ปีใหม่นี้ใครไม่รู้จะไปเที่ยวไหนดี เลดี้มี 6 Check Point ให้กับไบค์เกอร์สำหรับออกทริปหน้าหนาว ที่บอกเลยว่าฟินเวอร์ทั้งเส้นทาง บรรยากาศ รวมถึงสถานที่ถ่ายรูปที่ควรเก็บเกี่ยวเพื่อฮีลใจฮีลร่างกายช่วงวันหยุดยาวนี้
6 เส้นทางออกทริปหน้าหนาวแบบฟินเวอร์สำหรับไบค์เกอร์
เข้าหน้าหนาว (ที่ไม่ค่อยหนาว 555+) ของกรุงเทพฯ ในปี 2566 นี้ ทำเอารู้สึกต้องหนีไปไขว่คว้าหาความเย็นที่ต่างจังหวัดกันซะแล้ว วันนี้เลดี้มีเส้นทางออกทริปสำหรับไบค์เกอร์ช่วงหน้าหนาวที่บอกเลยว่าฟินเวอร์ จะมีที่ไหนบ้างไปชมกันเลย
1. ปางอุ๋ง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
เรียกว่าเป็นสวิสเซอร์แลนด์เมืองไทยเลยก็ว่าได้สำหรับอุทยานแห่งชาติปางอุ๋ง หนึ่งในที่เที่ยวแม่ฮ่องสอนที่โด่งดังสุดๆ ฟีลแบบเหมือนอยู่ต่างประเทศเหมาะสำหรับคู่รักที่ชอบมากางเต้นท์สร้างบรรยากาศได้เป็นอย่างดี ซึ่งสำหรับใครที่ต้องการมาเยือนอุทยานแห่งชาติปางอุ๋ง หรือชื่อเต็มคือโครงการพระราชดำริปางตอง 2 ตั้งอยู่ที่ หมู่บ้านรวมไทย ตำบลหมอกจำแป่ อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอนภาคเหนือของเรานี่เอง ลักษณะเด่นของปางอุ๋งก็คือ "ต้นสน" ที่เรียงรายเป็นจำนวนมากประกอบกับอากาศที่หนาวเย็นช่วงก่อนปีใหม่ จึงได้ฉายาว่า "หุบเขาวงสวิสเซอร์แลนด์เมืองไทย" สำหรับใครที่จะเดินทางไปแนะนำให้ศึกษาข้อมูลของที่นี่ซะก่อนจะได้เที่ยวแบบฟินๆ จากที่กล่าวไปข้างต้นว่าปางอุ๋ง เป็นหนึ่งในโครงการพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 ที่สร้างขึ้นเพื่อให้ชนกลุ่มน้อยเลิกปลูกพืชเสพติดและบุกรุกพื้นที่ป่า ซึ่งคำว่า "ปาง" มีความหมายว่า "ที่พักของคนทำงานในป่า" ส่วนคำว่า "อุ๋ง" หมายถึง "ที่ลุ่มต่ำ" เมื่อนำคำมารวมกันจึงแปลว่า "ที่พักริมอ่างเก็บน้ำ"
การเดินทางไปอุทยานแห่งชาติปางอุ๋งจะใช้เส้นทาง กรุงเทพ-ฮอด โดยเริ่มต้นจากเส้นทาง อยุธยา-นครสวรรค์-ตาก ขับยาวไปจนถึงอำเภอลี้ จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าอำเภอซึ่งจะใช้เส้นทาง ลี้-บ้านโฮ่ง จนถึงทะเลสาบดอยเต่าขับไปเรื่อยๆ จนถึงฮอด จึงเปลี่ยนมาใช้เส้นทาง ฮอด-แม่ฮ่องสอน และต่อด้วยแม่ฮ่องสอน-ปางมะผ้า-ปาย ซึ่งจะผ่านสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย อาทิ น้ำตก หุบเขาวง ผาเสื่อ พระตำหนักปางตอง บ้านหมอกจำแป๋ และเมื่อถึงจุดทางแยกให้เลี้ยวซ้ายไปปางอุ๋ง ขับขึ้นเขาไปเรื่อยๆ ก็จะถึงอุทยานแห่งชาติปางอุ๋ง
2. อุโมงค์ดอกหางนกยูงสีแดงปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา
เป็นพิกัดที่ไม่ลับอีกต่อไปเมื่อมีคนไป Check Point ถ่ายภาพความสวยงามของต้นดอกหางนกยูงที่ปกคลุมถนนจนกลายเป็นอุโมงค์ ที่เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าหากใครได้เห็นภาพอุโมงค์ดอกหางนกยูงผลิดอกเป็นสีแดงลายตา จะต้องตื่นตาตื่นใจในความสวยสะพรึงนี้อย่างแน่นอน ซึ่งบรรยากาศที่น่ามหัศจรรย์นี้ตั้งอยู่ที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมานี่เอง ต้องไปช่วงที่ดอกไม้บานสะพรั่งปกคลุมไปทั่วทั้งสองฝั่งถนนเหมือนเที่ยวชมทิวทัศน์ต่างประเทศยังไงยังงั้น จึงไม่แปลกใจที่สถานที่แห่งนี้จะกลายเป็นจุดเช็คอินแห่งใหม่ในปากช่องเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งพิกัดอุโมงค์ต้นหางนกยูงจะอยู่ที่บ้านกอก ถนนโยธาธิการ ตำบลปากช่อง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ขอบอกก่อนว่าในปีหนึ่งนั้นจะมีให้ชมเพียงครั้งเดียวเท่านั้น หากใครมีโอกาสได้ไปเที่ยวในโซนปากช่องเขาใหญ่ อย่าลืมลองแวะไปถ่ายรูปเล่นกันนะ
3. ปิล็อก จังหวัดกาญจนบุรี
เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่ไม่พูดถึงไม่ได้ สำหรับปิล็อก จังหวัดกาญจนบุรี หมู่บ้าน “อีต่อง” ตั้งอยู่ท่ามกลางหุบเขาและสายหมอกสุดเขตแดนตะวันตก อำเภอทองผาภูมิ เป็นเหมืองแร่ที่เคยรุ่งเรืองในอดีตกว่า 60 เหมือง จนได้ชื่อว่า “เหมืองปิล๊อก” ซึ่งปัจจุบันถึงเหมืองแร่ต่างๆ จะปิดตัวลงเหลือไว้แค่เพียงซากเครื่องมือ ทิ้งเหมืองไว้เป็นเพียงตำนานเล่าขาน แต่ก็เหมือนเป็นจุดเริ่มต้นของมนต์เสน่ห์น่าค้นหา ดึงดูดนักท่องเที่ยวที่อยากไปสัมผัสบรรยากาศธรรมชาติบริสุทธิ์ของหมู่บ้านแห่งนี้
การเดินทางจากกรุงเทพฯ - กาญจนบุรี ประมาณ 120 กิโลเมตร จากตัวเมืองกาญจนบุรี - อำเภอทองผาภูมิ 146 กิโลเมตร และจากตัวอำเภอทองผาภูมิ - เหมืองปิล๊อก บ้านอีต่อง ประมาณ 70 กิโลเมตร เป็นระยะทางกว่า 300 กิโลเมตร ผ่านโค้งเยอะมากเกือบ 400 โค้ง กว่าจะถึงหมู่บ้านอีต่อง ซึ่งหมู่บ้านเล็กๆ แห่งนี้มีแค่บ่อน้ำ ตลาด วัด เหมือง ร้านอาหาร โฮมสเตย์ ไม่ได้มีอะไรพิเศษเลย แต่ด้วยบรรยากาศโดยรวม เหมือนถูกสะกดให้ต้องมนต์ นอกจากนี้ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวบริเวณใกล้เคียงอย่าง จุดชมวิวเนินช้างศึก เนินเสาธง เหมืองสมศักดิ์ อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ น้ำตกจ๊อกกระดิ่น และที่สำคัญตัวหมู่บ้านยังเป็นจุดเริ่มต้นเดินเท้าขึ้นสู่ “เขาช้างเผือก” ที่โด่งดังของจังหวัดกาญจนบุรี
4. สะพานพ่อขุนผาเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์
สะพานพ่อขุนผาเมืองหรือสะพานห้วยตอง เป็นจุดชมวิวบนทางหลวงหมายเลข 12 (AH16) กม.374+456 ตั้งอยู่ที่ หมู่ 6 บ้านวังยาว ตำบลปากช่อง อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ตั้งอยู่ระหว่างอำเภอหล่มสักจังหวัดเพชรบูรณ์กับอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว ห่างจากแยกพ่อขุน อำเภอหล่มสักประมาณ 18 กิโลเมตร อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 320 เมตร จุดเด่นของสะพานนี้คือเป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กที่สร้างข้ามห้วยตองหรือคลองตอง มีความสูงของตอม่อสูงที่สุดในประเทศไทย โดยตอม่อที่สูงที่สุดนั้นสูงถึง 50 เมตร และเป็นสะพานที่เป็นทางโค้งลาดชันด้วยจึงต้องใช้ความระมัดระวังในการขับขี่พอสมควร
ไฮไลท์ของที่นี่ก็คือบริเวณสะพานพ่อขุนผาเมืองตั้งอยู่ใกล้กับรอยต่อของแผ่นเปลือกโลก แผ่นจุลทวีปฉาน-ไทย (Shan-Thai microcontinent) ซึ่งเป็นที่ตั้งของประเทศไทยส่วนใหญ่กับแผ่นอินโดจีน (Indochina plate) ที่ตั้งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยอยู่ห่างจากแหล่งศึกษารอยเลื่อนขอบเปลือกโลกผาแดงประมาณ 7 กิโลเมตร ใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งสิ้น 17,807,862 บาท เรียกว่าแพงกว่างบประมาณเฉลี่ยของโครงการก่อสร้างทางหลวงสายหล่มสัก-ชุมแพ ที่ร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลออสเตรเลีย ถึงเกือบ 20 เท่า เนื่องจากต้องมีการสร้างตอม่อคอนกรีตจากก้นเหวขึ้นมาถึง 50 เมตรนั่นเอง
5. บ่อเกลือ จังหวัดน่าน
บ่อเกลือภูเขาเสน่ห์เมืองน่าน จากตำนานเล่าขานถึงประวัติความเป็นมาว่า “เมืองน่านเป็นเมืองปิดต้องตั้งใจไปเท่านั้นแล้วอำเภอบ่อเกลือยิ่งเป็นเมืองลับแลแห่งหนึ่ง ต้องตั้งใจอย่างแน่วแน่ถึงจะเดินทางไปได้” นั่นเป็นเพราะภูมิศาสตร์ที่เป็นหุบเขา การเดินทางไม่ว่าจะไปทางไหนก็ต้องผ่านภูเขา สามารถเดินทางได้ 3 เส้นทาง ได้แก่ น่าน-สันติสุข-บ่อเกลือ ผ่านเส้นทาง 1257 (ภูเขาชันน้อยกว่าแต่ทางคดเคี้ยว) หรือจะใช้เส้นทาง น่าน-ท่าวังผา-ปัว-บ่อเกลือ ผ่านเส้นทาง 1081 (อ้อมดอยภูคา) และสุดท้ายเส้นทาง น่าน-ท่าวังผา-ปัว-บ่อเกลือ ผ่านเส้นทาง 1256 (ผ่านดอยภูคา) ถนนเป็นลาดยาง รถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์สามารถเดินทางได้สะดวก แต่อย่าลืมตรวจสอบความพร้อมของรถ รวมถึงน้ำมันก่อนออกเดินทาง สำหรับคนไม่ชินทางต้องระมัดระวังและขับขี่อย่างมีสติเท่านี้ก็ไม่มีปัญหาแล้ว
บ่อเกลือ จังหวัดน่าน ที่ถือเป็นแหล่งยุทธปัจจัยสำคัญในการปรุงอาหารและถนอมอาหาร ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของอุตสาหกรรมหลายประการ นอกจากนี้เกลือยังเป็นส่วนประกอบสำคัญของสารเคมีเช่นเดียวกัน ตามบันทึกในพงศาวดารเมืองเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 1993 ระบุไว้ว่า "เจ้าอินต๊ะแก่นท้าวเจ้าเมืองน่านแต่งทูตนำเกลือบ่อมางไปเป็นบรรณาการถวายพญาติโลกราช เจ้านครเชียงใหม่ ต่อพญาติโลกราชมีพระประสงค์ยึดครองเมืองน่าน เพื่อต้องการครอบครองบ่อเกลือ จึงยกทัพมาตีเมืองน่าน" จากประวัติศาสตร์สามารถบอกเล่าถึงความสำคัญของพื้นที่บ่อเกลือ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตเกลือสินเธาว์แห่งหนึ่งในล้านนา ที่ผลิตกันมายาวนานก่อนหน้านั้นเสียอีก จากการบอกเล่าไม่น่าต่ำกว่า 800 ปี เทียบเคียงสมัยสุโขทัย
ซึ่งในปัจจุบันเกลือสินเธาว์เป็นเกลือจากแร่เกลือที่อยู่ในดิน มีเพียงไม่กี่แห่งตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อาทิ แอ่งบ่อเกลือจังหวัดน่าน บ่อโพธิ์อำเภอนครไทยจังหวัดพิษณุโลก และแถบภาคอีสานที่แอ่งสกลนคร และแอ่งโคราช ที่ขาดไม่ได้คือเกลือพิมายที่มีโรงผลิตเกลือเชิงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ส่งเกลือออกมากที่สุดในเอเชียเลยทีเดียว
6. สวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี
เป็นสถานที่ที่เดินทางไปได้ง่ายที่สุด ใช้เวลาการเดินทางจากกรุงเทพฯ ประมาณ 2-3 ชั่วโมงโดยการขับรถ และนี่คือเหตุผลที่ทำไม สวนผึ้ง จึงเป็นจุดหมายปลายทางที่หลายคนมักจะไปเยี่ยมชมบ่อยๆ อีกทั้งยังมีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย อาทิ The Scenery Resort & Farm, น้ำตกเก้าชั้น, เขากระโจม, ภโวทัยพิพิธภัณฑ์, โป่งยุบ และบ้านนกละเมอ เป็นต้น
อำเภอสวนผึ้ง เมื่อก่อนเคยเป็นตำบลหนึ่งของอำเภอจอมบึง นั่นก็คือตำบลสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี และมีการอนุมัติให้ตั้งเป็นกิ่งอำเภอสวนผึ้งเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ.2517 ซึ่งตำบลนี้จะมีพื้นที่กว้างขวางเต็มไปด้วยภูเขา ป่าไม้ แต่ก็ไม่ได้มีคมนาคมที่สะดวกนัก ชาวบ้านที่อาศัยส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงอยู่ตามแนวตะเข็บชายแดน ต่อมากระทรวงมหาดไทยได้มีการประกาศแบ่งพื้นที่ของอำเภอจอมบึงออกมา โดยมีการตั้งเป็นกิ่งอำเภอเรียกว่า กิ่งอำเภอสวนผึ้ง เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2517 และต่อมาก็ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอสวนผึ้งเมื่อวันที่ 1 เมษายน ในปี พ.ศ.2526 นั่นเอง ซึ่งทางทิศเหนือของอำเภอสวนผึ้งจะอยู่ติดกับอำเภอด่านมะขามเตี้ย จังหวัดกาญจนบุรี ทิศตะวันออกติดต่อกับอำเภอจอมบึงและอำเภอบ้านคา ทิศใต้ติดต่อกับอำเภอบ้านคา และทิศตะวันตกติดต่อกับภาคตะนาวศรีของประเทศพม่า
ส่วนคำว่า “สวนผึ้ง” นั้นมาจากพื้นที่โดยทั่วไปของอำเภอขนาบด้วยเทือกเขาตะนาวศรีเป็นพรมแดนตะวันตก มีทั้งป่าเขา น้ำตก ลำน้ำต่างๆ ซึ่งในแนวป่าลึกเขตชายแดนระหว่างไทยกับพม่า จะมีต้นไม้ขนาดใหญ่ขนาดสี่คนโอบ โดยมีฝูงผึ้ง และมิ้มมาทำรังขนาดใหญ่ ขนาดของรังๆ หนึ่ง กว้างเป็นเมตรเลยทีเดียว ในหนึ่งต้นมีมากกว่า 200 รัง อีกทั้งชาวกะเหรี่ยงก็จะมีวิถีชีวิตโดยการอาศัยการดีรังผึ้ง นำไปบริโภคน้ำหวานยังชีพ โดยจะได้น้ำหวานที่มีความหวานหอมบริสุทธิ์จากดอกไม้ป่า ที่ชาวบ้านกะเหรี่ยงเรียกกันว่า “ไหมซ่าเลียง” ส่วนชาวบ้านชาวไทยจะเรียกว่า “ต้นชวนผึ้ง” หรือ “ยวนผึ้ง” เลยเป็นที่มาของชื่ออำเภอสวนผึ้งนั้นเอง
อัปเดตข่าวรถล่าสุด ดูรีวิวรถยนต์ รีวิวรถมอเตอร์ไซค์ ทุกยี่ห้อ โดยทีมงานมืออาชีพ เช็คราคา ตารางผ่อน พร้อมเกาะติดข่าวสารรถยนต์ไฟฟ้า EV ได้ที่ Autospinn.com
ซื้อขายรถมือสองออนไลน์ ต้องที่ ตลาดรถมือสอง One2car ซื้อรถง่าย ขายรถไว ทั้งรถเก๋งมือสอง รถตู้มือสอง รถกระบะมือสอง ราคาดี ฟรีดาวน์ ผ่อนถูก คุณภาพพร้อมใช้งาน
ความคิดเห็น