอาไว้ใช้ยามฉุกเฉินแบบแบตใกล้หมดแล้ว แต่ยังห่างไกลจากที่ชาร์จ
ขับ ORA Good Cat ขึ้นเขาใหญ่
ในส่วนของการทดสอบพิเศษวันนี้ ทางเราทดลองขับเจ้า ORA Good Cat 500 Ultra คันนี้ ขึ้นอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งเส้นทางนี้จัดว่ามีความคดเคี้ยว และมีการขึ้น-ลงเนินตลอดเส้นทาง
ผลจากการทดสอบพบว่า ตัวรถมีอัตราเร่งขึ้นเนินที่ดีมากๆ เรียกได้ว่าการดันเนินสำหรับรถคันนี้เป็นเรื่องที่ชิลล์มากๆ ครับ อีกทั้งเวลาไหลลงเนินนั้นยังได้ปั่นไฟกลับเข้าแบตเตอร์รี่ด้วย อันเป็นการชาร์จพลังงานไฟฟ้าเข้าสู่แบตเตอร์รี่อีกช่องทางหนึ่งที่ดีเลยทีเดียว
แบตเตอร์รี่ ORA Good Cat 500 Ultra ขับได้จริงเท่าไหร่
ในส่วนของแบตเตอร์รี่ของ ORA Good Cat 500 Ultra ในการทดสอบของเรา ที่เดินทางจากในเมือง ไปยังต่างจังหวัด ขึ้นเขาใหญ่ และวิ่งกลับมากทม. ขอแบ่งเป็น 2 ส่วน
เส้นทางส่วนแรก จากปั้มน้ำมัน ปตท.พัฒนาการขาออก ถึงอ่างเก็บน้ำสายศร อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
จากปั้มน้ำมันปตท. วิ่งในเมือง ขึ้นทางด่วน และวิ่งจนถึงหน้าทางเข้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยเราขับด้วยความเร็ว 80-120 กม./ชม. ใช้พลังงานไฟฟ้าไปทั้งหมด 40% โดยตัวรถแจ้งว่าเหลือปริมาณแบตเตอร์รี่ 60%
จากด่านปราจีน ถึงอ่างเก็บน้ำสารสร ที่เรากำหนดให้เป็นจุดกลางทาง ปริมาณแบตเตอร์รี่คงเหลือที่ 50% ด้วยระยะทางขับขี่ทั้งหมด 170 กิโลเมตร (มีแวะกินข้าวบ้างนิดหน่อย เลขไมล์เลยเยอะกว่าที่แผนที่ระบุ)
Good Cat ขับลงเขา ปั่นไฟได้
จากอ่างเก็บน้ำสายศร เราขับลงจากอุทยานมาลงฝั่งจังหวัดปราจีนบุรี สภาพเส้นทางฝั่งนี้จะเป็นทางลงเขาเป็นหลัก ซึ่งสามารถใช้ในการปั่นไฟฟ้าเข้าสู่ระบบได้ โดยระยะทางจากอ่างเก็บน้ำสายศรถึงศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่อยู่ที่ 14 กิโลเมตร เราสามารถชาร์จไฟฟ้ากลับมาได้อีก 3 กิโลเมตร แถมไม่ต้องเสียไฟฟ้ากับระยะทางขับที่ผ่านมาด้วย เพราะว่าเป็นทางลงเขานั่นเอง ซึ่งนี่ถือเป็นข้อดีของรถยนต์ไฟฟ้าที่สามารถเก็บพลังงานจากการขับขี่ได้
โดยเทคนิคการปั่นไฟฟ้าของ Good Cat ถ้าให้ผมแนะนำเลยนั่นคือ "ยกคันเร่งตอนขึ้นเนิน กะจังหวะให้พอดีกับแรงเฉื่อยของรถ" เพราะการกดคันเร่งขึ้นเนินนั้น ตัวมอเตอร์จะกินไฟมากถึง 70 kW เลยทีเดียว แต่ถ้าเรายกคันเร่งขึ้นเนินนั่น เราจะได้กำลังการชาร์จไฟฟ้ากลับมาถึง 37 kW เลยทีเดียวครับ
อีกจุดนึงนั่นคือก่อนเข้าโค้ง จากปกติในรถยนต์สันดาปเราจะใช้เบรกช่วย แต่ในรถยนต์ไฟฟ้าแนะนำแค่ยกคันเร่งพอ ให้มอเตอร์เค้าหน่วงเพื่อปั่นไฟฟ้ากลับเข้าแบตเตอร์รี่แทน นอกจากช่วยถนอมเบรกแล้ว ยังได้พลังงานไฟฟ้ากลับมาให้ใช้งานต่ออีกด้วย
และเวลารถหน่วงความเร็วเยอะๆ (หน่วงแรงพอๆ กับกดเบรก) ก็ไม่ต้องห่วงเรื่องโดนแทงหลัง เพราะไฟเบรกเค้าจะติดขึ้นมาเองโดยอัตโนมัติครับ
จากศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่ วิ่งจนถึงจุดเริ่มต้น ณ ปตท. พัฒนาการ ขาออก เราเหลือปริมาณแบตเตอร์รี่ที่ 12% สามารถทำระยะทางได้ 369.6 กิโลเมตร โดยตัวรถแจ้งว่ามีอัตราสิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้าที่ 134 Wh/Km. ซึ่งถือว่าค่อนข้างประหยัดมาก โดยเฉพาะท่านที่ชาร์จรถยนต์ด้วยไฟบ้านแบบ TOU จะมีต้นทุนพลังงานในการเดินทางเพียงกิโลเมตรละ 50 สตางค์เท่านั้นครับ
สรุป ORA Good Cat 500 Ultra น่าใช้ตรงไหน
รถยนต์ไฟฟ้า ยังไงก็ต้องมาแทนรถยนต์สันดาปในอนาคตอันใกล้อย่างแน่นอน แล้ว ORA Good Cat 500 Ultra คันนี้ มีอะไรน่าสนใจบ้าง?
ข้อดีของ ORA Good Cat 500 Ultra
- รถยนต์ไฟฟ้า 100% เสมือนคุณได้พื้นที่ใช้สอยในบ้านเพิ่มเติม เพราะคุณสามารถมาเปิดแอร์นั่งเล่น หรือนอนในรถได้โดยไม่ต้องกลัวสำลักไอเสียจนเสียชีวิตแบบรถสันดาป
- หน้าตาดูดี ดูแตกต่างจากรถระดับเดียวกันบนท้องถนน ชวนให้คนมอง
- ออปชั่นจัดเต็ม โดยเฉพาะระบบความปลอดภัยที่ให้มาแบบเหลือเฝือ
- การบำรุงรักษาที่น้อยกว่ารถน้ำมัน
- ระยะทางต่อการชาร์จที่เหมาะกับการใช้งานเป็นรถหลักได้เลยอีกคันหนึ่ง แต่ยังคงต้องวางแผนในการเดินทางอยู่บ้าง
ข้อเสียของ ORA Good Cat
- ไม่มีที่ปัดน้ำฝน หากฝุ่น โคลนติดกระจกหลัง จำเป็นต้องลงมาเช็ดเอง
- เบาะนั่งด้านหลัง มีแรงกระเทือนมากกว่าด้านหน้ามาก
- ระบบฟังก์ชั่นการใช้งานเข้าถึงได้ยาก เพราะทุกการควบคุมผ่านหน้าจอเพียงอย่างเดียว แถมไม่ค่อยจดจำการตั้งค่าได้เท่าไหร่
- หน้าจอมัลติมีเดียมีอาการ "หน่วงมาก" ทำงานช้า มีอาการหน่วง และยังต้องรอบ้างในหลายจังหวะ
- การกรอเบรก ไม่สามารถชาร์จแบตเตอร์รี่ได้ ในขณะที่เพื่อนร่วมชาติอีกแบรนด์หนึ่งสามารถชาร์จแบตด้วยการกรอเบรกได้
- ไม่สามารถเซฟการตั้งค่าการขับขี่ได้ อาทิเช่นโหมด One Pedal หากต้องการใช้งาน แม้ว่าเราจะตั้งค่าไว้แล้ว แต่พอดับเครืองไปแล้วสตาร์ทขึ้นมาใหม่ คุณต้องเข้าไปเซ็ตใหม่ทุกครั้ง
- ในการรีวิวครั้งนี้ เราพบปัญหาเรื่องไม่สามารถถอดหัวชาร์จออกได้ ทางแก้ที่เราทำคือล็อกรถทิ้งไว้ราว 10 นาที และปลดล็อกใหม่ หรือหากรีบ ให้เปิดฝากระโปรงรถ และดึงสลิงปลดล็อกฉุกเฉินออก จึงจะสามารถถอดหัวชาร์จได้
- พบปัญหา "แบตเตอร์รี่ขัดข้อง" อยู่ 1 ครั้ง คาดว่าเกิดจาก Software วิธีแก้คือให้ดับรถไปสัก 5-10 นาที และกลับมาเปิดใหม่ ทุกอย่างจะกลับมาปกติ
- เวลาใช้ Adaptive cruise control ในช่วงความเร็วต่ำ เราจะได้ยินเสียงการทำงานของเบรกที่ค่อนข้างดัง คล้ายๆ โลหะอะไรสักอย่างกำลังขูดอยู่
ORA Good Cat เหมาะกับใคร
ORA Good Cat เหมาะกับคนที่อยากลองรถยนต์ไฟฟ้า พร้อมต้องการดีไซน์ที่มีความแตกต่างจากรถยนต์ทั่วๆ ไปบนท้องถนน เพราะเราต้องยอมรับว่าดีไซน์ของ ORA Good Cat นั้นเด่นสะดุดตาจริงๆ เพราะเป็นอะไรที่ค่อนข้างโดดเด่นกว่ารถยนต์ทั่วๆ ไปบนท้องถนนไม่น้อย อีกทั้งต้องเป็นคนที่มีใจรักในการศึกษา ค้นคว้าเทคโนโลยีใหม่ๆ พอสมควร เพราะช่วงนี้เราต้องยอมรับว่า "รถยนต์ไฟฟ้า" มันเป็นของใหม่จริงๆ
ORA Good Cat รุ่นย่อย
ORA Good Cat แบ่งออกเป็น 3 รุ่นย่อย โดยแบ่งออกตามออปชั่น และความจุแบตเตอร์รี่ ได้แก่
-
ORA Good Cat 400 PRO และ ORA Good Cat 400 TECH มาพร้อมกับแบตเตอรี่ชนิดลิเธียมไอออนฟอสเฟต (LFP) ความจุ 47.788 kWh ชาร์จ 1 ครั้ง (ชาร์จเร็วสุด 32 นาที, ชาร์จผ่านไฟบ้าน 8 ชั่วโมง) วิ่งได้ไกลสูงสุด 400 กิโลเมตร มาตรฐาน NEDC
- ORA Good Cat 500 ULTRA มาพร้อมกับแบตเตอรี่ชนิดลิเธียม Ternary (NMC) ความจุ 63.139 kWh ชาร์จ 1 ครั้ง (ชาร์จเร็วสุด 40 นาที, ชาร์จผ่านไฟบ้าน 10 ชั่วโมง) วิ่งได้ไกลสูงสุด 500 กิโลเมตร มาตรฐาน NEDC
ORA Good Cat ราคาเท่าไร
- ORA Good Cat 500 ULTRA ราคา 1,199,000 บาท
- ORA Good Cat 400 PRO ราคา 1,059,000 บาท
- ORA Good Cat 400 TECH ราคา 989,000 บาท
>> ตารางผ่อน ORA Good Cat 2021 ราคาผ่อนเริ่มต้น 9,XXX บาท <<
อ่าน EVme เป็นเจ้าของรถยนต์ไฟฟ้าได้ง่าย แค่ปลายนิ้ว
อ่าน 5 สิ่งต้องรู้ ของระบบไฟฟ้า ก่อนซื้อรถยนต์ไฟฟ้า
อ่าน รีวิว ORA Good Cat แมวน้อยน่ารัก ขับแล้วก็หลง
ติดตามข่าวรถยนต์ ราคารถยนต์ รีวิวรถยนต์ และจักรยานยนต์ทุกยี่ห้อ กับเรา Autospinn
แชร์ความคิดเห็นบนเว็บบอร์ด Autospinn คลิกเลย webboard.autospinn.com
เช็คโปรโมชั่นรถใหม่ เช็คราคารถใหม่ ได้ที่นี่
ราคารถมือสอง ซื้อรถมือสอง ขายรถมือสอง เชิญได้เลยที่ one2car
ความคิดเห็น